• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตับแข็ง

ตับแข็งเป็นโรคตับเรื้อรังที่เกิดจากเซลล์ตับจำนวนมากถูกทำลายอย่างถาวร จนกลายเป็นเยื่อพังผืด ทำให้ตับมีลักษณะ แข็งกว่าปกติ และไม่อาจทำหน้าที่ได้ตามปกติ เกิดอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้ น้ำหนักลด เท้าบวม ท้องบวม ดีซ่าน และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โรคนี้เกิดจากสาเหตุได้หลายประการ ที่สำคัญคือ พิษจากการดื่มสุราจัดติดต่อกันเป็นเวลานาน

♦ ชื่อภาษาไทย ตับแข็ง
♦ ชื่อภาษาอังกฤษ Cirrhosis
♦ สาเหตุ
ที่สำคัญได้แก่ การดื่มสุราจัดนานนับสิบปี (แอลกอฮอล์ในสุราจะมีพิษต่อตับ ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นตับแข็งในที่สุด) และการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือไวรัสตับอักเสบซี นานนับ 20-30 ปี (โดยที่ผู้ป่วยเป็นพาหะของเชื้อไวรัสเหล่านี้หรือเป็นตับอักเสบเรื้อรัง เซลล์ตับจะค่อยๆ ถูกบ่อนทำลายจนกลายเป็นตับแข็ง)

นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากพิษของยา (เช่น พาราเซตามอล ยารักษาวัณโรค) สารเคมี (เช่น สารหนู สารโลหะหนัก) ภาวะไขมันสะสมในตับ (fatty liver ซึ่งมักพบในคนอ้วน ผู้ป่วยเบาหวาน หรือมีภาวะไขมันในเลือดสูง) โรคตับอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิต้านตนเอง (โดยร่างกายมีการสร้างสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีต่อตับ ซึ่งเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้เกิดตับอักเสบเรื้อรังจนกลายเป็นตับแข็ง) ภาวะขาดสารอาหาร รวมทั้งเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคต่างๆ เช่น ทาลัสซีเมีย (โรคโลหิตจางชนิดหนึ่งที่เกิดจากเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ซึ่งถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์) ท่อน้ำดีตีบตันแต่กำเนิด เป็นต้น

♦ อาการ
ระยะแรกเริ่ม อาจไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน จนเมื่อเซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ก็จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด เท้าบวม ดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) คันตามตัว อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย ความรู้สึกทางเพศลดลง
บางรายอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือจุดแดงที่หน้าอก หน้าท้อง

ในผู้หญิงอาจมีอาการประจำเดือนขาด หรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือเสียงแหบห้าวคล้ายผู้ชาย
ในผู้ชายอาจมีอาการนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว องคชาตไม่แข็งตัว

ในระยะท้ายของโรค (หลังจากเป็นตับแข็งอยู่ หลายปี หรือผู้ป่วยยังคงดื่มสุราจัด) ผู้ป่วยจะมีอาการท้องบวม (มีน้ำในท้องหรือท้องมาน) หลอดเลือดขอดที่ขา หลอดเลือดพองที่หน้าท้อง อาเจียนเป็นเลือดสด เนื่องจากมีหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร แล้วเกิดการปริแตกขึ้นมา มีจุดแดงจ้ำเขียวตามตัว

ในที่สุดเมื่อเซลล์ตับถูกทำลายจนหมดสิ้น ผู้ป่วยมักจะมีอาการผิดปกติทางสมอง เกิดอาการซึม เพ้อ มือสั่น ค่อยๆ ไม่รู้สึกตัวลงจนกระทั่งหมดสติ

♦ การแยกโรค
อาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ดีซ่าน อาจเกิดจากโรคตับอักเสบจากไวรัสชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง ซึ่งมักจะแยกจากโรคตับแข็งได้ค่อนข้างยาก อาจจำเป็น ต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการในการวินิจฉัย

อาการน้ำหนักลดและท้องบวม (ท้องมาน) อาจเกิดจากมะเร็งตับ มะเร็งของอวัยวะอื่นๆ ในช่องท้อง (เช่น รังไข่ กระเพาะอาหาร)

♦ การวินิจฉัย
แพทย์มักจะวินิจฉัยโดยการตรวจเลือดดูการทำงาน ของตับ (liver function test) ถ่ายภาพตับด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวนด์) ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็ก ไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ บางรายอาจต้องทำการเจาะตับนำชิ้นเนื้อไปตรวจ

