• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เปรียบเทียบการรักษาทางคลินิกแผนจีน - แผนตะวันตก (ตอนที่ 3)วิธีรักษาแบบข่มกับวิธีรักษาแบบระบาย

ผู้ป่วยที่มีอาการปวด มักจะคิดถึงยาแก้ปวด เมื่อไปหาเภสัชกรประจำร้านยา หรือหาหมอแผนปัจจุบัน ก็มักจะได้ยาแก้ปวดชนิดต่างๆ ตามแต่โรคที่เป็น เช่น ยาแก้ปวดไมเกรน ยาแก้ปวดประจำเดือน ยาแก้ปวดข้อ ยาแก้ปวดกระเพาะอาหาร ยาแก้ปวดกล้ามเนื้อ (บางรายได้คลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย)

ถ้ามีอาการอักเสบก็จะได้ยาต้านอักเสบ ถ้ามีความดันโลหิตสูงก็จะได้ยาลดความดันโลหิต ถ้ามีไขมันในเลือดสูงก็จะได้ยาลดไขมันในเลือด ถ้านอนไม่หลับ ก็จะได้ยาคลายเครียด หรือยากดประสาทช่วยให้นอนหลับ

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เรียกว่า เป็นการรักษาแบบข่มหรือแบบกด เป็นวิธีแก้ปัญหาแบบควบคุมบังคับ ใช้ความเหนือกว่าไปสยบและควบคุมปัญหาหรืออาการที่เกิดขึ้น การรักษาแบบนี้เป็นวิธีการที่พบบ่อยในการรักษาโรคทางอายุรกรรมในการใช้ยาแบบการแพทย์แผนปัจจุบัน

มีผู้ป่วยบางรายที่ไปรักษากับแพทย์แผนจีน ได้รับการวินิจฉัยว่าอาการปวดเกิดจากเลือดและพลังอุดกั้น ไม่ทะลวงก็ปวด-ทะลวงก็ไม่ปวด การรักษาอาการปวดจึงมักใช้วิธีการระบายทำให้การไหลเวียนคล่อง ตัวอย่างเช่น
วิธีการฝังเข็มเพื่อทะลวงหรือระบายการอุดกั้นของเส้นพลังลมปราณ ใช้สมุนไพรจีน ทำให้เลือดไหลเวียนสลายการคั่งค้างของเลือดหรือการรักษาแบบปล่อยเลือด การเคาะเอาเลือดคั่งค้างออก ทั้งหมดนี้เรียกว่า การรักษาด้วยวิธีการระบาย

ความคิดที่แตกต่าง
วิธีการรักษาแบบข่มหรือกด

เป็นแนวคิดการรักษาโรคทางอายุรกรรมที่เป็นด้านหลักของแผนปัจจุบัน มีรากฐานความคิดแบบวิทยาศาสตร์ ที่มองปัญหาแบบกลไกที่มีลักษณะจำเพาะสูง และมุ่งเน้นการเอาชนะธรรมชาติ ทั้งนี้เป็นผลจากวิธีการศึกษาที่ลงลึกถึงรายละเอียดในระดับเซลล์และระดับชีวเคมี (biochemistry) เป็นการมองปัญหาแบบเจาะลึก จึงเกิดแนวโน้มการรักษาเฉพาะส่วน และการรักษาตามอาการ โดยไม่พิจารณาปัจจัยที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องแบบองค์รวม

ตัวอย่างผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษ เนื่องจากไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน แต่มีการกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์หลั่งฮอร์โมนออกมามากผิดปกติ วิธีแก้แบบแผนปัจจุบัน เมื่อรู้ว่ามีการกระตุ้นมากผิดปกติ ก็ใช้ยาไปกดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ หรือไม่ก็ใช้การผ่าตัดต่อมไทรอยด์ทิ้ง หรือดื่มน้ำแร่กัมมันตภาพรังสี เพื่อทำลายต่อมไทรอยด์ จะได้ลดการสร้างฮอร์โมนไทรอยด์ที่เป็นตัวปัญหา

