• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศิลปะการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข

ความสุข... ทุกคนสร้างได้

คนเราเกิดมา
อยากมีความสุขทั้งนั้น
ไม่มีใครอยากมีความทุกข์
แปลกมากเลย
มนุษย์เรียนรู้เรื่องอื่นทั้งหมด
ยกเว้นการเรียนรู้เรื่องความสุข

สังเกตไหมว่าเราเรียนวิชาต่างๆ สารพัด ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เศรษฐศาสตร์ อะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ไม่เรียนมีอย่างเดียวคือวิชาความสุข แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด

ทุกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่สร้างความสุขให้ตัวเองและให้คนอื่นได้ด้วย ถ้าทุกคนเป็นอย่างนี้ได้ โลกก็จะมีความสุขมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบันผู้คนพากันลำบากกันไปทั้งโลก เป็นเพราะใช้คำถามผิด
สมัยก่อนนั้นจะถามกันว่า ความจริงคืออะไร ความดีคืออะไร

มีนักปราชญ์ขึ้นมาตอบว่าความจริงนั้นคืออะไร ความดีนั้นคืออะไร ศาสนาต่างๆ เจ้าลัทธิต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อจะตอบคำถามเหล่านี้ มีนักปราชญ์คนหนึ่ง ก็คือพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นปัญญาชนที่มาตอบปัญญานี้

ทุกวันนี้ปัญหาที่ถามเป็นประจำคือ ทำอย่างไรจะรวย ทำอย่างไรจะกำไรสูงสุด แล้วก็ใช้ตรงนี้เป็นเครื่องขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งโลก แล้วโลกก็เป็นไปอย่างที่เห็น

นั่นคือใช้ความโลภเป็นเครื่องขับเคลื่อนการพัฒนา

ความโลภนำไปสู่ความรุนแรง
ความโลภเกี่ยวข้องกับตัวเงิน และตัวเงินเป็นมายาคติที่ไม่จริง
สมมุติเขียนตัวเลข 1 เป็นเงินแล้วเติมเลข 0 ไปเรื่อยๆ จนถึงศิริราช ไปถึงนครปฐม ไปเมืองกาญจน์ก็เติม 0 ได้ เป็นจำนวนเงินที่ไม่จริงแล้ว เพราะว่าไม่มีที่สิ้นสุด แต่ทรัพยากรในโลกนี้มีที่สิ้นสุด... เพราะฉะนั้นก็เป็นของไม่จริง เป็นมายาคติ

หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ท่านพูดไว้นานแล้วว่า "เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาเป็นของจริง" จากนี้ต่อไปเศรษฐกิจจะยุ่ง แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนอาหารในโลก

ประเทศไทยผลิตอาหารได้มากเหลือกิน อย่างไรก็ไม่ลำบาก ไม่มีวันอด จะไม่มีคนอดตายในประเทศไทย เพราะอยู่กับของจริง การมีข้าว มีปลา มีผัก นี่คือเศรษฐกิจจริง ของจริงและกินได้ ถ้าเราอยู่แต่ตัวเอง เราจะไม่เป็นไร คนไทย ประเทศไทย เพราะเราผลิตอาหารได้เหลือกิน

เมื่อโลกไปตกอยู่ในเรื่องเงินทอง ของมายา ทำให้ขยายตัวใหญ่ได้ไม่มีที่สิ้นสุด ความโลภของมนุษย์ก็ขยายใหญ่ได้มาก

โลภะ (โลภ) จะนำมาซึ่งโทสะ
โทสะก็คือความรุนแรง
ถ้าย้อนไปดูประวัติศาสตร์โลกจะเห็นว่าเดิมบริษัทอิสต์อินเดียฯ มาค้าขายที่อินเดีย พอขายไปขายมาไม่ทันใจ ก็เลยยึดอินเดียเป็นเมืองขึ้น ตัวบริษัทยึดแล้วก็ชักนำทหารอังกฤษเข้ามาปกครองประเทศ

ญี่ปุ่นในสมัยที่เรียกว่าเอโดะ (ชื่อเก่าของโตเกียว เดิมเมืองหลวงอยู่เกียวโต แล้วย้ายมาเอโดะ) มีสันติภาพอยู่ 260 ปี ไม่มีสงครามภายในและภายนอกเลย แล้วไม่นานก็มีอเมริกันมาเปิดประเทศ นำเรือรบมาจอดที่อ่าวโตเกียว 4 ลำ ญี่ปุ่นตื่นมาก็ตกใจมากว่ามีเรือดำมาจอด

