แมงลัก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Ocimum citriodorum
วงศ์ Labiatae
ชื่อสามัญ Hoary Basil, Lemon Basil, Thai Lemon Basil
ชื่ออื่น ก้อมก้อขาว
แมงลัก เป็นพืชล้มลุกในสกุลกะเพรา-โหระพา ลักษณะของต้นแมงลักจะคล้ายต้นกะเพรา ต่างกันที่กลิ่น และใบจะมีสีเขียวจางกว่าใบกะเพรา
แมงลักมีลำต้นสูงประมาณ 65 เซนติเมตร มีกลิ่นหอมทุกส่วน ใบเป็นใบเดี่ยวทรงรีหรือรูปหอกหรือรี ขอบใบเรียบ บ้างมีขอบหยักมน มีกลิ่นหอมคล้ายมะนาวฝรั่ง
ดอกออกช่ออยู่ปลายยอด ช่อดอกจะออกเรียงเป็นชั้นๆ กลีบดอกมีสีขาวออกเป็นวงรอบก้าน
ผลจะเป็นผลชนิดแห้ง ภายในมี 4 ผลย่อย เรียกว่า เมล็ดแมงลัก
ใบแมงลักใช้กินสด ใส่สลัดผัก ประดับจานอาหาร ส่วนมากในประเทศไทยจะกินกับขนมจีน หรือใส่แกงเลียงและแกงต่างๆ
ผลที่คนไทยเรียกว่าเมล็ดแมงลักใช้ทำขนมน้ำแข็งไส ใส่ไอศกรีม ใส่น้ำเต้าหู้ หรือใส่ในวุ้น และใช้เป็นยาระบายชนิดเพิ่มกาก
ใบแมงลักมีน้ำมันหอมระเหยราวร้อยละ 0.7 น้ำมันหอมระเหยที่เป็นส่วนประกอบหลักคือซิทรัล (citral) ต่างประเทศใช้ใบแมงลักแต่งกลิ่นอาหาร เนื่องจากมีกลิ่นมะนาวจึงมักใช้แต่งกลิ่นอาหารจำพวกปลาและไก่ในอาหารฝรั่ง
ที่สหรัฐอเมริกาปลูกแมงลักเป็นไม้ประดับและใช้ใบแห้งประกอบบุหงาสำหรับสุคนธบำบัด
ใบแมงลัก 100 กรัม มีสารอาหารสำคัญดังนี้
แคลเซียม 350 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 86 มิลลิกรัม
เหล็ก 4.9 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 10,666 มิลลิกรัม
ไทอามีน 0.30 มิลลิกรัม
ไรโบฟลาวิน 0.14 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 1.0 มิลลิกรัม
วิตามินซี 78 มิลลิกรัม
เส้นใยอาหาร 2.6 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 11.1 กรัม
ไขมัน 0.8 กรัม
โปรตีน 2.9 กรัม
พลังงาน 32 แคลอรี
คุณสมบัติทางยาของแมงลักที่มีใช้ในประเทศไทย
ขับลมในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาการอึดอัด แน่นไม่สบายท้อง ให้นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
ขับเหงื่อ เมื่อมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ไม่ค่อยสบาย นำต้นและใบแมงลักต้มน้ำดื่ม