ผู้ป่วยปฏิกิริยาภูมิไวเกิน เนื่องจากร่างกายตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากผิดปกติ ก็ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ยากลุ่มสตีรอยด์หรือยากดภูมิน้องๆ ยามะเร็ง เพื่อลดปฏิกิริยาภูมิไวเกินจะได้ไม่มีอาการแพ้ต่างๆ
ผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าอัมพาต (bell's palsy) สาเหตุการเกิดไม่ชัดเจน บ้างก็ว่ามาจากไวรัส แต่ผลสรุป เกิดจากการอักเสบของประสาทสมองคู่ที่ 7 สุดท้ายการรักษาก็ใช้ยาลดการอักเสบด้วยยาสตีรอยด์ แล้วปล่อยให้ร่างกายฟื้นตัวเอง

ผู้ป่วยไขมันในเลือดสูง ยาเคมีกลุ่มที่ใช้มากที่สุดคือกลุ่มสะเททิน (statin) กลไกออกฤทธิ์คือการยับยั้งหรือกดการสร้างเอนไซม์ HMG-CoA reductase เพื่อลดการสร้างคอเลสเตอรอลของตับที่ส่งเข้าสู่กระแสเลือด แต่ผลที่ตามมาคือทำให้เกิดการอักเสบของตับ และเกิดการปวดเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วร่างกาย

อีกตัวอย่างของการแก้ปัญหาการกดและข่มเพียงด้านเดียวที่พบบ่อยในทางคลินิก คือการรักษาโรคมะเร็ง ในผู้ป่วยก้อนมะเร็งระยะแรกที่สามารถผ่าตัดนำก้อนออกได้ ถือว่าการรักษาโดยการผ่าตัดหรือทำลายมะเร็งเป็นผลสำเร็จได้ผลที่เป็นประโยชน์มาก แต่เมื่อยังผนวกการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือการใช้รังสีบำบัด โดยมุ่งเน้นการกดหรือทำลายต่อไปเพียงด้านเดียว กลับสร้างเงื่อนไขที่เป็นโทษตามมา ทำให้เกิดตกค้างของสารเคมี มีการสะสมพิษในร่างกายมากขึ้นอีก การที่เนื้อเยื่อดีถูกทำลาย ก็เป็นการซ้ำเติมภูมิคุ้มกันของร่างกายอีก การไหลเวียนเลือดและพลังก็จะติดขัดไปหมด

การใช้วิธีการรักษาแบบข่มหรือกด แม้ว่าจะทำให้เห็นผลการรักษาเฉพาะหน้าที่ชัดเจน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวของผู้ป่วยได้ การควบคุมโดยสารเคมีเพื่อระงับอาการอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุแล้ว มักจะเกิดผลข้างเคียง และการสะสมพิษของสารเคมีตามมาอย่างมากมาย จึงพบว่าผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง ผู้ป่วยมะเร็ง มีแนวโน้มมากขึ้น หลังจากพบการกินยาเคมีเป็นเวลาหลายๆ ปี

วิธีการรักษาแบบระบาย
เป็นแนวคิดที่ทำให้เกิดการไหลเวียนที่คล่องตัวไม่ติดขัด เพื่อปรับสภาพทั้งระบบ สร้างเงื่อนไขให้กับการฟื้นตัวของโรค เพราะถ้าการไหลเวียนของเลือดและพลังคล่องตัวก็จะไม่เกิดโรค ในทางปฏิบัติอาจต้องพิจารณาเสริมยาบำรุงเลือด พลัง หรือยิน-หยางควบคู่ไปด้วย (เสริมส่วนที่พร่อง)

วิธีรักษาแบบระบายของศาสตร์แพทย์แผนจีน มีหลายวิธี เช่น
การทำให้เหงื่อออก
การทำให้อาเจียน
การทำให้ถ่าย
การขับพิษขับร้อน
การสลายก้อน
รวมถึงการฝังเข็ม และการปล่อยเลือด