คนญี่ปุ่นก็ตกใจมาก เพราะว่าไม่เคยเห็นเรือที่ทำด้วยเหล็ก (เรือที่ญี่ปุ่นมีแต่ทำด้วยไม้) ลำใหญ่มาก บนเรือมีทั้งปืนใหญ่และปืนกลด้วย

หลังจากนั้นญี่ปุ่นก็เปิดประเทศ พัฒนาอุตสาหกรรม ไม่กี่ปีก็ไปรบกับรัสเซีย แล้วไปยึดเกาหลี ไต้หวัน ตีจีนเข้าแมนจูเรียไปแล้ว

การพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่นำไปสู่สงคราม เมื่อพัฒนาไปเป็นขนาดใหญ่ ต้องการวัตถุดิบราคาถูก ต้องการที่ระบายสินค้า... ลองนึกภาพดูว่าญี่ปุ่นยึดเมืองอื่นก่อสงครามต่างๆ

ยุโรปก็เช่นเดียวกัน ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ก็เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์สงคราม การต่อสู้แย่งชิง เพิ่งจะสงบได้ไม่นาน แต่ก็ยังไม่สงบดี

ที่โลกเป็นอย่างนั้นเพราะไปใช้สิ่งที่พระพุทธเจ้า สอนไว้อยู่แล้วว่าเป็นอกุศลมูล (โลภะ โทสะ โมหะ) เป็นเครื่องขับเคลื่อนการพัฒนา... คนไทยเราต้องดูทั้งหมด

ศิลปะแห่งความสุข

ท่านดาไลลามะ ใช้คำว่า The Art of Happiness หรือ ศิลปะแห่งความสุข

ที่สหรัฐอเมริกามีคนฟังท่านดาไลลามะพูดเรื่องความสุขครั้งละหลายหมื่นคน เหตุที่มีคนฟังครั้งละมากๆ เพราะคนอเมริกันไม่เคยพบกับความสุข

Dr.William Zimmerman เป็นแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยแมสซาชูเซตส์ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา เปิดสอนการเจริญสติแบบพุทธ ใช้คำว่า "Buddhist mendfulness Meditation" มีคนอเมริกันมาลงทะเบียน 87,000 คน

ตอนนี้กระแสการเจริญสติแบบพุทธกำลังแพร่หลายไปมาก ทั้งในอเมริกาและยุโรป ซึ่งธรรมชาติก็จะเป็นอย่างนั้น เพราะว่า "พุทธธรรม" นั้นเป็นธรรมชาติ เป็นกฎธรรมชาติ ไม่ต้องรู้จักพระพุทธเจ้าก็จะค้นพบได้เอง

พระพุทธเจ้าบอกไว้ว่าไม่ต้องมารู้จักพุทธศาสนาหรอก เป็นความจริงที่มีอยู่ จะค้นพบเอง เพราะฉะนั้นจะ เรียกว่าเป็นพุทธศาสนาหรือไม่เรียกก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร

ทำอย่างไรจึงจะมีความสุขและสร้างสรรค์
แล้วทำอย่างไรจึงจะมีความสุข ทำอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์

เรื่องนี้ต้องเข้าไปดูความจริงเกี่ยวกับชีวิต ว่าชีวิตคนแต่ละคนเป็นชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าของความเป็นคน... คือธรรมชาติ

มนุษย์เป็นของมีค่าเหลือเกินที่ธรรมชาติให้ไว้ แต่ละคนมีเซลล์สมองถึงแสนล้านตัว แล้วแต่ละตัวนั้นเชื่อมโยงกับตัวอื่นๆ อีก 7 หมื่นตัว ลองเขียนในกระดาษก็ได้ จะเห็นเซลล์สมองเต็มไปหมด แล้วก็เชื่อมโยงกันเป็นโครงสร้างที่วิจิตรที่สุดในจักรวาล

สมองคนนี่ล่ะวิจิตรที่สุดในจักรวาล แล้วสามารถเรียนรู้อะไรก็ได้ ที่ตรงนี้มีศักยภาพสูงมาก และถ้าเราเข้าใจอีกว่าสมองของมนุษย์ ของสัตว์ จะต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผ่าสมองออกมา เมื่อมองด้วยตาเปล่าจะเห็นว่า ประกอบด้วย 3 ชั้นคือ ชั้นในสุด ชั้นกลาง และชั้นนอก

