• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะบำบัด เหมาะกับอะไร

เราได้ให้ภาพรวมของโยคะบำบัด ทั้งหลักการ คำอธิบายในเชิงวิทยาศาสตร์ และของกระบวนต่างๆ ในโยคะบำบัด เป็นการบำบัดเฉพาะเจาะจงของโยคะที่ปฏิบัติได้จริงและเกิดผล เกิดประโยชน์จริง

อย่างไรก็ตาม โยคะยุคใหม่บางแห่งอาจจะมีการผสมโยคะเข้ากับศาสตร์อื่นๆ บ้างทำไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยหวังเพียงจะทำให้ได้รับการยอมรับมากขึ้น บ้างทำไปโดยหวังจะให้มันดูวิจิตรพิสดารมากขึ้น

ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ มักจะมองโยคะในทัศนะของการออกกำลังกายบำบัดชนิดหนึ่ง แม้กระบวนการของโยคะจะเกี่ยวเนื่องกับการจัดการร่างกาย แต่พึงสังเกตว่า การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรุนแรงไม่ใช่ลักษณะของโยคะเลย

โยคะบำบัดไม่ใช่การออกกำลังกาย แต่เป็นการดูแลทุกๆ มิติของความเป็นมนุษย์อย่างเป็นองค์รวม
เมื่อมองจากแง่มุมของการบำบัดโดยทั่วไป เราจะพบว่า โยคะเหมาะกับการรักษาโรคเรื้อรัง โดยหฐโยคะนั้นสามารถปรับความผิดปกติของกลไกการสันดาป ความผิดปกติทางกายภาพ รวมทั้งความพิการทางกาย

โดยรวมแล้ว โยคะบำบัดเหมาะกับการแพทย์ทางด้านกาย-จิตสัมพันธ์ นอกจากนั้น โยคะยังช่วยในกรณีความผิดปกติทางประสาท เช่น อัมพฤกษ์ หฐโยคะ ช่วยขจัดความเกร็งตึง ซึ่งใช้เวลาไม่นานนักก็เริ่มเห็นพัฒนาการ

โยคะบำบัดไม่เหมาะกับโรคเฉียบพลัน โรคติดเชื้อ ในกรณีนี้ โยคะดูเหมือนจะช่วยทำหน้าที่ป้องกัน โดยพัฒนาความต้านทาน ภูมิคุ้มกันให้ดีขึ้น โยคะช่วยในการฟื้นฟู ช่วยในการจัดปรับสภาพหลังการรักษาโรคสิ้นสุดลง ในการติดเชื้อเรื้อรัง โยคะช่วยสนับสนุนการรักษาได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยความเข้าใจ การร่วมมือร่วมใจระหว่างแพทย์และนักโยคะบำบัด

เทคนิคอาสนะและปราณายามะเป็น 2 เทคนิคหลักที่ปรากฏอยู่ในโยคะทั้ง 2 สาย ปตัญชลีโยคะและหฐโยคะ โดยในหฐโยคะจะมีรายละเอียด มีความหลากหลายในการปฏิบัติมากกว่า ในหฐโยคะยังมีเทคนิคพิเศษที่นอกเหนือไปจากปตัญชลี ก็คือมีเทคนิค กริยา มุทรา พันธะ ซึ่งมุทรา พันธะ มีผลโดยตรงต่อการบำบัดอาการทางด้านระบบประสาทที่ทำงานน้อยลงกว่าปกติ

ปตัญชลีโยคะเป็นเรื่องที่คนแต่ละคนต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจและจัดปรับให้เข้ากับสภาวะของตนเอง ค่อนข้างเป็นลักษณะปัจเจก ในขณะที่หฐโยคะเป็นเทคนิคที่สอนให้กับคนหมู่มากพร้อมๆกันได้ในคราวเดียว การผสมผสานโยคะทั้งสองเข้าด้วยกันจะก่อให้เกิดผลที่น่าพอใจ หฐโยคะช่วยขจัดความเกร็งตึง เมื่อผ่อนคลายแล้ว ก็สามารถเข้าถึงความเก็บกดที่ฝังลึกอยู่ภายในผู้ป่วยได้

จากประสบการณ์การทำงานกับผู้ป่วยพบว่า เป็นการเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะจัดการกับผู้ป่วยในระดับลึก หากยังไม่ได้ขจัดความเกร็งตึงในเบื้องต้นเสียก่อน ในบางครั้งเป็นความเสี่ยงถึงขั้นชีวิตเลยทีเดียว เรายังพบว่าหากความเกร็งตึงยังคงมีอยู่ ผู้ป่วยก็ไม่สามารถให้ความร่วมมือกับการรักษาได้ นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าหฐโยคะเข้ามามีส่วนช่วยได้มาก

ในการนำโยคะมาใช้กับผู้ป่วย ต้องทำด้วยการคำนึงถึงลักษณะเฉพาะเจาะจงของผู้ป่วยแต่ละคนเสมอ ซึ่งการบำบัดทุกชนิดก็คำนึงถึงประเด็นนี้ โดยทั่วไปโยคะบำบัดไม่ค่อยมีข้อจำกัดนัก

แต่กระนั้นก็ควรแนะนำเทคนิคโยคะให้ผู้ป่วยด้วยความระมัดระวัง ด้วยความใส่ใจ คำนึงถึงผลต่างๆ โดยรอบคอบ เช่น กรณีไส้เลื่อน ควรหลีกเลี่ยงเทคนิคโยคะที่เพิ่มแรงกดในช่องท้อง กรณีโรคกระดูกสันหลังติด ควรหลีกเลี่ยงท่าอาสนะที่มีการก้มเหยียดมากๆ ผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรทำทุกๆ เทคนิคด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษ ฯลฯ ยังมีเทคนิคต่างๆ ของโยคะ

สำหรับความผิดปกติต่างๆ อีกมากมาย ที่ไม่ได้นำมากล่าวในที่นี้ โดยที่ได้อธิบายมาทั้งหมดในที่นี้ เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นคุณค่าของโยคะต่อการแพทย์แผนปัจจุบันในสาขากาย-จิตสัมพันธ์

ข้อมูลสื่อ

356-021
นิตยสารหมอชาวบ้าน 356
ธันวาคม 2551
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์