ผลกระทบของเสียงดังอาจเป็นเรื่องร้ายแรงมากกว่าหูอื้อหูตึง ดังที่หลายคนเคยมีประสบการณ์ แต่อาจเกิดหูดับไปทันที อาจทำให้แก้วหูทะลุถ้าเสียงดังรุนแรงกระแทกแก้วหูทันที
เสียงดังอาจทำให้เกิดอาการเวียนหัว บ้านหมุน เสียการทรงตัว เสียงดังอาจเป็นสาเหตุของเสียงรบกวนในหูที่หลายคนทนทุกข์ทรมาน
ยิ่งกว่านั้น การอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงอึกทึกครึกโครม อาจมีผลกระทบไปถึงสุขภาพกาย เกิดการป่วยไข้ทางกายได้แก่โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และสุขภาพจิต จิตไม่สงบ วิตกกังวล สับสน นอนไม่หลับ หรือเกิดภาวะก้าวร้าวในเด็ก เรามาทำความเข้าใจเรื่องมลพิษจากเสียงดังดีกว่า เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบดังกล่าวก่อนที่จะสายเกินแก้
การได้ยินเสียงเป็นสิ่งที่ดี เพราะทำให้เราได้มีการสื่อสารเข้าใจซึ่งกันและกัน เด็กที่เกิดมาหูหนวก ไม่ได้ยิน จะทำให้เป็นใบ้ ไม่อาจมีภาษาพูดและไม่อาจมีพัฒนาการตามวัย ต้องมีการแก้ไขโดยด่วนเพื่อให้สามารถได้ยินและเรียนรู้ภาษาพูด มีภาษาพูด แต่คนที่เกิดมาโชคดีมีการได้ยินปกติ หลายคนกลับไม่ทะนุถนอมดูแลการได้ยินดีที่ธรรมชาติให้มา แต่กลับใช้หูอย่างสมบุกสมบัน ฟังเสียงดังเกินความจำเป็นโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม หลายคนกลับเป็นคนก่อเสียงดังและทำลายหูของตนเองไปอย่างช้าๆ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
การใช้โทรศัพท์มือถือตลอดเวลา การฟังเพลงจากหูฟังในสถานที่ที่มีเสียงดังมากอยู่แล้ว จะทำให้ประสาทรับเสียงทำงานหนักและจะต้องใช้เสียงดังมากขึ้นทุกครั้งจึงจะได้ยิน
แม้จะมีมาตรการควบคุมเรื่องเสียงดังในโรงงาน แต่เสียงดังในสิ่งแวดล้อมและชุมชนซึ่งกระทบคนส่วนมาก กลับไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร เพราะคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจผลกระทบของเสียงดังต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตและต่อการได้ยิน อาจทำให้เกิดอาการหงุดหงิด เหนื่อยง่าย ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
การเกิดเสียงรบกวน เสียงกริ่ง เสียงหวีด เสียง ซ่าในหู หลายคนหาสาเหตุไม่ได้ จริงๆ แล้ว ส่วนมากเกิดจากฟังเสียงดังมากและนาน หรือมีประสาทรับเสียงเสื่อมอยู่และไปกระทบเสียงดังซ้ำอีก
มีผู้ป่วยที่มีเสียงรบกวนในหูมาพบแพทย์เป็นจำนวนมาก และถูกบอกว่าหาสาเหตุไม่ได้ ให้ทำใจเพราะทำอะไรไม่ได้ โดยหลายคนไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและไม่ได้รับคำแนะนำอย่างถูกต้องถึงสาเหตุและการดูแลสุขภาพหูและการได้ยิน ยิ่งกว่านั้นเสียงรบกวนในหูยังเกี่ยวกับโรคทางสมองด้วย
เสียงดังในสภาวะแวดล้อม มีอะไรบ้าง?
สภาวะการใช้ชีวิตในสังคมเมืองที่ทันสมัยมีมลพิษจากเสียงดังมาก การแปรเปลี่ยนจากเมืองกสิกรรม เป็นเมืองอุตสาหกรรม เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นมากมาย นอกจากคนงานจะต้องสัมผัสเสียงดังขณะทำงานแล้ว คนเมืองยังต้องทนรับเสียงดังจากยานพาหนะ รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ที่มากขึ้นเป็นทวีคูณ นอกจากมลพิษจากเสียงดังแล้ว ยังมีมลพิษจากฝุ่นและไอเสีย ยิ่งซ้ำเติมให้สุขภาพเสียมากขึ้น
กรุงเทพมหานคร มีความทันสมัยมากขึ้น นอกจากยวดยานพาหนะที่แออัดและก่อเสียงดังแล้ว ยังมีรถไฟฟ้าวิ่งบนดินและวิ่งใต้ดิน แม้ว่าจะเป็นการพัฒนาที่ดี แต่ก็มิได้มีการควบคุมผลกระทบที่ตามมาจากเสียงดังเท่าที่ควร เสียงดังที่สถานีจากลำโพงประกาศแข่งกับเสียงยวดยานในท้องถนนเกิดขึ้นประจำ แถมยังเปิดโทรทัศน์เสียงดังในรถ เพื่อเอาใจคนโดยสาร คนโดยสารวัยรุ่นก็ไม่อยากฟัง อยากฟังแต่เสียงที่ตนชอบ จึงใช้ MP3 หรือ iPods หรือใช้โทรศัพท์มือถือ ฟังเพลง หรือคุยกับคนรัก แข่งกับเสียงดังซึ่งก็ต้องเปิดเสียงให้ดังขึ้นจึงจะกลบเสียงภายนอกได้
ถ้าเสียงในสิ่งแวดล้อมดัง 85 เดซิเบล คนนั้นก็ต้องเปิดเสียงถึง 95-100 เดซิเบล จึงจะได้ยิน ก็จะยิ่งทำให้หูถูกซ้ำเติม และถ้าฟังเกิน 1 ชั่วโมง ก็จะทำลายประสาทรับเสียงได้
เสียงในสิ่งแวดล้อมไม่ควรเกิน 70 เดซิเบล ซึ่งรวมถึงเสียงตามท้องถนนด้วย
นอกจากนั้น กลับถึงบ้านก็ยังสัมผัสกับเสียงดังในบ้าน ตั้งแต่โทรทัศน์ เครื่องเสียง และอาจต้องสัมผัสเครื่องจักรกลช่วยการทำงานในบ้าน เช่น เครื่องดูดฝุ่น เครื่องซักผ้า เครื่องตัดหญ้า แม้เสียงสุนัขเห่าดังมาก ก็อาจเป็นภัยต่อการได้ยินและถ้าเป็นสุนัขของคนอื่นก็ยิ่งอารมณ์เสียหงุดหงิด
ถ้าเป็นยามค่ำคืน ได้ยินเสียงสุนัขของเพื่อนบ้านเห่าแมว เห่าใบไม้แห้ง หรือเพื่อนบ้านเกิดสนุกอยากประกวดร้องเพลงเปิดเสียงดนตรีดังเผื่อแผ่เพื่อนบ้าน ก็ยิ่งเกิดอาการหงุดหงิดนอนไม่หลับ อารมณ์เสีย พาลเกิดอารมณ์ก้าวร้าว พาลทะเลาะกับแฟนและลูก คือเสียสุขภาพกายสุขภาพจิตไปด้วย ซ้ำร้ายบางครอบครัวมีอุตสาหกรรมมีเครื่องจักรในบ้านด้วย
ถึงวันหยุดถึงเทศกาล เช่น งานลอยกระทง ฉลองปีใหม่ สงกรานต์ งานฉลองต่างๆ ดนตรี งานวัด การจุดพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ หรือคนเมืองก็สนุกสนานกับดารา Open Air Concert สำหรับคนเป็นพันๆ ก็ย่อมต้องใช้เสียงดังมาก อาจดังถึง 120 เดซิเบล ใครอยู่ใกล้ลำโพง ก็รับเคราะห์ไปเต็มๆ เลิกงานก็หูอื้อหูตึงไปถนัดใจ หลายคนเคราะห์หามยามร้าย ลำโพงเกิดเสียงแตกหวีดดังเข้าหูตรงๆ ก็อาจถึงแก้วหูตัวเองแตกหรือประสาทรับเสียงถูกกระทบรุนแรง เกิดหูดับทันทีก็มี ทีนี้ก็เลยฟังดนตรีไม่เพราะอีกต่อไป แล้วจะทำอย่างไรกันดี ที่จะดูแลรักษาการได้ยินให้คงดีอยู่ได้ รวมถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย
องค์การอนามัยโลกได้วางมาตรฐานของเสียงดัง ณ สถานที่ต่างๆ ที่ไม่เป็นอันตรายต่อหู การได้ยิน และต่อสุขภาพโดยรวมไว้ รวมทั้งแจกแจงภาวะของโรคทางกาย รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุ และโรคทางจิตใจ ภาวะต่อต้านสังคม และภาวะก้าวร้าวในสังคม โดยเฉพาะในเด็กอาจมาจากเสียงดังเสียงตะโกนพูดกันเป็นเหตุก็ได้
ประเทศไทยของเรามักทำอะไรตามกระแสสังคม การต่อต้านภัยเสียงดังไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งๆที่ได้มีการวางมาตรการของเสียงดัง ณ สถานที่ต่างๆ ไว้แล้ว แต่ประชาชนขาดข้อมูล ไม่มีการประชาสัมพันธ์ ประชาชนยังมีความไม่รู้ หรือไม่รับรู้ว่าเสียงดังเป็นพิษต่อร่างกาย จิตใจ และการได้ยิน ทั้งๆที่หลายคนจำนวนไม่น้อย ยอมซื้อยาล้างพิษมากิน แทนที่จะดูแลสุขภาพโดยการป้องกันก่อนเกิดเหตุ
จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปี พ.ศ. 2547 ที่ทรงห่วงใยวัยรุ่นเยาวชนของชาติที่เสี่ยงต่อหูตึง โดยชอบเข้าฟังดนตรีเสียงดังในสถานบันเทิงเริงรมย์ ผับ-บาร์-เทค แม้มีการควบคุมเสียงโดยกรุงเทพมหานคร แต่มาตรการควบคุมก็ไม่ได้ทำจริงจัง เพราะมีคนมีงบประมาณและเครื่องมือตรวจวัดไม่พอ มีการหลบเลี่ยงของผู้ให้บริการโดยวิธีต่างๆ
หลังจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วันรุ่งขึ้นได้มีหลายหน่วยงานเข้าไปวัดเสียงดังในสถานเริงรมย์เหล่านั้น พบว่ามีเสียงดังเกินมาตรฐานและบางแห่งดังถึง 110 เดซิเบลหรือมากกว่านั้นในบางเวลา เสียงมาตรฐาน ณ เวลาใดก็ตาม ไม่ควรเกิน 90 เดซิเบล และถ้าการตรวจไม่ครอบคลุมเวลานั้นก็ไม่รู้ว่ามีเสียงดังที่เป็นอันตรายยิ่งกว่าเสียงต่อเนื่อง ได้มีการเสนอให้สถานเริงรมย์มีการบอกถึงอันตรายของเสียงดังไว้ และให้มีเครื่องวัดบอกระดับเสียงขณะนั้นให้ผู้ใช้บริการได้รู้และระวังตัวแต่ก็ยังมิได้มีการถือปฏิบัติ
กลไกการทำงานของหูและสมอง
1. Conduction - การนำเสียง โดยแก้วหู และหูชั้นกลางประกอบไปด้วย กระดูกค้อน ทั่ง และโกลน
2. Reception - รับเสียง โดยปลายประสาทในหูชั้นใน ในส่วนอวัยวะก้นหอย (Cochlea)
3. Perception - รับรู้ โดยพลังประสาทผ่านไปตามประสาทรับเสียงไปถึงสมอง
4. Interpretation - รู้ความหมาย โดยสมองจากประสบการณ์ที่ผ่านมา
5. Expression - สื่อความหมาย โดยสมองออกมาเป็นคำพูด
ถ้ากลไกการรับเสียงถูกกระทบกระเทือน หรือหยุดยั้งจากเหตุใดก็ตาม เราก็จะได้ยินไม่ชัด หูตึงหรือเกิดเสียงรบกวนในหูหรือในสมองได้
คนที่การได้ยินเสียจากเสียงดังจะเริ่มเสียที่ 4,000 เฮิรตซ์ก่อน ดังนั้นคนนั้นจะยังไม่รู้ว่าตนเองเริ่มหูตึงแล้ว นอกจากอาจมีเสียงรบกวนในหูระยะเริ่มแรกและถ้ายังสัมผัสเสียงดังอยู่ก็จะเป็นมากขึ้นทุกที จนถึงขั้นหูตึงมากได้เพราะจะมีการเสียที่ความถี่อื่นๆด้วย ดังตัวอย่าง
จากการสำรวจข้อมูลเสียงดังและการเสียการได้ยิน โดยกรมควบคุมมลพิษและศูนย์โสตประสาทการได้ยินกรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เมื่อ 10 ปีก่อนพบว่าประชากรที่ทำงานกับเสียงดังหรือสัมผัสเสียงดังในเส้นทางจราจรที่เสียงดัง หรือทำงานในโรงงาน มีการได้ยินเสียจากเสียงดังสูงถึงร้อยละ 21.4
การสำรวจเมื่อ 2 ปีก่อน ในเด็กวัยรุ่นที่ใช้ Mobile phone, MP3, iPods หรือเข้า PUB เข้า TEC โดยมูลนิธิสิ่งแวดล้อมไทยและศูนย์โสตประสาทการได้ยินกรุงเทพฯ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลพบว่ามีการเสียการได้ยินในร้อยละใกล้เคียงกัน
การสำรวจในคนที่ทำงานในที่จำกัดที่มีเสียงดัง เช่น พนักงานดูแลการจอดรถในศูนย์การค้าที่ใช้นกหวีดเป่าตลอดเวลา พบว่าหูเสื่อมถึงร้อยละ 70
สรุป
มลภาวะของเสียงดังมีจริงและเป็นอันตรายต่อการได้ยินจริง และยิ่งกว่านั้นเป็นที่ยอมรับว่าการฟังเสียงดังและเกิดอารมณ์เครียดนานๆ จะเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ โรคเครียด และการใช้เสียงดังพูดกันต้องใช้การตะโกน ไม่อาจพูดจาเบาๆ ไพเราะๆ หวานหูได้ ทำให้เกิดความเคยชินที่ต้องตะโกนใส่กัน ทำให้เกิดภาวะก้าวร้าวตามมา โดยเฉพาะในครอบครัวที่ไม่อาจพูดเบาๆ แก่กันและกันและต่อลูกหลานได้
เสียงดังในบ้านทำให้อยู่ไม่เป็นสุข
เสียงดังในห้องนอนทำให้นอนไม่หลับพักผ่อนไม่เพียงพอ อารมณ์เครียด
เสียงดังในห้องเรียน ห้องทำงาน ทำให้ขาดสมาธิ ทำให้หงุดหงิดสมองถูกหยุดยั้งเป็นระยะๆ ไม่ได้ผลิตผลของงานตามคาดหวัง
ดังนั้น มลภาวะจากเสียงดังจึงเป็นเรื่องที่ซับซ้อน จากหูถึงสมอง ถึงกาย ถึงจิต อารมณ์สมาธิและผลิตผลของการงาน ที่ทุกคนไม่ควรเพิกเฉยหรือละเลย ควรได้รับความสนใจในทุกระดับ เพราะเป็นเรื่องป้องกันได้
ทุกคนควรช่วยกันลดเสียงที่ทุกคนก่อขึ้น และพยายามใช้เสียงเท่าที่จะเป็นในทุกสภาวการณ์ ทุกระดับความเป็นอยู่ เราก็จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดเสียงดัง ไม่รบกวนกายใจสมองและหูมีอารมณ์และมีสุขภาพดีถ้วนหน้าได้โดยไม่ต้องซื้อหา
เสียงที่ปลอดภัยในสภาวะต่างๆ และระยะเวลาสัมผัส
องค์การอนามัยโลกประกาศเตือนเสียงที่จะเป็นอันตรายในชุมชนไว้ดังนี้
เสียงที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ความดัง/เวลา (ชั่วโมง)
1. เสียงนอกบ้าน เดือดร้อนรำคาญ 50-55 เดซิเบล (16 ชั่วโมง)
2. เสียงในบ้านเพื่อการได้ยินที่ดี 35 เดซิเบล (16 ชั่วโมง)
3. เสียงในห้องนอนไม่ให้รบกวนการหลับ 30 เดซิเบล (8 ชั่วโมง)
4. เสียงในห้องเรียน 35 เดซิเบล (เวลาเรียน)
5. เสียงในโรงงาน-การจราจร 70 เดซิเบล (24 ชั่วโมง)
6. เสียงดนตรีผ่านหูฟัง หูจะเสีย 85 เดซิเบล (ขณะฟัง)
7. เสียงในพิธีการ งานวัด สถานบันเทิง 100 เดซิเบล (4 ชั่วโมง)
- อ่าน 41,904 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้