• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

คิดให้ชัด ก่อนตัดไข่ หมอต้องให้ข้อมูลอย่างเพียงพอ

แม้ตอนนี้จะยังไม่มีคำตัดสินชี้ชัดว่าแพทย์ผู้ให้บริการ "ตัดอัณฑะ" นี้มีความผิดหรือไม่ แต่สิ่งที่ทั้งวัยรุ่นชายซึ่งเป็นผู้รับบริการ รวมถึงผู้ปกครอง และแพทย์ผู้ให้บริการควรตระหนักให้มากคือ สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงสิ่งที่จะตามมาด้วย

การตัดอัณฑะที่กลายเป็นแฟชั่นของวัยรุ่นชายที่อยากแปลงกายเป็นหญิง แม้จะบอกว่าเป็นการยินยอมของเจ้าตัวและได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองแล้วก็ตาม แต่คงต้องย้อนกลับไปดูว่าพวกเขาได้รับข้อมูลอย่างเพียงพอต่อการตัดสินใจแล้วหรือยัง ว่าการตัดอัณฑะนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งของการผ่าตัดแปลงเพศ โดยจะต้องผ่านขั้นตอนการประเมินและวินิจฉัยจากจิตแพทย์เสียก่อน แต่หากจะทำการตัดอัณฑะไปก่อนเพื่อลดระดับฮอร์โมนเพศชายลงโดยยังไม่ผ่าตัดแปลงเพศในคราวเดียวกันดังเช่นที่วัยรุ่นไทยทำกันเพราะไม่มีเงินพอที่จะแปลงเพศ พวกเขาก็จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าหลังจากนี้หากจะผ่าตัดแปลงเพศแพทย์จะต้องผ่าตัดเอาผนังลำไส้บางส่วนของพวกเขามาทำศัลยกรรมในบริเวณดังกล่าว ซึ่งการตัดอัณฑะออกนี้แม้จะช่วยลดระดับฮอร์โมนเพศชายลงได้อย่างรวดเร็ว แต่สิ่งที่จะตามมาในระยะยาวนั้นคุ้มหรือเปล่าที่พวกเขาจะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์สูงกว่าคนทั่วไป ข้อเท็จจริงเหล่านี้เป็นสิ่งที่แพทย์ผู้จะให้บริการต้องชี้แจงให้ผู้รับบริการทราบอย่างละเอียด

ซึ่งใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 ระบุถึงสิทธิและหน้าที่นี้ไว้ในมาตรา 8 ว่า

ในการบริการสาธารณสุข บุคลากรด้านสาธารณสุข ต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการให้ผู้รับบริการทราบอย่างเพียงพอที่ผู้รับบริการจะใช้ประกอบการตัดสินใจในการรับหรือไม่รับบริการใด และในกรณีที่ผู้รับบริการปฏิเสธไม่รับบริการใด จะให้บริการนั้นมิได้


นี่คือสิทธิของประชาชนผู้เข้ารับการบริการ ในขณะเดียวกันก็เป็นหน้าที่ของแพทย์ผู้ให้บริการด้วยเช่นกันที่จะต้องมีจริยธรรม ยึดถือจรรยาบรรณในการประกอบวิชาชีพ และคำนึงถึงสุขภาพของผู้รับบริการเหนือสิ่งอื่นใด

ข้อมูลสื่อ

350-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551