"เบาหวาน" โรคเรื้อรังอันตรายติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก เนื่องจากอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ถึงขั้นตาบอด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ไตวายเรื้อรัง หรือต้องตัดขาเนื่องจากแผลเน่าเปื่อย....
Tip : ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าไหร่ที่จะบอกว่าเป็นโรคเบาหวาน
1. ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าได้มากกว่า 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร 2 ครั้ง (ปกติระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าในผู้ใหญ่มีค่า <115 มิลลิกรัม/เดชิลิตร ในเด็ก <130 มิลลิกรัม/เดซิลิตร หญิงมีครรภ์<105 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
2. ตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดไม่ว่าเวลาใดมากกว่า 200 มิลลิกรัม/เดชิลิตรเพียงครั้งเดียวร่วมกับมีสัญญาณส่อเค้าของการถ่ายปัสสาวะบ่อยจำนวนมาก ดื่มน้ำมาก กินจุ น้ำหนักลด (ค่าปกติระดับน้ำตาลหลังรับประทานอาหาร 2 ชั่วโมงไม่เกิน 140 มิลลิกรัม/เดซิลิตร)
3. ในรายที่มีระดับน้ำตาลในเลือดก่อนรับประทานอาหารเช้าเกิน 115 มิลลิกรัม/เดชิลิตร แต่ไม่เกิน 140มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าอาจมีความผิดปกติ จำเป็นต้องทดสอบอย่างละเอียดโดยการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส คนที่เป็นเบาหวานมานานจะเกิดโรคแทรกซ้อนเกือบทุกส่วนของร่างกาย มักเกิดหลังจากพบว่าเป็นเบาหวานแล้วไม่ต่ำกว่า 5-10 ปีขึ้นไปแต่อาจเร็วกว่านี้ โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่พึ่งอินซูลินที่สำคัญได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด เส้นประสาท ยิ่งเป็นโรคอยู่นานก็ยิ่งมีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากโดยเฉพาะถ้าควบคุมโรคได้ไม่ดี
ในประเทศไทย "โรคเบาหวาน" ถือเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุข เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้คนไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิต พฤติกรรมการบริโภค และแนวโน้มในการบริโภคอาหารเปลี่ยนไป ล้วนแต่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้โรคเบาหวานขยายไปในทุกกลุ่ม ทุกวัย และอาจส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเนื่องจากหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงสมองและหัวใจเกิดการอุดตัน ทำให้เกิดอัมพาตและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย อาจตาบอด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือดที่จอรับภาพของตาผิดปกติ อันตรายจากโรคไตเสื่อมสมรรถภาพ และอาจถูกตัดขาเนื่องจากแผลเน่าเปื่อยสูงกว่าคนปกติ
สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือผู้มีบัตรทอง (บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า) จะได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพ แห่งชาติ พ.ศ. 2545 ในการบริการตรวจรักษา และการฟื้นฟูสมรรถภาพตามข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ จะได้รับการบริการจนสิ้นสุดการรักษา หากมีข้อสงสัย หรือสอบถามเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้มีสิทธิบัตรทอง สามารถโทร. สอบถามสายด่วนบัตรทอง 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง
หากบุคคลที่ท่านรักเป็นโรคเบาหวาน สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการไปรับการรักษากับแพทย์แล้ว ตัวผู้ป่วยเองต้องมีความรู้ในการดูแลตนเองเพื่อทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดใกล้เคียงปกติมากที่สุด และเกิดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างเช่น การกินอาหารที่มีไขมันมากๆ กินผักน้อย ขาดการออกกำลังกาย ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเจ็บป่วยเรื้อรัง จะต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ พยาบาล และทีมบุคลากรสาธารณสุข ทั้งในโรงพยาบาล และการดูแลอย่างต่อเนื่องที่บ้าน แต่การบริการดังกล่าวเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนต่อผู้ป่วย "แต่ผู้ดูแลที่สำคัญที่สุดก็คือญาติ หรือครอบครัวของผู้ป่วยเอง"
- อ่าน 12,631 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้