พูดถึง "หนอน" ใครๆ ก็คิดถึงเรื่องความสกปรก น่าขยะแขยง แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งพบว่ามีการนำหนอนแมลงวันมาใช้รักษาแผลเรื้อรังกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมถึงประเทศไทยด้วย วิธีการรักษานี้เรียกกันว่า "หนอนบำบัด" หรือ Maggot Therapy สำหรับหนอนที่ใช้ต้องเป็นแมลงวันสายพันธุ์ Lucilia sericata เท่านั้น
หนอนบำบัดเป็นศาสตร์ทางเลือกสำหรับรักษา แผลเรื้อรังที่รักษาด้วยการทำแผลธรรมดา หรือรักษาด้วยการทำแผลทั้งเช้าและเย็นอาการก็ยังไม่ดีขึ้น
หนอนบำบัดคือหนอนอะไร
หนอนที่ใช้เป็นหนอนแมลงวันพิเศษ สายพันธุ์ Lucilia sericata เท่านั้น
การทำงานของหนอนแมลงวันก็คือ หนอนผลิตเอนไซม์ออกมาจะช่วยย่อยเนื้อที่ตายแล้ว เช่น เนื้อที่มีลักษณะสีเหลืองซึ่งพบได้ในแผลเรื้อรัง โดยหนอนจะดูดน้ำที่ย่อยแล้วเข้าไป รวมถึงเนื้อที่ตายแล้วถูกย่อยก็จะถูกดูดเข้าไปในตัวหนอนด้วย
อย่างไรก็ตาม หนอนจะอยู่ในซองผ้าซึ่งเป็นซองชนิดพิเศษ และหนอนไม่สามารถหลุดออกมาได้ จึงไม่ต้องกังวลเลยว่าหนอนพวกนี้จะออกมาอยู่ในแผลทำให้แผลคุณมีหนอนเต็มไปหมด
หนอนบำบัดใช้กับผู้ป่วยโรคอะไรบ้าง
แผลเบาหวานเรื้อรัง ซึ่งเป็นแผลที่หายยาก รักษายาก การใช้หนอนบำบัดได้ผลค่อนข้างดี
แผลกดทับ เป็นบริเวณที่นอนทับมากๆ ในผู้ป่วยที่เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่นอนพลิกตัวไม่ค่อยดีนัก ก็นำตรงนี้มาใช้ได้ค่อนข้างดี
แผลเรื้อรังมักจะมีเนื้อตายค่อนข้างมากมักมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ การรักษาแผลเรื้อรัง สมัยก่อนมักจะต้องใช้วิธีการขูดเนื้อตายในแผลออก ใครเคยเป็นแผลหรือมีญาติเป็นแผลเรื้อรังก็จะรู้ว่าจะต้องขูดแผลที่มีเนื้อตายออกให้หมด เนื้อดีถึงจะเกิดขึ้นมาแทน และการขูดแผลจะมีอาการเจ็บปวด เพราะฉะนั้นหนอนบำบัดจะสามารถใช้ตรงนี้ได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะใช้หนอนกับแผลทุกชนิดได้
การใช้หนอนบำบัดมีนานแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการใช้ในกลุ่มโรคติดเชื้อบางอย่างชนิดที่มีการติดเชื้อ ดื้อยาที่แผล ไม่สามารถรักษาด้วยยาปฏิชีวนะได้ หรือผู้ป่วยแพ้ยาปฏิชีวนะอย่างรุนแรง ทางการแพทย์ก็นำธรรมชาติบำบัดมาใช้
ที่ผ่านมาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ใช้หนอนบำบัดกับผู้ป่วยประมาณ 5 ราย
รายแรกที่เริ่มใช้หนอนบำบัดเป็นผู้ป่วยแผลเบาหวาน ต้องเข้าใจก่อนว่า ผู้ป่วยเบาหวาน มักมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น เป็นแผล มีการติดเชื้อ นอกจากนี้แล้วยังมีเรื่องของหลอดเลือดที่มีเลือดมาเลี้ยงไม่พอ อย่างไรก็ตามแผลผู้ป่วยหายเร็วค่อนข้างดี
ผู้ป่วย 3 ใน 5 ราย เป็นแผลเบาหวาน แผลหายเร็ว โดยไม่ต้องต่อหลอดเลือด คือการทำบายพาส แต่ไม่ได้หมายความว่าใช้ทุกรายจะหายทุกราย ต้องดูเป็นรายๆไป พวกที่มีเนื้อตายมากๆ มักใช้ได้ผลดี
