คำถาม ผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน ควรเลือกใช้ยาและดูแลตนเองอย่างไร?
ระดูเป็นเรื่องธรรมชาติ
การมีระดูหรือมีรอบประจำเดือนถือเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้หญิง ซึ่งเกิดจากการลอกหลุดของชั้นผิวด้านในของมดลูก และย่อยสลายเกิดเป็นเลือดไหลออกมาจากช่องคลอด ซึ่งเป็นปรากฏการณ์หรือภาวะปกติของหญิงวัยเจริญพันธุ์
ทั้งนี้เพราะก่อนหน้านั้นร่างกายของผู้หญิงได้มีการตระเตรียมสารอาหาร น้ำ และเกลือแร่ให้มาสะสมไว้ที่ผิวด้านในของมดลูก เพื่อเตรียมพร้อมถ้ามีการปฏิสนธิระหว่างไข่และอสุจิ ทำให้เกิดตัวอ่อนขึ้น
ตัวอ่อนนี้จะเดินทางมาฝังตัวที่ผนังด้านในของมดลูกที่อุดมไปด้วยสารอาหารและเกิดการตั้งครรภ์ขึ้น
แต่ถ้าในรอบประจำเดือนนั้นไม่มีการปฏิสนธิ ผนังมดลูกส่วนนี้ก็ไม่ได้รับการฝังตัวของตัวอ่อน ผนังมดลูกก็จะลอกออกมาเป็นรอบประจำเดือน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ
ความหลากหลาย... ที่เป็นปกติของระดู
เรื่องรอบประจำเดือนถือเป็นภาวะปกติของผู้หญิง แต่ละคนที่อาจแตกต่างกันไปบ้าง
ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะมีรอบประจำเดือนหรือระดูมาสม่ำเสมอทุกๆ 28 วัน แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติของบางคนที่จะมีรอบประจำเดือนหรือระดูแตกต่างจากนี้ (เช่น บางคนอาจมา 30 วัน 45 วัน หรือ 60 วันก็เป็นได้) ซึ่งเป็นเรื่องปกติหรือเป็นเรื่องธรรมชาติของผู้นั้น เป็นความแตกต่างระหว่างบุคคล คล้ายๆ กับสิ่งอื่นๆ ของร่างกายที่มีความแตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกัน (ดังเช่น รูปร่างที่มีเตี้ยมีสูง ผิวมีขาวมีดำ ผมตรงหรือหยักศก เป็นต้น) ขอให้ระดูมาสม่ำเสมอก็แล้วกัน แต่รายที่รอบประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ จะต้องไปปรึกษาแพทย์
เมื่อมีรอบประจำเดือน หรือการลอกหลุดของผนังด้านในของมดลูก ก็ทำให้เกิดสารพรอสตาแกรนดิน (prostagrandin) และสารอื่นๆ ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อย และบริเวณใกล้เคียง และอาจมีอาการปวดบิดเกร็งกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในได้ จึงทำให้เกิดอาการปวดรอบประจำเดือนขึ้น
ปวดประจำเดือน... ปวดได้ทุกเดือน
ปวดประจำเดือนเป็นอาการหนึ่งที่พบได้บ่อยใน ผู้หญิงทุกรอบของการมีระดูหรือรอบประจำเดือน
ประมาณว่ามีผู้หญิงถึงร้อยละ 70 จากผู้หญิงทุกคนปวดประจำเดือน
นั่นคือผู้หญิง 7 ใน 10 คน เคยปวดประจำเดือน มีประสบการณ์รับรู้ความเจ็บปวด และทนทุกข์ทรมานกับการปวดประจำเดือนมาแล้ว ซึ่งแตกต่างกัน บางคนก็เป็นมากหรือมีอาการรุนแรงจนกระทั่งเสียงาน ทำงานไม่ได้ แต่บางคนก็เป็นเพียงเล็กน้อย อาการไม่รุนแรง และสามารถดำเนินชีวิตหรือทำงานได้ตามปกติ
อาการปวดประจำเดือนหรืออาการปวดท้องน้อยที่สัมพันธ์กับการเป็นระดู อาจเกิดอาการปวดขึ้นก่อนหรือระหว่างการมีรอบประจำเดือน และจะคงอยู่อีก 2-3 วัน ก็จะหายกลับเป็นปกติ และอาการจะกลับมาเป็นใหม่ในรอบประจำเดือนต่อๆ ไป
ส่วนใหญ่ของการปวดประจำเดือนเป็นชนิดไม่รุนแรง
บางรายอาจมีอาการปวดรุนแรงมาก แต่บางรายอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย
บรรดาผู้ที่ปวดประจำเดือน พบว่าส่วนใหญ่มีอาการเป็นโรคชนิดนี้เพียงเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งอาจหายหรือทุเลาลงได้เอง หรือได้รับยาแก้ปวดบางชนิดก็ช่วยให้อาการดีขึ้น และไม่ส่งผลรบกวนต่อการทำงาน หรือใช้ชีวิตประจำวันตามปกติ
แต่มีผู้หญิงอีกส่วนหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยจะมีอาการ ปวดรอบประจำเดือนอย่างรุนแรง มักมีรอบประจำเดือนมามากร่วมด้วย จนกระทั่งส่งผลกระทบรบกวนต่อการทำงาน ทำให้ทำงานตามปกติไม่ได้ หรือต้องหยุดงาน หรือขาดเรียนได้
เมื่อปวดประจำเดือน มักมีอาการปวดบิดๆ บริเวณท้องน้อย หรือบริเวณช่องท้องตรงกลางใต้สะดือลงไปถึงหัวหน่าว บางรายอาจปวดบริเวณเอว หลัง หรือบั้นท้าย และบางรายอาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดหัวได้
นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อย มีรอบประจำเดือนมาปริมาณมาก มีรอบประจำเดือนมาหลายวัน สูบบุหรี่ และความเครียด ล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดอาการปวดประจำเดือนมากยิ่งขึ้น
ภาวะที่มีรอบประจำเดือน มีการสูญเสียเลือดทำให้ ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้หญิงลดต่ำลง เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย และที่พบบ่อยๆ คืออาการไข้ ตัวร้อน ร่วมกับการมีรอบประจำเดือน ซึ่งชาวบ้านเรียกว่าไข้ทับระดู
ชนิดของการปวดประจำเดือน
การปวดประจำเดือนอาจแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ คือปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง (Primary Dysmenorrhea) และปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง (Secondary Dysmenorrhea)
1. ปวดประจำเดือนชนิดไม่รุนแรง
ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีอาการปวดรอบประจำเดือน จะเป็นการปวดชนิดที่ 1 ประมาณกันว่าร้อยละ 70-80 ของผู้ที่ปวดรอบประจำเดือนจะเป็นภาวะปวดรอบประจำเดือนชนิดที่ไม่รุนแรงนี้ โดยมากมักมีอาการปวดเล็กน้อยถึงปานกลาง เมื่อได้พักผ่อน รักษาดูแลด้วยตนเอง หรือได้รับยาบางชนิด อาการปวดก็จะทุเลาเบาบางลง สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
มักเริ่มมีอาการปวดประจำเดือนตั้งแต่เป็นวัยรุ่น หรือเริ่มเข้าสู่วัยสาว โดยจะเริ่มปวดรอบเดือนหลังจากเริ่มมีรอบประจำเดือนครั้งแรกถึง 3 ปีหลังเริ่มมีรอบประจำเดือน และระดับการปวดรอบเดือนอาจมากขึ้นจนสูงสุดในช่วงอายุระหว่าง 15-25 ปี และเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น อาการจะเริ่มดีขึ้น บางรายจะหายไปเองเมื่อแต่งงานหรือมีบุตร
สาเหตุของการปวดประจำเดือนชนิดนี้ คือปากมดลูกหรือมดลูกตึงแน่นเกินไป การไหลเวียนของเลือดยังไม่ดีพอ หรือมีการแปรปรวนของฮอร์โมน
2. ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง
การปวดรอบประจำเดือนชนิดนี้ มักมีอาการปวดรุนแรงถึงรุนแรงมาก จนทำให้รบกวนการทำงานหรือเรียนหนังสือ ทำให้ขาดงาน หรือขาดเรียนได้ และเมื่อใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ก็ได้ผลเพียงเล็กน้อย หรือไม่ได้ผลเลย