สมองชั้นใน
สุดมาจากสัตว์เลื้อยคลาน เขาเรียกว่า reptilian brain (คำว่า reptile แปลว่า สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด จระเข้)

สมองสัตว์เลื้อยคลานทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอด (survival) เท่านั้น (เช่น เรื่องการกิน การหนีภัย การต่อสู้) แต่จะไม่มีอารมณ์ อย่างเช่น จระเข้ไม่มีอารมณ์ ไม่เสียใจ รัก โกรธ มันมีแต่เพื่อความอยู่รอด มนุษย์เรามีสมองส่วนนี้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการหายใจ และความอยู่รอดเช่นเดียวกัน

ส่วนสมองชั้นกลางเป็นสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (mammalian brain) สมองส่วนนี้จะเกี่ยวกับอารมณ์ เช่น สุนัข แมว สัตว์พวกนี้เราจะเห็นว่ามันแสดงอารมณ์มาก

ส่วนนอกใหม่ เรียกว่า neocortex (neo แปลว่า ใหม่, cortex แปลว่า ส่วนนอก) เป็นสมองส่วนนอกใหม่ที่อยู่ข้างหน้า บางครั้งก็เรียกส่วนนี้ว่าสมองส่วนหน้า (fore brain) ถ้าเป็นสมองส่วนที่อยู่ไปข้างหลัง (hide brain) เรียกว่าสมองส่วนหลัง

สมองส่วนหน้าของมนุษย์เป็นส่วนที่ทำให้เกิดการ เรียนรู้ ทำให้เกิดคุณค่า มีบุญ มีบาป แต่สัตว์นั้นจะไม่มีบุญ มีบาป เวลาที่แมวไปฆ่าหนู หมากัดแมว ไม่ถือเป็นบาป ถือว่าเป็นธรรมชาติของสัตว์

มนุษย์มีบุญ มีบาป เกิดขึ้นเพราะมีสมองส่วนหน้านี้ (เหมือนกันหมดทุกคน) ฉะนั้นธรรมชาติของมนุษย์คือการรู้จักบาปบุญ คุณโทษ

ถ้าเรามีสำนึกตัวนี้ เราจะมีความสุขในเนื้อในตัวมนุษย์มีศักดิ์ศรี มีคุณค่าแห่งความเป็นคน และมีศักยภาพแห่งการสร้างสรรค์ทุกคน นอกจากนั้น ยังมีอีกสิ่งหนึ่งคือมีเมล็ดพันธุ์แห่งความดีอยู่ในหัวใจของทุกคน

นี่คือความจริงเกี่ยวกับมนุษย์
มนุษย์ปัจจุบันถูกมายาคติต่างๆ เข้าครอบงำ จุดสำคัญคือเราต้องรู้มายาคติต่างๆ พวกนี้เมื่อสามารถขจัดมายาคติออกไปก็จะพบกับศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นคน ศักยภาพแห่งการสร้างสรรค์ และเมล็ดพันธุ์แห่งความดีต่างๆ คนจะกลับไปเป็นสู่ธรรมชาติเดิมแท้ของแต่ละคน แล้วทุกคนจะมีความสุขอย่างล้ำลึก

สิ่งที่พูดมาทั้งหมดนี้อาจจะเข้าใจยาก ขอยกตัวอย่างดังนี้
มายาคติชนิดหนึ่งที่เราใช้แล้วแต่ไม่รู้ตัว คือการติดอยู่ในความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่จริงและไม่ได้ผล ทางพระจะมีศัพท์เรียกว่าสีลัพพตปรามาส พอเราไปติดอยู่ในนั้น เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา การแก้ปัญหาต่างๆ ปัญหาจะสะสมไปจนวิกฤติ พวกเราก็ไปติดอยู่ในความเชื่อผิดๆ

เรื่องมายาคติเกี่ยวกับมนุษย์มีมาก ที่คนเราติดกันนั้น เช่น ติดเรื่องชนชั้น ติดเรื่องความรู้ ติดเรื่องรวย เรื่องจน เรื่องผิวดำ ผิวขาว และยังมีอีกมาก

มีสิ่งหนึ่งที่ติดอยู่แล้วรู้สึกแปลกมากและส่วนนี้ถ้ารู้ปั๊บเปลี่ยนทันทีเลย นั่นคือคนเราเคยถูกสอนว่าไม่ว่าจะทำอะไรๆ ก็ตามต้องใช้ความรู้นำ ถูกสอนกันมาอย่างนั้น ความสำคัญของงานต่างๆ ที่ทำมา มีชีวิตอยู่นานๆ มาก็รู้ว่าตรงนี้เป็นการสอนที่ผิด

