• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ป่วยก่อนป่วย

เพียงแค่ชื่อเรื่องก็อาจจะฟังดูแปลกๆ ผู้เขียนไม่ได้มีเจตนาแค่ให้ฉงนเล่นเท่านั้น แต่อยากจะบอกให้รู้ว่าปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่มักจะป่วยก่อนป่วย หรือมีอาการป่วย (ปลอม) ก่อนที่จะป่วย (จริง) ทำให้เป็นทุกข์ ต้องหาทางเยียวยาเพื่อให้หายป่วย (แบบปลอมๆ)

ผู้ป่วยประเภทนี้มักมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากผู้ป่วย (จริง) อื่นๆ คือ
- มีอาการแปลกๆ ไม่ค่อยเหมือนชาวบ้าน บอกอาการไม่ชัด สะเปะสะปะ อาการไม่เข้ากับโรคใดโรคหนึ่ง เช่น ปวดตั้งแต่หัวจดเท้า ปวดโน่นปวดนี่ สารพัดปวด บางครั้งก็ทั้งปวดทั้งชาทั้งอ่อนแรง หรือบางคนรู้สึกใจเต้น (จริงๆถ้าไม่เต้น ก็คงตายไปแล้ว) ใจไม่ดี (ไม่ดีอย่างไรก็บอกไม่ได้) วูบๆวาบๆ กล้ามเนื้อกระตุก ท้องอืด ท้องเต้น ตับไหว ใจสั่น ว่าไปโน่น บางคนมีเกือบทุกอาการ
- ตระเวนหาหมอไปทั่ว หรือหาหมอคนเดียวหลายๆ ครั้งด้วยอาการแปลกๆ เหมือนเดิม แต่ก็รักษาไม่หาย แก้ไม่ตก
- ผู้ป่วยกังวล หมอก็ว้าวุ่น เพราะหาความผิดปกติไม่พบ สุดท้ายก็เบื่อหรือเซ็งกันไป
- พื้นฐานจิตใจเป็นคนอ่อนไหว ขี้ระแวง ขี้กลัว กังวลง่าย
- ได้ยาหลายขนาน โดยที่ขาดไม่ได้คือยากล่อมประสาทหรือยาคลายเครียด

เนื่องจากป่วยบ่อยด้วยอาการหลายอย่าง จึงมักต้องใช้ยาเป็นประจำ หลายขนาน หาหมอบ่อยๆ โอกาสที่จะเกิดฤทธิ์ข้างเคียงจากยา หรือผลแทรกซ้อนจากการตรวจรักษาจึงเกิดขึ้นได้มากกว่าคนอื่น
ที่น่าเป็นห่วงคือ คนชราหรือผู้สูงอายุ เพราะอาการป่วยบางอย่างก็เป็นไปตามสังขาร เหมือนรถยนต์ยิ่งเก่าก็ต้องมีชำรุดไปบ้าง ถ้าไม่หนักหนาสาหัสก็ยังพอวิ่งได้ไม่เกิดอันตราย

คนเราก็เช่นกันยิ่งแก่ก็ยิ่งป่วยหลายอย่าง บางอย่างก็ต้องรักษาให้ทุเลาจากความทุกข์ทรมาน บางอย่างก็ต้องรักษาให้หาย แต่บางครั้งก็รักษาไม่ได้หรือถ้าดันทุรังรักษาจะมีผลเสียมากกว่าผลดี ต้องมาพิจารณากันให้ดี

พูดง่ายๆ คือ "แก่แล้วอย่ากลัวเกินเหตุ" อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด เกิดแล้วก็แก้กันไป ถ้าแก้ไม่ได้จริงๆ ก็อยู่กับมัน ปฏิบัติตัวให้ถูกต้อง ผ่อนหนักให้เป็นเบา บางคนกลัวเกินเหตุ โดยเฉพาะกลัวเป็นมะเร็ง กลัวเป็นอัมพาต กลัวเป็นโรคหัวใจ ถ้ามันจะเป็นแล้วมาระวังกันตอนแก่ก็ไม่ช่วยอะไรมาก ควรจะเริ่มดูแลสุขภาพกันตั้งแต่อายุน้อยๆ จะดีกว่า

ร่างกายเรานั้นมีความสลับซับซ้อนมาก ลองนึกดูเล่นๆว่า ในท้องของเรานั้นมีลำไส้ขดอยู่ตั้ง 21 ฟุต และยังมีกระเพาะอาหาร ตับ ตับอ่อน ม้าม ถุงน้ำดี ไต แผ่นไขมัน หลอดเลือด กระเพาะปัสสาวะของผู้หญิงก็เพิ่มรังไข่กับมดลูกเข้าไปด้วย ก็มีโอกาสที่จะแปรปรวนไปบ้าง โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้น บางอย่างก็จัดเป็นอาการป่วย แต่บางอย่างก็ไม่ใช่ เช่น อาการปวดเมื่อยหลังออกกำลังหนักๆ เมื่อพักสักครู่ก็หายเอง ถ้าทนไม่ไหวก็กินยาแก้ปวดบรรเทา หรือเป็นไข้ปวดศีรษะก็เป็นอาการไม่สบายอย่างหนึ่งที่มีหลายสาเหตุตั้งแต่ธรรมดาถึงร้ายแรง ก็ให้สังเกตอาการอื่นๆ ร่วมด้วย อย่าลืมว่าต้องมีสติ อย่าวิตกกังวลจนเกินเหตุหรือชะล่าใจจนละเลยโรคร้ายแรง

อาการป่วยที่ไม่ร้ายแรง พบบ่อยๆ เช่น เป็นหวัด ท้องเสียจากอาหารเป็นพิษ ปวดศีรษะจากความเครียด สามารถรักษาด้วยตนเองได้ ใช้ยาบรรเทาอาการหรือปฏิบัติตัวให้ถูกต้องก็หายได้เอง แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ ที่ทำท่าว่าจะไม่ดีแล้วก็ให้รีบไปหาหมอ อย่าชะล่าใจ

การแยกแยะว่าอาการไม่สบายอะไรที่ไม่ใช่โรค และโรคอะไรที่ไม่ต้องหาหมอ ขอแนะนำดังนี้
- พยายามศึกษาจากหนังสือความรู้เรื่องสุขภาพ โรคที่พบบ่อยและการรักษาเบื้องต้น เน้นให้สนใจโรคที่พบบ่อยและไม่ร้ายแรง อย่าไปจดจ่อมากนักกับโรคร้ายๆ ที่มีโอกาสเกิดน้อย เพราะจะอุปาทานคิดว่าตนเองเป็นโรคนั้น เมื่อมีความรู้แล้วก็จะตรวจสอบและดูแลตัวเองเบื้องต้นได้
- เมื่อมีอาการป่วยและไปหาหมอจนหมอหลายคนเห็นตรงกันว่า "ไม่มีอะไร" "ไม่เป็นอะไรมาก" หรือ"รักษาไม่ได้" ก็ควรทำใจ ฝึกตัวเองให้อยู่กับมันให้ได้ ยอมรับให้ได้ อาการอะไรที่จิ๊บจ๊อยก็เฉยๆ กับมันเสียบ้าง จนเกิดความเคยชินไปเอง และควรพยายามนึกอยู่เสมอว่า

"อาการบางอย่างไม่ใช่โรค...โรคบางอย่างไม่ต้องรักษา...บางครั้งอยู่กับโรคดีกว่าอยู่กับยา"

 

ข้อมูลสื่อ

352-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์