ผู้ป่วยมีอาการปวดประจำเดือน ปวดแน่นหัวใจ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะไมเกรน ปวดแน่นท้อง ฯลฯ มีหลายสาเหตุ เช่น ภาวะหยางพร่อง ร่างกายมีความเย็นมากเกินไป ภาวะเลือดและพลังพร่อง บางรายเกิดจากเลือดหนืดข้น ผลตามมาทำให้เลือดไหลเวียนติดขัด

โดยหลักการระบายคือการทำให้พลังหรือเลือดมีการไหลเวียนปกติ ไม่ติดขัด อาการหรือการปวดติดขัดถือเป็นจุดเริ่มต้นของความผิดปกติของการขาดเลือดและพลังมาหล่อเลี้ยง เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดพยาธิสภาพ นำมาซึ่งการเกิดโรคในเวลาต่อมา เช่น ก้อนเนื้อ มะเร็ง

การใช้หลักการรักษาแบบระบายหรือสลายการอุดกั้นของเลือดและพลัง การสลายอาหารหรือเสมหะที่ตกค้าง (เป็นสาเหตุของเสียและการเกิดก้อนไขมันในเลือด) การนำเลือดออก (blood letting) การขับพิษขับร้อนโดยการถ่ายหรือขับออกทางเหงื่อ จึงมีลักษณะรักษาอาการปวดและป้องกันยับยั้งการดำเนินของโรคไปในทางที่เลวร้ายพร้อมๆ กันไป

ประสาน "วิธีรักษาแบบข่ม" กับ "วิธีรักษาแบบระบาย"Ž
โดยพื้นฐานถ้าอาการไม่รุนแรงมาก การใช้วิธีการรักษาแบบระบายปรับการไหลเวียนเลือดและพลัง สามารถแก้อาการปวดและปัญหาพื้นฐานของโรคได้โดยไม่ต้องใช้วิธีการกด ซึ่งนับว่าปลอดภัย เป็นการรักษาและป้องกันไปพร้อมกัน

การใช้วิธีรักษาแบบกดมีประโยชน์มากถ้าเป็นการใช้ระยะสั้น และเป็นมาตรการที่ต้องการผลรวดเร็วในการแก้อาการเฉพาะหน้า แต่ไม่ใช่วิธีแก้พื้นฐานของปัญหา

นี่คงเป็นเหตุผลที่พบได้บ่อยๆ ว่าทำไมผู้ป่วยไมเกรน ผู้ป่วยปวดท้องประจำเดือน ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยปวดเรื้อรัง เป็นต้น เมื่อรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันเพียงอย่างเดียว จึงไม่ประสบผลการรักษาที่ประทับใจ แต่เมื่อลองมาใช้การรักษาแบบการแพทย์แผนจีนร่วมด้วย ทำให้การรักษาได้ผลดีขึ้นกว่าเดิม

มุมมองที่แตกต่างกัน มาจากพื้นฐานปรัชญาความคิด องค์ความรู้ ทฤษฎีที่แตกต่างกัน วิธีการแก้ปัญหาก็ต่างกัน การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตาม จะต้องแยกแยะปัญหาหลัก ปัญหารอง ต้องพิจารณา 2 ด้านเสมอ ต้องแก้ทั้งปัจจัยหลักและปัจจัยแวดล้อมที่เป็นเงื่อนไขของการเกิดปัญหา การแก้ปัญหาต้องพิจารณา ทั้งวิธีรักษาแบบกดอาการและต้องมีวิธีรักษาแบบระบายควบคู่กันไป

การผสมกลมกลืนทั้งวิธีการตรวจวินิจฉัย หลักการรักษา และวิธีการรักษาของศาสตร์การแพทย์แผนจีน และการแพทย์แผนปัจจุบัน จะทำให้สามารถนำข้อดีของแต่ละแผนมาดูแลผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น
 

ข้อมูลสื่อ

353-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล