ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 64
เช้าวันหนึ่ง ขณะตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในห้องฉุกเฉินร่วมกับแพทย์ประจำบ้าน แพทย์ฝึกหัด และพยาบาลซึ่งเข้ามารับการฝึกอบรมเป็นพยาบาลเวชศาสตร์ฉุกเฉินอีกกลุ่มใหญ
ได้พบกับผู้ป่วยชายคนหนึ่งนอนยิ้มระรื่นอยู่บนเตียงเข็นในห้องฉุกเฉิน ไม่ได้แสดงอาการเจ็บป่วยหรือฉุกเฉินแต่อย่างใด
อาจารย์ : "สวัสดีครับ คุณสบายดีแล้วหรือครับ"
ผู้ป่วย : "สบายแล้วครับ เมื่อวานเกือบแย่ คุณหมอคนนี้ช่วยผมจนสบายแล้ว"
แพทย์ประจำบ้าน : "ผู้ป่วยเป็นชายไทย อายุ 67 ปี มาด้วยอาการปวดท้องมาก เพราะปัสสาวะไม่ออกมา 1 วัน ตรวจร่างกายพบว่ากระเพาะปัสสาวะโป่ง แข็งเหนือหัวหน่าว จึงสวนปัสสาวะให้ได้ปัสสาวะออกมาประมาณ 1,500 มิลลิลิตร (ประมาณ 2 ขวดแม่โขง) แล้วผู้ป่วยก็หายปวดท้องและสบายขึ้นครับ"
อาจารย์หันไปถามผู้ป่วย
อาจารย์ : "บ้านคุณอยู่ไหนหรือครับ ถึงปล่อยให้ปวดปัสสาวะอยู่ทั้งวัน จนต้องมาโรงพยาบาลกลางดึก"
ผู้ป่วย : "บ้านผมอยู่เลยลพบุรีไปหน่อยครับ อยู่อำเภอบางน้ำเขียว ตอนเช้าผมคิดว่า พอบ่ายๆ คงจะเยี่ยวออกได้ แต่ตกเย็นยังเยี่ยวไม่ออก เลยต้องบึ่งรถมากรุงเทพฯ"
อาจารย์ : "โอ้โฮ แค่ปัสสาวะไม่ออกเนี่ย ต้องบึ่งรถมากรุงเทพฯ เลยหรือครับ แล้วไม่ปวดท้องแทบแย่หรือครับเวลารถวิ่งทางขรุขระและขึ้นลงสะพาน"
ผู้ป่วยหัวเราะแหะๆ แล้วหันหน้าไปมองภรรยา
อาจารย์ : "คุณเป็นอะไรกับผู้ป่วยหรือครับ"
ภรรยา : "เป็นแฟนเขาค่ะ"
อาจารย์ : "อ้าว แล้วคุณไม่สงสารเค้าหรือ ที่ปล่อยให้เค้าปวดปัสสาวะอยู่ทั้งวัน แล้วยังพาเค้าเดินทางไกล กระเทือนขึ้นกระเทือนลงกว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ"
ภรรยา : "เค้ากลัวที่จะไปโรงพยาบาลบางน้ำเขียว และโรงพยาบาลลพบุรีค่ะ เพราะหมอที่นั่นบอกเค้าว่า ต่อมลูกหมากโต ถ้าเมื่อไหร่เยี่ยวไม่ออก ก็จะต้องผ่าตัด เค้ากลัวถูกผ่าตัดเลยให้บึ่งรถมากรุงเทพฯ ทั้งๆ ที่ชั้นบอกให้รักษาใกล้บ้านแล้วค่ะ"
อาจารย์ : "โธ่เอ๊ย ถึงมากรุงเทพฯ ก็ต้องผ่าตัดเหมือนกัน แต่ไม่ใช่ต้องผ่าตัดขณะที่ปัสสาวะไม่ออก ตอนที่ปัสสาวะไม่ออก หมอก็ต้องใส่สายยางสวนปัสสาวะให้ก่อน พอปัสสาวะออกได้ จะได้หายปวดท้อง และหมอก็จะคาสายยางไว้ให้คุณสบายใจได้ว่า จะไม่ปวดปัสสาวะอีก
แล้วก็คงต้องรออย่างน้อย 3-7 วันจนกว่าต่อมลูกหมากของคุณจะหายอักเสบบวม แล้วจึงจะเอาสายสวนปัสสาวะออกได้ แล้วถ้าเอาสายสวนปัสสาวะออกแล้ว คุณยังปัสสาวะเองไม่ได้ ก็คงต้องสวนปัสสาวะใหม่ และคงจัดคิวให้คุณได้ผ่าตัดต่อมลูกหมากต่อไป
ถ้าคุณจะมาผ่าตัดที่กรุงเทพฯ คุณก็ต้องรอคิวนาน เพราะคนไข้จากทุกจังหวัดทั่วประเทศแห่กันมารักษาตัวที่กรุงเทพฯ
ถ้าคุณรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คุณก็ไม่ต้องรอคิวเลย หรือไม่ต้องรอคิวนาน แล้วยังไม่ต้องเสียเงินค่าผ่าตัดด้วย เพราะคุณมีบัตรทองที่โรงพยาบาลไหน โรงพยาบาลนั้นก็จะผ่าตัดให้คุณฟรี"
ผู้ป่วยยิ้มระรื่น แล้วพูดขึ้นอย่างเขินๆ
ผู้ป่วย : "ครับ ถ้าอย่างนั้น ผมจะกลับไปผ่าตัดที่ลพบุรีครับ จะได้ไม่ต้องรอคิวนาน และไม่ต้องเดินทางไกลแบบนี้ เมื่อคืนปวดท้องแทบแย่ เวลารถกระแทกกระเทือน แทบตายเลย ถ้าผมเชื่อแฟนตั้งแต่เมื่อวาน คงไม่ต้องทรมานแบบนี้"
นี่เป็นตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งในผู้ป่วยจำนวนมาก ที่ชอบคิดว่าการไปรักษาตัวที่กรุงเทพฯ จะได้รับการรักษาที่ดีกว่าต่างจังหวัด ซึ่งในบางโรคหรือในบางภาวะ อาจจะเป็นจริงเช่นนั้น เพราะโรคหรือภาวะนั้นๆ ในต่างจังหวัดยังไม่มีหมอหรือเครื่องมือที่จะทำการรักษาได้
แต่ในโรคส่วนใหญ่และภาวะการเจ็บป่วยเกือบทั้งหมด หมอในจังหวัดที่ตนอาศัยอยู่หรือในจังหวัดใกล้เคียงที่มีโรงพยาบาลศูนย์ จะสามารถตรวจรักษาได้พอๆ กับหรือใกล้เคียงกับโรงพยาบาลใหญ่ๆ ในกรุงเทพฯ
การเดินทางไกลไปรักษาที่กรุงเทพฯ จึงเป็นการเพิ่มความทุกข์ทรมานและเสียเงินเสียเวลาใช่เหตุดังตัวอย่างผู้ป่วยข้างต้น
- อ่าน 10,313 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้