• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศิริราชสร้างรถเข็นนั่งปรับยืนตัวแรกของไทย

สำนักงานสถิติแห่งชาติเปิดเผยข้อมูลที่น่าวิตกว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรผู้พิการถึง 1.9 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดกว่า 60 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 10

ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งสามารถรักษาให้กลับเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติได้ ขณะที่ผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่แม้ว่าจะช่วยชีวิตได้ แต่การบาดเจ็บของไขสันหลังมีความรุนแรงมากจนต้องกลายเป็นอัมพาต

รองศาสตราจารย์เรือเอก นพ.ชลเวช ชวศิริ หัวหน้าศูนย์ผู้บาดเจ็บทางกระดูกสันหลัง ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด ในฐานะหัวหน้าโครงการ Siriraj stand up wheelchair กล่าวว่า ผู้ป่วยอัมพาตส่วนใหญ่มีความ จำเป็นต้องใช้รถเข็นในชีวิตประจำวัน และมักมีปัญหาแทรกซ้อนจากการนั่งรถเข็นตลอดเวลา เช่น แผลกดทับ ข้อหดรั้ง มีข้อจำกัดในการประกอบกิจวัตร หรืออาชีพในท่ายืน ผู้ป่วยจำนวนมากต้องมาโรงพยาบาลเพื่อรักษาปัญหาแทรกซ้อนเหล่านี้

นอกจากนี้ผู้ป่วยมักมีปัญหาทางจิตใจ เนื่องจากไม่สามารถเดินหรือยืนได้ เราจึงคิดว่าถ้ารถเข็นนั่งที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีคุณสมบัติการใช้งานเพิ่มขึ้น คือ ปรับให้ยืนได้ สะดวก ปลอดภัย น่าจะช่วยลดปัญหาแทรกซ้อนเหล่านี้และค่าใช้จ่ายในการมาโรงพยาบาล

การให้กำเนิดนวัตกรรมรถเข็นนั่งปรับยืนครั้งนี้ มีกลุ่มเป้าหมายที่ผู้พิการอัมพาตครึ่งท่อนล่าง เป็นกลุ่มเป้าหมายที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมุ่งมั่นคิดค้นพัฒนาอุปกรณ์ในการช่วยเหลือพัฒนาคุณภาพชีวิตให้พวกเขาสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีคุณภาพเพิ่มขึ้น

ด้าน รศ.พญ.ศรีนวล ชวศิริ กล่าวว่า จุดเด่นของเก้าอี้นั่งปรับยืน หรือ Siriraj stand up wheelchair มีหลายข้อคือ
1. ใช้งานได้จริง มีมาตรฐาน มั่นคง และปลอดภัยในการใช้งาน
2. การปรับยืนนั่งทำได้สะดวกโดยผู้ป่วยเองสามารถปรับได้ทุกระดับ
3. มีระบบรองรับการยืนที่แตกต่างจากรถเข็นแบบปรับยืนที่มีจำหน่ายในต่างประเทศ ทำให้ยืนได้สบายและยืนได้นาน
4. คุณภาพอุปกรณ์ได้มาตรฐานดีไม่แพ้อุปกรณ์นำเข้าจากญี่ปุ่น
5. ราคาเหมาะสมกับเศรษฐานะในประเทศไทย
6. ลดปัญหาแผลกดทับ การหดรั้งข้อสะโพก ข้อเข่า และยังช่วยบริหารกล้ามเนื้อขา
7. เพิ่มโอกาสในการประกอบกิจวัตรประจำวันในท่ายืน
8. ช่วยให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้น

สิ่งที่น่ายินดีมากขึ้นคือ รถเข็นนั่งปรับยืน หรือ Siriraj stand up wheelchair ได้ขอสิทธิบัตรแล้วและอีกไม่นานคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลจะผลิตออกจำหน่ายในประเทศไทย คาดว่าผู้พิการจำนวนมากน่าจะได้รับประโยชน์จากอุปกรณ์อำนวยความสะดวกนี้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้พิการสามารถมีกิจวัตรเพิ่มขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ข้อมูลสื่อ

352-006-1
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
กองบรรณาธิการ