อีก 2 รายที่ใช้ เป็นผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อถึงชั้นพังผืดซึ่งได้ผลดีมาก เพราะแผลพวกนี้ไม่ได้เกิดจากการขาดเลือด เกิดเนื่องจากเชื้อลงไปทำลายเนื้อเยื่อจนถึงชั้นพังผืดทำให้เนื้อบริเวณนั้นตายมากๆ การใช้หนอนลงไปกินเนื้ดตายเหล่านั้นทำให้แผลหายเร็วขึ้น
การเตรียมตัวของผู้ป่วยที่จะใช้หนอนบำบัด
ผู้ป่วยไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ
พิจารณาแล้วว่าถ้ารักษาแผลธรรมดาจะต้องใช้เวลานาน แพทย์ผู้รักษาจะต้องคุยกับผู้ป่วย รับฟังความ คิดเห็นของผู้ป่วยก่อน ถ้าผู้ป่วยบอกว่าทดลองใช้ดู และผู้ป่วยยินยอมให้ใช้ก็ไม่มีปัญหาเลย
สิ่งที่ต้องเตรียมคือค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายอาจจะสูงกว่าการทำแผลทั่วไป
ถ้าอยู่โรงพยาบาลเอกชน การใช้หนอนบำบัดถูกกว่าการเข้าห้องผ่าตัดทำแผลเนื่องจากแผลเนื้อตายจะต้องมีการขูดแผล ซึ่งทำให้เสียค่าใช้จ่ายมาก แต่หนอนบำบัดไม่ต้องเข้าห้องผ่าตัด แค่ใช้หนอนวาง เปลี่ยนแผล เช็ดน้ำ เปลี่ยนแผล หนอนวาง ปิดแผล เท่านั้น
ข้อจำกัดการใช้หนอนบำบัด
ไม่มีข้อห้ามอะไรเป็นพิเศษ
การแพ้หนอนไม่มี การแพ้แมลงในคนไทยค่อนข้างน้อย ยกเว้นคนที่เคยแพ้หนอนบุ้ง
ความน่าเกลียดน่ากลัวก็ไม่ใช่ เพราะอยู่ในซอง และซองไม่แตกออกมา
ไม่มีอาการข้างเคียง เอนไซม์ของหนอนจะไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในแผล จะดูดซึมกลับมาหาตัวหนอนเอง
ยกเว้นผู้ป่วยที่มีแผลไม่ถึงขนาดแผลเนื้อตาย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ หรือผู้ป่วยแผลกดทับที่ต้องนอนทับ จะทำให้หนอนจะตายหมด จึงต้องพลิกตัวผู้ป่วยขึ้น ดังนั้นข้อห้ามจริงๆ เป็นเทคนิคการใช้มากกว่าข้อห้ามในส่วนตัวของผู้ป่วย
ผู้ป่วยที่ไม่เคยใช้มักจะกังวลว่า หนอนจะกลายเป็นแมลงวันในแผล หนอนจะไปไข่และจะไชลึกลงไปในแผล หรือหนอนสามารถไชเข้าเนื้อได้หรือไม่ ขอให้แน่ใจได้เลยว่าสิ่งเหล่านี้ไม่เกิดในผู้ป่วยที่ใช้หนอนบำบัดได้เลย
หนอนบำบัด
ศาสตร์ทางเลือกใหม่ รักษาแผลเรื้อรัง
การรักษาด้วยหนอนบำบัดหรือ Maggot Therapy คือการใช้หนอนแมลงวันสายพันธุ์ Lucilia sericata รักษาแผลเรื้อรัง
วิธีการใช้หนอนบำบัดไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะย้อนไปเมื่อ 1,000 ปีก่อน ได้มีการบันทึกถึงวิธีการรักษาในลักษณะนี้ โดยชาวอินเดียนแดงเผ่ามายาและชาวเจมบา ซึ่งเป็นชาวพื้นเมืองรัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ได้นำหนอนแมลงวัน (Maggot) มาใช้ในการทำความสะอาดแผลหนองหรือแผลเน่าติดเชื้อ ซึ่งความรู้นี้พวกเขาได้รับการถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น และประวัติศาสตร์ได้มีการบันทึกถึงประสิทธิภาพการรักษาแผลเน่าติดเชื้อโดยหนอนแมลงวัน เมื่อต้นศตวรรษที่ 19 โดยนายแพทย์ Baron D.J. Larrey ซึ่งเป็นหัวหน้าแพทย์และแพทย์ประจำพระองค์ในสมัยพระเจ้านโปเลียน ได้ค้นพบประสิทธิภาพนี้ในขณะทำการรักษาทหารที่บาดเจ็บในระหว่างสงคราม
