ข่าวการเสียชีวิตของผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่เข้ารับการผ่าตัดถุงใต้ตาจากคลินิกแห่งหนึ่ง และเสียชีวิตหลังจากฉีดยาชาก่อนการผ่าตัดไม่นานนัก ผลการสอบสวนเบื้องต้นสันนิษฐานว่าอาจเกิดจากการแพ้ยาชา ประชาชนหลายคนมีความกังวลใจว่าจะทราบได้อย่างไรว่าตนเองแพ้ยาชนิดใดบ้าง และจะมีวิธีการป้องกันตนเองได้อย่างไร
พญ.นิภาศิริ วรปาณิ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ในผู้ป่วยทั่วไปที่ไม่เคยมีประวัติการแพ้ยา แพทย์จะไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าผู้ป่วยจะเกิดการแพ้ยาหรือไม่ และจะเกิดขึ้นเมื่อใด เพราะแม้แต่ผู้ป่วยที่ไม่เคยแพ้ยาชนิดที่เคยกินอยู่ แต่เมื่อมีการใช้ยาในครั้งต่อไปก็อาจเกิดการแพ้ยาได้ ดังนั้นจึงคาดเดาได้ยากมาก ทุกคนมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาได้ทุกชนิด แต่โอกาสพบน้อยและเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก
การแพ้ยาเป็นปฏิกิริยาที่ร่างกายตอบสนองต่อยา เกิดขึ้นเมื่อยาบางชนิดเข้าสู่ร่างกาย และไปกระตุ้นให้ร่างกายหลั่งสารหลายชนิดทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น ซึ่งสาเหตุของการแพ้ยาในแต่ละบุคคลไม่สามารถระบุได้ชัด เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่
1. ชนิดของยา เช่น กลุ่มยาบางชนิดแพ้ง่าย บางชนิดแพ้ยาก แต่กลุ่มยาที่พบเป็นสาเหตุให้เกิดการแพ้ได้บ่อยคือ ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน ยากลุ่มซัลฟา ยาฆ่าเชื้อ ยากันชัก ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ เป็นต้น
2. ตัวของผู้ป่วยเอง บางคนมีอาการแพ้ยารุนแรง บางคนมีอาการแพ้น้อย หรือบางคนไม่แพ้เลย นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับโรคประจำตัวของผู้ป่วย หรืออายุที่มากขึ้น เป็นต้น
3. การได้รับยาขนาดสูงและเป็นเวลานาน ก็มีผลให้แพ้ยาได้ แต่พบได้ในบางกรณีเท่านั้น เพราะบางคนได้รับยาครั้งแรกก็มีอาการแพ้ได้ทันที
สำหรับอาการแพ้ยา คนทั่วไปมักเข้าใจว่าอาการที่แสดงออกมีเพียงลักษณะผื่นคันเท่านั้น แต่ความจริงแล้วอาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นมีได้ตั้งแต่ระดับ เล็กน้อยคือเป็นผื่นแดง บวม จนถึงขั้นเสียชีวิต และสามารถเกิดขึ้นได้เกือบทุกส่วนในร่างกาย ดังนี้
1. ทางผิวหนัง เช่น ผื่นแดง ลมพิษ อาการบวมตามเปลือกตา ริมฝีปาก และมือ เท้าบวม เป็นต้น
2. ระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบ หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ไอขัดๆ
3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว
4. ระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย นอกจากนี้ยังมีอาการอื่นๆ เช่นอ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต บวมตามตัว เป็นต้น ซึ่งความรุนแรงของอาการส่วนหนึ่งก็ขึ้นกับว่าได้ยาในรูปแบบไหน เช่น การฉีดจะทำให้เกิดการแพ้ได้เร็ว ส่วนยากินหรือยาทาจะเกิดได้ช้าหน่อย
ดังนั้น ผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการแพ้ยาเกิดขึ้นแนะนำว่าให้หยุดยาและรีบไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยอาการทันที
- อ่าน 10,456 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้