โรคผิวหนังภูมิแพ้นี้จัดเป็นโรคทางพันธุกรรมอย่างหนึ่ง ถ้าซักประวัติเด็กที่เป็นโรคนี้ พบว่า ร้อยละ 70 มีประวัติภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น พ่อแม่เป็นหอบหืด ลมพิษ หรือน้ำมูกไหลเพราะแพ้อากาศ
โดยทั่วไปแบ่งลักษณะผื่นผิวหนังของโรคผิวหนังภูมิแพ้ได้ง่ายๆ เป็น 3 ช่วงอายุ คือ วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
ช่วงวัยทารก
เริ่มมีอาการคันและผื่นขึ้นตั้งแต่อายุประมาณ 6-8 สัปดาห์ อาการคันอาจเป็นมากจนเด็กมีอายุ ถึง 2 ขวบ พบเป็นผื่นที่แก้มทั้ง 2 ข้าง (ภาพที่ 1) หรือตามด้านนอกของแขน ขา ลำตัว
ผื่นคันอาจเห่อขึ้นเมื่อเด็กฉีดวัคซีน เมื่อเด็กมีอาการผื่นคันอยู่แล้วต้องระมัดระวังในการฉีดวัคซีนหรือควรปรึกษาแพทย์เสียก่อน
ครึ่งหนึ่งของเด็กอ่อนที่เป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้อาการอาจหายไปได้เองก่อนอายุครบ 2 ขวบ
ช่วงวัยเด็ก
ผื่นผิวหนังในช่วงวัยเด็กมักเป็นตามข้อพับแขนและขา ผื่นจะแดง คลำดูได้หนากว่าปกติ อาการคันอาจ เป็นรุนแรงมาก เมื่อเกามากๆ ผิวหนังจะหนาตัวขึ้น ทำให้ยิ่งคันและยิ่งเกามากขึ้น จึงทำให้เด็กหงุดหงิดรำคาญ
ช่วงวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
พบว่าโรคผิวหนังภูมิแพ้ในวัยทารกและวัยเด็ก อาจหายไปเองใน 2-3 ปี แต่กลับมากำเริบอีกครั้งในวัยรุ่น อาจมีอาการคันอย่างมาก อาการคันมักกำเริบตอนกลางคืน ผื่นคันมักเป็นตามข้อพับ แขน ขา ใบหน้า หัวไหล่ และด้านบน ถ้าคันและเกามากๆ ผิวหนังก็จะหนาได้
เนื่องจากโรคผิวหนังภูมิแพ้เป็นโรคเรื้อรัง ไม่ใช่โรคติดต่อ การดูแลรักษาสุขภาพผิวหนังอย่างถูกต้องจึงมีส่วนช่วยให้อาการทางผิวหนังดีขึ้นได้
หลักการดูแลผิวหนังของผู้ป่วยโรคผิวหนังภูมิแพ้
♦ ไม่ควรใช้สบู่ เพราะผิวหนังในโรคนี้แห้งมากอยู่แล้ว ถ้าจะใช้ให้ใช้สบู่อ่อนหรือสบู่ที่มีไขมันสูง ชำระล้างบริเวณที่สกปรกเท่านั้น ไม่ควรขัดฟอกแรงๆ
♦ ไม่ควรปล่อยให้เด็กอาบน้ำโดยแช่ในอ่างอาบน้ำนานๆ เพราะผิวจะยิ่งแห้ง ใช้ขันตักอาบหรืออาบน้ำฝักบัวจะดีกว่า ไม่ควรอาบน้ำร้อนจัด การเช็ดตัวให้ใช้วิธีซับเอา ไม่ควรเช็ดหรือถูแรงๆ
♦ ระวังการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศจากร้อนไปหนาว หรือหนาวไปร้อนอย่างกะทันหันจะก่อให้เกิดอาการคันอย่างมากได้
♦ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าขนสัตว์ที่หนา ควรใส่เสื้อผ้าฝ้ายทอโปร่งๆ
♦ เก็บตุ๊กตายัดนุ่นและตุ๊กตาที่มีขนปุยออกไปให้หมด รวมถึงหมอนที่ยัดด้วยขนนก
♦ ไม่ควรเลี้ยงสัตว์เลี้ยงที่มีขน เช่น สุนัข และ แมว
♦ ควรอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ไม่ควรเดินผ่านบริเวณที่มีฝุ่นละอองสารเคมีจากโรงงานอุตสาหกรรม ควันไอเสีย สเปรย์ น้ำมัน เพราะสารเหล่านี้กระตุ้นให้ผิวหนังกำเริบได้
♦ ไม่ใช้เครื่องสำอาง น้ำยาทำความสะอาดใบหน้า น้ำมันและโลชั่น ที่มีส่วนผสมของลาโนลิน เพราะลาโนลิน ทำให้ผิวหนังแพ้ ระคายเคืองได้ง่าย
♦ พยายามระวังไม่ให้เป็นหวัด หรือโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอื่นๆ เพราะการอักเสบติดเชื้อเหล่านี้ทำให้ความต้านทานของผิวหนังต่ำลงและผิวหนัง อักเสบกำเริบง่ายขึ้น
♦ พยายามไม่เข้าใกล้คนที่เป็นเริมอยู่ เพราะ ผู้ป่วยที่มีผิวหนังอักเสบจากโรคผิวหนังภูมิแพ้อยู่แล้วอาจได้รับเชื้อไวรัสเริม และเกิดการติดเชื้อเริมลุกลามได้มากผิดปกติ
♦ หลีกเลี่ยงการใช้ครีมและโลชั่นที่มีเบนโซเคน (ยาชา) และยาแก้แพ้เป็นส่วนประกอบ
♦ อย่าใช้วาสลีนหรือออยเมนต์ที่มันมากทาผิวหนัง เพราะทำให้อาการกำเริบมากขึ้น เพราะเหงื่อระเหยจากผิวหนังไม่ได้
♦ พยายามควบคุมและระงับสติอารมณ์ไว้ พยายามอย่ามีความเครียดมากเกินไป พบได้บ่อยว่าอาการทางผิวหนังกำเริบเมื่อผู้ป่วยมีความเครียดเกิดขึ้น เด็กบางคนเกิดความเครียดเมื่อใกล้สอบไล่ ผิวหนังจะอักเสบและเกิดผื่นคันขึ้นได้มาก
♦ พยายามอย่าเกาบริเวณที่คัน เพราะการเกาผิวหนังทำให้ผิวหนังถลอก และเกิดการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรียตามมาได้
♦ ผู้ป่วยที่เป็นโรคผิวหนังภูมิแพ้ต้องพยายามเข้าใจว่า แม้ว่าโรคนี้จะก่อให้เกิดความน่ารำคาญเพียงใดก็ตาม โรคนี้ก็ไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ป่วยโรคนี้ จึงควรยอมรับสภาพความเป็นจริงที่จะมีชีวิตอยู่กับ โรคนี้ให้ได้ พยายามมองในแง่ดีว่าโรคนี้ในที่สุดมักจะดีขึ้นเมื่อมีอายุสูงขึ้น
ถ้าอาการคันและผื่นผิวหนังอักเสบกำเริบมาก พ่อแม่ควรนำลูกไปพบแพทย์ผิวหนัง ซึ่งอาจให้ยาบางชนิดมากินและทาเพื่อลดอาการคัน ซึ่งจะช่วยลดอาการเกาลง ทำให้ผิวหนังอักเสบดีขึ้น
- อ่าน 20,265 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้