บ่อยครั้งที่ผู้เขียนมักจะได้ยินผู้ป่วยหรือญาติบอกว่า
"หมอครับ ผมขอเติมน้ำเกลือได้ไหม รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่มีแรง"
"ไม่เติมน้ำเกลือหรือคะ จะได้หายเร็วๆ" หรือ
"ขอน้ำเกลือบำรุงกำลังเติมให้คุณแม่หน่อยนะคะ จะได้แข็งแรงขึ้น"
"ผมขอผงเกลือแร่กลับบ้านด้วยนะครับ จะได้เอาไว้ชงดื่มเวลาเพลียๆ"
คำพูดเหล่านี้ช่วยยืนยันว่า ผู้ป่วยบางรายยังเข้าใจ ผิดคิดว่าน้ำเกลือหรือน้ำเกลือแร่ (ทั้งแบบเติมเข้าหลอดเลือดดำ และแบบผงชงดื่ม) มีไว้สำหรับแก้อ่อนเพลีย ช่วยบำรุงกำลัง ทำให้ร่างกายสดชื่นแข็งแรง ซึ่งอาจจะถูกต้องอยู่บางส่วน
ในกรณีที่ร่างกายขาดน้ำและเกลือแร่เป็นจำนวนมาก เช่น เมื่อท้องเสียรุนแรง อาเจียนมาก อยู่ในภาวะที่กินอาหารไม่ได้ ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกทั้งตัว หรือเสียเลือดเสียเหงื่อมาก แต่การให้น้ำเกลือแบบสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ระมัดระวัง ก็อาจเกิดโทษได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หรือโรคหัวใจ
มีตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่ง มาหาหมอด้วยเรื่องอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ไม่มีแรง อาการอื่นก็ไม่มีอะไร คิดว่ามาเติมน้ำเกลือสักหน่อยก็คงหาย แต่เมื่อหมอตรวจร่างกายดูแล้วพบว่า ผู้ป่วยค่อนข้างซูบซีด เหนื่อยง่าย ผิวแห้ง ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ปอดชื้น หัวใจเต้นเร็วและแรง บ่งถึงภาวะหัวใจล้มเหลว ประกอบกับมีผิวแห้ง ลักษณะซีดโลหิตจาง ทำให้นึกถึงภาวะไตวายเรื้อรัง หากหมอเผลอไปเติมน้ำเกลือให้ตามที่ผู้ป่วยร้องขอก็จะยุ่งกันไปใหญ่ หัวใจจะทำงานหนักและล้มเหลวมากขึ้นจนอาจเสียชีวิตภายในเวลาอันรวดเร็ว
สมดุลของน้ำในร่างกาย หรือ "น้ำในตัว" เป็นเรื่องที่พูดง่ายอธิบายยาก อาการป่วยหลายๆอย่างก็เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ผู้อ่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า ทำไมเมื่อประสบเหตุต้องลอยคออยู่กลางทะเลนานๆ หากกระหายน้ำจะไม่สามารถดื่มน้ำทะเลได้เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต หรือกรณีท้องเสียรุนแรงมาก หากดื่มน้ำเปล่าๆ เข้าไปก็อาจเสียชีวิตได้เช่นกัน
ร่างกายของคนเราประกอบด้วยน้ำประมาณร้อยละ 60 ของน้ำหนักตัว แต่ไม่ใช่น้ำเปล่าๆ เป็นน้ำเกลือแร่ ที่มีความเข้มข้นพอเหมาะ และร่างกายก็มีกลไกที่จะรักษาความพอเหมาะพอดีนี้ไว้ ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงมากไปหรือน้อยไปก็จะเกิดอันตราย เช่น ถ้ามีน้ำเกลือแร่ ในตัวมากไปหัวใจจะทำงานหนักจนหัวใจวายได้ แต่ถ้ามีปริมาณน้อยเกินไปจะทำให้ปัสสาวะไม่ออก ความดันโลหิตต่ำจนถึงขั้นช็อกได้
เมื่อเราเสียน้ำเกลือแร่ออกจากร่างกายไปมากๆ เช่น ท้องเสียรุนแรง อาเจียนมาก ก็จำเป็นต้องใช้น้ำเกลือแร่มาชดเชยส่วนที่เสียไป ถ้าดื่มไม่ได้ก็ต้องเติมเข้าทางหลอดเลือดดำ หรือสวนเข้าทางทวารหนัก ซึ่งปริมาณและความเข้มข้นของเกลือแร่ที่ใช้ก็ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการป่วย โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- ถ้าเล่นกีฬากลางแจ้งแล้วเหงื่อออกมาก ใช้ผงเกลือแร่ 1 ซองต่อน้ำ 1 ลิตร ดื่มเมื่อกระหาย
- ถ้าอาเจียนมาก กินไม่ได้ ใช้น้ำเกลือแบบหยดเข้าหลอดเลือดดำ หรือใช้ผงเกลือแร่ 2 ซองต่อน้ำ 1 ลิตร สวนเข้าทางทวารหนัก
- ถ้าท้องเสียมาก ต้องใช้แบบเข้มข้น ถ้าดื่มได้ก็ใช้ผงเกลือแร่ 3-4 ซองต่อน้ำ 1 ลิตร แต่ถ้าดื่มไม่ได้ก็ให้ใช้แบบหยดเข้าหลอดเลือดดำแทน
น้ำเกลือแร่นั้นไม่ใช่ยาวิเศษหรือยาบำรุงกำลัง ดังนั้นหากมีอาการอ่อนเพลียจากสาเหตุอื่นนอกจากที่กล่าวมาข้างต้นให้พึงระวัง โดยเฉพาะหากไม่รู้สึกกระหายน้ำเลย หรือมีอาการบวม เหนื่อยหอบ เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจหรือโรคไต ซึ่งหากเผลอให้น้ำเกลือแล้วอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
- อ่าน 50,570 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้