• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องนอกมดลูก

เมื่อผู้หญิงตั้งครรภ์หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า "ตั้งท้อง" โดยทั่วไปจะเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งของคนในครอบครัว แต่บางครั้งก็อาจต้องเสียใจ เมื่อรู้ว่าการตั้งครรภ์ในครั้งนี้นั้นเป็น "การตั้งครรภ์นอกมดลูก" หรือ "ท้องนอกมดลูก"

การตั้งครรภ์แม้เป็นเรื่องที่น่ายินดีของครอบครัว ที่มารดาจะให้กำเนิดลูกน้อยตามความคาดหวังว่าจะเลี้ยงทารกที่คลอดให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบความสำเร็จในอนาคต

มีข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือแม้มารดาจะแข็งแรงในแต่ละการตั้งครรภ์ อาจจะเกิดความสูญเสียได้ทั้งมารดาหรือทารก เพราะทางการแพทย์นั้นถือว่าการตั้งครรภ์ปกติก็เป็นความเจ็บป่วยโรคหนึ่ง จำเป็นต้องได้รับการดูแลตรวจครรภ์ เพื่อส่งเสริม ป้องกัน เฝ้าระวังและรักษาภาวะที่กระทบต่อสุขภาพ ทั้งของมารดาและทารกในครรภ์อย่างเหมาะสม

โดยทั่วไป เมื่อมีการปฏิสนธิตัวอ่อนจะแบ่งตัวจากหนึ่งเซลล์กลายเป็นทารก ที่เดินทางจากท่อรังไข่มาฝังตัวที่โพรงมดลูก แต่บางรายทารกในครรภ์ฝังตัวนอกมดลูก ซึ่งเป็นความผิดปกติหรือภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ของการตั้งครรภ์นอกมดลูก พบว่าตัวอ่อนจะฝังตัวที่ผนังท่อรังไข่ (บางราย) ส่วนน้อยฝังตัวที่รังไข่ บริเวณผนังด้านนอกของมดลูกหรือฝังตัวภายในช่องท้อง เช่น ผนังลำไส้ เป็นต้น

การตั้งครรภ์นอกมดลูก เกิดขึ้นประมาณร้อยละ 1-2 ของการตั้งครรภ์ เมื่อทารกฝังตัวแล้ว จะมีการเจริญเติบโตของทารก แต่เนื่องจากตำแหน่งอวัยวะที่ฝังตัวไม่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโต (ตามปกติ จึงไม่สามารถอยู่รอดได้) ท่อรังไข่ที่ตำแหน่งฝังตัว มักจะแตกในเวลาต่อมาได้ เพราะผนังของท่อรังไข่บาง ไม่เหมือนผนังโพรงมดลูกซึ่งหนามาก

เมื่อมีการลอกหลุดของการตั้งครรภ์หรือการแตกของผนังท่อรังไข่ อาจจะทำให้เลือดออกในช่องท้องปริมาณมาก จนกระทั่งเสียชีวิตได้

ก่อนศตวรรษที่ 19 อัตราการตายของการตั้งครรภ์นอกมดลูกมีมากถึงร้อยละ 50 แต่ปลายศตวรรษที่ 19 การแพทย์ได้พัฒนาเจริญขึ้นมาก ทำให้อัตราตายเหลือเพียงร้อยละ 5 เพราะเราสามารถวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้เร็วขึ้น และทำการผ่าตัดรักษาก่อนที่จะแตกหรือเกิดภาวะเลือดออกในช่องท้อง
อาการเริ่มต้นอาจเหมือนคนท้องทั่วๆ ไป เช่น คลื่นไส้ อาเจียน แพ้ท้อง เต้านมคัดตึง บางรายไม่มีอาการ ประจำเดือนขาดไป หรือบางรายประจำเดือนไม่ทันจะขาดก็แตกเสียแล้ว

หญิงตั้งครรภ์นอกมดลูก อาจจะมีอาการปวดท้อง โดยเฉพาะที่ท้องน้อยส่วนล่าง การตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่าตั้งครรภ์หรือไม่ แม้พบว่าตั้งครรภ์ก็ไม่สามารถบ่งบอกว่าตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือในมดลูก อาจมาพบแพทย์ด้วยเรื่องภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด

ถ้าตั้งครรภ์นอกมดลูกและผนังท่อรังไข่แตกแล้ว จะมีอาการปวดท้องมาก เพราะเลือดที่ตกในจะไประคายผนังช่องท้องหรือกะบังลม

ถ้าเสียเลือดมากจะมีอาการหน้ามืดเป็นลม ความดันต่ำ หัวใจเต้นเร็ว ซีดและช็อก
แพทย์จะซักประวัติ ตรวจร่างกาย พบว่าซีด ตรวจหน้าท้อง พบว่าท้องโป่ง กดเจ็บและปล่อยเจ็บ ตรวจภายในจะพบเลือดในช่องคลอด โยกปากมดลูกรู้สึกเจ็บ ตรวจคลำพบก้อนผิดปกติ

อาจพบอาการแสดงว่ามีของเหลวหรือเลือดกองอยู่ในช่องเชิงกราน แต่ถ้าหากการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ยังไม่แตก อาจตรวจวินิจฉัยได้ยากเพราะเพียงท่อรังไข่ที่โป่งขยายขึ้นกว่าปกติอาจจะสามารถตรวจหน้าท้องและตรวจภายใน พบความผิดปกติ

การตรวจอัลตร้าซาวนด์ทางช่องคลอดหรือทางหน้าท้อง อาจพบว่ามีก้อนที่บริเวณปีกมดลูก และไม่พบลักษณะของการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูก บางรายอาจจะไม่สามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจอัลตร้าซาวนด์
การตรวจโดยการส่องกล้องทางช่องท้อง เพื่อให้ใช้กล้องผ่านเข้าไปตรวจดูภายในช่องท้องได้ การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนบีตาเอชซีจี (ß- hCG) 2 ครั้งห่างกัน 48 ชั่วโมง ถ้าพบว่าเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าร้อยละ 66.6 ถือเป็นฮอร์โมนที่ขึ้นตามการตั้งครรภ์ปกติ แต่ถ้าไม่ถึงร้อยละ 66.6 หรือลดลงแสดงถึงการตั้งครรภ์ผิดปกติ อาจเกิดจากการแท้งบุตรหรือการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

การขูดมดลูกในบางรายที่แน่ใจว่าไม่ได้ตั้งครรภ์ตามปกติแล้ว เมื่อจะส่งตรวจทางพยาธิวิทยาของเศษเนื้อในโพรงมดลูก แยกได้ว่าเป็นการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกหรือไม่ เพื่อประกอบการวินิจฉัยการตั้งครรภ์นอกมดลูก

จะเห็นว่าการตั้งครรภ์นอกมดลูก บางครั้งต้องใช้วิธีการต่างๆ ร่วมกับการวินิจฉัย บางกรณีอาจจำเป็นต้องเฝ้ารอสังเกตอาการดูการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและใกล้ชิด เพราะถ้าแตกแล้วอาจรุนแรงจนเสียชีวิตได้

การรักษา
การเลือกใช้ยาเมโทเทร็กเซต (methotrexate) ทำให้ฝ่อลง เป็นการช่วยคงสภาพของท่อรังไข่ไว้ให้สามารถตั้งครรภ์คราวต่อไปได้ แต่จะต้องเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงต่อการแตกหรือภาวะเลือดออกในช่องท้อง จนเกิดอันตรายได้

การผ่าตัดเป็นการรักษามาตรฐาน สำหรับภาวะตั้งครรภ์นอกมดลูก ถ้าท่อรังไข่ขยายไม่มาก เช่น ไม่เกิน 2 เซนติเมตรไม่แตก การผ่าตัดอาจทำเพียงเปิดเข้าไปในท่อรังไข่ แล้วรีดเนื้อเยื่อการตั้งครรภ์และการฝังตัวอ่อนออก อาจเย็บซ่อมแซมผนังท่อรังไข่หรือวิธีปล่อยไว้โดยไม่เย็บ ก็เป็นการพยายามเก็บรักษาท่อรังไข่ไว้ได้

กรณีท่อรังไข่แตกหรือมีความเสียหายมากมักจำเป็นต้องผ่าตัดท่อรังไข่ออกไปพร้อมๆกับตัวอ่อนเลย

ดังนั้น เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ คู่สมรสควรปรึกษา และฝากครรภ์กับแพทย์แต่เนิ่นๆ เพื่อค้นหาความผิดปกติของการตั้งครรภ์ หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ให้รีบปรึกษาแพทย์โดยทันที

ข้อมูลสื่อ

354-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
นพ.ไพโรจน์ บุญศิริคำชัย