• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฝึกอีคิวเด็ก...รับมือปัญหาทางอารมณ์

สำหรับผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมเด็ก นักวิจัย และแพทย์แล้ว มีมุมมองต่อพฤติกรรมก้าวร้าวของเด็กว่า โดยส่วนใหญ่แล้ว ความรุนแรงของเด็กในครอบครัวเกิดจากพ่อแม่ การเลี้ยงดู และสภาพแวดล้อมในครอบครัว

แพทย์หญิงพรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล เปิดเผยถึงวิธีการรับมือกับสภาวะทางอารมณ์ของเด็กในวัยที่แตกต่างกันว่า พ่อแม่ควรมีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่รู้ว่าตั้งครรภ์ พร้อมแนะว่าเด็กแต่ละวัยจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน

พ่อแม่ทุกคนต้องการให้ลูกเป็นคนเก่ง คนดี และมีความสุข ซึ่งการที่เขาจะมีพัฒนาการไปในทิศทางนั้นได้ ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าใจธรรมชาติของเด็กก่อน ซึ่งธรรมชาติของเด็กมีสองอย่างก็คือ ธรรมชาติตามวัย เด็กแต่ละช่วงอายุจะมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน นอกจากนั้น เขาก็ยังมีธรรมชาติ หรือลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันในแต่ละคนด้วย

สมองของเด็กมีการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกันตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็จะมีการทำลายเครือข่ายที่สร้างขึ้นไปแล้วด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กได้เช่นกัน หากพ่อแม่ไม่ทำลายเครือข่ายที่ไม่เป็นประโยชน์

บางทีไปทำลายเครือข่ายที่ดีของเด็กด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เด็กก็จะเติบโตขึ้นมาพร้อมกับพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ยกตัวอย่างเช่น การที่ผู้ใหญ่ตีเด็กที่กำลังร้องไห้พร้อมขู่ว่าถ้ายังไม่เงียบจะไม่หยุดตี จะส่งผลให้สมองของเด็กคนนั้นเรียนรู้ว่า มีอารมณ์ไม่ได้ และเกิดการกดอารมณ์ตัวเอง

ทั้งนี้ พฤติกรรมการกดอารมณ์จะไม่เป็นผลดีต่อเด็กในอนาคต และอาจเกิดปัญหาด้านพฤติกรรมขึ้นได้ ทางออกของปัญหานี้คือ พ่อแม่ควรทำความเข้าใจกับลูกว่าลูกกำลังมีอารมณ์โกรธ เสียใจ โมโห ฯลฯ ให้เด็กได้รู้จักกับอารมณ์ต่างๆ เหล่านี้ด้วยตนเอง และพยายามผ่อนคลายอารมณ์ของเด็กลง

ทั้งนี้ เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็กๆ คุณหมอระบุว่า ไม่ถึงกับต้องมาพบจิตแพทย์ แต่หัวใจสำคัญคือการเรียนรู้ พ่อแม่ต้องแลกเปลี่ยนกัน พูดคุยกัน และช่วยกันเลี้ยงลูก จึงจะทำให้ครอบครัวมีความสุขได้
 

ข้อมูลสื่อ

354-006-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
กองบรรณาธิการ