สวัสดีปีใหม่ พ.ศ.2552 ครับ คอลัมน์โยคะช่วงที่ผ่านมา ผมได้ทยอยแปลโยคะบำบัด ของครูกุลวัลยนันท์ ผู้ก่อตั้งสถาบันโยคะไกวัลยธรรม ประเทศอินเดีย จนเสร็จสิ้นลง ตั้งใจจะรวมเป็นเล่ม เพื่อเผยแพร่ไปยังผู้สนใจเรื่องโยคะบำบัด ซึ่งนับวันจะเพิ่มมากขึ้นๆ
ส่วนปี พ.ศ.2552 นี้ ตั้งใจจะเขียนเกี่ยวกับ "วิถีทางแห่งโยคะ" โดยการนำภูมิปัญญาโบราณของชาวตะวันออก มาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของคนยุคอินเทอร์เน็ต ให้พวกเรามีชีวิตที่สมดุล มีความหมาย มีความอิ่มเต็มในจิตใจ ในจิตวิญญาณ
ปลายเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ.2551 ได้มีโอกาสไปร่วมงานแถลงข่าว Healthy & Beauty Contest ซึ่งจะจัดขึ้นช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ มีองค์กรต่างๆ และสื่อมวลชนหลายๆ ฉบับที่ผมไม่คุ้นเลย (ไม่รู้ว่าสื่อฯ เพิ่มขึ้นเร็วมาก หรือเรามัวแต่ฝึกโยคะ) จึงเตรียมที่จะไปแนะนำสถาบันโยคะวิชาการ ว่าเราเป็นใคร มาจากไหน ปรากฏว่าเขารู้จักสถาบันฯ กันหมด รู้ว่าเราทำโยคะแนววิชาการ ก็รู้สึกดีใจเหมือนกันที่สังคมมีความคุ้นเคยกับโยคะวิชาการ เพราะถ้าจะพูดถึงการพัฒนาอย่างยั่งยืน สิ่งสำคัญก็คือ ข้อมูล ความรู้ วิชาการ นั่นเอง
เข้าเรื่องวิถีทางแห่งโยคะกันดีกว่า
ใครที่อ่านตำราปตัญชลีโยคะสูตร ก็จะรู้ว่าวิถีแห่งโยคะนั้น ประกอบด้วยอัษฎางค์โยคะ หรือหนทาง 8 ประการ แต่ทำไมผู้คนในสังคมจึงยังคงฝึกโยคะกันเป็นก้อนๆ ฝึกกันแบบแยกส่วน คือฝึกกันแต่ท่าโยคะ ที่น่าสังเกตคือคนสนใจโยคะกันมากมาย หนังสือโยคะขายดิบขายดีกันมาก แต่ไม่เห็นผู้คนบรรลุโยคะกันตามสัดส่วนเลย ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพูดถึงวิถีโยคะโดดๆ หากแต่เราต้องพูดถึงวิถีโยคะในภาพรวมทั้งหมด กล่าวคือเพื่อจะให้ "วิถี" มีความสมบูรณ์ เราต้องคำนึงถึงเป้าหมาย และจุดเริ่มต้นจริงๆ แล้วเราต้องพูดถึงเป้าหมายของโยคะ และจุดเริ่มต้นของผู้ฝึกโยคะ ก่อนจะพูดถึงวิถีโยคะด้วยซ้ำ
ปตัญชลีโยคะสูตรมีอยู่ 4 บท รวม 196 ประโยค ประโยคสุดท้ายคือบทที่ 4 ประโยคที่ 34 กล่าวไว้ว่า
"เมื่ออคติหรือการตีความต่างๆ นานาของจิตหมดไป สภาวะเดิมแท้ก็ปรากฏขึ้น สภาวะเดิมแท้นี้ก็คือ จิต (ที่ทำหน้าที่รู้) กับ กาย (อันเป็นสิ่งที่ถูกจิตรู้) กลับคืนสู่ธรรมชาติเดิมแท้ คือต่างฝ่ายต่างดำรงอยู่โดยเป็นอิสระจากกัน (จากที่เดิมจิตไปตู่เอาเองว่ากายนี้เป็นของฉัน) จิตที่เป็นอิสระนี้ เรียกว่าไกวัลย อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการฝึกโยคะ (อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของการเกิดมาเป็นมนุษย์) PYS 4.34"
ไม่ทราบผู้อ่านรู้สึกเหมือนผมในขณะนี้หรือไม่ คือยิ่งอ่านตำราก็ยิ่งตระหนักถึงคุณค่าของโยคะในการพัฒนาจิต (ไม่ใช่การพัฒนากาย) ประโยคสุดท้ายของโยคะสูตร บ่งบอกชัดเจนว่าจิตมนุษย์ในธรรมชาติแท้นั้น มัน "รู้" อย่างเดียว รู้อย่างซื่อๆ รู้ด้วยความเป็นกลาง ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากการ "รู้" และจิตที่รู้ลูกเดียวนั้นเป็นไกวัลย หรือ "บรมสุข"
แล้วไอ้ทุกข์ต่างๆ ของเรามาจากไหน ก็มาจากจิตที่มันทำหน้าที่อื่นๆ ให้เราด้วย ในทรรศนะของปตัญชลี นอกจาก "รู้" จิตยังงานหลักๆ อีก 2 - 3 อย่าง แต่จะขอกล่าวแค่ 2 อย่าง คือ 1) จำสิ่งที่ผ่านมา กับ 2) คิดไปถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด
หน้าที่ของจิต 2 ประการนี้ ก็เป็นสิ่งจำเป็นนะ (ไม่งั้นมนุษย์ก็ดำเนินชีวิตไม่ได้นะ) ปัญหาจริงๆ ของเราคือ เมื่อใช้จิตทำหน้าที่ 2 ประการนี้แล้ว เราไปกอด ไปรัดมันไว้อย่างเหนียวแน่น ไม่ปล่อย ไม่วางมัน ไปยึดมันไว้จนแนบแน่น อะไรๆ ก็ต้องไปผูก - ไปเทียบกับสิ่งที่ผ่านมา อะไรๆ ก็ต้องจินตนการล่วงหน้าไว้ก่อน ที่รวมเรียกว่าอคตินั่นเอง
การที่เรามาฝึกโยคะกัน ผลที่เราจะได้รับก็คือการมีจิตรับรู้สิ่งต่างๆ โดยปราศจากอคติ การมีจิตที่หยุดการตีความ หยุดการใส่สีใส่ไข่ หยุดการให้ค่าว่านั่นดี นี่ไม่ดี หยุดการเกลียดความชั่ว หยุดการรักความดี เพราะความดี - ความชั่ว แม้จะมีความสำคัญในระดับการดำเนินชีวิตเบื้องต้น แต่ในเบื้องปลายแล้ว ก็ถือว่าเป็นการตีความของจิตอยู่ดี
ผู้อ่านนิตยสารหมอชาวบ้านนี้ คงเห็นเช่นเดียวกับผมว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะ ไม่ควรเอามากๆเลย ที่จะฝึกโยคะโดยไม่มีความรู้เกี่ยวกับโยคะสูตร เมื่อตระหนักเช่นนี้แล้ว บทบาทสำคัญประการหนึ่งในการเผยแพร่โยคะก็คือการรณรงค์ให้คนฝึกโยคะมีโอกาสเข้าถึงตำราดั้งเดิม ผมเชื่อว่ามนุษย์ไม่เคยปฏิเสธสิ่งที่ดีกว่า เมื่อยังไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ เขาก็จะฝึกโยคะในขอบเขตที่จำกัด ครั้นเมื่อมีโอกาสเข้าถึงข้อมูลความรู้ การฝึกโยคะของเขาก็จะโน้มเข้าใกล้ประโยคสุดท้ายของโยคะสูตรมากขึ้นๆ
ผมเชื่อว่าผู้อ่านคงเห็นเช่นเดียวกับผม ถ้าคนสนใจฝึกโยคะทุกคนตั้งต้นจากประโยคสุดท้ายของโยคะสูตรนี้ โลกใบนี้อันเต็มไปด้วยคนฝึกโยคะมากมายไปหมด คงสงบ ร่มเย็น และน่าอยู่มากๆ เลย เฮ้อ...
- อ่าน 6,820 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้