ทำอะไรต้อง "ใจ" นำ "ความรู้" ตาม
ความรู้นี้ถือเป็นมายาคติชนิดหนึ่ง
ถ้าความรู้นำจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่มีพลังพอ ตกเป็นเหยื่อของกิเลส และความรู้จะแบ่งแยกมนุษย์ออกเป็น รู้-ไม่รู้ เป็นโง่-ฉลาด เป็นต้น

การใช้ใจนำนั้นจะเกิดความกล้าหาญ และทุกคนก็มี "ใจ" อยู่ในตัวอยู่แล้ว
โรงพยาบาลราชบุรี เป็นโรงพยาบาลคุณธรรม มีพยาบาลอยู่ 400 กว่าคน คิดเรื่องนวัตกรรมต่างๆ ออกมามาก เพราะเขานึกถึงผู้ป่วย จึงทำให้เกิดนวัตกรรม เกิดงานวิจัยขึ้นมา เช่น เด็กที่ให้น้ำเกลือ ใช้เข็มเล็กๆ

ฉีดน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดที่หัว ถ้าเด็กพลิกหัว เข็มจะหลุด ต้องแทงใหม่เด็กก็จะเจ็บ พยาบาลก็คิดเครื่องที่มาใช้ประคองหัวเด็กไว้ ไม่ให้เด็กพลิกจนเข็มหลุด เป็นต้น

เคยเขียนปาฐกถาเรื่องพระเจ้าอยู่หัวกับรหัสพัฒนาใหม่ เพราะว่ารหัสพัฒนาเก่าผิด ใช้ความรู้นำ แล้วก็มี 2-3 ตัวตาม ความรู้ อำนาจ เงิน เหมือนกัน
รหัสพัฒนาใหม่ต้องเป็น "ใจ" นำ แล้วความรู้ตาม

ถ้าจับจุดนี้ได้จะเปลี่ยนแปลงเลย เพราะใจมีอยู่ก็คือมีใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ ความสุขก็จะเกิดขึ้นได้ทันทีที่เราเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ความรู้จะมีทั้งความรู้ในตำรากับความรู้ในตัวคน นั่นคือมี 2 อย่างนะ ไม่ได้มีอย่างเดียว
ความรู้ในตำราเกิดจากการวิจัย การวิเคราะห์ สังเคราะห์มาเป็นความรู้ ถือว่าอยู่ในทางวิทยาศาสตร์

ความรู้ในตัวคนเกิดจากประสบการณ์ชีวิต การทำงาน ทุกคนมีความรู้ในตัวหมด ไม่ว่าจะเป็นคนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายของชำ ช่างผสมปูน ความรู้ในตัวคนเป็นความรู้ที่แน่น เพราะได้มาจากการทำงาน จากประสบการณ์ และมีประโยชน์จริงๆ

แม่อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ไม่เคยเข้าโรงเรียนเลย
โยมแม่พระพรหมคุณาภรณ์ (พระธรรมปิฎก) ก็ไม่เคยเข้าโรงเรียน
อาจารย์เจิมศักดิ์ (ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง) เคยบอกว่าแม่เขาเป็นชาวบ้าน แต่สอนเรื่องดีๆ ไว้มากเลย

ตัวอย่างเหล่านี้จะช่วยบอกเราว่าครูที่ดีที่สุดของเราก็คือแม่ โดยไม่คำนึงถึงระดับการศึกษาของแม่
การที่เราฟังใครเป็นการแสดงว่าเราเคารพคนนั้น

แพทย์จะไม่เคารพผู้ป่วย เพราะไม่เคยฟังผู้ป่วยและไม่อธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจ เพราะแพทย์ถือว่าอยู่สูงกว่าผู้ป่วย

เวลาที่ฟังใคร ต้องตั้งใจฟัง
เช่นการฟังผู้ป่วย เวลาที่แพทย์ตั้งใจฟังผู้ป่วย อาการเจ็บของผู้ป่วยหายไปมาก... เพราะการฟังคือการเคารพในความเป็นคนของเขา แล้วยิ่งอธิบายให้ผู้ป่วยเข้าใจอีก บางทีไม่ต้องใช้ยาเลยก็หายแล้ว

