• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ลูกท้องเสีย...ถ่ายมากผิดปกติ

คำถาม เมื่อลูกท้องเสีย ควรเลือกใช้ยาอย่างไร?
ท้องเสีย... ถ่ายอุจจาระผิดปกติ

คำว่า "ท้องเสีย" ในภาษาไทยอาจใช้คำว่า "ท้องร่วง" หรือ "ท้องเดิน" ก็มีความหมายเดียวกัน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการถ่ายอุจจาระที่ผิดปกติหรือผิดแผก ไปตามเดิมที่เป็นกิจวัตรประจำวัน ซึ่ง "ความปกติของการถ่ายอุจจาระ" ของแต่ละคน ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ จะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะจำเพาะของแต่ละคน

บางคนอาจจะถ่ายเป็นเวลาเป็นประจำ วันละครั้ง ตอนเช้า แต่ในอีกคนหนึ่งอาจจะถ่าย 2 วันต่อ 1 ครั้งก็เป็นได้ หรือบางคนก็อาจจะถ่ายวันละ 2 ครั้งก็ได้ เพราะเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล

การถ่ายอุจจาระของแต่ละคนยังขึ้นอยู่กับอาหารการกินอีกปัจจัยหนึ่ง ซึ่งหมายความว่า ถ้าเรากินอาหาร ที่มีกากอาหารจำนวนมาก เช่น ผัก ผลไม้ ที่มีเส้นใยอาหาร เป็นต้น ก็จะส่งผลเพิ่มจำนวนกากอาหารในลำไส้ใหญ่และที่ทวารหนัก ทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ หรือมีเนื้ออุจจาระมากกว่าปกติได้

ขอทำความเข้าใจก่อนว่า การถ่ายอุจจาระปกติ คืออะไร ซึ่งแต่ละคนไม่เหมือนกัน และถ้ามีอาการผิดปกติ คือถ่ายอุจจาระบ่อย หรือเหลวกว่าปกติ จึงถือว่าเกิดอาการ "ท้องเสีย"Ž

ท้องเสีย...เป็นกลไกกำจัดของเสียออกจากร่างกาย
ท้องเสียเป็นกระบวนการทางธรรมชาติของร่างกาย ในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย ซึ่งภาวะปกติถ้าสิ่งที่เรากินเข้าไปไม่มีพิษหรือไม่มีเชื้อโรค ก็จะถูกกำจัดออกอยู่แล้ว เป็นการกำจัดกากอาหารออกจากร่างกายของเรา

มีบางสภาวะ เช่น กินอาหารที่ไม่สะอาด หรือมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค ร่างกายก็จะพยายามกำจัดอาหารและเชื้อโรคเหล่านั้นออกจากร่างกายให้เร็วขึ้น เพื่อรักษาสภาวะปกติของร่างกาย ในกรณีนี้จึงเกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว ถ่ายบ่อย อาจถ่ายเป็นน้ำหรือมีมูก มีเลือด ปนมาในอุจจาระได้
ดังนั้น ภาวะท้องเสียจึงเป็นกระบวนการกำจัดสิ่งผิดปกติที่อยู่ในทางเดินอาหารออกจากร่างกาย

ถ้าอาการท้องเสียนั้นเกิดขึ้นแล้วส่งผลให้สิ่งแปลกปลอมผิดปกติต่างๆ ออกจากร่างกายหมด และไม่ส่งผลต่อร่างกาย ก็จะถือว่าดีที่สุด (และไม่จำเป็นต้องให้การรักษาใดๆทั้งสิ้น) ซึ่งความเป็นจริงเมื่อเกิดอาการท้องเสียแล้ว มักมีอาการอื่นๆตามมาด้วย เช่น ไข้ ตัวร้อน เพลีย (จากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ เนื่องจากถ่ายเหลว ถ่ายเป็นน้ำ ถ่ายบ่อยๆ) ถ่ายบ่อย ปวดท้อง เป็นต้น

