เปรียบเทียบการรักษาแผนจีนกับแผนตะวันตก (ตอนที่ 5) เงื่อนไขการเกิดโรคกับสิ่งที่ทำให้เกิดโรค
ได้กล่าวมาหลายตอนเกี่ยวกับแนวคิดการรักษาแบบแผนจีนกับแผนตะวันตก ฉบับนี้จะขยายความลงรายละเอียด ถึงความแตกต่างของการมองปัญหา เหตุของการเกิดโรคของทั้งสองแผน
เหตุแห่งโรคของแผนปัจจุบัน : ความพยายาม ค้นหา "สิ่งที่ทำให้เกิดโรค"
ตำราการแพทย์ของแผนปัจจุบันให้ความสำคัญเกี่ยวกับรักษาโรคเป็นหลัก คนทั่วไปอ่านเข้าใจยาก เพราะจะเน้นหนักไปที่โรคต่างๆ มีสาเหตุจากอะไร ทำให้เกิดโรคได้อย่างไร มีกลไกการเกิดโรค การดำเนินของโรคอย่างไร ใช้ยาเคมีอะไรรักษา ยามีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไรหรือต้องใช้วิธีการอื่น เช่น การผ่าตัด กายภาพบำบัด เป็นต้น
ปรากฏว่าปัจจุบันมีโรคจำนวนมากที่มักจะตรวจหาสาเหตุหรือตัวก่อให้เกิดโรคไม่ได้ รู้แต่ว่ามีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่าง แต่ก็ไม่สามารถฟันธงลงไปได้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด สุดท้ายก็สรุปว่าไม่รู้สาเหตุ และให้การดูแลรักษาด้วยการควบคุมและแก้ไขอาการเฉพาะหน้าไป บางรายโชคดีอาจฟื้นตัวหายได้หรือบรรเทาไปได้ ผู้ป่วยอีกจำนวนมากก็ต้องให้ยาควบคุมอาการไปเรื่อยๆ
แนวคิดการหาสาเหตุ หรือค้นหาตัวทำให้เกิดโรคเป็นแนวคิดที่มาจากพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์แขนงต่างๆ โดยเฉพาะทางชีววิทยา พยาธิวิทยา ชีวโมเลกุล คือเมื่อมีการค้นพบกล้องจุลทรรศน์มองเห็นเซลล์เนื้อเยื่อ เห็นรายละเอียดของร่างกายสภาพปกติ และมองเห็นร่างกายภาวะไม่ปกติ (มีพยาธิสภาพ) มองเห็นตัวเชื้อโรค เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา สิ่งกระตุ้นให้เกิดภูมิแพ้ เซลล์ผิดปกติสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย ความผิดปกติของยีน เป็นต้น
การรักษาของแผนปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นทำลายตัวก่อโรค เช่น ติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อไวรัส ติดเชื้อรา จึงมีแนวทางการศึกษาวิจัยยาใหม่ๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำลายหรือฆ่าแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อรา หรือทำลายเซลล์มะเร็ง กรณีของโรคติดต่อก็จะเพิ่มการควบคุมครบวงจรของตัวพาหะกับตัวก่อโรค ทำให้ขอบเขตวิเคราะห์ปัญหาและการแก้ไขอยู่ปริมณฑลที่กว้างขึ้น แต่ยังจำกัดอยู่กับสิ่งที่มองเห็นเป็นรูปธรรมคือ ตัวก่อโรค หรือตัวพาหะนำโรคที่เกี่ยวข้อง
สำหรับโรคติดเชื้อหรือโรคระบาด ที่มักหาสาเหตุได้ค่อนข้างชัดเจน เมื่อใช้แนวคิดนี้การรักษาโรคจึงได้ผลที่ดี
สำหรับโรคที่ไม่รู้สาเหตุที่แน่นอน เมื่อนำแนวคิดนี้ไปใช้ ก็เลยไม่รู้จะใช้ยาเคมีไปทำลายอะไร หรือควบคุมอะไร คงให้การรักษาไปตามอาการจึงไม่ประสบผลสำเร็จในการรักษาโรคเท่าที่ควร
เหตุแห่งโรคของแพทย์แผนจีน : ความพยายาม ค้นหา "เงื่อนไขของการเกิดโรค"
แพทย์แผนจีนให้ความสำคัญที่เงื่อนไขของการเกิดโรคมากกว่าพยายามค้นหาสาเหตุ หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรค ทั้งนี้ เนื่องจากการเกิดและพัฒนาองค์ความรู้ของแพทย์ จีนมีพื้นฐานต่างจากการแพทย์แผนปัจจุบัน
แพทย์แผนจีนถือกำเนิดในยุคที่วิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่เจริญก้าวหน้า จึงไม่สามารถลงลึกและเข้าใจถึงพยาธิสภาพแบบแผนปัจจุบัน ไม่รู้จักสาเหตุหรือชื้อโรค หรือสิ่งที่ทำให้เกิดโรคที่สามารถมองเห็นได้ หรือค้นพบได้