เป็นทางการกับไม่เป็นทางการ
มายาคติอีกชนิดหนึ่งคือ ความเป็นทางการกับความไม่เป็นทางการ เราจะถูกสอนถูกครอบงำมาให้เห็นว่าความเป็นทางการเท่านั้นคือความถูกต้อง

จริงๆ แล้วความไม่เป็นทางการมีมาก่อน เป็นธรรมชาติ เป็นของจริงมากกว่า และใหญ่กว่าความเป็นทางการ

ผมเคยเป็นกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ วันหนึ่งเจ้าหน้าที่นำเอกสารมารายงานในที่ประชุมกรรมการ เขาเรียกว่า informal sector หมายถึงภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ เช่น ผู้ขายรายเล็กรายน้อย ขายขนม ขายของต่างๆ แต่รวมกันแล้วมากกว่าที่เป็นทางการ

ต้องเข้าใจว่าความไม่เป็นทางการใหญ่กว่าความเป็นทางการ
ความเป็นทางการ ภาษาอังกฤษ เรียกว่า formal
ถ้าไม่เป็นทางการเรียกว่า informal
ศัพท์จะบอกได้ว่า formal ก็คือ form
form ก็คือ รูปแบบ
ความเป็นทางการจะติดรูปแบบมากกว่าสาระ เช่น การตั้งมูลนิธิต้องไปขออนุมัติ นี่ล่ะคือรูปแบบ แต่สาระคือการทำประโยชน์กับชาวบ้าน

ประเทศไทยเป็นประเทศรูปแบบมากกว่าสหรัฐอเมริกา ทำให้ลำบาก เช่น สมมุติคนไทยให้สร้างหอพระไตรปิฎกสวยๆ มีแห่พระไตรปิฎกเต็มไปหมด แต่คนส่วนใหญ่ไม่อ่านพระไตรปิฎก

การอ่านพระไตรปิฎกก็คือสาระ แต่การแห่พระไตรปิฎกย่อมไม่พบกับสาระ
ฉะนั้น คนเรามีสิทธิ์รวมตัวกันทำเรื่องดีๆ การทำเรื่องดีๆ ไม่ต้องไปขออนุมัติใคร แล้วความที่รูปแบบมาจากสังคมระบบอำนาจ มักเน้นการบังคับบัญชาเป็นแนวดิ่งลงมา นี่เป็นประเด็นที่ต้องจับตรงนี้ให้ได้ เพราะว่าเป็นประเด็นที่ทำให้คนเราไม่มีความสุข

ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจกับผู้ไม่มีอำนาจจะเป็นไปในแนวดิ่ง (vertical relationship) โดยผู้มีอำนาจจะอยู่ข้างบน ผู้ไม่มีอำนาจจะอยู่ข้างล่าง ดังนั้นจึงมีคนเห็นท้องฟ้าอยู่คนเดียวคือคนข้างบน นอกนั้นไม่มีใครเห็นท้องฟ้าเลย เพราะเป็นแนวดิ่ง

ส่วนความสัมพันธ์แนวราบนั้น หมายถึง ทุกคนมีเกียรติเสมอกัน มีเสรีภาพ มีอิสระ มารวมตัวกันด้วยความสมัครใจ ทุกคนจะเห็นท้องฟ้าพร้อมกันหมด

สภาพองค์กรหรือสังคมแนวดิ่งนั้น องค์กรจะมีบรรยากาศอึดอัดและอืดอาดมาก พอคนอึดอัดแล้วก็จะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนต่างๆ สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดความขัดแย้งกัน เพราะคนทุกคนต้องการเสรีภาพ
พุทธศาสนานิยมแนวราบแต่ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยซึ่งเป็นสังคมแนวดิ่ง ก็ถูกความเป็นแนวดิ่งเข้าครอบงำ เพราะฉะนั้นถึงเคร่งศาสนา แต่ศีลธรรมก็ไม่ดี เราต้องทำความเข้าใจเรื่องนี้จะได้เข้าใจว่าตราบใดที่ยังคงเป็นสังคมแนวดิ่ง ศีลธรรมจะไม่ดี

เราต้องรวมตัวกันแนวราบ ซึ่งเรียกว่าประชาสังคม (civil society) หมายถึงทุกคนมีความเสมอภาคกัน เข้ามารวมตัวกัน ร่วมจิตร่วมทำกันด้วยภราดรภาพ เมื่อมีชุมชนเกิดขึ้น คนจะมีความสุขมาก