ลูกน้อย...ท้องเสีย
กรณีที่เป็นลูกน้อยเมื่อมีอาการท้องเสียก็เป็นสิ่งบอกเหตุหนึ่งที่ผู้ปกครองเฝ้าระวังและกังวลใจว่า ลูกน้อยเกิดท้องเสียหรือความผิดปกติในการถ่ายอุจจาระจากสาเหตุใด (ซึ่งกล่าวต่อไป) แต่ขั้นต้นนี้มีหลักการง่ายๆ สำหรับสังเกตระดับความรุนแรงของท้องเสีย คือ "เด็กเล่นซนหรือไม่"Ž

ถ้าเด็กยังเล่นได้ตามปกติ ก็แสดงว่าสุขภาวะของเด็กยังดีอยู่ แต่ถ้าเด็กมีอาการรุนแรง จะสังเกตได้ว่าเด็กมักซึมและไม่เล่นเหมือนปกติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ผู้ปกครองสามารถสังเกตลูกน้อยได้ง่ายๆ

นอกจากการสังเกตสภาวะของเด็ก ก็อาจจะต้องติดตามอาการไข้ ท้องเสีย และเพลีย หรืออาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วยได้ ซึ่งเรื่องท้องเสียของลูกน้อยนี้ควรสังเกตลักษณะของอุจจาระ ทั้งสี กลิ่น เหลว (น้ำ) และความถี่บ่อยของการถ่ายอุจจาระด้วย


สาเหตุท้องเสียในเด็ก
เด็กท้องเสียมีได้หลายสาเหตุจากโรคต่างๆ ดังนี้
1. ท้องเสียเกิดจากอารมณ์
2. ท้องเสียเกิดจากการใช้ยา
3. ท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อทางเดินอาหาร
4. ท้องเสียเกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย
5. ท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อไวรัส (viral gasroenteritis หรือ stomach flu)

นอกจากทั้ง 5 สาเหตุแล้ว ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เด็กท้องเสียได้ แต่พบได้ไม่บ่อยนัก และที่พบได้บ่อยและเป็นปัญหาสำหรับเด็กมากคือ ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งสำคัญและจะกล่าวส่วนนี้ให้มากกว่าส่วนอื่นๆ ในตอนท้ายของบทความนี้


ท้องเสียที่เกิดจากอารมณ์
ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ มีสาเหตุจากความเครียด ความกังวล ใกล้สอบ หรือตื่นเต้น มักมีอาการปวดท้อง อั้นหรือกลั้นอุจจาระไม่ค่อยได้ มักจะถ่ายเพียงครั้งเดียว และเมื่อถ่ายแล้วจะรู้สึกดี สบาย และหายปวดท้อง กรณีเช่นนี้ไม่ได้มีสาเหตุจากเชื้อชนิดใดๆเลย ไม่มีอาการไข้ ไม่มีอาการเพลีย จึงไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการท้องเสียที่เกิดจากอารมณ์แปรปรวน ยกเว้นกรณีที่เป็นรุนแรงหรือเป็นประจำควรปรึกษาแพทย์

ท้องเสียที่เกิดจากการใช้ยา

พบได้บ้างในเด็ก เกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะบางชนิด โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่สามารถฆ่าเชื้อได้หลายชนิด เช่น ยาอะมอกซีซิลลิน ผสมกับ clavulanic acid เป็นต้น ซึ่งมักจะเกิดหลังจากที่ได้กินยาเหล่านี้ไปแล้วประมาณ 3-5 วัน ทั้งนี้เพราะยาเหล่านี้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อได้หลายชนิด จึงออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ และยังไปฆ่าแบคทีเรียบางชนิดที่อาศัยและรักษาสมดุลในทางเดินอาหารของเราด้วย

เมื่อแบคทีเรียที่รักษาสมดุลถูกกำจัดออกไป ก็เกิดการเสียสมดุล เชื้อชนิดอื่นก็เกิดการขยายเผ่าพันธุ์ ขยายตัว เพิ่มจำนวน ลุกลาม และทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหาร และท้องเสียได้ ซึ่งส่วนใหญ่เมื่อหยุดยาเหล่านี้ อาการท้องเสียก็จะหายได้เอง

ท้องเสียที่เกิดการติดเชื้อทางเดินอาหาร
มีเชื้อหลายชนิดที่เป็นสาเหตุให้ท้องเสียในเด็กได้ เช่น บิดมีตัว บิดไม่มีตัว อหิวาต์ เป็นต้น ท้องเสียชนิดนี้อาจมีไข้ ถ่ายเหลว เพลีย ถ่ายเป็นมูก หรือเป็นมูกเลือดได้

ท้องเสียที่เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย
เกิดจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรียซึ่งมักปนไปกับอาหารที่ไม่สะอาด มักมีอาการท้องเสีย ท้องร่วง ร่วมกับอาเจียนด้วย และมักเป็นครั้งละหลายคนในกลุ่มที่กินอาหารชนิดเดียวกัน

ถ้าท้องเสียทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อทางเดินอาหาร และจากสารพิษของเชื้อแบคทีเรีย อาการไม่รุนแรง ไม่ถ่ายบ่อยนัก ไม่เพลีย ไม่มีไข้สูง และหยุดถ่ายแล้วร่วมกับเด็กยังรู้สึกตัวดี เล่นได้ตามปกติ ก็แนะนำให้รักษาตามอาการเท่านั้นคือ ถ้ามีไข้และ/หรือตัวร้อน ก็ควรเช็ดตัวร่วมกับการให้ยาลดไข้ ถ้าเพลีย หิวน้ำ ก็ควรให้สารละลายเกลือแร่ เพื่อชดเชยน้ำและเกลือแร่ ที่สูญเสียออกไปจากร่างกายจากการถ่ายเหลว เป็นต้น

แต่ถ้าเด็กไม่เล่น แต่ซึม และ/หรือมีไข้สูง ถ่ายเหลว เป็นน้ำ ถ่ายบ่อยๆ อาเจียนมาก ก็ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการักษาที่เหมาะสม

ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส
โรคท้องเสียที่พบได้บ่อยในเด็กคือ ท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งศัพท์ภาษาอังกฤษว่า viral gasroenteritis หรือ stomach flu ซึ่งคำว่า " viral gasroenteritis" แปลเป็นภาษาไทยว่า "ทางเดินอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส" หรือ "ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส" และคำว่า "stomach flu" แปลเป็นภาษาไทยว่า "หวัดลงกระเพาะอาหาร" ซึ่งคำเหล่านี้บางคำทำให้ผู้ปกครองรู้สึกกังวลใจหรือเข้าใจผิดคิดว่ามีความผิดปกติ ที่รุนแรงทางเดินอาหารของลูกน้อย ซึ่งถ้ามีคำอธิบายเพิ่มเติมว่า "ท้องเสียเกิดจากการติดเชื้อเชื้อไวรัส" ก็อาจจะประจักษ์ช่วยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

"ทางเดินอาหารอักเสบจากเชื้อไวรัส" หรือ "ลำไส้อักเสบจากเชื้อไวรัส" หรือ "หวัดลงกระเพาะอาหาร" คือ "เด็กยืดตัว"Ž

ไม่ว่าคำนี้ในโลกตะวันตกจะเรียกว่าอย่างไร คนไทยเรารู้จักโรคนี้มานานแล้วและเรียกภาวะท้องเสียที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสนี้ว่า "เด็กยืดตัว"Ž

"เด็กยืดตัว" เป็นคำบัญญัติตามภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทยแท้ ที่สรรค์สร้างมองในด้านบวก (positive thinking) ซึ่งสื่อว่าเป็นภาวะปกติที่เกิดขึ้นได้กับเด็กที่จะเริ่มยืนหรือเดิน ซึ่งกำลังจะยืดตัว แสดงถึงการเจริญเติบโต และมีการถ่ายเหลวบ้าง และหลังจากนั้นอีกประมาณ 5-7 วันก็จะหายได้เอง

อาการท้องเสียชนิด "เด็กยืดตัว"
โรคท้องเสียชนิดนี้มักเป็นมากในช่วงปลายฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว เริ่มต้นเด็กจะมีอาการถ่ายเหลว บางคนอาจเป็นน้ำ และอาจมีไข้หรืออาเจียนร่วมด้วย และเมื่อเป็นแล้วอาการท้องเสียจะไม่หายทันที ถึงแม้จะไปพบแพทย์ได้รับการรักษาหรือได้กินยาตามสั่งแล้วก็ตาม

ส่วนใหญ่ของ "เด็กยืดตัว" เด็กยังคงรู้สึกตัวดี ยังคงเล่นซนเหมือนเดิม


โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันไม่มียาที่มีผลยับยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสได้ แต่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะมีส่วนสำคัญในการกำจัดเชื้อไวรัสเหล่านี้ ให้หมดไปจากร่างกายของเรา และระบบภูมิคุ้มกันจะกำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้ต้องใช้เวลาประมาณ 3-7 วัน

พบว่าเด็กที่ท้องเสียจากไวรัสยังคงมีอาการถ่ายเหลวอยู่อีก 3-5 วัน หลังจากวันแรก แต่ที่สำคัญจะต้องสังเกตว่า
1. เด็กยังคงรู้สึกตัว เล่นได้ปกติ และไม่ซึม
2. อาการถ่ายเหลวจะค่อยๆ ดีขึ้น ทีละน้อยๆ แต่จะไม่หายเป็นปกติทันที

ประเด็นข้อ 2 นี้ ถ้าผู้ปกครองไม่ทราบหรือไม่เข้าใจว่า ระบบภูมิคุ้มกันกำลังจัดการกับเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุให้เด็กท้องเสีย ผู้ปกครองจะกังวลใจว่า ทำไมท้องเสียของลูกน้อยจึงไม่หายเสียที?

ถ้าผู้ปกครองรับรู้และเข้าใจประเด็นนี้ จะช่วยให้การดูแลรักษาท้องเสียในเด็กเล็กที่เกิดจากเชื้อไวรัสเป็นไปได้โดยง่าย เพราะอาการต่างๆจะค่อยๆดีขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย เมื่อเวลาผ่านไป และจะหายได้เองภายใน 5-7 วัน ระหว่างนี้ควรให้การดูแลรักษาตามอาการ เช่น 
- เด็กเล็กที่ยังดื่มนม อาจงดหรือลดจำนวนนมประมาณ 1-2 วัน และกลับมาให้ได้เมื่ออาการ เด็กดีขึ้น 
- ควรให้สารน้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ของร่างกายจากท้องเสีย 
- ควรให้ยาลดไข้ ถ้ามีอาการเป็นไข้ตัวร้อน

นอกจากนี้ยังมียาอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยเชื้อแบคทีเรียชนิดดี ชนิดเดียวกับที่พบในโยเกิร์ต ซึ่งมีรายงานว่าสามารถลดอาการท้องเสียของเด็กที่เกิดจากเชื้อไวรัสได้อีกด้วย โดยจะช่วยให้อาการถ่ายเหลวหายเร็วขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถเลือกใช้ได้

ถึงตอนนี้ก็คงพอสังเกตอาการท้องเสียของลูกน้อยได้แล้ว ว่าเกิดจากสาเหตุใด และควรจะดูแลรักษาขั้นต้นด้วยตนเองอย่างไร

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ให้สังเกต "การเล่นหรือความรู้สึกตัวของเด็ก" เพราะถ้าเด็กไม่ป่วย จะเล่นซนตามวัย แต่ถ้าเด็กไม่เล่นซน แต่ซึม หรือร่วมกับมีไข้สูง ถ่ายเหลวเป็นน้ำ ถ่ายบ่อยหรือถี่มากขึ้น เด็กเพลียมาก ก็ควรรีบพาไปปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม
 

ข้อมูลสื่อ

352-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด