• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิทธิที่จะตาย

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ 59
อดีตครูชาวฝรั่งเศส อายุ 52 ปี นางชองตาล เชอบิเร่ (Chantal Sebire) ได้ยื่นคำร้องต่อศาลฝรั่งเศส ขอให้ศาลอนุญาตให้ "แพทย์ช่วยเธอในการฆ่าตัวตาย" (doctor-assisted suicide) เนื่องจากเธอได้ป่วยด้วยโรคมะเร็งชนิดหนึ่ง (esthesioneuroblastoma) มาเป็นเวลาเกือบ 8 ปี และโรคได้ลุกลามทำลายกระดูกหน้ารวมทั้งขากรรไกรบนและล่าง ทำให้จมูกบวมใหญ่จนเกือบเต็มหน้า และดันลูกตาข้างหนึ่งของเธอจนถลนออกมานอกเบ้าตาจนเปลือกตาไม่อาจปิดตาได้


เธอได้รับความทุกข์ทรมานมาก จึงร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้แพทย์ช่วยให้ยาให้เธอได้ตายอย่างสงบ แต่ศาลปฏิเสธ

อีก 2 วันต่อมา (วันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2551) มีผู้พบเธอนอนเสียชีวิตอยู่ในห้องของเธอโดยไม่มีร่องรอยของการถูกทำร้าย และไม่ทราบสาเหตุของการเสียชีวิตอย่างกะทันหันนั้น (น่าจะเป็น "การฆ่าตัวตาย" ด้วยการใช้สารพิษหรือกินยาเกินขนาด)

ข่าวการเสียชีวิตของเธอ 2 วันหลังคำปฏิเสธของศาล ทำให้ศาล รัฐบาลและนักกฎหมายฝรั่งเศส ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายในทำนองว่า ปล่อยให้ผู้ที่ทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสต้องจบชีวิตของตนเองโดยไม่ได้รับการดูแลช่วยเหลือให้สามารถจากไปได้โดยสงบ

อันที่จริง เมื่อ พ.ศ.2548 (2 ปีหลังจากเกิดกรณีอื้อฉาวทั่วฝรั่งเศส ที่หนุ่มฝรั่งเศสอายุ 22 ปี คนหนึ่งได้ขอร้องต่อศาลขอให้เขามีสิทธิที่จะตาย (the right to die) หลังจากทนทุกข์ทนมานอย่างมากจากอุบัติเหตุจราจรจนทำให้หูหนวก เป็นใบ้ และเป็นอัมพาต แต่ศาลปฏิเสธ อย่างไรก็ตาม แม่ของผู้ป่วยตัดสินใจให้ยานอนหลับแก่ลูกของตนจนลูกหมดสติ และต่อมาแพทย์ผู้รักษาตัดสินใจหยุดเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ จนเกิดคดีความที่ยืดเยื้อยาวนาน) สภาฝรั่งเศสจึงออกกฎหมายอนุญาตให้แพทย์สามารถยุติเครื่องช่วยชีวิตต่างๆ ในผู้ป่วยที่หมดสติและหมดหวัง แต่ยังไม่อนุญาตให้แพทย์ ช่วยให้ผู้ป่วย (ที่ไม่หมดสติ) ตายอย่างสงบได้

กรณีของนางชองตาล เชอบิเร่ จึงได้กระตุกจิตสำนึกของชาวฝรั่งเศสขึ้นมาเรียกร้อง "สิทธิที่จะตาย" กันอีกครั้งหนึ่ง

โดยเฉพาะเมื่อมีกรณีที่เหมือนกันเกิดขึ้นในวันเดียวกันแต่ในอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งทำให้เกิดผลตรงกันข้ามคือ ทุกฝ่าย (ผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม) ต่างรู้สึกชื่นชมและยินดีที่ผู้ป่วยคนหนึ่งในประเทศของตนสามารถรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยไม่พึงปรารถนา ด้วยการช่วยเหลือจากแพทย์ให้ผู้ป่วยสามารถจากไปโดยสงบได้