ในปี พ.ศ.2472 ศาสตราจารย์นายแพทย์ William S. Baer ศัลยแพทย์ชาวอเมริกันแห่ง Johns Hopkins School of Medicine มลรัฐแมรี่แลนด์ ได้เป็นผู้ก่อตั้งวิธีการรักษาด้วยหนอนบำบัดสมัยใหม่ โดยทำการศึกษาวิจัยการรักษาด้วยหนอนอย่างจริงจังด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์ และได้เผยแพร่ความรู้นี้สู่สาธารณชน ส่งผลให้วิธีการรักษานี้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ในช่วงปี พ.ศ.2483 โรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกามากกว่า 300 แห่ง ได้ใช้วิธีนี้ในการรักษาผู้ป่วยและบริษัท Lederle ซึ่งเป็นบริษัทยา ได้ผลิตหนอนแมลงวันออกขายสู่ท้องตลาด ต่อมาได้มีการคิดค้นยาปฏิชีวนะในกลุ่มซัลฟาและเพนิซิลลินขึ้น ทำให้ Maggot therapy เริ่มห่างหายไปจากวงการแพทย์
กระทั่งในปี พ.ศ.2538 ประเทศเยอรมนีได้มีการฟื้นฟูวิธีการรักษาด้วยหนอนบำบัดขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อแก้ไขปัญหาแผลเรื้อรังซึ่งมีประชากรที่ตกอยู่ในสภาวะนี้มากกว่า 3 ล้านคน โดยแผลที่พบส่วนใหญ่เป็นแผลจากโรคเบาหวาน สถาบันต่างๆของประเทศเยอรมนี เช่น German Diabetis Society (Deutsche Diabetesgesellschaft) และ German Society for Angiology (Deutsche Gesellschaft fuer Angiology) จึงได้ทำการประเมินขั้นตอนการวินิจฉัยโรค การรักษา และภาวะการ ฟื้นตัวของผู้ป่วยจากโรคเบาหวาน พบว่า การรักษาด้วยหนอนบำบัดทำให้ผู้ป่วยประมาณ 10,000 ราย ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัดเท้าหรือแขนทิ้งหากได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มของโรค
จากรายงานทางการแพทย์ของคลินิกชุมชนเฮิร์กส ในแฟรงก์เฟิร์ต ตั้งแต่ปี พ.ศ.2542 คลินิกดังกล่าวได้นำลักษณะการบำบัดรักษาด้วยหนอนแมลงวันมาใช้รักษาบาดแผลเรื้อรังและไม่สามารถรักษาด้วยวิทยาการทางการแพทย์ปกติได้ หลังจากการทดลองดังกล่าว พบว่าบาดแผลที่ใช้หนอนแมลงวันรักษานั้นสะอาดขึ้น และผู้ป่วยที่มารับการรักษาเป็นประจำมีบาดแผลสะอาดขึ้นเรื่อยๆ หากหยุดการรักษาหรือทิ้งช่วงระยะเวลาในการบำบัด สภาพของบาดแผลก็จะกลับมาแย่อีกครั้ง
แมลงวันชนิดต่างๆ ในโลกนี้มีอยู่มากถึง 120,000 สายพันธุ์ทั่วโลก โดยแมลงวันสายพันธุ์ Lucilia sericata นั้นเป็นสายพันธุ์ที่อยู่ใน genus green bottles (Lucilia)
หนอนของแมลงวันชนิดนี้มีชื่อเรียกในภาษาละตินว่า Lucilia มีลักษณะพิเศษเหนือกว่าหนอนแมลงวันสายพันธุ์อื่นตรงที่ตัวมันสามารถผลิตน้ำย่อยที่มีคุณสมบัติย่อยสลายเนื้อตายเท่านั้น ฉะนั้นจากคุณสมบัตินี้เองทำให้ทั้งแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์สนใจที่จะศึกษาทดลองนำหนอนของแมลงวันสายพันธุ์นี้มาทำการทดสอบกับแผลติดเชื้อและแผลเรื้อรังชนิดต่างๆ มากมาย
