อันพวกเราเหล่านักเรียนพยาบาล ปณิธานอนุกูลเพิ่มพูนผล เรียนวิชากรุณาช่วยปวงชน ผู้เจ็บไข้ได้พ้นทุกข์ทรมาน แม้โรคร้ายจะแพร่พิษถึงปลิดชีพ จะยึดหลักดวงประทีปคือสงสาร ยอมเหนื่อยยากตรากตรำใจสำราญ อุทิศงานเพื่อคนไข้ทั้งใจกาย
คือส่วนหนึ่งของบทเพลงมาชร์นักเรียนพยาบาล ซึ่งซึมซับอยู่ในความเป็นพยาบาลของทุกคน
การขาดแคลนพยาบาล
ในขณะที่ความต้องการพยาบาลมีมากขึ้น เพราะคนไข้มากขึ้น ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ดีขึ้น แต่การผลิตพยาบาลลดลง โดยการลดการรับนักเรียนทุน เนื่องจากไม่สามารถบรรจุให้เข้ารับราชการได้ ด้วยข้อจำกัดในเรื่องการลดจำนวนข้าราชการลงในภาพรวมระดับประเทศ
ปัจจุบันพยาบาลในภาครัฐจึงไม่ได้รับราชการ แต่มีฐานะเป็นเพียงลูกจ้าง ซึ่งขาดความมั่นคงในด้านสวัสดิการ รวมทั้งอัตราค่าตอบแทนน้อย เป็นเหตุให้เกิดภาวะสมองไหลไปสู่ภาคเอกชน ซึ่งทุกวันนี้ภาคเอกชนก็ยังมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ
ทุกวันนี้โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึงมีอัตราพยาบาล ที่ไม่เพียงพอต่อการปฏิบัติงานให้ได้ตามมาตรฐานวิชาชีพ หลายโรงพยาบาลมีภาระงานเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ การลดอัตราการบรรจุข้าราชการ การให้ค่าตอบแทนที่น้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ การขาดสวัสดิการที่เพียงพอเหมาะสม เป็นปัจจัยทางลบที่มีผลกระทบต่อวงการพยาบาล
ทุกวันนี้การขาดแคลนพยาบาลน่าจะรุนแรงมากกว่าการขาดแคลนแพทย์ การขาดแคลนพยาบาลมีผลต่อคุณภาพการดูแลรักษาคนไข้อย่างน่าเป็นห่วง
การพัฒนาพยาบาลเฉพาะทาง
พัฒนาการด้านการแพทย์เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โรงเรียนแพทย์สามารถผลิตแพทย์เฉพาะทาง ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยองค์ความรู้ ทักษะการปฏิบัติการ และการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งพยาบาลต้องพัฒนาควบคู่กันไป แม้จะมีแพทย์ที่เก่งแต่ขาดทีมงาน การรักษาพยาบาลย่อมไม่มีประสิทธิผล
ตัวอย่างเช่น แพทย์ผ่าตัดหัวใจฝีมือเยี่ยมต้องมีทีมผู้ร่วมผ่าตัด ผู้ช่วยส่งเครื่องมือผ่าตัด ผู้ช่วยดูแลระบบหัวใจและปอดเทียมในขณะผ่าตัด ซึ่งต้องใช้พยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเฉพาะทาง นอกจากนั้นการดูแลคนไข้ภายหลังผ่าตัดหัวใจ ซึ่งต้องอาศัยพยาบาลในการดูแลประเมินคนไข้อย่างใกล้ชิดตลอดเวลา โดยการดูแลสัญญาณชีพ ดูแลอุปกรณ์เครื่องช่วยต่างๆ
การให้ยาอย่างถูกต้องทุกช่วงเวลาอย่างเคร่งครัด การรายงานอาการที่สำคัญที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้องแก่แพทย์ รวมทั้งบางครั้งอาจต้องทำการกู้ชีวิตร่วมกับแพทย์
จะเห็นว่าในทีมงานนั้นต้องใช้พยาบาลจำนวนมากกว่าแพทย์หลายเท่า
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นคือการขาดแคลนพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลายๆสาขา เนื่องจากสถาบันที่รับฝึกอบรมมีน้อย และการฝึกอบรมที่ได้ผลต้องฝึกในโรงพยาบาลที่ได้ปฏิบัติกับคนไข้จริง ไม่สามารถเรียนทางทฤษฎีอย่างเดียว
พยาบาลวัยกลางคนคนหนึ่งเป็นหัวหน้าแผนกทารกป่วยหนักในโรงพยาบาลจังหวัดภาคอีสาน ซึ่งต้องมีความรู้ ทักษะ และการใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ ในการดูแลทารกตัวเล็กๆ
ซึ่งบางคนน้ำหนักเพียง 1,000 กรัมเท่านั้น เธอพยายามสมัครเข้ารับการฝึกอบรมที่โรงเรียนแพทย์หลายครั้ง แต่ไม่ได้รับการคัดเลือก เพราะปีหนึ่งรับได้เพียงไม่กี่คน เมื่อผมไปเยี่ยมให้คำปรึกษาเรื่องการพัฒนาคุณภาพ สิ่งที่เธอขอให้ผมช่วยคือ ช่วยฝากเธอให้ได้รับการฝึกอบรม
เธอหวังว่า ถ้าได้รับการฝึกอบรมเธอจะสามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีโอกาสช่วยเด็กทารกให้มีชีวิตอยู่รอดปลอดภัยมากขึ้น
โรงพยาบาลหลายแห่งที่มีแพทย์เฉพาะทางไปอยู่ แต่ไม่สามารถทำงานได้เต็มตามศักยภาพส่วนหนึ่งเพราะการขาดแคลนพยาบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลเฉพาะทางที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถของแพทย์ เนื่องจากตำแหน่งที่เปิดเข้ารับการฝึกอบรมมีน้อย นอกจากนั้นการฝึกอบรมของบางสาขายังขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานต้นสังกัด ผู้สมัครเข้ารับการฝึกอบรมต้องฝ่าฟันปัญหาอุปสรรคหลายประการด้วยตนเอง
พยาบาลกับงานพัฒนาคุณภาพ
การพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล ส่วนมากเริ่มต้นที่พยาบาล พยาบาลเป็นคนสำคัญในการประสานทีมวิชาชีพต่างๆ ในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพอย่างต่อเนื่อง งานที่พยาบาลมีส่วนสำคัญคือการประกันคุณภาพการพยาบาล การทำงานเป็นทีมในการรักษาพยาบาล การดูแลคนไข้ด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณ การวางแผนจำหน่าย (ให้ข้อแนะนำเพื่อเตรียมคนไข้ก่อนให้ออกจากโรงพยาบาล) เพื่อให้คนไข้สามารถกลับไปดำเนินชีวิตที่บ้านและสังคมได้อย่างเต็มศักยภาพ
เบื้องหลังความสำเร็จในการพัฒนาจนได้รับการรับรองคุณภาพโรงพยาบาล ย่อมอาศัยพลังกายพลังใจของทีมพยาบาลร่วมด้วยเสมอ
คุณภาพชีวิตพยาบาล
พยาบาลทำงานหนักตลอดชีวิตของการเป็นพยาบาล พยาบาลต้องขึ้นเวรสลับผลัดเปลี่ยนกันตลอดเวลา 24 ชั่วโมงในแต่ละวัน ไม่สามารถมีวิถีชีวิตการกินอยู่ที่ปกติเหมือนวิชาชีพอื่น พยาบาลเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากคนไข้เพราะสัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ ทั้งสัมผัสโดยตรงและสัมผัสจากการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการปฏิบัติงาน เช่น เข็มตำ เลือดหรือสิ่งคัดหลั่งของคนไข้กระเด็นเข้าตา
จากข้อมูลพบว่ามีพยาบาลติดเชื้อวัณโรคจำนวนไม่น้อย โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง มีพยาบาลเป็นวัณโรคปอดพร้อมกันถึง 3 คนในตึกเดียวกัน ซึ่งต้องการเวลารักษานานหลายเดือน รวมทั้งการติดเชื้ออื่นๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่พบว่าพยาบาลมีอาการเจ็บป่วยบ่อยๆ
ภาระงานหนัก วิถีชีวิตที่ไม่ปกติ ความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย รวมทั้งภาวะความเครียด ทำให้ช่วงชีวิตการทำงานของพยาบาลสั้น พยาบาลส่วนหนึ่งเมื่อมีครอบครัวต้องลาออก เพราะลักษณะการงาน ทำให้ไม่สามารถดูแลสามีและลูกได้
พยาบาลมีความสำคัญในทางการแพทย์ มีความสำคัญต่อทีมผู้รักษาพยาบาล มีความสำคัญต่อคนไข้ และมีความสำคัญต่อประชาชน
วงจรชีวิตคนเรา เกิด แก่ เจ็บ ตาย ล้วนแต่เกี่ยวข้องกับพยาบาล ยิ่งคนเรามีอายุยืน ยิ่งต้องต่อสู้ภาวะคุกคามสุขภาพต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น
ภาวะขาดแคลนพยาบาลมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขโดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
วันหนึ่งในอนาคต เมื่อความต้องการมากกว่า พยาบาลที่มีอยู่ คงถึงวันที่ต้องเรียกหาพยาบาล
- อ่าน 3,459 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้