• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชีวิตจากห้อง "ไอซียู" (ตอนที่ 1)

คนจำนวนไม่มากนักจะมี "โอกาส" ได้เข้าไปอยู่ในห้อง "ไอซียู" (Intensive Care Unit - ICU - หรือ "หอผู้ป่วยวิกฤติ") สำหรับคนจำนวนหนึ่ง ห้องไอซียู คือ "ห้องนอนสุดท้าย" ของชีวิต แต่คนอีกจำนวนหนึ่งก็กลับออกมาใช้ชีวิตปกติต่อไปได้

ผมเป็นหนึ่งในจำนวนคนกลุ่มหลังนี้ และเห็นว่า "ประสบการณ์ชีวิตจากห้องไอซียู" คงเป็นประโยชน์ที่จะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้สนใจ จึงปรับ "บันทึกประจำวัน" ที่เขียนขึ้นระหว่างการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเมื่อกว่า 3 ปีมาแล้ว (7 กันยายน - 24 ตุลาคม พ.ศ.2547 โดยเป็นการอยู่ในห้องไอซียู รวม 5วัน)

ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต (7 กันยายน)
"นอนโรงพยาบาล" เป็นครั้งแรกในชีวิต!
(หมายถึง เข้าพักรักษาตัวแบบต้องอยู่ค้างคืน)
เพิ่งนึกขึ้นมาว่าเวลาคนพูดว่า "เข้าโรงพยาบาล" มักหมายถึง "นอนโรงพยาบาล" ถ้าไม่ถึงกับต้องอยู่ค้างคืน คนมักพูดว่า "ไปโรงพยาบาล"

ห้องเล็กสักหน่อย แต่วิวดี เห็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ราชกรีฑาสโมสร รถไฟฟ้า BTS บนถนนราชดำริ สวนลุมพินี และบรรดาอาคารสูงในทิศเดียวกัน

คนมาเยี่ยมหลายคณะ ที่เขารู้เพราะไปทำภารกิจให้เขาไม่ได้ต้องบอกเลิกพร้อมเหตุผล เขาจึงถือโอกาสมาเยี่ยมก่อนผ่าตัด

ในแง่จิตใจรู้สึกปกติ พร้อมรับสถานการณ์ และถือว่าการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ เสมือนเป็น "ฮอลิเดย์" ชนิดหนึ่ง! 
หมอให้กินอาหารอ่อน ซึ่งกินได้นิดเดียว นอนหลับได้ปกติ

"ล้างท้อง" ก่อน "ผ่าตัดใหญ่"Ž(8 กันยายน)
หมอให้กินอาหารเหลวใส กินได้แต่ไม่ได้รู้สึกอยากกิน เป็นการพยายามกิน
หลังกลางวันหมอให้ยาถ่ายแบบ "ล้างท้อง" ออกฤทธิ์หลังจากประมาณ 1 ชั่วโมง ถ่ายรวมแล้ว 13 ครั้ง เป็นประสบการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในชีวิต (ตอนค่ำยังมีการ "สวน" อีกด้วย เพื่อช่วยล้างลำไส้อีกทางหนึ่ง)
ยังคงมีคนมาเยี่ยมหลายคณะ เพื่อให้ทันก่อนผ่าตัด

ทารกเทคโนโลยี (9 กันยายน)
Big Day! (หรือ Operation "Operation") 
"วันผ่าตัดใหญ่" (ของตัวเอง)
ประสบการณ์ครั้งแรกในชีวิต
สรรพสิ่ง โดยเฉพาะสังขาร ย่อมไม่เที่ยง ไม่แน่นอน
เป็นการเรียนรู้ชนิดหนึ่งที่เพิ่งมีโอกาสได้รับ ทำให้ชีวิตมีความ "บริบูรณ์" มากขึ้น!
ฯลฯ

ความคิดเหล่านี้เกิดขึ้นภายหลังทั้งสิ้น ส่วนวันนั้น (9 กันยายน) .......
ออกจากห้องประมาณ 08.30 น. นอนรถเข็น ไปตามทางเดินระหว่างตึก เข้าห้องผ่าตัด นอนรอในห้องผ่าตัดระยะหนึ่งมี "เพื่อนร่วมกิจกรรม" อย่างน้อย 4-5 คน
นายแพทย์ (หมอดมยาสลบ) มาแนะนำตัวและให้ข้อมูลที่ควรทราบ หลังจากนั้น นอนรถเข็นต่อไปอีก แล้ว...

ไม่รู้เรื่องอะไรเลย! เหมือน "หายตัว" (หรือ " ตัวหาย") ไปชั่วคราว! 


ทราบภายหลังว่าแพทย์ใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมงครึ่ง นายแพทย์ (ผู้ทำการผ่าตัด) เป็นหลักด้านผ่าตัด นายแพทย์ (ผู้ดมยาสลบ) เป็นหลักด้านดมยาสลบ นพ. (ผู้เป็นแพทย์อาวุโสและเป็นเพื่อนของผม) ได้มาช่วยดูแล สนับสนุนอยู่ด้วย ได้รับแจ้งภายหลังว่าเป็นการผ่าตัด ที่ละเอียดสลับซับซ้อนและยากทีเดียว
ออกจากห้องผ่าตัดมาอยู่ห้องไอซียู ประมาณ 18.00 น.