การศึกษาจึงมุ่งเน้นไปยังเงื่อนไขต่างๆ ที่ทำให้คนมีสุขภาพ หรือมีสุขภาพไม่ดี (เกิดโรค) จึงมีแนวคิดที่กว้างครอบคลุมปัจจัยหรือเงื่อนไขแวดล้อมภาย นอกและภายในต่างๆ คือความสมดุลเป็นหนึ่งเดียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ซึ่งคนทั่วไปที่ไม่ต้องเรียนทางการแพทย์ก็สามารถเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้ เป็นแนวการรักษาและการป้องกันโรคส่งเสริมและฟื้นฟูอยู่ในตัว
ทัศนะเกี่ยวกับเจิ้งชี่ กับเสียชี่
- เจิ้งชี่ ไม่พอ หรือพลังพื้นฐาน ร่างกายที่อ่อนแอ เป็นเงื่อนไขของร่างกายที่สำคัญที่สุดในการทำให้เกิดโรค
- เสียชี่ ที่แกร่งหรือสิ่งก่อโรคจากภายนอกที่มากและรุนแรง เป็นเงื่อนไขภายนอกที่ทำให้เกิดโรค การเกิดโรคหรือไม่เกิดโรค เป็นกระบวนการต่อสู้ของเสียชี่กับเจิ้งชี่ ถ้าร่างกายยังดำรงความ สมดุลอยู่ได้ ก็จะไม่เกิดโรค ถ้าเสียสมดุลบ้างแต่มีการปรับตัวได้บ้าง ก็จะเป็นๆ หายๆ ถ้าเสียสมดุลปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดโรค
คัมภีร์แพทย์จีนในการสร้างสมดุล เพื่อไม่ให้เกิดโรคหรือเมื่อเป็นโรคแล้ว ทำอย่างไรจึงจะหายได้เร็ว จึงมุ่งเน้นที่การสอนความรู้ การปฏิบัติตัว เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายเจิ้งชี่ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดของการเกิดโรค (เงื่อนไขภายใน) ขณะเดียวกันก็พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำของเสียชี่ที่เป็นเงื่อนไขภายนอกของการเกิดโรค
คัมภีร์ซู่เวิ่นยี่เพียนได้สรุปว่าเจิ้งชี่ยังดำรงอยู่ เสียชี่ไม่สามารถทำอะไรได้
ขจัดปัจจัยก่อโรคภายนอก เสียชี : เงื่อนไขภายนอก
เงื่อนไขภายนอกร่างกาย ได้แก่
1. การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 6 ชนิด
ได้แก่ ลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความแห้ง และไฟ การแปรเปลี่ยนของสภาพอากาศแสดงออกถึงฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไป ถ้าการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เป็นไปอย่างช้าๆ ไม่แปรปรวนรวดเร็ว
ร่างกายคนปกติก็จะปรับตัว ทำให้ไม่เกิดการเสียสมดุลจนเกิดโรค กรณีที่การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง รวดเร็วจนร่างกายปรับตัวไม่ทัน บางครั้งภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไม่รุนแรงเป็นปกติ แต่ร่างกายอ่อนแอ (เจิ้งชี่ไม่พอ) ก็ทำให้เกิดโรคเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของอากาศแบบนี้เรียกว่าเป็นเสียชี่ คือ ลิ่วหยิน
สรุปว่าอากาศที่เปลี่ยนแปลงแล้วทำให้คนเกิดโรคได้ก็เรียกว่าเสียชี่ ทั้งนั้น
- ฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่นมีลมแรง มีโอกาสเกิดโรคที่เกิดจากลมและความอุ่น
- ฤดูร้อน อากาศร้อน ฝนตก มีความชื้น มีโอกาสเกิดโรคจากความร้อนชื้น
- ฤดูใบไม้ร่วง อากาศเย็น และแห้ง มีโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับปอด ไอแห้งๆ
- ฤดูหนาว อากาศหนาวเย็น โอกาสเกิดโรคจากการกระทบลมเย็นได้ง่าย
2. เหตุภายนอกอื่นๆ เช่น โรคระบาด พยาธิ และการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุภายนอก
เงื่อนไขภายในร่างกาย ตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน เช่น
1. การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ เรียกว่า อารมณ์ทั้ง 7 คือ โกรธ ดีใจ วิตก กังวล โศกเศร้า กลัว ตกใจ
อารมณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตามปกติ เมื่อคนเราต้องประสบกับสิ่งกระตุ้นภายนอกต่างๆ ถ้าการเปลี่ยน แปลงดังกล่าวไม่รุนแรงและไม่นานเกินไป ร่างกายจะปรับตัวได้ แต่ถ้ากระทบรุนแรงและยาวนาน จะมีผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในโดยตรง ทำให้การไหลเวียนเลือดและพลังผิดปกตินำมาซึ่งการทำลายความสมดุลของร่างกาย ฉะนั้น การควบคุมอารมณ์ทั้ง 7 ได้ดีจึงเป็นการป้องกันการทำลายเจิ้งชี่ที่สำคัญอย่างยิ่ง
2. การกินอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสม เน้นการกินที่ไม่ซ้ำซาก เวลาที่เหมาะสม ปริมาณ ประเภท และเทคนิคต่างๆ เพราะอาหารจะเป็นแหล่งที่มาของเลือดและพลัง การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องจะทำลายระบบการย่อยดูดซึม (ม้ามและกระเพาะอาหาร) ทำให้การสร้างพลังและเลือดของร่างกายลดน้อยลง รวมทั้งพลังภูมิคุ้มกัน สรุปแล้วคือเจิ้งชี่นั่นเอง
นอกจากนี้ การตกค้างของอาหารก็ทำให้เกิดความชื้น และเสมหะ ของเหลวตกค้าง เป็นของเสียที่ไปบั่นทอนการไหลเวียนของเลือดและพลังไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายอีก
การติดขัดของพลังทำให้เลือดไม่ไหลเวียนเกิดเลือดอุดกั้น ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายขาดเลือดและพลังไปหล่อเลี้ยงทั้งหมด ของการติดขัด ตกค้าง ไม่ว่าจะเป็นของเหลว ความชื้น เสมหะ เลือด ก็ถือว่าเป็นเสียชี่ ภายในร่างกายที่มีผลกระทบต่อ เจิ้งซี่ (พลังพื้นฐานของร่างกาย)
3. การพักผ่อน-การทำงาน
การพักผ่อน การนอนหลับ ก็มีกฎเกณฑ์และต้องเป็นไปตามกฎเกณฑ์ธรรมชาติ การใช้แรงงานทางกายและใจต้องสมดุลเช่นเดียวกัน มิฉะนั้นพลังเจิ้งชี่ของร่างกายจะถูกบั่นทอน
4. เรื่องเพศสัมพันธ์
ต้องมีกฎเกณฑ์ธรรมชาติที่ต้องเข้าใจ เพราะเกี่ยวข้องกับการมีสุขภาพที่ดี
สรุป เรื่องโรคภัยไข้เจ็บเมื่อวิเคราะห์แบบแผนปัจจุบันแล้ว จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องของแพทย์หรือผู้ที่ต้องทำการรักษา เวลารักษาก็เน้นไปที่ตัวการที่ทำให้เกิดโรค ต้องอาศัยคนที่เรียนทางการแพทย์เท่านั้นที่จะรักษาได้ อ่านตำราแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว คนทั่วไปไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ต้องหมั่นตรวจเช็กร่างกายสม่ำเสมอ เพื่อค้นพบความผิดปกติให้เร็วที่สุด เมื่อเป็นโรคแล้วรีบไปปรึกษาแพทย์ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง
แต่ถ้าเป็นแพทย์แผนจีน ตำราแพทย์นอกจากหมอจีนจะทำการรักษาแล้ว ยังสอนวิธีป้องกัน หรือแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง เพื่อเสริมเจิ้งชี่ ที่เป็นเงื่อนไขภายในร่างกายหลีกเลี่ยงเสียชี่ สอนการเรียนรู้การดูแลตัวเอง เพื่อไม่สร้างเงื่อนไขของการเกิดโรคซึ่งสามารถปฏิบัติได้จริงในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติบางอย่างได้รับการบอกเล่าสืบต่อกันมายาวนาน เช่น ไม่ควรกินน้ำแข็งและของเย็นๆ เพราะจะทำลายเจิ้งชี่ทำให้ไม่แข็งแรง
เหตุที่เป็นเช่นนี้ก็คงสรุปได้ง่ายๆ ว่า แพทย์แผนปัจจุบันมองว่าการเกิดโรคเกิดจากมีสิ่งที่ทำให้เกิดโรคเป็นหลัก จึงพุ่งเป้าไปที่ต้องทำลาย แต่แพทย์แผนจีนมองว่าการเกิดโรคเกิดจากเงื่อนไขภายในของร่างกาย คือ เจิ้งชี่อ่อนแอเป็นหลัก และปัจจัยก่อโรคเสียชี่ซึ่งเป็นเงื่อนไขภายนอก (ที่มาจากภายนอก และที่สะสมอยู่ภายในร่างกาย) การเกิดโรคหรือไม่เป็นผลจากให้เกิดการต่อสู้ของเจิ้งชี่กับเสียชี่ จึงต้องปรับเสริมเงื่อนไขเหล่านี้ โรคนี้จะหายได้อย่างรวดเร็ว และจะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้
- อ่าน 6,379 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้