• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ว่ายน้ำ...กับปัญหาผิวหนัง

สิ้นสุดโอลิมปิกครั้งที่ 29 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน หลายคนยังคงจำนักกีฬายอดมนุษย์ที่ชื่อไมเคิล เฟลป์ส เจ้าของสถิติว่ายน้ำ 14 เหรียญทอง (6 เหรียญจากโอลิมปิกครั้งที่ 28 กรุงเอเธนส์ และ 8 เหรียญจากโอลิมปิกครั้งที่ 29 กรุงปักกิ่ง)

ฉบับนี้ขอเล่าเรื่องปัญหาผิวหนังในนักว่ายน้ำ ซึ่งพบโรคผิวหนังหลายอย่าง เช่น

โรคด่างแดด
เห็นเป็นรอยด่างขุยขาวที่เกิดจากแสงแดดจัด ถ้าลองสังเกตเด็กที่ว่ายน้ำจนตัวดำปี๋ จะพบว่าหลายคนมีรอยด่างนี้ตามใบหน้า

ผู้ปกครองบางคนคิดว่าเป็นเกลื้อน ผิวไหม้แดด การถูกแดดจัดทำให้ผิวหนังเหี่ยวแก่ และเกิดริ้วรอยของกระและฝ้าได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญคือการถูกแดดจัดนานๆ ทำให้ผิวเกิดรอยโรคขรุขระ ที่เรียกว่าแอ็กทินิก เคอราโทซิส (actinic keratosis) หากทิ้งไว้นานๆ จะกลายเป็นมะเร็งผิวหนัง ลักษณะแบบนี้บางทีเรียกว่า ผิวนักกอล์ฟ (golfer's skin) ผิวกะลาสี (sailor's skin) หรือผิวชาวไร่ชาวนา (farmer's skin) เพราะอาชีพพวกนี้ ล้วนต้องอยู่กลางแจ้งนานๆ จนผิวได้รับผลเสียจากแสงแดด

ผิวติดเชื้อแบคทีเรีย ที่ชื่อ Mycobacterium marinum โรคนี้ติดต่อกันโดยการใช้สระน้ำร่วมกัน จึงเรียกอีกชื่อว่า swimming - pool granuloma เกิดเป็นตุ่มหนองตามข้อศอก ข้อเข่า เท้า นิ้วมือ หรือข้อนิ้วมือ

หูดข้าวสุก
พบได้บ่อยในวัยเด็กและอาจมีการระบาดในเด็กที่ไปว่ายน้ำ เชื่อว่าเชื้อหูดข้าวสุกน่าจะถ่ายทอดจากการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เครื่องเล่นในสระน้ำ มากกว่าที่จะถ่ายทอดทางน้ำในสระ

ผู้ที่เป็นหูดข้าวสุกต้องปิดปลาสเตอร์กันน้ำที่เม็ดหูด และเมื่อขึ้นจากน้ำให้แกะออกและทิ้งปลาสเตอร์ที่บ้าน

นักว่ายน้ำบางคนยังพบ ผมเปลี่ยนสี เป็นผลจากสารจุนสีที่ใส่ในสระว่ายน้ำ ยิ่งพวกที่ผมสีอ่อน ผมจะเปลี่ยนสีเป็นสีเขียวได้ จึงจำเป็นต้องสวมหมวกว่ายน้ำ สระผม และใช้ครีมนวดผมหลังว่ายน้ำ

หูชั้นนอกอักเสบ
พบบ่อยในนักว่ายน้ำ จึงมีอีกชื่อว่าโรคหูนักว่ายน้ำ (swimmer's ear) ทั้งนี้เกิดเพราะการเสียสมดุล เนื่องจากระหว่างว่ายน้ำ น้ำเข้าหู ไปชำระล้างขี้หูซึ่งเป็นกำแพงกันเชื้อโรคตามธรรมชาติ หลังขึ้นจากน้ำบางคนยังใช้ไม้พันสำลีแยงหู หูเลยอักเสบ ควรหายางอุดหูมาใช้เวลาว่ายน้ำ หรือหากมีน้ำค้างอยู่ในหู ให้พยายามเขย่าน้ำออก อาจกระทำโดยการกระโดดขึ้นกระโดดลง เอียงศีรษะให้หูด้านที่มีน้ำขังอยู่ด้านล่าง

นอกจากนั้นก็ยังอาจใช้นิ้วมือกดรูหูเพื่อทำให้เกิดแรงดูด อาจทำให้น้ำไหลออกมาได้ แต่ถ้าทำแล้วหูยังอื้ออยู่ก็ต้องพบแพทย์เฉพาะทางหูคอจมูก

การดูแลผิวของนักว่ายน้ำ
ไม่ว่าจะว่ายน้ำในสระว่ายน้ำ แม่น้ำ ทะเล หรือในห้วยหนองคลองบึงที่ใดก็ตาม น้ำแต่ละชนิดนั้นมีผลเสียต่อสุขภาพผิวได้ เพราะในน้ำมีเชื้อโรคขนาดเล็กที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า สาหร่าย พยาธิ ที่พบบ่อยในบ้านเรา เช่น พยาธิหอยคัน พืช ปะการัง หินแหลมคม และสารเคมี จากการกำจัดน้ำโสโครก ดังนั้นหากผิวหนังกำลังมีบาดแผล อยู่ก็ต้องงดเล่นน้ำจะปลอดภัยกว่า

น้ำในสระว่ายน้ำ บางแห่งมีคลอรีนผสมอยู่สูงมาก หากว่ายน้ำแล้วอาจเกิดตาแดงแสบและเคืองตามาก หรืออีกทีถ้าไปว่ายน้ำในคลองที่สกปรก ตาก็อาจเกิดการอักเสบติดเชื้อได้เช่นกัน จึงควรสวมแว่นตากันน้ำเข้าตาก่อนไปว่ายน้ำ

หลังว่ายน้ำควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด หากเป็นคนผิวแห้งก็ควรใช้ครีมหรือน้ำมันทาผิวชโลมลูบไล้ตามผิวหนังเพื่อป้องกันไม่ให้ผิวแห้ง สระผมให้สะอาดด้วยแชมพูแล้วตามด้วยครีมนวดผม เพื่อรักษาสภาพเส้นผมไม่ให้แห้งกรอบ

เปลี่ยนเสื้อผ้าชุดใหม่ที่แห้งสนิท อย่าทนฝืนสวมชุดว่ายน้ำที่ชื้นแฉะอยู่นานๆ หากผิวหนังมีบาดแผล ก็ต้องทำความสะอาดบาดแผลให้เรียบร้อย และต้องไม่ว่ายน้ำกลางแดดจัด

ข้อมูลสื่อ

354-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 354
ตุลาคม 2551
ผิวสวย หน้าใส
นพ.ประวิตร พิศาลบุตร