หมอชาวบ้านฉบับนี้ได้นำเสนอเรื่องราวของคุณเบญจวรรณ อรุณสาธิต ผู้พิการจากการประสบอุบัติเหตุ ที่มีจิตใจแข็งแกร่ง สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าต่อตัวเองและผู้อื่นอันน่ายกย่องยิ่ง
ในปัจจุบัน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ร่างกายพิการเนื่องจากความผิดปกติมาแต่กำเนิด หรือจากการเจ็บป่วย (ที่พบได้บ่อยก็คือโรคอัมพาตครึ่งซีกในคนวัยกลางคนขึ้นไป เบาหวานที่ต้องตัดขา) หรือจากอุบัติเหตุหรือบาดเจ็บ (ที่พบบ่อยก็คือขา 2 ข้างเป็นอัมพาตจากไขสันหลังได้รับบาดเจ็บ แขนขาขาด)
ผู้ที่เคยแข็งแรงดี อยู่ๆเคลื่อนไหวทำอะไรเองไม่ได้ ย่อมเกิดความทุกข์ กระทบต่อการประกอบอาชีพ รายได้ เป็นภาระแก่ครอบครัว มักจะมีแต่ความท้อแท้ สิ้นหวัง อมทุกข์ คือจิตใจพิการตามไปด้วย
แต่ถ้ามีจิตใจเข้มแข็ง ก็สามารถปรับตัวดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า และมีความสุขไม่แพ้คนปกติทั่วไปได้
ผู้พิการนอกจากต้องการการดูแลช่วยเหลือทางร่างกายแล้ว เหนือกว่านั้นคือต้องการการดูแลฟื้นฟูจิตใจเป็นสำคัญ
คุณวิมล เลาหภิชาติชัย หมออนามัยแห่งสถานีอนามัยตำบลแคตก อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่หมอชาวบ้านได้สัมภาษณ์ลงฉบับที่แล้วได้เล่าถึงการช่วยเหลือผู้ป่วยอัมพาตครึ่งซีกรายหนึ่ง ซึ่งไม่สามารถทำงานได้เช่นปกติ วันๆ นั่งๆ นอนๆ อยู่แต่ในบ้าน ภรรยาต้องออกไปทำงานรับจ้างหาเงินจุนเจือครอบครัว ไม่มีเวลาและไม่ได้สนใจดูแลผู้ป่วย ผู้ป่วยมีความรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง เคยคิดฆ่าตัวตาย
ต่อมาหมออนามัยท่านนี้ได้มาเยี่ยมบ้าน พูดคุยรับฟังปัญหาและให้กำลังใจผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ไม่นานผู้ป่วยก็ให้ความศรัทธาไว้ใจ ยอมรับการปฏิบัติเพื่อฟื้นฟูร่างกาย นอกจากนี้ยังได้ให้กำลังใจภรรยา แนะนำให้ภรรยาหาเวลาพูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย และสอนให้ภรรยานวดผู้ป่วย
ครั้งแรกที่ภรรยาลงมือนวดให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยรู้สึกปีติจนน้ำตาไหล และปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าซึ่งได้หายไปนานปีแล้ว ไม่นานผู้ป่วยก็สามารถลุกขึ้นเดิน ช่วยตัวเองได้ดีขึ้น สามารถเดินมาหาหมอที่สถานีอนามัย ทำหน้าที่หุงหาอาหารให้ภรรยาที่ออกไปทำงานนอกบ้านได้ ช่วยซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน ชีวิตครอบครัวมีความอบอุ่นขึ้น ขณะเดียวกันหมออนามัยก็ได้ชักชวนเพื่อนบ้านให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ป่วย เช่น จัดหารถเข็นและอุปกรณ์ในการฟื้นฟูผู้ป่วย ทุกวันนี้ผู้ป่วยสามารถรับจ้างเลี้ยงเด็กที่เพื่อนบ้านฝากให้เลี้ยงได้
เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมมิตรอาวุโสท่านหนึ่งที่นอนป่วยอยู่ในโรงพยาบาล มีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกมา 2-3 ปี เดินไม่ได้ ไปไหนมาไหนต้องนั่งรถเข็น ภรรยาผู้ป่วยปรับทุกข์กับผมว่า หลายปีมานี้ผู้ป่วยวันๆ จมอยู่กับกองทุกข์ มีแต่ความรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า เป็นภาระแก่ครอบครัว อยากทำลายตัวเองให้ตายจากโลกนี้ จนต้องให้จิตแพทย์รักษาอาการซึมเศร้า
ผมได้พูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วย ท่อง "คาถาเยี่ยมไข้"* ให้เขาฟัง และเขียนมอบให้เขาไว้อ่านพร้อมกับแนะนำวิธีเจริญสติ (สร้างความรู้ตัว) โดยการยกมือขึ้นลง หรือกำ-แบมือ ข้างที่ยังใช้การได้ หรือตามลมหายใจเข้าออก ให้ทำบ่อยๆ ทุกวัน
ต่อมาทราบข่าวจากภรรยาของผู้ป่วยว่า หลังจากกลับไปอยู่บ้าน ผู้ป่วยหมั่นเจริญสติตามที่แนะนำ มีอารมณ์แจ่มใสขึ้น ชวนให้พานั่งรถเข็นออกเล่นนอกบ้าน และเริ่มลงมือเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นงานที่ชอบและถนัดอยู่แต่เดิมที
การที่ผมคิดแนะนำมิตรอาวุโสท่านนี้เจริญสติ (สร้างความรู้ตัวอยู่ที่การเคลื่อนไหวร่างกาย) เหตุหนึ่งก็สืบเนื่องมาจากเคยได้ยินได้อ่านเรื่องราวของอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม ผู้พิการที่เป็นนักเผยแพร่ธรรมในยุคปัจจุบันที่เน้นการเจริญสติในชีวิตประจำวัน โดยการสร้างความรู้ตัว (สติ) อยู่ที่การเคลื่อนไหวร่างกาย
อาจารย์กำพล เคยเป็นครูสอนวิชาพลศึกษาปัจจุบัน อายุ 52 ปี เมื่ออายุ 24 ปี เกิดอุบัติเหตุ กระดูกคอซี่ที่ 5 แตก ทำลายไขสันหลัง ทำให้ขา 2 ข้างเป็นอัมพาต แขน 2 ข้างอ่อนแรงเคลื่อนไหวลำบากและมีอาการชาตั้งแต่ระดับคอลงมาทั้งตัว
หลังจากร่างกายพิการ อาจารย์กำพลได้อ่านหนังสือธรรมะอยู่ 16 ปี ก็ยังไม่หายทุกข์ ต่อมาได้เรียนรู้เคล็ดการเจริญสติจากหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ (พระครูบรรพตสุวรรณกิจ) แห่งวัดป่าสุคะโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งสอนการเคลื่อนไหวมือตามแนวทางหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ หลังจากได้นอนฝึกอยู่ 1 เดือน ก็พบความสว่าง เกิดสติปัญญา หายทุกข์ (ลาออกจากความทุกข์) มีจิตสดใส ร่าเริงเบิกบาน และกล่าวว่า "ขอบคุณความทุกข์ ขอบคุณความพิการ ทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้น"
ท่านที่สนใจเรื่องราวของผู้พิการนักปฏิบัติและเผยแพร่ธรรมท่านนี้ แนะนำให้อ่านหนังสือชื่อ "จิตสดใสแม้กายพิการ" โดยอาจารย์กำพล ทองบุญนุ่ม
* กาพย์บทนี้ ผมแต่งขึ้นเองไว้เยี่ยมไข้ผู้ที่รู้จัก มีข้อความดังนี้
"วิกฤติคือโอกาส โรคาพาธคือบทเรียน
สังขารย่อมแปรเปลี่ยน มองให้เห็นเป็นธรรมดา
จงตั้งสติมั่น อย่าครั่นคร้ามสิ่งตามมา
โรคกายพึงรักษา ตามมรรคาอันว่าดี
ภาระปัจจุบัน จงหมั่นเจริญสติ
พยุงใจให้ดีดี ทุกนาทีสุขีจัง"
- อ่าน 4,162 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้