♦ การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการสงสัยว่าเป็นโรคตับแข็ง เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด ดีซ่าน ฝ่ามือแดง จุดแดงตามหน้าอก หน้าท้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยที่มีประวัติดื่มสุราจัด หรือเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีมาก่อน ก็ควรจะรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด

ถ้าตรวจพบว่าเป็นตับแข็ง ก็ควรปฏิบัติตัวดังนี้
- ติดต่อรักษากับแพทย์เป็นประจำ อาจต้องตรวจเลือดดูการเปลี่ยนแปลงของโรคเป็นระยะๆ
- ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ถูกทำลายมากขึ้น
- กินอาหารพวกแป้งและของหวาน ผัก ผลไม้ และอาหารพวกโปรตีนเป็นประจำ ยกเว้นในระยะท้ายของโรคที่มีอาการทางสมองร่วมด้วย จำเป็นต้องลดปริมาณโปรตีนลง (เนื่องเพราะโปรตีนจะสลายเป็นสารแอมโมเนียที่มีผลต่อสมอง)
- ถ้ามีอาการบวมหรือท้องมาน ควรงดอาหารเค็มและห้ามดื่มน้ำเกินวันละ 2 ขวดกลมใหญ่ หรือ 5 แก้ว (1,500 มิลลิลิตร)
- อย่าซื้อยากินเอง เพราะอาจมีพิษต่อตับมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการกินหอยแมลงภู่และหอยนางรมอย่างดิบๆ เนื่องเพราะอาจทำให้ติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าวิบริโอวาลนิฟิคัส (Vibrio vulnificus) จนกลายเป็นโรคติดเชื้อร้ายแรงถึงขั้นเชื้อเข้ากระแสเลือด หรือโลหิตเป็นพิษ เป็นอันตรายได้

♦ การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาตามความรุนแรงของโรค
ถ้าเป็นตับแข็งระยะแรกเริ่ม มักจะให้การรักษาตามอาการ ให้วิตามินรวมและกรดโฟลิกเสริมบำรุง ข้อสำคัญคือ กำชับให้ผู้ป่วยงดดื่มสุราโดยเด็ดขาด

ถ้ามีอาการเท้าบวมหรือท้องมาน ก็จะให้ยาขับปัสสาวะ เช่น สไปโนโรแล็กโทน (spinorolactone) กินเป็นประจำ

ในรายที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น อาเจียนเป็นเลือด เนื่องจากหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหารปริแตก ก็จะให้เลือดและทำการห้ามเลือด

บางรายแพทย์อาจพิจารณาทำการผ่าตัดปลูกถ่ายตับซึ่งช่วยให้สามารถมีชีวิตยืนยาวได้ แต่ยังเป็นวิธีรักษาที่ยุ่งยาก ราคาแพง และหาตับที่มีผู้บริจาคได้ค่อนข้างน้อย

♦ ภาวะแทรกซ้อน
ผู้ป่วยตับแข็งมักมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ทำให้เป็นโรคติดเชื้อได้ง่าย เช่น ปอดอักเสบ วัณโรคปอด
ในระยะท้ายของโรค ผู้ป่วยมักมีหลอดเลือดขอดที่หลอดอาหาร ซึ่งมีโอกาสปริแตก อาเจียนเป็นเลือดรุนแรง อาจถึงช็อกและเสียชีวิตได้ นอกจากนี้มักเกิดภาวะตับวาย (ตับทำงานไม่ได้) ทำให้มีอาการทางสมอง เช่น ซึม เพ้อ หมดสติ
นอกจากนี้ ยังพบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งตับสูงกว่าคนปกติ

♦ การดำเนินโรค
โรคนี้ถ้าเป็นระยะแรกเริ่มและปฏิบัติตัวได้เหมาะสม (ไม่ดื่มสุราอย่างเด็ดขาด) จะสามารถมีชีวิตได้นานเกิน 5-10 ปีขึ้นไป

แต่ถ้าปล่อยให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ท้องมาน อาเจียนเป็นเลือด ก็อาจอยู่ได้ 2-5 ปี (ประ-มาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยอาจอยู่ได้เกิน 5 ปี)

♦ การป้องกัน
1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และถ้าตรวจพบว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรงดดื่มโดยเด็ดขาด
2. ฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสบี ซึ่งนิยมฉีดตั้งแต่แรกเกิด
3. ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ

♦ ความชุก
โรคนี้พบบ่อยในผู้ที่ดื่มสุราจัด และผู้ที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีแบบเรื้อรัง มักพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง

ข้อมูลสื่อ

352-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