ดังจะเห็นได้จากบทความทางวิชาการที่ตีพิมพ์ลงในวารสารทางการแพทย์ชั้นนำมากมาย โดยผลการวิจัยออกมาต่างพบว่าเอนไซม์ของหนอนแมลงวันสายพันธุ์ Lucilia sericata นั้นมีคุณสมบัติในการย่อยสลายเนื้อตาย รวมถึงสามารถกำจัดเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการสร้างเนื้อดีขึ้นมาทดแทนเนื้อส่วนที่เสียไป และข้อดีของหนอนแมลงวันสายพันธุ์นี้อีกข้อหนึ่งคือ จะไม่สามารถเจริญหรือพัฒนาไปเป็นแมลงวันได้ในสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างเช่นในแผลของผู้ป่วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องเป็นกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
สำหรับการรักษาด้วยหนอนแมลงวัน Lucilia sericata ของประเทศไทยนั้นเริ่มมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 โดยบริษัทไบโอมอนเด้ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้นำเข้าดักแด้ของแมลงวันสายพันธุ์นี้มาจากประเทศเยอรมนี และนำมาเพาะเลี้ยงภายในห้องแล็บที่ปราศจากเชื้อ เพื่อให้ได้หนอนที่สะอาดไม่มีเชื้อปนเปื้อนซึ่งจะต้องนำไปใส่ลงในแผลของผู้ป่วยต่อไป โดยทั้งนี้บริษัทได้ทำการประยุกต์การรักษาใหม่โดยการนำหนอนใส่ลงไปในถุงผ้าที่ปิดสนิททุกด้านซึ่งมีชื้อเรียกทางการค้าว่า "BioBag" เพื่อป้องกันการหลุดลอดออกมาของตัวหนอน
ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยที่กลัวหนอนหลุดออกมาและยังเป็นการง่ายต่อการใช้ด้วย แม้ว่าทางบริษัทจะนำตัวหนอนมาใส่ไว้ในถุงผ้าแต่มันก็ยังคงคุณสมบัติที่ดีต่อการรักษาอยู่ ทั้งนี้เนื่องจากการทำงานที่แท้จริงของหนอนแมลงวันนั้น คือการหลั่งน้ำย่อยออกมาเพื่อย่อยสลายเนื้อตายและเชื้อแบคทีเรียรวมถึงหลั่งสารที่ไปกระตุ้นการสร้างเนื้อดี ดังนั้นน้ำย่อยและสารคัดหลั่งของหนอนแมลงวันก็ยังคงสามารถปล่อยออกมาสู่แผลได้ดังเดิม เพราะถุงที่ใช้จะมีลักษณะเป็นรูพรุนจึงทำให้น้ำย่อยและสารคัดหลั่งของหนอนแมลงวันเล็ดลอดออกมาที่แผลได้
ด้วยวงจรชีวิตของหนอนเมื่อออกจากไข่จะมีชีวิตอยู่ประมาณ 3-4 วันก่อนจะกลายเป็นดักแด้ ดังนั้นการบำบัดแต่ละครั้งจึงต้องเปลี่ยน Biobag ทุก 3 วัน และเมื่อใช้เสร็จแล้วต้องกำจัดทิ้งภายใน 5 วัน เพราะหลังจากนั้นประมาณ 7 วัน ตัวหนอนจะกลายเป็นดักแด้ที่ไม่สมบูรณ์อยู่ภายในถุง Biobag
การรักษาวิธีนี้ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่วางถุง BioBag ลงบนแผลและพันทับด้วยผ้าพันแผลอย่างหลวมๆ เท่านั้น ทิ้งไว้ 3 วันจึงนำถุง BioBag ออก ในระหว่างที่จะถึงกำหนด 3 วัน แผลอาจจะมีปริมาณน้ำเหลืองหลั่งออกมากซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ โดยสามารถทำความสะอาดแผลได้ด้วยการเปลี่ยนผ้าพันแผลชั้นนอก ส่วนถุง BioBag ยังสามารถนำกลับมาใช้ต่อได้จนถึงครบกำหนด 3 วัน ทั้งนี้ระยะเวลาของการรักษาด้วยหนอนบำบัดนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะเห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับขนาดของบาดแผลด้วย รายที่มีบาดแผลขนาดไม่ใหญ่นักจะใช้การบำบัดด้วยวิธีดังกล่าว 2-3 ครั้ง บางรายอาจใช้เพียงครั้งเดียว ทันทีที่บาดแผลสะอาดก็สามารถสิ้นสุดการรักษาด้วยวิธีดังกล่าว