บรรเทาอาการหวัด อาการคัดจมูก น้ำมูกไหล หลอดลมอักเสบ ใช้ใบแมงลัก 1 กำมือล้างสะอาด โขลกคั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไลบรรเทาอาการดังกล่าว สำหรับกรณีของหลอดลมอักเสบให้คั้นน้ำดื่ม 1 ถ้วยตะไล 3 เวลาเช้า-กลางวัน-เย็น
บรรเทาอาการผื่นคัน พิษจากพืช พิษสัตว์กัดต่อย หรืออาการคันจากเชื้อรา ใช้ใบแมงลักสดโขลกพอกบริเวณที่มีอาการ และเปลี่ยนยาบ่อยๆ
แก้ท้องร่วงท้องเสีย ใบแมงลักสัก 2 กำมือ ล้างสะอาด โขลกบีบคั้นน้ำดื่ม แก้ท้องร่วงได้
เพิ่มน้ำนมแม่ ให้แม่ที่ให้นมลูกกินแกงเลียงหัวปลี ใส่ใบแมงลัก และให้ลูกดูดหัวน้ำนมบ่อยๆ เพิ่มการสร้างน้ำนมแม่
บำรุงสายตา ใบแมงลักมีวิตามินเอสูง การกินใบแมงลักเป็นประจำช่วยบำรุงสายตา
บำรุงเลือด แก้โลหิตจาง ใบแมงลักอุดมด้วยธาตุเหล็กช่วยบำรุงโลหิต
เสริมสร้างกระดูก ใบแมงลักมีแคลเซียมสูงช่วยบำรุงกระดูก
เป็นยาระบาย ใช้เมล็ดแก่ของแมงลัก สัก 1 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ปล่อยให้พองตัวดีแล้ว เติมน้ำตาลเล็กน้อย ดื่มแก้ท้องผูก แนะนำให้ใช้กับหญิงตั้งครรภ์และแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเอง ที่ไม่ต้องการภาวะท้องผูกเพราะเป็นการแก้ปัญหาแบบธรรมชาติ
ใช้ลดความอ้วน เปลือกผล (ที่เรียกเมล็ดแมงลัก) มีสารเมือกซึ่งสามารถพองตัวในน้ำได้ 45 เท่า เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบกินอาหารที่มีกาก ใช้ผลแมงลัก 1-2 ช้อนชาแช่น้ำ 1 แก้ว ทิ้งไว้จนพองตัวเต็มที่ กินก่อนมื้ออาหารครึ่งชั่วโมง ดื่มน้ำตาม ช่วยให้กินอาหารได้น้อยลง ลดปริมาณพลังงานอาหาร ช่วยให้อุจจาระอ่อนตัว จำนวนครั้งในการขับถ่ายและปริมาณอุจจาระเพิ่มขึ้น ลดอาการท้องผูกด้วย
ข้อควรระวังการใช้แมงลัก ถ้าใช้เมล็ดแมงลักที่ยังพองตัวไม่เต็มที่ จะทำให้มีการดูดน้ำจากลำไส้เกิดอาการขาดน้ำ และอาจเกิดอาการลำไส้อุดตันได้ (โดยเฉพาะแมงลักที่บดเป็นผง) รวมถึงที่ต่างประเทศใช้ใบแมงลักบรรเทาอาการไอ ขับเหงื่อ และขับลม
การศึกษาทางเภสัชวิทยาและทางการแพทย์
ฤทธิ์เป็นยาระบาย
การศึกษาในสัตว์ทดลอง เมื่อป้อนเมล็ดแมงลัก ขนาด 37.5 มก./กก. ละลายน้ำให้พองตัว ให้หนูขาวและหนูถีบจักร จะมีผลทำให้ลำไส้มีการเคลื่อนไหวเทียบเท่ากับการให้หนูกินยาถ่าย metamucil ขนาด 300 มก./กก.
การทดลองทางคลินิก มีการทดลองใช้เมล็ดแมงลัก โดยใช้ปริมาณ 2 ช้อนชา ผสมน้ำ 240 มล. หรือประมาณ 1 แก้ว ให้ผลเป็นยาระบายในคนปกติเช่นเดียวกับ psyllium 2 ช้อนชา โดยมีผลที่น่าสนใจคือ เพิ่มจำนวนครั้งในการถ่าย เพิ่มปริมาณอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนตัวกว่าปกติ จากการศึกษาจะพบว่าเมล็ดแมงลักสามารถใช้เป็นยาระบายได้ดี
นอกจากนี้ ยังมีการทดลองกับผู้ป่วยที่จะได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากและนิ่วในไต โดยให้กินยาระบายเมล็ดแมงลัก (เมล็ดแมงลักบดเป็นผง) ขนาดครึ่งถึง 1 ช้อนชา และ 1 ช้อนชาครึ่ง ในน้ำ 150 มิลลิลิตร 3 ครั้งหลังอาหาร/วัน และหลังการผ่าตัด เป็นเวลา 3-8 วัน และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับเมล็ดแมงลัก พบว่าสัดส่วนอาการท้องผูกหลังการผ่าตัดของผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับ เมล็ดแมงลักเท่ากับร้อยละ 80.6
ขณะที่กลุ่มที่ได้รับเมล็ดแมงลักมีสัดส่วนของอาการท้องผูกเท่ากับร้อยละ 13.3, 31.6 และ 10.5 ตามลำดับ จากการทดลองจะเห็นว่าเมล็ดแมงลักสามารถลดอาการท้องผูกของผู้ป่วยหลังผ่าตัดได้
ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน
งานวิจัยจากอินเดีย ปี พ.ศ.2551 รายงานการพบสารโพลีฟีนอลหลายชนิดในใบแมงลัก สารดังกล่าวคือกรดโรสมารินิก กรดลิโทสเปอมิก กรดวานิลิก กรดคูมาริก กรดไฮดรอกซีเบนโซอิก กรดซีริงจิก กรดกาเฟอิก กรดเฟอรูลิก กรดซินามิก กรดไฮดรอกซีฟีนิลแล็กติก และกรดซินาปิก
สารสกัดใบแมงลักแสดงฤทธิ์ต้านออกซิเดชันในหลอดทดลองได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันมีงานวิจัยของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากแมงลัก มีการทดลองใช้มิวซิเลจ (สารเมือก) จากเมล็ดแมงลักเป็นสารให้ความคงตัวแทนกัวร์กัมในการผลิตไอศกรีมกล้วยหอม พบว่าเมื่อปริมาณของมิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักเพิ่มขึ้นไอศกรีมจะมีความหนืดสูงขึ้น เมื่อนำมาทดสอบทางประสาทสัมผัสเปรียบเทียบกับไอศกรีมกล้วยหอมสูตรมาตรฐานที่ใช้กัวร์กัมเป็นสารให้ความคงตัว พบว่าสูตรที่ใช้มิวซิเลจจากเมล็ดแมงลักร้อยละ 0.5 มีเนื้อสัมผัส การละลายในปากและความชอบโดยรวมสูงกว่า และมีปริมาณเส้นใยสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แปลว่าไอศกรีมสารเมือกเมล็ดแมงลักอร่อยกว่าไอศกรีมที่ทำจากกัวร์กัม และมีคุณค่าอาหารสูงกว่าด้วย
อืมม์... ไอศกรีมที่อร่อยกว่าเดิม มีปริมาณเส้นใยอาหารสูงขึ้น ดีต่อสุขภาพ ใช้สารที่ผลิตได้ในประเทศ เมื่อไหร่จะออกเป็นผลิตภัณฑ์สู่ตลาดหนอ...
ถ้าจะกินใบแมงลักเพื่อให้ได้ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันคงต้องกินใบแมงลักบ่อยๆ เพราะปริมาณสารออกฤทธิ์ในใบแมงลักมีไม่มาก ถ้าจะกินกับขนมจีนก็ควรจะเป็นขนมจีนน้ำยาป่านะคะเพื่อไม่เพิ่มไขมันให้มากจนเกินควร
เนื่องจากเราคงรอไอศกรีมใส่สารคงตัวจากสารเมือกแมงลักไม่ไหว ตอนนี้ก็ชวนกันกินเม็ดแมงลักในน้ำเต้าหู้ (แบบหวานน้อย) ไปพลางๆก่อน
บอกคนขายว่าขอเม็ดแมงลักมากๆ ดีต่อสุขภาพ และประหยัดเงินมากกว่ากินเมทามูซิลมากเลยค่ะ
- อ่าน 31,777 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้