• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความดีสร้างได้

โรงพยาบาลชุมชน เป็นหน่วยบริการที่สำคัญในการให้บริการสุขภาพประชาชนในสภาพสังคมไทยขณะนี้ เนื่องจากตั้งอยู่ในอำเภอ ซึ่งคนไข้สามารถเข้าถึงบริการได้ง่าย และสะดวกกว่าการมารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลทั่วไป หรือโรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดโรงพยาบาลชุมชนเป็นส่วนเชื่อมเครือข่ายระหว่างชุมชน ศูนย์แพทย์ชุมชน และโรงพยาบาลใหญ่ระดับจังหวัด

โรงพยาบาลชุมชนทุกวันนี้สามารถให้บริการคนไข้ ได้อย่างมีคุณภาพ แม้อาจจะขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรด้านอุปกรณ์เครื่องเทคโนโลยี แต่ความมุ่งมั่นให้บริการเพื่อคนไข้ปลอดภัย เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพ การปรับปรุงระบบงาน การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเป้าหมายสุดท้ายคือความสุขของประชาชน

ผมมีเรื่องเล่าจากโรงพยาบาลชุมชน เพื่อสื่อสารเผยแพร่คุณความดี เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับประชาชน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่คนดี

การบริการใกล้บ้านใกล้ใจ
โรงพยาบาลชุมชนมีการขยายบริการเชิงรุก โดยการส่งแพทย์เวียนไปตรวจคนไข้ที่ศูนย์แพทย์ชุมชน นอกจากจะมีการตรวจคนไข้โรคทั่วไปแล้ว บางแห่งยังจัดเป็นคลินิกเฉพาะโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหอบหืด เป็นต้น

ข้อดีที่เกิดขึ้นคือคนไข้ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาลไกล แต่สามารถได้รับการตรวจรักษาพยาบาลโดยแพทย์คนเดียวกันที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ได้ยาที่มีคุณภาพเหมือนโรงพยาบาล ส่วนแพทย์มีโอกาสพบญาติคนไข้หรือผู้ดูแลคนไข้ได้ใกล้ชิด มีเวลาพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดมากขึ้นทั้งกับคนไข้ ญาติ ผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่เป็นเครือข่าย นอกจากนั้นยังเป็นการลดความแออัดของโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง

ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับแพทย์หนุ่มสาวที่โรงพยาบาลชุมชนแห่งหนึ่ง พวกเขาบอกว่ามีความสุขที่ได้ไปตรวจรักษาคนไข้ที่ศูนย์แพทย์ชุมชน เพราะพบรอยยิ้มจากคนไข้ที่พึงพอใจ การติดตามผลการรักษาได้ดีกว่าเดิม คนไข้ขาดยาน้อยลง ปฏิบัติตนได้ถูกต้อง นอกจากนั้น ตัวแพทย์เองยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ที่มีคุณค่าต่อชีวิตมากมายที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนในโรงเรียนแพทย์

ร่วมสร้างสายใยรักแห่งครอบครัว

ณ คลินิกฝากครรภ์โรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียงแห่งหนึ่ง หญิงชาวบ้านอายุ 37 ปีคนหนึ่ง มาโรงพยาบาลด้วยอาการตั้งครรภ์ เธอบอกเจ้าหน้าที่ด้วยน้ำตานองหน้าว่าอยากทำแท้งเพราะเครียดมาก เนื่องจากยากจน เธอมีอาชีพรับจ้างทั่วไป สามีอาชีพรับจ้างขับรถ ดื่มสุราเมาเป็นประจำ นานๆ ครั้งถึงจะกลับบ้าน ประกอบกับเธอท้องมาแล้ว 6 ครั้ง และมีลูกชายเหลืออยู่ 4 คน ท้องนี้เป็นท้องที่ 7

จากการให้คำปรึกษาของพยาบาล สามารถโน้มน้าวให้หญิงคนนี้เปลี่ยนใจ เธอมาฝากครรภ์ครบ 4 ครั้งตามเกณฑ์มาตรฐาน เข้าร่วมกิจกรรมชมรมสายใยรักแห่งครอบครัว เธอพาสามีมาเข้าร่วมกิจกรรมโรงเรียนพ่อแม่ ซึ่งทำให้สามีของเธอเปลี่ยนนิสัย เลิกดื่มสุรา กลับมาอยู่บ้าน เธอคลอดลูกเป็นหญิงสมใจ เธอตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 เดือน และเธอได้รับรางวัลแม่ตัวอย่าง
ปัจจุบันลูกของเธออายุ 1 ปี 4 เดือน ยังกินนมแม่ และอาหารเสริมตามวัย สุขภาพสมบูรณ์ มีพัฒนาการดีสมวัย และเป็นครอบครัวสายใยรักที่ผูกพันพ่อแม่ลูกอย่างอบอุ่น