ฉะนั้น องค์กรของเราเป็นแนวดิ่งหรือเปล่า ตัวผู้บริหารยังเผด็จการหรือเปล่า
โครงสร้างแนวดิ่ง การเรียนรู้จะน้อย เพราะใช้อำนาจมาก

การพัฒนาไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การพัฒนาคือการรวมตัวกันทำสิ่งใหม่ที่ดี ง่ายกว่า และเมื่อประสบความสำเร็จจะเกิดความชื่นใจร่วมกัน แล้วทำให้เกิดความเชื่อถือไว้วางใจกันเกิดขึ้น

ถ้าไปแก้ปัญหาเก่าขึ้นมา จะเกิดการทะเลาะกันขึ้น เพราะว่าคนปกป้องปกปิดปัญหานั้นอยู่ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้วจะทำให้เกิดโครงสร้างใหม่ ซึ่งตั้งชื่อเรียกเพื่อให้จำได้ง่ายว่า INN

กระบวนการ INN
มาจากคำว่า Individual หมายถึง แต่ละคน
คนแต่ละคนมีสำนึกในศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นคน และตระหนักถึงศักยภาพของตัวเอง แล้วทำอะไรดีๆ ทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก เช่น ชอบเรื่องกล้วยไม้ หรือจะทำอะไรก็แล้วแต่

การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้เกิดความสุข นี่คือศิลปะการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง เป็นสูตรของอาจารย์ระพี สาคริก เป็นสูตรที่ง่าย เมื่อเข้าใจแล้วทุกคนจะสามารถทำได้ทันที

มีอยู่คราวหนึ่งเคยไปบรรยายที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พร้อมกับอาจารย์ระพี มีอาจารย์ผู้หญิงลุกขึ้นถามอาจารย์ระพีว่า "คนเราควรทำอะไร"Ž
อาจารย์ระพีตอบว่า "ทำอะไรก็ได้ที่ชอบ"Ž

อาจารย์ผู้หญิงคนนั้นก็ไม่เข้าใจ อาจารย์ระพีก็พูดต่อว่า "การได้ทำอะไรที่ชอบจะทำให้มีความสุข แล้วพยายามทำให้ประณีต ความประณีตจะเป็นความงามที่มาพัฒนาจิตใจของตนเอง แล้วพยายามให้เข้าใจลึกขึ้นๆ แล้วมันก็จะไปเจอกันเอง"

ทุกสิ่งทุกอย่างถ้าทำให้ประณีต จะกลายเป็นศิลปะ กลายเป็นความงามที่ซ่อนอยู่ แล้วยังมีความสุขในการทำอีก คนก็งงว่าจะไปเจออะไร เหมือนเรื่องตาบอดคลำช้างนั่นแหละ

นี่แหละคือความหมายของอาจารย์ระพี ที่ว่าทั้งหมดนี้มีความเป็นหนึ่งเดียว แต่มนุษย์ทำแยกส่วน ทำเฉพาะส่วน ถ้ารู้เฉพาะส่วนก็ไม่เกิดปัญญา

N ตัวแรก nodes แปลว่า กลุ่ม
เกิดการรรวมกันของคนที่ถูกใจกัน ถูกจริตกัน 4-7 คน เจอกันบ่อยๆ อย่าไปรอเดือนหนึ่งแล้วจัดประชุมไปเจอกันเอง เพราะทำความดีไม่ต้องขออนุมัติใคร

เป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-5 คนที่เจอกัน มีความสนใจเรื่องอะไรตรงกัน ได้พูดคุยกันแล้วมีความสุข สร้างสรรค์สิ่งดีในสังคม

มีคนที่ฟังแล้ว (อย่างเช่น นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์) ไปลองทำ INN ดู โดยเฉพาะ 2 ตัวแรก คือ I กับ N การทำอะไรดีๆ แล้วก็ได้เข้ากลุ่ม ทำได้ง่ายแล้วก็มีความสุขเกิดขึ้น

N ตัวที่สอง Network แปลว่า การสร้างเครือข่าย ระหว่างบุคคล ระหว่างกลุ่ม
แต่ละคนเป็นสมาชิกหลายกลุ่มได้ เป็นสมาชิกหลายเครือข่ายได้

