• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพรไทย จากไพร...สู่พลาซ่า

ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร (Traditional Thai Medicine Development Center) หรือศูนย์ TDC ภายใต้สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มโครงการบูรณาการการ สร้างอาชีพด้วยการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทย เพื่อสร้างอาชีพให้กับผู้ประสบอุทกภัยใน 5 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ สุพรรณบุรี ปทุมธานี อยุธยา อ่างทอง และสิงห์บุรี

โดยการส่งเสริมการปลูกสมุนไพรในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ การสนับสนุนเทคโนโลยีการตากสมุนไพรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ในระบบปิด พร้อมวัสดุที่ใช้ในการจัดเก็บ เพื่อป้องกันการปนเปื้อน

เภสัชกรสมนึก สุชัยธนาวนิช หัวหน้าศูนย์ TDC
กล่าวว่า ศูนย์พัฒนายาไทยและสมุนไพร หรือศูนย์ TDC มีบทบาทหน้าที่หลัก คือ การพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านยาไทยตำรับและสมุนไพร ให้มีคุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากล

โครงการดังกล่าวแบ่งออกเป็น 3 โครงการย่อย ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพรเชิงเกษตรอินทรีย์ โครงการสร้งอาชีพด้วยการบริการแพทย์แผนไทยและพัฒนากระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร และโครงการส่งเสริมภูมิปัญญาพื้นบ้าน สนับสนุนการใช้ยาแผนไทยในสถานบริการของรัฐ ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนกลุ่มเกษตรกรในการปลูกพืชสมุนไพรเชิงเกษตรอินทรีย์

พร้อมทั้งได้ให้ความรู้และข้อมูลในการสร้างอาชีพแก่กลุ่มเกษตรกร 400 ครัวเรือน ใน 5 จังหวัดภาคกลางที่ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมา

นางเสงี่ยม ไม้แป้น หัวหน้ากลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร ผู้ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่น ผู้หญิงเก่งประจำอำเภอป่าโมก จังหวัดอ่างทอง เปิดเผยว่า เดิมประกอบอาชีพทำสวนกล้วยหอม แต่ประสบปัญหาราคาตกต่ำขาดทุน แต่ด้วยความใกล้ชิดกับคุณตาคุณยายที่มีภูมิปัญญาชาวบ้านในเรื่องสมุนไพรพอสมควร จึงได้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องสมุนไพรให้

จากจุดนั้นเองจึงได้นำความคิดมาพัฒนาสมุนไพรสู่การสร้างรายได้แทนการทำสวนเกษตรแบบเดิม พร้อมทั้งพัฒนาสูตรสมุนไพร 5 ชนิด ประกอบด้วย ไมยราบ ใบหม่อน เตยหอม ทองพันชั่ง และดอกคำฝอย โดยมีไมยราบเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต "ชาสมุนไพรไทยแท้ ตราแม่บ้าน" สร้างรายได้ให้ตนเอง และส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ปลูกพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ

จากนั้นได้ร่วมกันผลักดันให้เกิด "กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรป่าโมกพัฒนา" ปัจจุบันมีสมาชิก 34 คน ที่รวมตัวกันปลูกและพัฒนาสมุนไพร เช่น ชาใบหม่อน ลูกประคบสมุนไพร สมุนไพรขัดตัวและผลิตภัณฑ์อื่นๆ เป็นต้น

ประเทศไทยมีสมุนไพรมากมาย หากมีการผลักดันและจัดการที่ดีเป็นระบบ จะทำให้สมุนไพรที่เคยขึ้นเป็นวัชพืช กลายเป็นสินค้าสร้างรายได้ในชุมชนอย่างมากมาย

ข้อมูลสื่อ

350-003-2
นิตยสารหมอชาวบ้าน 350
มิถุนายน 2551
กองบรรณาธิการ