ผู้ป่วยคนนั้นคือ นักประพันธ์ที่ยิ่งใหญ่ของเบลเยียม นายฮูโก คลอส (Hugo Claus) อายุ 78 ปี ได้จบชีวิตของตนอย่างสงบด้วยการกินยานอนหลับที่แพทย์จัดให้ตามความปรารถนาของผู้ป่วย ที่ไม่ต้องการจะมีชีวิตด้วยโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) จนถึงระยะสุดท้ายของโรค โดยภรรยาและลูกหลานของเขาก็เห็นด้วยกับการตัดสินใจของเขา และแพทย์ก็ได้จัดการให้ตามความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัว เพราะกฎหมายเบลเยียมได้อนุญาตให้แพทย์ทำเช่นนั้นได้ เช่นเดียวกับในประเทศเนเธอแลนด์ (Netherlands)

และกำลังจะเกิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันในประเทศลักเซมเบิร์ก (Luxembourg) ส่วนในประเทศ
สวิตเซอร์แลนด์ (Switzerland) ผู้ให้คำปรึกษาและแพทย์สามารถเตรียมยา (ฆ่าตัวตาย) ให้ผู้ป่วยได้ แต่ผู้ป่วยจะต้องเป็นผู้หยิบมันมาใช้ด้วยตนเอง เป็นต้น

ในกฎหมายเบลเยียม แพทย์จะสามารถให้ยาให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบได้ ต่อเมื่อผู้ป่วยต้องมีสติสัมปชัญญะ และสามารถที่จะร้องขอซ้ำๆ กันหลายครั้งด้วยความมุ่งมั่นและด้วยดุลยพินิจที่มีเหตุผล และแพทย์ต้องเห็นตรงกันว่าผู้ป่วยอยู่ในการเจ็บป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวดไม่ว่าทางกายหรือทางใจ!

ในประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้แพทย์สามารถให้ยาให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ (active euthanasia) ได้ แต่ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ซึ่งมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2550 (ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2550) ในมาตรา 12 กำหนดว่า

"บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้
การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวงŽ"


ก็คงต้องรอหลักเกณฑ์และวิธีการที่จะกำหนดในกฎกระทรวงก่อนที่ผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ทรมานจะสามารถทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขได้ตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ผู้ป่วยและญาติที่มีสิทธิโดยชอบธรรม เช่น พ่อแม่ และ/หรือลูก มีสิทธิที่จะปฏิเสธการผ่าตัดและการตรวจรักษาใดๆ ที่จะยังความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน และ/หรือความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนแก่ผู้ป่วยได้ และมีสิทธิที่จะพาตนเองหรือผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลได้อยู่แล้ว ยกเว้นกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคระบาดร้ายแรงและมีกฎหมายหรือประกาศควบคุมกักกันผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาลเท่านั้น

ดังนั้น ผู้ป่วยและญาติควรทราบความจริงดังกล่าว และสามารถปฏิเสธการรักษาพยาบาลต่างๆ ได้ ถ้าตนไม่ต้องการการรักษาพยาบาลนั้น และถ้าแพทย์ พยาบาล ไม่ยอมยุติการรักษาพยาบาลนั้นๆ ญาติก็สามารถปฏิเสธที่จะให้ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาลต่อไป และสามารถนำผู้ป่วยกลับบ้านหรือไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่นได้ ยกเว้นกรณีที่มีประกาศควบคุมกักกันผู้ป่วยที่เป็นโรคระบาดร้ายแรงเท่านั้น

โรคจำนวนมากไม่ใช่โรคที่รักษาให้หายขาดได้ การรักษาจึงเป็นไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานและอาการต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยดำรงชีวิตด้วยความสุขสบายตามควรแก่อัตภาพ

การรักษาโรคที่เพิ่มความทุกข์ทรมานหรือทำให้ความทุกข์ทรมานต้องยืดเยื้อยาวนานออกไป จึงเป็นการ "ทรมาน" ผู้ป่วย มากกว่าการทำให้ผู้ป่วยพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น นั่นคือเป็นการ "ทรมาน" ผู้ป่วย หาใช่การ "รักษา" ไม่

ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง และสิทธิที่จะตาย ในหนังสือ "สิทธิที่จะอยู่หรือตาย และการดูแลรักษาผู้ป่วยที่หมดหวัง" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์หมอชาวบ้าน

ข้อมูลสื่อ

351-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 351
กรกฎาคม 2551
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์