ถ้าทุกองค์กรมี INN ก็จะเกิดโครงสร้างใหม่ที่เป็นความสุขเพราะหลุดจากโครงสร้างที่บีบคั้น (โครงสร้างแนวดิ่ง) กลายมาเป็นโครงสร้างแนวราบ เพราะทุกคนเป็นคนมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และรวมตัวกันเป็นกลุ่มกันด้วยความสมัครใจ

INN เป็นโครงสร้างใหม่ที่นำไปสู่สิ่งที่ใหญ่โตได้ เพราะความเป็นจริงแล้ว INN คือประชาธิปไตย ถ้าเกิดขึ้นเต็มพื้นที่ทางสังคม เกิดเป็นประชาสังคม เพราะทุกคนมีเกียรติเสมอกัน

ประชาสังคมคือเนื้อแท้ของประชาธิปไตย
ประชาธิปไตยต้องเป็นวิถีชีวิต และเป็นวัฒนธรรมด้วย

ความทุกข์เกิดจากการคิด

ถ้าอยู่ในการคิดจนเคย จะหยุดคิดไม่ได้
ความทุกข์ส่วนใหญ่เกิดจากการคิด

มีนิทานเซนเรื่องหนึ่ง ที่พระกับเณรเดินในป่า ไปถึงริมลำธารก็นั่งพัก มองเห็นมีผู้หญิงคนหนึ่งกำลังจะข้ามลำธาร แต่ก็ไม่สามารถข้ามไปได้ พระเลยช่วยสงเคราะห์ผู้หญิงคนนั้นด้วยการอุ้มผู้หญิงข้ามลำธารไปเลย จะได้รู้แล้วรู้รอดไป

พระกับเณรก็เดินทางต่อไป แต่ทว่าเณรคิดตั้งแต่เห็นพระอุ้มผู้หญิงข้ามลำธารแล้วว่า "หลวงพี่เป็นพระไม่น่าไปอุ้มผู้หญิงเลย" เณรคิดตลอดเวลา ถึงวัดแล้วก็ยังคิด มืดค่ำก็ยังคิด จนกระทั่งตกดึกทนไม่ไหวแล้ว เณรทนไม่ไหว บีบคั้นความรู้สึกเหลือเกิน จึงไปเคาะประตูกุฏิเพื่อปลุกพระที่จำวัดตั้งแต่หัวค่ำแล้ว

เณรถามพระว่า "หลวงพี่ไปอุ้มผู้หญิงข้ามลำธารทำไม"
หลวงพี่ตอบเณรไปว่า "เราอุ้มแล้ว เราก็วางไปแล้วตั้งแต่อยู่ที่ลำธาร"
แต่เณรอุ้มมาตลอดเวลา คืออุ้มมาในความคิด...

มีฝรั่งคนที่ชื่อ เอ็คฮาร์ต โทลเล มีความทุกข์มากในตัว พยายามจะฆ่าตัวตายหลายครั้งแล้ว เช้าวันหนึ่งทนไม่ไหวแล้ว วันนี้คงต้องเอาล่ะ ฉันอยู่ไม่ไหวแล้ว

ขาก็รำพึงไปว่า "I cannot live with myself any longer"Ž
สังเกตคำนี้ให้ดีนะครับ "I cannot live with myself any longer" ดูทุกจ์จริงๆ แล้วเขาจะไปอยู่กับมันได้อย่างไร แล้วคำนี้มันก็กระตุกสติเขา
เอ๊ะ เราคิดว่า I นี่เป็นใคร แล้ว myself นี่เป็นใคร
มี 2 คนหรือถึงได้บอกว่า คนหนึ่งไม่สามารถอยู่กับอีกคนหนึ่งได้

ผู้ชายคนนี้เขาก็อมทุกข์ คิดว่าไม่รู้ล่ะ วันนี้ฉันจะฆ่าตัวตายแล้ว แต่เค้าก็สงสัยว่าทำไมพูดแบบนี้ I cannot live with myself any longer เลยคิดได้ว่า แล้ว I เป็นอีกคนหนึ่งเหรอ

จิตก็หลุดไปอยู่อีกสภาวะหนึ่ง ความทุกข์หายไปหมดเลย และหายไปอย่างถาวร จากคนที่กำลังจะฆ่าตัวตาย จะไปนั่งที่ไหนก็มีความสุขทั้งเนื้อทั้งตัวเลย อยู่มาหลายเดือนก็ยังสุขอยู่ กี่ปีก็ยังสุขอยู่ เปลี่ยนจากคนที่มีความทุกข์จะฆ่าตัวตาย กลายเป็นคนมีความสุขไปเลย

