ระยะเริ่มมีประจำเดือน คือช่วงเข้าสู่วัยรุ่นประมาณ 9-13 ปี และหมดไปเมื่ออายุประมาณ 48-52 ปี
ประจำเดือนจะมาประมาณ 3-5 วัน ไม่เกิน 7 วัน ใช้ผ้าอนามัยประมาณ 3-4 แผ่น มักจะมามากในวันที่ 2 ของรอบเดือน
บางคนอาจจะมีอาการปวดท้อง เรียกว่าปวดระดู บางคนอาจจะไม่มีอาการปวดเลย บางคนอาจจะปวดมาก ถ้าผิดจากนี้อาจจะเกิดภาวะเลือดออกผิดปกติได้
ผู้หญิงทุกคนควรจะหมั่นสังเกตรอบเดือนของตนเองอยู่เสมอและจะต้องมีการบันทึกในปฏิทินทุกวันว่าวันไหนมีรอบเดือนมา วันไหนมีรอบเดือนน้อย วันไหนกินยาคุมกำเนิด วันไหนกินยาฮอร์โมน หมั่นคอยจดบันทึกไว้เผื่อเวลาเกิดผิดปกติจะได้นำปฏิทินที่บันทึกนั้นไปยื่นต่อแพทย์ให้ดูได้
ทำไมต้องมีประจำเดือน และประจำเดือนคืออะไร เพราะว่าผู้หญิงเป็นเพศที่รับหน้าที่ในการตั้งครรภ์ ผนังมดลูกด้านในเป็นที่ฝังตัวของตัวอ่อน ในแต่ละเดือนจะมีการสร้างฮอร์โมนจากรังไข่ชื่อเอสโทรเจน ฮอร์โมนจะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นในช่วงครึ่งแรกของรอบเดือน
รอบเดือนหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 28 วัน แยกเป็น 2 ช่วง
ช่วงแรกเรียกว่าระยะโปรริเฟอเรทีปเฟส ครึ่งหลังเรียกว่าซิเครทอรีเฟส
นอกจากรังไข่จะสร้างฮอร์โมนที่ทำหน้าที่กระตุ้นให้โพรงมดลูกหนาขึ้นแล้ว ยังทำหน้าที่สร้างไข่เพื่อผสมกับอสุจิ โดยจะมีไข่ตกประมาณกลางรอบเดือนซึ่งอยู่ระหว่างระยะแรกกับระยะที่สอง ระหว่างนั้นไข่จะรออสุจิได้ 1 วัน หากมีการผสมกับอสุจิ กลายเป็นตัวอ่อนที่บริเวณท่อนำไข่ และตัวอ่อนจะเดินทางมาฝังตัวในโพรงมดลูกประมาณวันที่ 21 ของรอบเดือน
หลังจากไข่ตก รังไข่จะสร้างฮอร์โมนอีกชนิดหนึ่งชื่อ โพรเจสเทอโรน เพื่อเปลี่ยนแปลงลักษณะของเยื่อบุโพรงมดลูก แตกต่างจากช่วงแรกของรอบเดือน เพื่อให้มีสภาพเหมาะสมที่จะรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน
ถ้าไม่มีการปฏิสนธิ หรือไม่มีตัวอ่อนมาฝังตัวในระยะเวลาดังกล่าว ฮอร์โมนทั้งสองชนิดที่สร้างจากรังไข่จะลดน้อยลง และมีการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูก หลังจาก 28 วันกลายเป็นประจำเดือน
วันแรกที่ประจำเดือนมานับเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน การที่กล้ามเนื้อมดลูกหดรัดตัวเพื่อไล่เลือดประจำเดือนจะทำให้มีอาการปวดบ้าง
วันที่ 14 ของรอบเดือนซึ่งเป็นวันไข่ตก จะมีสารน้ำเล็กน้อย ระคายเคืองในช่องท้องจนทำให้มีอาการปวดท้องได้ ประมาณ 1-2 วันอาจมีมูกเหนียวๆ ชุ่มในช่องคลอดได้ในบางคนซึ่งไม่ถือว่าเป็นตกขาวผิดปกติ บางคนอาจมีเลือดออกเล็กน้อยในระยะไข่ตก ทำให้รู้สึกว่ามีประจำเดือนมาเดือนละ 2 ครั้ง กรณีดังกล่าวยังถือว่าเป็นภาวะปกติ แต่ถ้าไม่เคยเป็นประจำ อยู่ๆมีระดูมาเดือนละ 2 ครั้งอาจจะเป็นภาวะเลือดออกผิดปกติได้
ภาวะเลือดออกผิดปกติคือ ภาวะที่มิใช่เป็นภาวะที่เกิดจากการมีประจำเดือนปกติ อาจเกิดจากภาวะของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติหรือเกิดจากภาวะจิตใจผิดปกติ เช่น ความเครียด บางรายอาจจะมีพยาธิสภาพ เช่น มีการติดเชื้อโรค เป็นเนื้องอกหรือมะเร็งในอวัยวะสืบพันธุ์สตรี มีการบาดเจ็บในบริเวณดังกล่าวหรือมีโรคทางอายุรกรรม เช่น โรคเลือดบางชนิดหรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์
