• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดอกเข้าพรรษา

                                                

ประเพณีตักบาตรดอกไม้ในฤดูกาลเข้าพรรษานั้น มีดอกไม้หลายชนิดที่ใช้ตักบาตร ถ้าใครเคยไปที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี จะเห็นดอกไม้งดงามหลายชนิดที่ใช้ตักบาตรถวายพระ เช่น ดอกมะลิ ดอกบัว ดอกกล้วยไม้ ดอกดาวเรือง เป็นต้น

แต่หนึ่งในนั้น เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้ในการตักบาตร ก็คือดอกหงส์เหิน หรือที่เรียกกันให้เข้ากับประเพณีว่า ดอกเข้าพรรษา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า (Globba winiti) ด้วยลักษณะของดอกที่คล้ายตัวหงส์ ที่กำลังเหินบินอย่างสง่างามจึงเรียกว่าดอกหงส์เหิน

แน่นอนว่าถ้าดูลักษณะภายนอกแล้ว ถ้าเป็นผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ หรือแม้แต่นักพฤกษศาสตร์สมัครเล่น แค่มองปราดเดียวก็สามารถทราบได้ว่าอยู่ในวงศ์ขิง

ตามหลักการจำแนกตามหลักอนุกรมวิธานนั้น จัดให้อยู่ในสกุลกลอบบา (Globba) มีลักษณะคล้ายกับต้นกระชายหรือขมิ้น ลำต้นไม่สูงมากนักคือไม่เกิน 1-2 ฟุต จากดิน ชอบขึ้นในป่าร้อนชื้น สามารถขึ้นใต้ร่มเงาไม้ใหญ่ พบในประเทศไทย พม่า เวียดนาม เป็นไม้ดอกลำต้นขึ้นเป็นกอจากหัวหรือเหง้าใต้ดิน สำหรับดอกนั้นมีขนาดเล็กออกเป็นช่อ

ส่วนยอดของลำต้นยาวประมาณครึ่งฟุต ช่อดอกมีลักษณะอ่อนช้อยสวยงาม ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก มีหลายสี เช่น เหลือง เหลืองแซมม่วง เขียว แดง ขาว เป็นต้น ด้วยสีเหลืองที่สดใส ทำให้มองไกล

เหมือนหงส์กำลังบิน ใบของดอกเข้าพรรษาจัดเป็นใบเดี่ยวรูปหอกออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถว ด้วยเอกลักษณ์ที่ดอกเข้าพรรษา อันเป็นที่มาของชื่อนี้ เนื่องมาจากในแต่ละปีจะออกในช่วงเทศกาลวันเข้าพรรษาเท่านั้น

การตักบาตรถวายพระจะนำดอกเข้าพรรษาจัดรวมกับธูปเทียนเพื่อตักบาตรถวายพระ โดยเชื่อกันว่า เมื่อนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรจะได้บุญกุศลแรง โดยนิยมตักบาตรด้วยดอกเข้าพรรษาที่มีสีขาว ซึ่งหมายถึงความบริสุทธิ์แห่งพระพุทธศาสนา และที่มีสีเหลือง หมายถึงสีแห่งพระสงฆ์ ที่จังหวัดสระบุรีนี้ได้จัดพิธีตักบาตรดอกไม้ ณ วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร พระอารามหลวงชั้นเอก ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี และเป็นสถานที่ประดิษฐาน "รอยพระพุทธบาท"Ž

สำหรับคนกรุงเทพมหานคร สามารถชื่นชมทุ่งดอกเข้าพรรษาได้ที่สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ที่ตั้งอยู่บนถนนกำแพงเพชร 2 เขตจตุจักร ที่กำลังชูช่อดอกบานสะพรั่งงดงาม

ข้อมูลสื่อ

353-022
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
ต้นไม้ใบหญ้า
ดร.ปิยรัษฎ์ เจริญทรัพย์