ปฏิบัติการปาฏิหาริย์
อำเภอหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง 1 แห่ง ซึ่งต้องรับผิดชอบ พื้นที่ 11 ตำบล 168 หมู่บ้าน รวมจำนวนประชากร 105,000 คน ชาวบ้านส่วนมากยากจน การคมนาคมไม่สะดวก ทำให้คนไข้วิกฤติและฉุกเฉินส่วนหนึ่งมาถึงโรงพยาบาลด้วยความยากลำบากและช้าเกินไป ทำให้อาการทรุดลงหรือเสียชีวิต

โรงพยาบาลจึงร่วมมือกับชุมชนตั้งหน่วยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน เป็นหน่วยกู้ชีพ อบต. ทุกตำบล โดยจัดหารถพยาบาล ฝึกอบรมอาสากู้ชีพ อบต. และพัฒนาระบบสื่อสารที่สามารถติดต่อสื่อสารกับหน่วยบริการเครือข่ายที่ออกให้บริการคนไข้ ณ จุดเกิดเหตุ ทำให้คนไข้วิกฤติและฉุกเฉินได้รับบริการที่รวดเร็วได้รับการกู้ชีพเบื้องต้น และได้รับการส่งต่อถึงโรงพยาบาลชุมชนหรือโรงพยาบาลศูนย์อย่างมีประสิทธิภาพ

มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นและทีมงานทั้งหมดสามารถช่วยชีวิตคนไข้ได้อย่างปาฏิหาริย์
เหตุเกิดในบ่ายวันหนึ่ง ชายวัยกลางคนคนหนึ่งถูกไฟฟ้าช็อตหมดสติ โรงพยาบาลได้รับแจ้งเหตุเวลา 13.00 น.จึงส่งข่าวให้หน่วยกู้ชีพ อบต. ที่อยู่ใกล้เคียงรีบไปให้การช่วยเหลือ และทำการกู้ชีพเบื้องต้น คนไข้มาถึงโรงพยาบาลเวลา 13.30 น. จากการตรวจร่างกายพบว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัว ชีพจรและความดันโลหิตวัดไม่ได้ การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พบว่าหัวใจหยุดเต้น ทีมกู้ชีพของโรงพยาบาลซึ่งเตรียมพร้อมอยู่แล้วปฏิบัติกู้ชีพอย่างรวดเร็ว สามารถใส่ท่อช่วยหายใจสำเร็จในเวลา 13.35 น. ต้องใช้เครื่องกระตุ้นการเต้นหัวใจถึง 4 ครั้ง ในเวลา 13.40 น., 13.50 น., 13.56 น. และ 14.02 น.

ในเวลา 14.05 น. หัวใจคนไข้เริ่มเต้น วัดชีพจรได้ 192 ครั้ง/นาที ความดันโลหิต 180/110 มิลลิเมตรปรอท เมื่อภาวะคนไข้ดีขึ้นถึงระดับที่ปลอดภัย จึงได้นำคนไข้ส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ คนไข้อยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ 3 วัน อาการดีขึ้น จึงได้รับการย้ายกลับมาโรงพยาบาลชุมชน ระยะแรกคนไข้มีอาการสับสน อาการดีขึ้นตามลำดับและเป็นปกติในอีก 7 วันต่อมา

เหตุการณ์ที่เหนือปาฏิหาริย์ เกิดขึ้นจากการจัดวางระบบงานที่ดี การมีระบบอาสาสมัครกู้ชีพที่มีความรู้ทักษะที่ดี รวมทั้งทีมสหวิชาชีพที่มีประสิทธิภาพของโรงพยาบาล

มีความดีเกิดขึ้นมากมายในระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย มีความดีเกิดขึ้นมากมายจาก ทีมงานของโรงพยาบาลชุมชนและเครือข่าย แม้จะอยู่ท่ามกลางปัญหาและภาวะความขาดแคลน
ความดีสร้างได้

ข้อมูลสื่อ

357-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์