มนุษย์เราไปรู้จัก "สภาวะนิรันดร์" แต่ไม่ใช่รู้ด้วยการคิด ด้วยนิยาม ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ใดๆ แต่จะรู้ได้ด้วยประสบการณ์ ด้วยสัมผัสในเวลาจิตสงบ แต่เวลาที่จิตเราวุ่น วุ่นวายกับการต่อสู้ การทำมาหากิน มันจะอยู่กับโลกปรุงแต่ง แต่เวลาที่จิตสงบมันจะไปสัมผัสกับความจริงตรงนี้ ที่ไม่ปรุงแต่ง แล้วจิตของเอ็คฮาร์ต โทลเล หลุดมาสู่ตรงนี้ เป็นอิสระ แล้วก็หมดทุกข์ไปเลย

นายเอ็คฮาร์ต โทลเล หลุดไปอีกสภาวะหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวะสงบ สภาวะนิรันดร์ ก็มีความสุข เพราะจิตไม่ปรุงแต่งต่อไป เขาเขียนหนังสือชื่อ The power of now และ A New Earth มีรายการ The Oprah Winfrey Show ซึ่งเป็นรายการโทรทัศน์ชื่อดังของอเมริกานำเรื่อง นี้ไปออก คนก็เลยอ่านกันมาก กลายเป็นหนังสือขายดี

การเจริญสติ
ความไม่ประมาท คือการมีสติ
ถ้าความประมาท คือความไม่มีสติ
ทุกคนควรจะเจริญสติ จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนจากความทุกข์เป็นความสุข และที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินด้วย

พระพุทธเจ้าเรียกสติว่าเป็นเอกมรรคโค ทางอันเอก
ท่าน ติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนาม ใช้คำว่า ปาฏิหาริย์แห่งการตื่นอยู่เสมอ
เอ็คฮาร์ต โทลเล เรียกว่า "The power of now" now ก็คือปัจจุบันขณะ

ผมเคยเขียนเกี่ยวกับมหาสติปัฏฐาน 4 คือ การรู้ 4 อย่าง กาย... เวทนา... จิต... ธรรม...

1. กาย คือการเจริญสติให้รู้จักกาย
หมายถึงรู้ในกายทั้งปวง เช่น หายใจเข้า หายใจออก ย่าง ก้าว ยืน เดิน นั่ง นอน

2. เวทนา คือการเจริญสติให้รู้จักเวทนา (ความรู้สึก)
หมายถึงเมื่อเกิดความรู้สึกใดๆ ก็ตาม ความรู้สึกนั้นๆ สุขก็รู้ว่าสุข ทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ เฉยๆ ก็รู้ว่าเฉย

3. จิต คือการเจริญสติให้รู้จักจิต (ความคิด)
หมายถึงสภาพจิตที่กำหนดรู้ว่ามีราคะ ไม่มีราคะ มีโทสะ ไม่มีโทสะ มีโมหะ ไม่มีโมหะ มีสมาธิหรือฟุ้งซ่าน ก็ตามรู้จิตในขณะนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร

4. ธรรม คือการเจริญสติให้รู้ธรรม
หมายถึงหัวข้อธรรม เช่น นิวรณ์ 5 ขันธ์ 5 อายตนะ โพชฌงค์ อริยสัจธรรม

หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ วัดสนามใน ท่านสอนให้เจริญสติด้วยการรู้ทุกข์รู้ธรรม ด้วยการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว (ดูในล้อมกรอบ)

เรื่องสติมีการเขียนกันมาก รวมทั้งในพระไตรปิฎก
ส่วนเรื่องอานาปานสติ แปลว่า สติที่รู้ตามลมหายใจเข้า-ออก
ปาน แปลว่า ลมหายใจ อานาปาน แปลว่า เข้า-ออก พระพุทธเจ้าก็จะใช้ตรงนี้มาก

หลวงพ่อเทียนบอกให้ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกาย ลมมันเบา บางทีมันก็จับยาก ท่านก็บอกว่าให้จับการเคลื่อนไหว เคลื่อนไหวอะไรก็รู้ เพราะว่ามันหยาบ ให้ตามดูรู้ทันร่างกายของตนเอง แล้วจิตมันก็จะสงบ แล้วเราก็จะรู้ใจด้วยว่าจิตมันคิดอย่างไร

 

 

ข้อมูลสื่อ

357-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 357
มกราคม 2552
ศ.นพ.ประเวศ วะสี