• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เบาหวาน น้ำตาลเป็นพิษ (1)

เบาหวานเป็นโรคที่ติดอันดับต้นๆ ของคนไทย เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่องต้องอาศัยความเข้าใจต่อสภาวะของโรค และความร่วมมือของคนไข้ในการดูแลตนเอง รวมทั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นปัจจัยสำคัญในการต่อสู้โรคเบาหวาน ให้คนไข้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างปกติสุขและไม่มีภาวะแทรกซ้อน

ปัจจุบันโรงพยาบาลต่างๆ ตั้งแต่ระดับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป จนถึงโรงพยาบาลชุมชน ได้จัดบริการให้คนไข้เบาหวานโดยเฉพาะ โดยจัดเป็นคลินิกโรคเบาหวาน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ และเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาล

คลินิกเบาหวาน
คลินิกเบาหวานเปิดให้บริการคนไข้ตั้งแต่เช้ามืด เพราะคนไข้ต้องอดน้ำและอาหารตั้งแต่หลังเที่ยงคืนก่อนวันที่จะมาพบแพทย์ ส่วนมากโรงพยาบาลเริ่มให้บริการเจาะเลือด เวลา 06.00 น. หรือ 07.00 น. ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องมาแต่เช้า แต่คนไข้ส่วนหนึ่งมาถึงโรงพยาบาลตั้งแต่ตี 3 ตี 4 ด้วยซ้ำ คนไข้บางคนบอกว่าอยู่บ้านก็นอนไม่หลับ สู้มานอนรอหมอที่โรงพยาบาลดีกว่า

หลังเจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล ซึ่งบางราย ต้องตรวจระดับไขมันประเภทต่างๆ บางรายต้องตรวจสภาวะการทำงานของไต เป็นต้น ระหว่างรอผลตรวจเลือดคนไข้จะไปกินอาหารเช้า บางรายก็เตรียมข้าวกล่องมาจากบ้าน แต่ส่วนมากโรงพยาบาลจะบริการข้าวต้มและเครื่องดื่มให้ฟรีที่คลินิกเบาหวาน อาหารเหล่านี้นอกจากโรงพยาบาลจะเป็นเจ้าภาพเลี้ยงแล้ว บางครั้งประชาชนขอมีส่วนร่วม โดยเป็นผู้จัดอาหารมาให้เอง บางครั้งกลุ่มชุมชนบริจาคเงิน หรือข้าวสารอาหาร แห้งเพื่อเป็นทุนสมทบให้โรงพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าชื่นใจสำหรับสังคมไทยที่มีความเอื้ออารีต่อกัน

คนไข้เบาหวานจะได้รับการลงทะเบียนที่คลินิกเบาหวาน เพื่อใช้ในการติดตามผลการรักษา มีกระบวน การติดตามคนไข้ที่ไม่มาตามนัด บางแห่งเมื่อคนไข้ขาดนัด เจ้าหน้าที่จะส่งข้อมูลให้ศูนย์แพทย์ชุมชนออกติดตามเยี่ยมบ้านและนำยาไปให้ มีการรวบรวมข้อมูลตัวชี้วัดต่างๆ เพื่อประเมินผลสัมฤทธิ์การรักษาพยาบาล และค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น หรือคัดกรองกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นในอนาคต

คลินิกเบาหวานจัดบริการโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ ซึ่งอาจเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรคเบาหวาน แพทย์อายุรกรรมทั่วไป หรือแพทย์ทั่วไป ตามบริบทของแต่ละโรงพยาบาล พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการ นักกำหนดอาหาร บางคลินิกจะมีนักสุขศึกษา นักกายภาพบำบัด นักกายอุปกรณ์ เพื่อให้คำปรึกษาและจัดหารองเท้าพิเศษสำหรับคนไข้เบาหวานที่เป็นแผลที่เท้า ทีมสห-วิชาชีพร่วมกันทำงานเพื่อดูแลคนไข้ทุกมิติอย่างเป็นองค์รวม โดยการให้คำปรึกษา สาธิต และร่วมกับการวางแผนการดูแล รักษา สำหรับคนไข้แต่ละคน ซึ่งมีปัจจัยปลีกย่อยที่แตกต่างกัน

การคัดกรองเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน

มีการวางระบบการคัดกรองคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เช่น ภาวะแทรกซ้อนทางตา ทำให้สายตาเลือนรางจนถึงตาบอด ภาวะแทรกซ้อนโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย ความดันเลือดสูง ภาวะแทรกซ้อนทางไต เพื่อป้องกันภาวะไตวาย ภาวะแทรกซ้อนจากบาดแผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งบาดแผลที่เท้า ซึ่งเมื่อเป็นแล้วรักษายาก อาจลุกลามจนต้องตัดขา หรือลุกลามจนเกิดภาวะโลหิตเป็นพิษ ซึ่งเป็นอันตรายถึงตายได้

โรงพยาบาลระดับโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปบางแห่ง สามารถจัดระบบการส่งต่อคนไข้กลุ่มเสี่ยงให้ผู้เชี่ยวชาญแต่ละโรคดูแลร่วมกันได้ในโรงพยาบาลเดียวกัน ส่วนโรงพยาบาลทั่วไปที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ครบสาขา หรือโรงพยาบาลชุมชน ได้จัดระบบคัดกรองเพื่อส่งต่อคนไข้ไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า

หลายโรงพยาบาลดำเนินการประสานงานเป็นเครือข่าย ทำให้การส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลชุมชนไปยังโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เป็นระบบชัดเจน รวมทั้งการส่งคนไข้จากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป เพื่อกลับไปรับยาต่อเนื่องที่โรงพยาบาลชุมชน มีการจัดทีมแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลศูนย์ออกคัดกรองคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป เช่น การคัดกรองภาวะแทรกซ้อนทางตา เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนไข้ คนไข้ที่ต้องได้รับการรักษาด้วยหัตถการ เช่น เลเซอร์ จะได้รับการนัดและส่งต่ออย่างเป็นระบบ

ชมรมเบาหวาน
หลายโรงพยาบาลส่งเสริมให้กลุ่มคนไข้เบาหวาน รวมกลุ่มกันจัดตั้งชมรมเบาหวาน มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน
กระตุ้นและชักชวนกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งเรื่องการกินอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และการระมัดระวังภาวะแทรกซ้อน ตลอดจนการดูแลสุขภาพเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นแล้ว

หลายโรงพยาบาลจัดค่ายเบาหวาน โดยจัดให้คนไข้เบาหวานมาทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สอดแทรกความรู้และทักษะในการดูแลตนเองที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

แม้จะมีบริการต่างๆ สำหรับคนไข้เบาหวานในคลินิกเบาหวานตามโรงพยาบาลต่างๆ คนไข้เบาหวานส่วนหนึ่งยังไม่สามารถควบคุมภาวะน้ำตาลได้ เนื่องจากความเคยชินในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ จึงเป็นเรื่องยากในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

นอกจากนั้นยังเกิดความเข้าใจไม่ถูกต้องบางประการ เช่น การปรับหรือลดยาเองตามความเข้าใจของตนเองและญาติ การยืมยากันกินหรือแบ่งยากันกินเพราะคิดว่าเป็นเบาหวานเหมือนกัน แต่บางครั้งเป็นยาคนละชนิดหรือชนิดเดียวกันแต่ต่างความแรง การกินยา อื่นเสริมหรืออาหารเสริมที่มาจากการขายแบบขายตรง ซึ่งบางอย่างยังขาดการยืนยันทางวิชาการ

เรื่องอาหารนั้นบางครั้งคนไข้ไม่เข้าใจ เช่น พยายาม ลดข้าวปลาอาหารมื้อหลัก เมื่อหิวจึงดื่มน้ำอัดลมและขนมทดแทน นอกจากนั้นคนไข้ที่ทำงานเป็นกะ เช่น เช้า บ่าย ดึก การจัดมื้ออาหารและการให้ยาที่สอดคล้องกันบางครั้งก็เป็นปัญหาในทางปฏิบัติ

คนไข้ส่วนหนึ่งจึงเกิดภาวะน้ำตาลสูงหรือต่ำผิดปกติ ซึ่งบางรายถึงกับช็อก และถ้าไม่ได้การบำบัดอย่างทันท่วงที อาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้

คุณป้าคนหนึ่งเป็นเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยยากิน หมอให้ฉีดยาเช้าเข็มเย็นเข็ม คุณป้าดูแลตนเองอย่างดีฉีดยาสม่ำเสมอไม่เคยขาด 3 วันก่อนที่จะมาโรงพยาบาลคุณป้าเกิดอาการท้องเสียและอาเจียน กินอาหารได้น้อยมาตั้งแต่ป่วย แต่คุณป้ายังคงฉีดยาเช้าเข็มเย็นเข็มเช่นเดิม ค่ำวันที่ 3 คุณป้าเกิดอาการตาลายใจสั่นและหน้ามืดหมดสติ เพราะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำเกินไป เดชะบุญที่ญาติหามส่งโรงพยาบาล และได้รับการแก้ไขได้ทัน

จากความตั้งใจของคุณหมอและทีมคลินิกเบาหวาน จนถึงการปฏิบัติตัวของคนไข้ยังมีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาการใช้ยา และการควบคุมอาหาร ขอเชิญติดตามฉบับหน้า

ข้อมูลสื่อ

350-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์