• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาฉีด ดีกว่ายากิน จริงหรือ?

เรามักจะได้ยินคนพูดกันบ่อยๆ ว่า
"ถ้าจะให้หายป่วยเร็วๆ ต้องฉีดยา" หรือ "ยาฉีดแรงกว่ายากิน เลยได้ผลดีกว่า"Ž
แม้แต่บทสนทนากับหมอ...
"หมอ ผมขอยาฉีดได้ไหม จะได้หายเร็วๆ"
หรือ
"ถ้าไม่ฉีดยาแล้วจะหายหรือคะ"
Ž

จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยบางคนยังขาดความรู้ความเข้าใจ และยังมีความเชื่อว่ายาฉีดนั้นต้องดีกว่าหรือแรงกว่ายากินซึ่งไม่ถูกต้องนัก เพราะโลกปัจจุบันนี้มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว ขนาดที่ว่ามีการประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ เทคโนโลยีทันสมัย เพื่อรองรับการใช้ชีวิตที่สะดวกสบายขึ้น นับประสาอะไรที่มนุษย์เราจะทำยาที่ใช้ง่ายและปลอดภัยต่อร่างกายตนเองไม่ได้

คนไทยเราบางกลุ่มอาจยังมีค่านิยมผิดๆ ในเรื่องยาฉีด โดยเฉพาะกลุ่มคนในชนบทที่ยังฝังใจว่ายาฉีด ดีกว่ายากิน ทำให้หายเร็ว ถ้าเปรียบเทียบกับชาวต่างประเทศโดยเฉพาะทางตะวันตก หากหมอจะฉีดยาให้ ก็มักจะซักถามละเอียดเลยว่า "เป็นยาอะไร ฉีดเพื่ออะไร ทำไมต้องฉีด ไม่ฉีดได้ไหม" ต่างจากคนไทย ซึ่งขี้เกรงใจหมอ พอบอกว่าจะฉีดยาก็เปิดก้นรอเลย

โดยทั่วไปแล้วตามหลักการใช้ยา แพทย์จะคำนึงถึงความมีประสิทธิภาพและความปลอดภัยต่อผู้ป่วย ไม่ได้มุ่งที่การออกฤทธิ์เร็วเพียงอย่างเดียว การใช้ยากินจึงค่อนข้างปลอดภัย ยกเว้นมีความจำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้ยาฉีดในบางกรณีคือ
- โรคบางโรค ต้องใช้ยาที่มีสรรพคุณดีบางอย่างที่ไม่สามารถกินได้
- ป่วยหนักมาก (ฉุกเฉิน หรือวิกฤติ)
- กินยาไม่ได้ เช่น ไม่รู้สึกตัว อาเจียนมาก กลืนลำบาก สำลัก
- ไม่มียากินที่มีสรรพคุณดีเท่ากันหรือดีกว่า

หรือหากมีทางเลือกอื่นแทนก็จะพิจารณา เช่น การเหน็บยา สูด พ่น แปะผิวหนัง ซึ่งปลอดภัยกว่า เพราะการฉีดยาต้องอาศัยเทคนิคการฉีดที่ถูกต้อง ถูกตำแหน่ง ถ้าฉีดผิดอาจถูกเส้นประสาทได้ มีตัวอย่างผู้ป่วยที่เคยมาหาหมอ บางคนไปฉีดยาแก้ไข้หวัด แต่ปรากฏว่าเท้าขวากระดกไม่ขึ้น ชาใต้เข่าลงไปถึงหลังเท้า ทั้งๆที่ก่อนไปฉีดยาลดไข้ก็ปกติดี รายนี้เป็นตัวอย่างของการฉีดยาที่สะโพกผิดตำแหน่งทำให้ถูกเส้นประสาท หรือบางคนที่อ้วนมากฉีดแล้วแทงเข็มไม่ลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อและยาระคายเคืองมากก็อาจเกิดฝีได้ นอกจากนี้ถ้าเทคนิคการฉีดไม่สะอาดพอก็เกิดการอักเสบติดเชื้อได้

บางรายเจอเหตุการณ์ที่ร้ายแรงจากการฉีดยาเพราะ "ฉีดยาผิดคน" "ฉีดยาผิดประเภท" หรือ "ฉีดยาผิดขนาด" อย่างนี้เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด แค่ป่วยก็นับว่าแย่อยู่แล้ว เจอฉีดยาผิดแบบนี้อันตรายมาก ถือว่าเป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรงในวงการแพทย์ เพราะบางครั้งอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต แต่มักพบนานๆ ครั้ง และจะเป็นข่าวดังโดยเฉพาะเมื่อมีการฟ้องร้อง เรียกค่าเสียหาย ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้มักเกิดจากความประมาท ความเร่งรีบ ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานการทำงาน ดังนั้นส่วนของผู้ป่วยเมื่อจะต้องถูกฉีดยาควรถามว่าเป็นยาอะไร เป็นยาที่จะใช้กับเราจริงหรือไม่ ให้เพื่ออะไร ใครเป็นคนสั่ง และต้องสังเกตอาการผิดปกติอะไรบ้าง

จะเห็นว่าการฉีดยานั้นมีความเสี่ยงอยู่มาก ตัวยาฉีดเองก็อันตรายกว่ายากิน โดยเฉพาะยาฉีดเข้าเส้นเลือดซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดได้ทันที หากพบว่าผู้ป่วยแพ้ยาหรือได้ยาผิด ก็จะมีอาการรวดเร็ว และรุนแรงกว่ายากินมาก

คลินิกบางแห่งยังนิยมฉีดยาให้ผู้ป่วย อาจเพราะผู้ป่วยมักจะตื๊อขอยาฉีดเพราะคิดว่าต้องดีกว่ายากิน อย่างนี้หมอควรอธิบายให้เห็นถึงคุณและโทษของยาฉีดเทียบกับยากินด้วย หรือหมอบางคนอาจเห็นว่าการฉีดยาจะสามารถคิดเงินได้มากกว่า เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มชอบฉีดยาแก้ไข้ แก้หวัด แก้ปวด แก้ท้องเสีย หรือแม้แต่ฉีดวิตามิน ซึ่งโดยมากต้นทุนยาแต่ละหลอดไม่ถึง 10 บาท บวกค่าเข็มก็ไม่เกิน 5 บาท แต่สามารถคิดค่าฉีดยาได้เป็นหลักร้อย

ดังนั้นการใช้ยาฉีด ควรพิจารณาจากความจำเป็นในการใช้ และผู้ป่วยควรเตือนสติตัวเองว่า
"คนรุ่นใหม่ ไม่ฉีดยาถ้าไม่จำเป็น"Ž
"ยาฉีดอันตรายกว่ายากิน"Ž
และถ้าหมอจะฉีดยา ให้ถามว่า "จะฉีดยาอะไร ทำไมต้องฉีด มียากินที่ดีเท่ากันหรือดีกว่าไหม และไม่ฉีดได้ไหม"

ข้อมูลสื่อ

353-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 353
กันยายน 2551
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์