ภรรยาเล่าว่าเมื่อออกมาจากห้องผ่าตัดแล้วนั้น มองเห็นว่าผม "ตัวเหลืองอ๋อยเหมือนทาขมิ้น!" นั่นคือเหลืองมากกว่าเมื่อก่อนเข้าห้องผ่าตัด (เข้าใจว่า) เริ่มรู้สึกตัวประมาณ 19.00น. แต่จำไม่ได้ว่าสิ่งแรกที่รับรู้คืออะไร ที่จำได้คือเสียงภรรยามาพูดอะไรบางอย่างในช่วงที่ยังค่อนข้างสะลึมสะลือ และสะลึมสะลือต่อไปค่อนข้างนาน

ชีวิตหลังการผ่าตัดใหญ่ อาจเรียกว่าเป็น "ทารกเทคโนโลยี" คือ ช่วยตัวเองไม่ได้เลย ต้องอาศัยเทคโนโลยี (การแพทย์) ผนวกกับบริการดูแล โดยพยาบาลและแพทย์อย่างใกล้ชิด

เทคโนโลยีช่วยการทำงานของอวัยวะหลายอย่าง เกี่ยวกับการหายใจ การรับอาหาร การปัสสาวะ การถ่ายของเสียจากที่ต่างๆ การถ่ายลมออกจากกระเพาะ ฯลฯ รวมแล้วจึงมีสายระโยงระยางมากมาย เข้าใจว่ากว่า 10 สาย

หากเกิดขัดข้องสายใดสายหนึ่ง ชีวิตของ "ทารก" คนนี้ก็จะหาไม่
บริการอย่างใกล้ชิดของพยาบาลและแพทย์ก็สำคัญมาก ต้องคอยตรวจ คอยวัด ฉีดยา จัดการเกี่ยวกับสายระโยงระยางต่างๆ แก้ปัญหาฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น สนองความต้องการจำเป็นต่างๆ รวมถึงการดูแลสุขอนามัยทั่วๆ ไป เช่น เช็ดตัว เช็ดหน้า แปรงฟัน แม้กระทั่งโกนหนวด! ฯลฯ

นี่คือความจำเป็น ความสำคัญ และคุณค่าของ ห้องไอซียูและพยาบาลห้องไอซียู!
ถ้าไม่ได้เข้าไปสัมผัสด้วยตนเอง คงไม่เข้าใจและซาบซึ้งเต็มที่อย่างนี้


ชีวิตบนเตียง (10 กันยายน)

วันที่ 2 ในห้องไอซียู 
จำได้ว่าภรรยามาเยี่ยม (คิดว่า) จับมือและส่งเสียงทัก จึงยิ้มให้ และมีเสียงภรรยาตามมาว่า "อ้า! พ่อยิ้มให้แม่ได้แล้ว!"

ไม่รู้ว่าขณะนั้นเวลาเท่าใด หรือได้หลับไปนานเท่าใด แต่รู้ว่าตื่นอยู่ สมองโปร่งพอควร ซึ่งทำให้แปลกใจแกมยินดีอยู่หน่อยๆ อย่างไรก็ดีฤทธิ์ยาระงับการปวดคงทำให้ค่อนข้างหลับอยู่ตลอดกลางวันวันนั้น รู้คร่าวๆ ว่ามีคนมากและพูดด้วย แต่ไม่สามารถจำอะไรได้ชัดเจน

จำได้แต่ที่ภรรยาเป็นคนพูด คงมีอะไรพิเศษกระมัง! 
เมื่อเป็น "ทารกเทคโนโลยี" ชีวิตโดยทั่วไปจึงเป็น "ชีวิตบนเตียง"Ž

ของเข้า ของออก การเช็ด การล้าง การนั่ง การนอน การทำกิจกรรมประเภท คิด พูด อ่าน เขียน การตรวจ การวัด การดูแลต่างๆ ฯลฯ

ล้วนกระทำหรือเกิดขึ้นบนเตียง ซึ่งปรับได้ 2 อย่าง คือ สูงขึ้น ต่ำลง ทั้งด้านศีรษะและด้านเท้า หรือทั้งเตียง

วันนี้หมอเอาเครื่องช่วยหายใจออกเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นแต่ได้ใส่สายเสริมออกซิเจนที่รูจมูกแทน (เกือบทั้งหมดเป็นการหายใจเอง)

ด้วยเหตุที่ค่อนข้างหลับตลอดกลางวัน ช่วงกลางคืนของวันนี้จึงรู้สึก "ตื่น" คือเท่ากับเป็นช่วงตื่น (ของกลางวัน) และเริ่มรับรู้ถึงสถานการณ์ทั้งเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับคนไข้ไอซียูที่เป็น "เพื่อนบ้าน" ทั้งเบื้องซ้ายและเบื้องขวา และเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพยาบาล และแพทย์

นับเป็นประสบการณ์ที่ "พิเศษ" อันหาได้ยาก สำหรับคนคนหนึ่งที่ไม่ได้เป็นแพทย์หรือพยาบาล!
อ่านต่อฉบับหน้า "วันที่ยาวนานที่สุด" ของผู้ป่วยที่ต้องอยู่ห้องไอซียู ว่าจะยาวนานแค่ไหน 
 
 

ข้อมูลสื่อ

351-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 351
กรกฎาคม 2551
ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม