• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

นิ่วท่อไต

ท่อไต (ureter) หมายถึง ท่อขนาดเล็กที่เชื่อมจากไตลงมาที่กระเพาะปัสสาวะ ซึ่งมีอยู่ 2 ข้าง บางครั้งอาจมีก้อนนิ่วขนาดเล็กอุดคาอยู่ภายในท่อไต ซึ่งมักเกิดขึ้นเพียงข้างเดียว ทำให้เกิดอาการปวดท้องรุนแรงฉับพลันได้

นิ่วท่อไตส่วนใหญ่มักจะหลุดและถูกขับถ่ายออกทางปัสสาวะได้เอง ส่วนน้อยอาจคาอยู่ในท่อไต หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้

♦ ชื่อภาษาไทย นิ่วท่อไต นิ่วในท่อไต
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Ureteric stone, Ureteral stone
♦ สาเหตุ
นิ่วท่อไตเป็นนิ่วขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในไต แล้วตกผ่านลงมาในท่อไต เป็นเหตุให้ท่อไตเกิดการบีบรัดตัว เพื่อขับก้อนนิ่วให้หลุดออกมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดท้องรุนแรง

ส่วนสาเหตุของการเกิดนิ่วในไตนั้น เชื่อว่ามีปัจจัยร่วมกันหลายอย่างด้วย เช่น การกินอาหารที่มีสารแคลเซียม กรดยูริก (มีมากในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก พืชหน่ออ่อน) และสารออกซาเลต (มีมากในผักต่างๆ) อย่างเสียสมดุล การเสียเหงื่อและดื่มน้ำน้อย การติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และความผิดปกติทางโครงสร้างของไต เป็นต้น

♦ อาการ
ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องรุนแรง โดยมีลักษณะปวดบิดเป็นพักๆ (คล้ายอาการปวดท้องแบบท้องเดิน) ตรงบริเวณท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งเพียงข้างเดียว มักจะปวดนานเป็นชั่วโมงๆ หรือเป็นวันๆ
ลักษณะเฉพาะของโรคนี้คือ จะมีอาการปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านใน (ปวดไปที่อัณฑะหรือช่องคลอด) ข้างเดียวกับท้องน้อยที่ปวด

บางคนอาจปวดมากจนดิ้นไปมา หรืออาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออก ตัวเย็นร่วมด้วย
ผู้ป่วยจะไม่มีอาการขัดเบา หรือถ่ายปัสสาวะกะปริดกะปรอย ปัสสาวะมักจะออกได้มากและใส ไม่ขุ่น ไม่แดง เวลาใช้มือกดหรือใช้กำปั้นทุบเบาๆ ตรงบริเวณท้องน้อยที่ปวดจะไม่มีอาการเจ็บ และมักจะไม่มีอาการเป็นไข้

♦ การแยกโรค
อาการปวดตรงท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ที่สำคัญได้แก่
- ไส้ติ่งอักเสบ มักมีอาการปวดตรงท้องน้อยข้างขวานานเกิน 6 ชั่วโมง เวลาขยับตัวหรือมีการกระเทือนถูก (เช่น เดินแรงๆ) หรือใช้มือกดถูกบริเวณนั้น จะมีอาการเจ็บมาก มักมีอาการคลื่นไส้ และมีไข้ต่ำๆ ร่วมด้วย
- ปีกมดลูกอักเสบ มักมีอาการปวดตรงท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ใช้มือกดถูกเจ็บ และมีไข้สูงร่วมด้วย

♦ การวินิจฉัย
แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการแสดง คือปวดท้องน้อยแบบปวดบิดๆ เป็นพักๆ และปวดร้าวไปที่หลังและต้นขาด้านใน

ในการวินิจฉัยให้แน่ชัด แพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะ (พบมีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะจำนวนมากกว่าปกติ) เอกซเรย์ อัลตราซาวนด์ หรือใช้กล้องส่องตรวจท่อไตพบก้อนนิ่วคาอยู่ในท่อไต

♦ การดูแลตนเอง

หากมีอาการปวดท้องน้อยข้างใดข้างหนึ่ง ที่มีลักษณะปวดรุนแรง ปวดนานเกิน 6 ชั่วโมง มีไข้หรือใช้มือกดถูกเจ็บ ก็ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าปวดที่ท้องน้อยข้างขวาซึ่งน่าสงสัยว่าเป็นไส้ติ่งอักเสบ

ถ้าแพทย์ตรวจพบว่าเป็นนิ่วท่อไต ผู้ป่วยควรกินยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และเฝ้าสังเกตว่ามีก้อนนิ่วหลุดออกมาทางปัสสาวะหรือไม่ โดยการถ่ายปัสสาวะลงในกระโถน เมื่อนิ่วหลุดออกมาและไม่มีอาการปวดท้องกำเริบอีก ก็แสดงว่าหายดีแล้ว แต่ถ้าก้อนนิ่วไม่หลุดและมีอาการปวดท้องกำเริบอีก ก็ควรกลับไปพบแพทย์

♦ การรักษา
แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวดท้อง ได้แก่ ยาต้านการเกร็งของท่อไต (แอนติสปาสโมดิก) เช่น ไฮออสซีน (hyoscine) ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สตีรอยด์ เช่น ไดโคลฟีแนก

ถ้าปวดรุนแรง เบื้องต้นแพทย์อาจใช้ยาชนิดฉีด แล้วจึงค่อยให้ยากลับไปกินต่อที่บ้าน
แพทย์จะนัดติดตามดูผลการรักษาภายใน 1-2 สัปดาห์ ถ้านิ่วหลุดออกมาทางปัสสาวะ ก็ถือว่าหายดีแล้ว
แต่ถ้านิ่วไม่หลุด และยังมีอาการปวดท้องกำเริบอีกก็แสดงว่าอาจเป็นนิ่วขนาดใหญ่คาอยู่ในท่อไต แพทย์อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด หรือใช้เครื่องสลายนิ่วบดนิ่วให้เป็นผงไหลออกมากับน้ำปัสสาวะ

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ถ้านิ่วก้อนใหญ่หลุดออกเองไม่ได้ ปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดการติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ และไตวายได้

♦ การดำเนินโรค
ถ้าเป็นนิ่วท่อไตขนาดเล็ก มักจะหลุดออกมาทางปัสสาวะได้เอง ภายใน 1-2 สัปดาห์
ถ้าเป็นก้อนนิ่วขนาดใหญ่ ก็มักจะคาอยู่ในท่อไตจนกว่าจะได้รับการผ่าตัดหรือการสลายนิ่ว จึงจะหายขาดได้

♦ การป้องกัน
ผู้ที่เคยเป็นนิ่วท่อไตมาครั้งหนึ่งแล้ว แม้ว่าจะรักษาจนหายดีแล้ว ในระยะต่อมา (เป็นแรมปีหรือหลายๆ ปีต่อมา) ก็อาจมีก้อนนิ่วเกิดขึ้นได้ใหม่ ควรป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำโดยการดื่มน้ำให้มากๆ (วันละ 8-12แก้ว) เป็นประจำ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ (ปัสสาวะออกน้อยและเป็นสีน้ำชา) เพื่อป้องกันการตกตะกอนของสารต่างๆ จนเป็นก้อนนิ่ว

ควรปรับลดอาหารที่มีสารออกซาเลตสูงหรือกรดยูริกสูง ระหว่างการกินเนื้อสัตว์และพืชผักให้เหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์

♦ ความชุก
โรคนี้พบบ่อยในวัยกลางคน และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง
 

ข้อมูลสื่อ

354-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