ลักษณะของแผลที่สามารถใช้ BioMaggot ในการรักษา ได้แก่ แผลจากโรคเบาหวานบริเวณเท้า แผลกดทับ Ulcers cruris แผลติดเชื้อจาก Staphylococcus aureus, MRSA และอื่นๆ แผลเนื้อตาย แผลพังผืดอักเสบ แผลไฟไหม้ และ Thrombangitis obiterans
ขนาดบรรจุของ BioMaggot มีด้วยกัน 4 ขนาด คือ ขนาดเล็กพิเศษบรรจุ maggot 50 ตัว ในถุงขนาด 3 x 4 เซนติเมตร ขนาดเล็กบรรจุ maggot 100 ตัว ในถุงขนาด 4 x 5 เซนติเมตร ขนาดกลางบรรจุ maggot 200 ตัว ในถุงขนาด 5 x 6 เซนติเมตร และขนาดใหญ่บรรจุ maggot 300 ตัว ในถุงขนาด 6 x 12 เซนติเมตร
นอกจากนี้ ยังมีแบบ Free range จะบรรจุ maggot ในหลอดปราศจากเชื้อใช้กับแผลขนาด 10 ตารางเซนติเมตร ต่อ 10 ตัว ทั้งนี้ การใช้ถุงแต่ละขนาดขึ้นอยู่กับขนาดของบาดแผล
เรื่องของผลข้างเคียง จากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่พบผลข้างเคียงใดๆ แต่จะมีบางครั้งที่แผลจะมีเลือดซึมออกมาซึ่งเป็นผลจากการที่หนอนได้ย่อยสลายเนื้อตายบริเวณนั้นและกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือดให้มาหล่อเลี้ยงที่แผลมากขึ้นซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีต่อแผล
ปัญหาหลักที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องทัศนคติของผู้ป่วยและญาติบางรายมากกว่าที่มีความกลัวหรือรู้สึกขยะแขยงต่อการรักษาด้วยวิธีนี้โดยเกรงว่าจะไม่สะอาด แต่เมื่อผู้ป่วยและญาติของผู้ป่วยได้เปรียบเทียบข้อดีและข้อเสียแล้วก็จะยอมรับการรักษาได้ ซึ่งประโยชน์ที่ได้รับจากการเลือกใช้ BioMaggot ได้แก่ ลดจำนวนเนื้อเยื่อที่ตายแล้วอย่างรวดเร็ว เพิ่มจำนวนเนื้อเยื่อที่สร้างขึ้นใหม่ ลดจำนวนของเหลวและกลิ่นเหม็นจากแผล ลดความเจ็บปวดจากการทำแผลผู้ป่วย ลดระยะเวลาในการรักษาตัวที่โรงพยาบาล หลีกเลี่ยงการผ่าตัดและดมยาสลบผู้ป่วย ลดการใช้ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotic)
ขณะนี้มีการใช้หนอนบำบัดที่โรงพยาบาลหลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ซึ่งโรงพยาบาลที่จะใช้ต้องสั่งผลิตจากห้องแล็บก่อน
การใช้หนอนบำบัดนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ศาสตร์ทางเลือกธรรมชาติ ส่วนแมลงวันที่บินว่อนอยู่ในบ้านเราคงต้องทำการศึกษากันต่อไปว่าสามารถนำมาใช้ได้หรือไม่
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
www.bgrimmhealthcare.com
- อ่าน 46,655 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้