ประจำเดือนที่ผิดปกติอาจจะอยู่ในภาวะที่ประจำเดือนไม่มา มาน้อย มามาก มาบ่อย ไม่ค่อยมา หรือมาไม่หยุด หรือมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรง อารมณ์ ความเครียด สุขภาพจิตที่ผิดปกติ สภาพร่างกายที่อ่อนแอ หรือเจ็บป่วย หรือมีโรคทางกายอื่นๆ ที่มีผลกระทบต่อการสร้างฮอร์โมนผิดปกติ ทำให้ประจำเดือนผิดปกติได้ ประจำเดือนจะมาปกติเมื่อสาเหตุและปัญหาต่างๆเหล่านี้หายไป
บางรายอาจต้องใช้วิธีการกินฮอร์โมน เพื่อปรับประจำเดือน แต่จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อกำหนดวันที่เริ่มกินยาได้ถูกต้อง อย่าไปซื้อยามากินเอง เช่น ยาแผนโบราณ หรือยาสตรีทั้งหลาย หรือแม้แต่ยาคุมกำเนิดที่ซื้อมากินเองเพราะอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้มีประจำเดือนผิดปกติได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การที่มีประจำเดือนผิดปกติ ไม่ควรนึกถึงเฉพาะที่เป็นความผิดปกติของฮอร์โมนเท่านั้น ควรไปพบกับสูตินรีแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุอื่นที่สำคัญกว่า
ถ้าเป็นการติดเชื้อที่บริเวณปากช่องคลอด บริเวณช่องคลอด หรืออวัยวะบริเวณอุ้งเชิงกราน แม้จะได้ทำการตรวจรักษาให้ยาฆ่าเชื้อ อาจจะเป็นเชื้อโรคที่มิใช่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็ได้
รายที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะเริ่มแรก เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งในโพรงมดลูก จะทำให้สามารถรักษาได้ทันท่วงที ก่อนจะสายเกินไปกลายเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย
การตั้งครรภ์ผิดปกติ บางครั้งมีการตั้งครรภ์โดยทราบว่าตั้งครรภ์หรือไม่ทราบว่าตั้งครรภ์ อาจจะมีเลือดออกเนื่องจากการแท้งคุกคามหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ จากการตั้งครรภ์ กรณีดังกล่าวอาจทำให้เลือดออกปริมาณมาก จนอาจเป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก เลือดจะออกบริเวณช่องท้องจนเสียชีวิต
ยาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เลือดออกผิดปกติได้โดยเฉพาะยาที่เป็นฮอร์โมน หรือยาที่มีผลต่อฮอร์โมนในร่างกาย แม้กระทั่งยาคุมกำเนิดถ้ากินไม่ถูกวิธีจะทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้ ยาฉีดและยาฝังคุมกำเนิดก็เป็นฮอร์โมนที่มีผลกระทบต่อประจำเดือนผิดปกติได้เช่นเดียวกัน
การที่มีประจำเดือนผิดปกติหรือภาวะเลือดออกผิดปกติ ผู้หญิงทุกคนควรใส่ใจและปรึกษาแพทย์เพื่อให้ได้ทราบถึงสาเหตุที่แท้จริงและเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง แพทย์จะทำการตรวจร่างกาย ตรวจภายในรวมถึงการตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ เช่น อัลตร้าซาวนด์ การตรวจเลือดและการตรวจอื่นๆที่จำเป็น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าภาวะเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอดจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะอาจจะมีโรคร้ายบางอย่างที่แอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายคุณ
- อ่าน 41,819 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้