• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชุมชนเข้มแข็งคือรากฐานของสุขภาพ

"การสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนจะเกิดได้จริงต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเสียก่อน"
Ž
ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้ซึ่งเป็นผู้นำในการพัฒนาความเข้มแข็ง และความเจริญของบ้านหนองกลางดง กิ่งอำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มายาวนาน ได้ให้ข้อคิดดังกล่าวแก่คณะทำงานในการร่างธรรมนูญสุขภาพด้านการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้เป็นกรอบนโยบายของประเทศ

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมและคณะทำงานดังกล่าวจึงได้เดินทางไปดูงานที่บ้านหนองกลางดง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหัวหิน หมู่บ้านนี้เป็นชุมชนเกษตรกรรม มีทั้งการทำนาข้าว ไร่สับปะรด ไร่อ้อย สวนมะม่วง สวนผัก สวนสน ยางพารา มี 265 หลังคาเรือน จำนวนประชากรประมาณ 1,300 คน

แต่เดิมประชาชนต่างคนต่างอยู่ มีปัญหาโจรขโมย ชุกชุม เนื่องจากมีการค้ายาเสพติด บ่อนพนัน ผู้ติดยา และมีปัญหาหนี้สิน

ผู้ใหญ่โชคชัย เมื่อได้รับเลือกให้เป็นผู้ใหญ่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 เป็นต้นมา ก็ได้นำพาลูกบ้านในการสำรวจปัญหา วิเคราะห์ปัญหา และร่วมคิด ร่วมทำในการแก้ปัญหาของหมู่บ้าน โดยการระดมการมีส่วนร่วมและใช้กระบวนการประชาธิปไตยในการตัดสินใจร่วมกันของประชาชน

เริ่มแรกได้จัดกลุ่มประชาชนตามกลุ่มอาชีพ (เช่น กลุ่มสับปะรด กลุ่มชาวนา กลุ่มปลูกผัก) และกลุ่มกิจกรรม (เช่น กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มอาสาสมัคร กลุ่มร้านค้า) ออกเป็น 14 กลุ่ม ให้แต่ละกลุ่มคัดเลือกผู้นำ 4 คน โดยเน้นว่าต้องเป็นคนฉลาด มีจิตสาธารณะ และพูดจารู้เรื่อง ทั้งหมด 56 คน รวมกับผู้นำทางการ 3 คน (คือผู้ใหญ่บ้านและกรรมการ อบต. 2 คน) รวมเป็น 59 คน ตั้งเป็นสภาผู้นำของหมู่บ้าน มีการประชุมเป็นประจำทุกเดือน เพื่อระดมความคิดเห็นในการพัฒนาหมู่บ้าน สภาผู้นำจะประชุมกันตอนเช้า ตกบ่ายก็ประชุมสภาประชาชน โดยเปิดให้ชาวบ้านทุกคนมาร่วมเพื่อให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมจากมติที่ประชุมของสภาผู้นำ ทุกครั้งที่มีการประชุม สภาประชาชน จะมีการถ่ายทอดสดผ่านเสียงตามสาย ซึ่งมีจุดขยายเสียงกระจายทั่วถึงกันทั้งหมู่บ้าน โดยเดินสายยาวถึง 13 กิโลเมตร ทำให้ผู้ที่ไม่มีโอกาสได้เข้าประชุมสามารถรับทราบข้อมูลโดยถ้วนหน้า

ผู้ใหญ่โชคชัยเล่าว่า ได้ประชุมสภาผู้นำและสภาประชาชนเดือนละครั้งไม่เคยเว้น ติดต่อกันมากว่า 12 ปี ได้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของสมาชิกของชุมชนอย่างแท้จริงในการกำหนดทิศทาง พัฒนาชุมชนของตัวเอง

ในระยะแรกได้ร่วมกันแก้ปัญหาโจรขโมยโดยการปราบปรามยาเสพติดและบ่อนพนัน จนปลอดผู้ติดยาและการขโมยที่เคยมีชุกชุมแต่เดิมที ทำให้ชาวบ้านเกิดศรัทธาต่อผู้นำและแนวทางแก้ปัญหาโดยกระบวนการประชาธิปไตยดังกล่าว

ชาวบ้านได้ร่วมกันออกแบบและสำรวจข้อมูลพื้นฐานและปัญหาของหมู่บ้าน ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุ เสนอแนวทางแก้ไข และประเมินผลการดำเนินงาน เรียกว่าเป็นการทำแผนชุมชน โดยชุมชนและเพื่อชุมชนเอง แตกต่างจากการทำแผนชุมชนที่สั่งการโดยหน่วยราชการจากนอกหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และมองไม่เห็นประโยชน์

แผนชุมชนได้ก่อให้เกิดกิจกรรมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่เอื้อประโยชน์สุขต่อประชาชน เช่น มีร้านค้าและปั๊มน้ำมันชุมชนที่สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน มีโรงสีข้าวที่สามารถขายข้าวสารราคาถูกลงประมาณครึ่งหนึ่งของราคาตลาด มีกลุ่มสตรีทำสับปะรดกวนและการแปรรูปผลไม้ต่างๆ ทำให้เพิ่มรายได้จากอาชีพหลัก เกิดกองทุนออมทรัพย์อันเข้มแข็ง มีการทำปุ๋ยน้ำปุ๋ยหมักขึ้นใช้เอง ช่วยให้ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ประหยัดต้นทุนการผลิต และลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีลง

จากการมีเวทีประชุมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านกล้าคิด กล้าพูด กล้าทำในสิ่งดีมีประโยชน์ต่อส่วนรวม แปรความอ่อนแอ (จากการที่ต่างคนต่างอยู่) เป็นความเข้มแข็ง (ร่วมคิด ร่วมทำ) มีการเรียนรู้ เกิดปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ทั้งภายในและภายนอกชุมชน นอกจากเรียนรู้จากความสำเร็จ ก็ยังเรียนรู้จากความผิดพลาด ล้มเหลว เช่น กิจกรรมบางอย่างเมื่อทำไปแล้วขาดทุนก็มีการปรับเปลี่ยนหรือยกเลิกไป

ในปัจจุบัน เยาวชนในหมู่บ้านก็ได้มีการรวมตัวเป็นสภาเยาวชนในการแก้ปัญหาและหาแนวทางพัฒนากิจกรรมของตนเอง เช่น การแก้ไขและป้องกันพฤติกรรมไม่เหมาะสม (เช่น การขับรถมอเตอร์ไซค์เสียงดังรบกวนชาวบ้าน) การเล่นกีฬา การร่วมมือกับผู้ใหญ่ในการพัฒนาชุมชน เป็นต้น

ปัจจุบัน หมู่บ้านหนองกลางดง มีรายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง มีความรัก สามัคคี ร่วมแรงร่วมใจในการทำกิจกรรม ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม (เช่น งานสงกรานต์ การเคารพผู้อาวุโส) ชีวิตมีความมั่นคงปลอดภัย มีหลัก ประกัน ลดละอบายมุขและสิ่งเสพติดให้โทษ หันมาใส่ใจในการดูแลสุขภาพ ใฝ่การเรียนรู้ การศึกษา สังคมมีความอยู่เย็นเป็นสุขมากกว่าแต่เดิม

จากการเยี่ยมชมและพูดคุยกับผู้นำและชาวบ้านหนองกลางดง ทำให้เข้าใจถึงความหมายในข้อคิดของผู้ใหญ่โชคชัยที่ว่าการสร้างเสริมสุขภาพ ต้องสร้างความ เข้มแข็งของชุมชนก่อน

นั่นคือทุกชุมชน รวมทั้งกลุ่มคนในแหล่งต่างๆ (เช่น โรงงาน โรงเรียน ที่ทำงาน) จะต้องส่งเสริมกระบวนการประชาธิปไตย เคารพศักดิ์ศรีและเปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจและกำหนดทิศทางการพัฒนา จึงจะสามารถระดัมพลังและสร้างแรงจูงใจให้สมาชิกได้เข้ามาพัฒนาสุขภาพของตนเอง

ข้อมูลสื่อ

352-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 352
สิงหาคม 2551
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