ปวดประจำเดือนชนิดรุนแรง หรือปวดประจำเดือนทุติยภูมิ มักเริ่มมีอาการครั้งแรกเมื่ออายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ซึ่งมีสาเหตุจากความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ผนังมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) เนื้องอกที่มดลูก ความผิดปกติของมดลูก หรือความผิดปกติของรังไข่ เป็นต้น
ปวดประจำเดือนชนิดนี้พบได้ประมาณร้อยละ 20-30 ของผู้หญิงที่มีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ หรือสูติ-นารีแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้อง ตั้งแต่เนิ่นๆ
การรักษา
การดูแลรักษาอาการปวดประจำเดือนง่ายๆ ด้วยการใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบ ณ ตำแหน่งที่มีอาการปวด หรือจะเลือกใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน กรดมีเฟนามิก ไอบูโพรเฟน เป็นต้น
ในรายที่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อย ไม่รุนแรง การใช้ยาพาราเซตามอล ขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม หรือแอสไพริน เม็ดละ 300 มิลลิกรัม ครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน หรือทุก 4-6 ชั่วโมง (เวลาปวดรอบเดือน) ก็สามารถบรรเทาอาการปวดรอบประจำเดือนได้เป็นอย่างดี
แต่รายที่มีอาการระดับปานกลางถึงมาก อาจแนะนำให้ใช้ยากรดมีเฟนามิก เม็ดละ 250-500 มิลลิกรัม หรือไอบูโพรเฟน 200-400 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หลังอาหารทันที ก็จะได้ผลดีเช่นกัน
บางกรณีอาจใช้ยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายใน เช่น ไฮออสซีน เป็นต้น มาใช้เพื่อบรรเทาอาการ หรือใช้ร่วมกับยาแก้ปวดข้างต้น เพื่อช่วยกันบรรเทาอาการปวดประจำเดือนก็ได้ผลดีเช่นกัน
เมื่ออาการทุเลาเบาบางแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาต่อไปอีก สามารถหยุดการใช้ยาได้เลย เพราะยาชนิดนี้เป็นยาบรรเทาอาการเท่านั้น
นอกจากนี้ บางคนอาจมีอาการปวดประจำเดือนมาเป็นประจำจนสามารถคาดเดา ทำนาย หรือพยากรณ์ วันเวลาและการเกิดอาการปวดประจำเดือนได้ ซึ่งผู้ป่วยอาจใช้ยาแก้ปวดในระยะเวลาก่อนที่จะมีการปวดประจำเดือนเพียงเล็กน้อย เพื่อบรรเทาอาการดังกล่าว พร้อมทั้งไม่ต้องให้เกิดอาการปวดก่อนที่จะเริ่มการใช้ยาได้
ถึงตอนนี้คงพอแยกแยะชนิดของการปวดประจำเดือนได้แล้ว ว่าแบบใดเป็นชนิดที่ไม่รุนแรง (การปวดประจำเดือนแบบปฐมภูมิ) พร้อมทั้งให้การดูแลรักษาเบื้องต้นด้วยตนเองได้ และถ้าเป็นชนิดรุนแรง (ชนิดที่ 2) ซึ่งควรไปปรึกษาแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมต่อไป
นอกจากนี้ยังได้ทราบถึงยาแก้ปวดและยาคลายกล้ามเนื้อเรียบของอวัยวะภายในที่ใช้ตัวเดียว หรือใช้ร่วมกันสำหรับบรรเทาอาการปวดประจำเดือน ตลอดจนวิธีใช้ที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์สูงสุดของการใช้ยา
หากมีคำถามหรือปัญหา เรื่องยาและสุขภาพ ก็สามารถไปปรึกษากับเภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาใกล้บ้าน ทั้งนี้เพื่อจะได้รับการดูแลรักษาแก้ปัญหาสุขภาพอย่างทันท่วงที ใกล้ตา ใกล้ใจ และถ้ามีความจำเป็นเภสัชกรก็จะให้คำแนะนำให้ไปพบแพทย์หรือรับการตรวจเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป
- อ่าน 37,372 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้