โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
คุณเคยรู้สึกสงสารใครคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคนบ้างไหม เมื่อทุกๆเช้าหลังตื่นนอน เขาต้องจามติดๆกัน หลายๆครั้ง หลังจากนั้นก็เช็ดน้ำมูกแล้วเช็ดน้ำมูกอีก
ถ้าเป็นสักวันสองวันก็คงเป็นการเปลี่ยนบรรยากาศที่ไม่เลวเลยทีเดียว แต่นี่เป็นกันเกือบทุกวัน
ครับ...น่าสงสาร
และผู้ที่มีอาการดังกล่าวทุกๆเช้า ก็คงยิ่งสงสารตัวเองที่มีอาการอันน่ารำคาญเต็มทีนี้ อาการดังกล่าวมักเรียกกันว่าโรคแพ้อากาศหรือโรคเยื่อจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ทุกวันนี้คำว่า “โรคภูมิแพ้” คงจะคุ้นหูท่านผู้อ่านกันมา เพราะเกือบจะเรียกว่า เป็นโรคยอดฮิตหรือโรคทันสมัยเลยทีเดียว
โรคภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยคือ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โรคภูมิแพ้ทางผิวหนัง
สำหรับคอลัมน์โรคน่ารู้ฉบับนี้จะว่าด้วยเรื่อง โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ โดยรองศาสตราจารย์แพทย์หญิงฉวีวรรณ บุนนาค หัวหน้าหน่วยโรคภูมิแพ้ ภาควิชาโสต นาสิกลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัย มหิดล ท่านจะมาพูดให้เราเข้าใจว่า โรคภูมิแพ้นั้นเป็นอย่างไร จะดูแลตนเองอย่างไร และแพทย์เขาจะทำการตรวจรักษาอย่างไร
⇒ โรคภูมิแพ้เกิดจากอะไร
โรคภูมิแพ้ไม่ใช่โรคติดเชื้อ เป็นโรคที่เกิดเนื่องจากมีความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยได้รับสิ่งที่แพ้เข้าไปจะทำให้เกิดอาการขึ้น
สิ่งที่แพ้นั้นไม่ใช่เชื้อโรค เป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา เรามักเรียกสิ่งที่ผู้ป่วยแพ้ว่า สารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่นละออง เชื้อรา เกสรดอกไม้บางชนิด เป็นต้น สิ่งที่อยู่รอบๆตัวเราโดยธรรมชาติ ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายเราได้หลายทาง ได้แก่ ทางเดินหายใจ ทางการกิน และทางการสัมผัส คนทั่วไปได้รับสิ่งเหล่านี้เช่นกัน แต่ไม่มีอาการเพราะระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่ผิดปกติ
⇒ อาการของโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจเป็นอย่างไรบ้าง
เริ่มด้วยอาการคันในจมูก หรืออาจคันไปถึงในคอ เพดาน อาจคันตา หรืออาจคันไปถึงหูก็ได้
อาการคันเป็นอาการนำมาก่อน และตามด้วยอาการจามติดต่อกันหลายๆครั้ง มีน้ำมูกใสๆตามมา
ต่อมามีอาการแน่นจมูก หรือหายใจทางจมูกไม่สะดวก เพราะเนื้อเยื่อในจมูกบวมขึ้น
ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมากบางคนอาจมีอาการหูอื้อ รู้สึกมีน้ำมูกไหลลงคอ หรือมีเสียงดังในหูด้วย
ถ้าเป็นที่หลอดลมจะมีอาการไอและหายใจมีเสียงดังวี้ด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ถ้านอนก็ต้องลุกขึ้นนั่ง
⇒ สารก่อภูมิแพ้ทางเดินหายใจที่มีผู้แพ้บ่อยที่สุดคืออะไร
ที่พบบ่อยที่สุดคือ ฝุ่นในบ้าน ตัวไรในฝุ่น นอกจากนั้นก็เป็น นุ่น ขน และรังแคของสัตว์เลี้ยง เกสรของหญ้า และวัชพืชต่างๆ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีสวนหรือสนามหญ้าใกล้บริเวณนั้น เศษชิ้นส่วนและสิ่งขับถ่ายของแมลงในบ้าน เช่น แมลงสาบ ยุง แมลงวัน มด และเชื้อราในอากาศ เป็นต้น
⇒ บางคนตื่นเช้ามามีอาการเหมือนเป็นหวัด ถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้หรือไม่
ถ้าเป็นนานๆครั้ง เมื่ออากาศเปลี่ยนในตอนเช้าหรือช่วงไหนก็ตามคงไม่ใช่โรคภูมิแพ้
แต่ถ้าเป็นประจำก็สงสัยได้ว่าเกิดจากโรคภูมิแพ้ ที่เรียกว่าโรคแพ้อากาศ
ลักษณะเด่นของผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้คือ มักจะมีอาการตอนเช้าหรือหลังสองยามไปแล้ว ตอนเช้านั้นจะมีอาการจามหรือน้ำมูกใสๆ สักพัก แต่พอแดดออกทำอะไรสักพักก็หาย เชื่อกันว่าเป็นผลเนื่องมาจาก
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนบางอย่างในร่างกาย
- จากปฏิกิริยาของการเปลี่ยนท่า เรานอนอยู่นานๆ พอเช้าก็มีการเปลี่ยนจากนอนนานๆมาเป็นนั่งหรือยืน
- การสะสมของสิ่งที่เราแพ้ เวลาเรานอนอาจมีฝุ่นจากที่นอน จากนุ่น หรือเชื้อราที่อยู่กับเครื่องนอน แล้วเราหายใจเข้าไปทีละเล็กละน้อย จนเช้าตื่นขึ้นมา มันอาจจะสะสมอยู่มากจนทำให้เกิดอาการได้ตอนช่วงเช้า
- ตอนเช้าอากาศมักจะเย็น บางคนตอนลุกขึ้นยังไม่เป็น พอล้างหน้าไปโดนน้ำเย็นก็เป็น
⇒ โรคแพ้อากาศและโรคหอบหืด ถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจหรือไม่ เป็นอย่างไร
โรคทั้งสองถือว่าเป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ
การที่จะเกิดอาการของโรคใดนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อรับสิ่งที่แพ้เข้าไปแล้วเกิดปฏิกิริยาที่จุดไหนของทางเดินหายใจ เช่น ถ้าอาการโรคภูมิแพ้เกิดที่จมูก ซึ่งเป็นทางเดินหายใจส่วนต้น เราก็เรียกว่า โรคแพ้อากาศ เพราะสิ่งที่เราแพ้อยู่ในอากาศ หรือเวลาอากาศเปลี่ยน จะทำให้มีอาการเพิ่มมากขึ้น
ถ้าปฏิกิริยาเกิดในหลอดลมจะทำให้หลอดลมหดตัวตีบตัน มีอาการไอ หายใจมีเสียงดังวี้ด แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ก็เรียกว่า โรคหืด
โรคหืดมี 2 ชนิด ชนิดแรกเกิดจากการแพ้สารต่างๆที่หายใจหรือกินเข้าไป ชนิดที่ 2 มักเกิดร่วมกับการติดเชื้อ เราตรวจจะไม่พบว่าแพ้อะไร ไม่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน
โรคหืดเป็นโรคที่รุนแรงกว่าโรคแพ้อากาศ ถ้าเกิดอาการรุนแรงแล้วรักษาไม่ทัน คนไข้อาจตายได้ แต่โรคแพ้อากาศยังไม่พบว่าทำให้ตาย
⇒ เราจะรักษาตนเองอย่างไร
การรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้อาการของโรคดีขึ้น ผู้ป่วยหลายคนไม่เคยออกกำลังกาย หรืออดนอนเสมอ เราแนะนำให้เขารักษาสุขภาพให้ดีขึ้น หลังจากออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้พอเหมาะแล้ว ก็ไม่ต้องมารักษาอีก อาจยังมีการจามบ้างนิดหน่อย แต่ไม่เป็นอะไรมาก
เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเมื่อร่างกายมีสุขภาพดีก็จะมีความต้านทานโดยธรรมชาติ แม้จะมีความผิดปกตินิดหน่อยก็ไม่แสดงอาการ
แม้จะพยายามระวังรักษาสุขภาพอย่างดีแล้ว แต่บางทีก็ยังอาจมีอาการมากได้ เช่น เวลาอากาศเปลี่ยน หรือช่วงที่เป็นหวัด ถ้าเกิดอาการขึ้นมาก็ใช้ยาระงับอาการช่วยได้ ที่รู้จักกันดีคือ ยาแอนตี้ฮิสตามีน หรือยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน เป็นยาค่อนข้างปลอดภัย ได้ผล และราคาถูก
คนที่เป็นโรคแพ้อากาศ บางครั้งนึกว่าตัวเองเป็นไข้หวัด หรือเวลาเป็นหวัด ให้กินยาแก้ไข้หวัด ซึ่งมักมียาแก้แพ้ผสมอยู่ด้วย เมื่อกินยาแก้ไข้หวัดแล้วหาย บางคนจึงใช้ยาแก้หวัดเป็นประจำแทน อันนี้ทำให้ได้รับยาแก้ไข้ และยาอื่นที่มีอยู่เป็นส่วนประกอบโดยไม่จำเป็น ซึ่งอาจเกิดผลเสียต่อร่างกายได้
ทางที่ดีกินยาแก้แพ้ คลอร์เฟนิรามีน เดี่ยวๆ จะปลอดภัยกว่า
อย่างไรก็ตาม หลังจากใช้ยาแก้แพ้ไปนานๆ อาจเกิดการดื้อยาชนิดนั้นขึ้นได้ ทำให้ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งบางคนกินครั้งละ 4 เม็ดก็มี เช่นนี้คงไม่ดี ควรจะไปพบแพทย์เพราะอาจเกิดอันตรายจากยา หรืออาจมีโรคแทรกได้สำหรับผู้ที่เป็นโรคหืด เราไม่ใช้ยาแก้แพ้แอนตี้ฮิสตามีน เราใช้ยาจำพวกขยายหลอดลมซึ่งมีทั้งกินและฉีด
⇒ มีบางคนมักใช้ยาหยอดจมูก ไม่ทราบว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร
ยาหยอดจมูกจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยการหดหลอดเลือด ทำให้อาการบวมในจมูกยุบลง หายใจสะดวกขึ้นแต่ยาหยอดจมูกเหล่านี้มีข้อเสียซึ่งผู้ป่วยทั่วไปก่อนจะใช้ควรจะทราบด้วยคือ เมื่อมันหมดฤทธิ์หลังจากมันหดหลอดเลือดและการบวมยุบลงแล้ว หลังจากนั้น 4-6 ชั่วโมง พอยาหมดฤทธิ์ หลอดเลือดที่ถูกกดอยู่จะคลายตัวและขยายขึ้นกว่าเก่า
คนไข้ไม่ทราบว่า การขยายตัวของหลอดเลือดเนื่องจากฤทธิ์ของยามันจะทำให้แน่นจมูกอีก เขาก็จะหยอดยาอีก และเขาจะหยอดบ่อยขึ้นเรื่อยๆ และถ้าใช้ไปนานๆ ทำให้เยื่อบุจมูกเสียไปได้
ที่แพทย์สั่งให้ใช้นั้น จะใช้เฉพาะในรายที่มีโรคแทรกซ้อนร่วมด้วย เช่น หูอื้อ ไซนัสอักเสบ แต่ไม่แนะนำให้ใช้ติดต่อกันเกิน 2 สัปดาห์
⇒ เมื่อเกิดอาการแล้วไปพบแพทย์ แพทย์จะตรวจรักษาอย่างไร
ขั้นแรกถ้าวินิจฉัยจากการบอกเล่าอาการอย่างเดียวก็คงไม่แน่นอน การตรวจควรทำในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการแพ้ เพราะถ้ามาตรวจในขณะที่ไม่ได้เป็นอะไรแล้ว อาจไม่พบอะไรผิดปกติจากการดูด้วยตา สมมติว่าคนที่เป็นลมพิษ ถ้าเขามาตอนที่ไม่มีผื่น เราก็ไม่รู้ คนที่แพ้อากาศ หรือหอบหืดก็เหมือนกัน
จะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อหาสาเหตุการแพ้ด้วย ที่ทำกันทั่วไปและเป็นวิธีที่ค่อนข้างแน่นอนเชื่อถือได้คือ การทดสอบทางผิวหนังคงเคยได้ยินว่า “ทดสอบภูมิแพ้ฉีดยาตั้ง 30-40 เข็ม”การทดสอบนี้ไม่เหมือนกับการฉีดยา เราใช้เข็มขนาดเล็กที่สุดเท่าที่มีและไม่ได้แทงลงไปลึก แทงลงไปตื้นๆ และฉีดน้ำยาสำหรับทดสอบเข้าไปนิดเดียว หยดเดียวเหมือนมดกัด เพียงแต่ต้องทำหลายอย่าง เพราะสิ่งที่เราแพ้ได้มีมาก
เข็มหนึ่งก็เป็นสารก่อภูมิแพ้อย่างหนึ่ง ถ้าอยากรู้เยอะก็ต้องทำเยอะ ส่วนใหญ่เราจะเลือกทำ
จากการศึกษาเราพอจะรู้ว่า คนเขาแพ้อะไร ถ้าเราอยากทดสอบ 10 อย่าง เราก็ยกมา 10 อันดับแรก ซึ่งคนส่วนใหญ่แพ้และต้องเจอกันทุกคนหลังจากฉีดน้ำยาเข้าไปแล้วต้องรออ่านผลประมาณ 20 นาที จะเกิดรอยนูนแดงขึ้นมาก็จะทราบผลว่าแพ้อะไร มากน้อยแค่ไหน เพราะเราสามารถวัดขนาดได้
ถ้าเราอยากหาวิธีอื่นมาช่วยเสริมก็มีการตรวจเลือดหาปริมาณของสารอิมมูโนกลอบูลิน ชนิด อี ซึ่งเป็นชนิดที่ผิดปกติเกี่ยวกับโรคภูมิแพ้ ดูว่ามีมากน้อยอย่างไร ก็หาได้ แต่วิธีนี้แพง
สำหรับการทดสอบทางผิวหนังมีข้อดีตรงที่ราคาถูก และทำแล้วได้ผลเลย แต่ข้อเสียคือ เจ็บ จึงทำให้บางคนไม่ยอมทำ
เจาะเลือดก็ใช้ได้ แต่ราคาแพง และใช้เวลานานประมาณ 1 สัปดาห์กว่าจะรู้ผล แต่ไม่ดีในแง่คนป่วยไม่เห็นผลด้วยตาของตนเอง ไม่เหมือนการทดสอบทางผิวหนัง บางคนจึงอาจไม่เชื่อ เมื่อเราบอกว่าแพ้อะไร และแนะนำให้กำจัดหรือหลีกเลี่ยงเสีย เมื่อเขาไม่เชื่อ ก็ไม่ปฏิบัติตามบางคนทดสอบแล้วว่า แพ้ขนแมว แต่เขาก็ยังเอาแมวไปนอนด้วยก็ลำบาก เพราะการรักษาอย่างอื่นเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ
การรักษานั้น เราจะแนะนำให้ผู้ป่วยมารักษาแต่เนิ่นๆ ถ้าเป็นตั้งแต่เด็กก็ควรรีบรักษาเพราะโอกาสหายมีมาก ป้องกันโรคไม่ให้เกิดแทรกซ้อนได้
⇒ การฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้เป็นอย่างไร
การฉีดวัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ จะต่างจากการฉีดวัคซีนเพื่อรักษาโรคติดเชื้อ อย่างไทฟอยด์ อหิวาต์ ซึ่งฉีดเพียงครั้งเดียวก็มีผลในการป้องกันได้เป็นเดือน หรือเป็นปี
ส่วนโรคภูมิแพ้เนื่องจากความผิดปกติอยู่ในตัวเราเอง การฉีดวัคซีนก็ใช้น้ำยาสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่เขาแพ้นั้นเอง ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้น จึงต้องฉีดทีละน้อยแล้วค่อยๆเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นอาจเกิดการแพ้ได้ จึงต้องใช้เวลาฉีดต่อเนื่องกันเป็นเดือน เป็นปีจึงจะได้ผล แต่เป็นการรักษาที่ตรงจุดที่สุด คือมุ่งแก้ไขที่ระบบคุ้มกันที่ผิดปกติของผู้ป่วย
โดยมากเราจะแนะนำให้ฉีดกับผู้ที่แพ้มาก เช่น เป็นตลอดทั้งปีหรือมีโรคแทรกซ้อน หรือผู้ที่แพ้สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
⇒ โรคภูมิแพ้นี้เป็นกรรมพันธุ์หรือไม่
เราพบว่าเป็นกรรมพันธุ์ได้โดยเฉพาะถ้าพ่อแม่เป็นทั้งคู่ ลูกก็มีโอกาสเป็นได้มาก เท่าที่เราศึกษาผู้ป่วยที่มาหาด้วยการซักประวัติพบว่าเขามีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นโรคภูมิแพ้อยู่ด้วยประมาณร้อยละ 60
ดังที่กล่าวมาแล้วว่า โรคภูมิแพ้อาจแสดงอาการที่หลอดลมหรือผิวหนังก็ได้ เพราะฉะนั้นผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเป็นโรคภูมิแพ้เหมือนพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องคือ พ่อแม่ ญาติพี่น้องอาจเป็นผื่นผิวหนังจากการแพ้ แต่เขาอาจเป็นโรคแพ้อากาศก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นแบบเดียวกัน แต่ก็เป็นโรคภูมิแพ้เช่นกัน
⇒ ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่เป็นโรคภูมิแพ้ กลุ่มใดพบมากกว่ากัน
ถ้าพูดถึงอายุก็เป็นได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมากหรือเป็นน้อย ผู้ป่วยที่อาการมากมักจะเริ่มเป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ อาจแสดงอาการตั้งแต่อายุน้อยๆเลย โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจนั้นจะพบในเด็กผู้ชายบ่อยกว่าในเด็กผู้หญิง
ในวัยหนุ่มสาวหรือวัยผู้ใหญ่ จะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่เมื่อรวมกันแล้วไม่นับอายุ ผู้หญิงกับผู้ชายก็เป็นเท่ากัน คือไม่เลือกเพศ
⇒ ก่อนจาก...อาจารย์มีอะไรจะฝากบ้าง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจนั้น อยากให้ดูแลสุขภาพทั้งกายและใจให้ดี เพราะมีผลต่ออาการมาก ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ หากได้ทราบว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ พยายามกำจัด หรือหลีกเลี่ยงเอาไว้ ก็จะดำเนินชีวิตได้ตามปกติ
ถ้าหากเกิดอาการขึ้นนานๆ ครั้ง ยาแอนตี้ฮิสตามีนจะช่วยระงับอาการได้ แต่ถ้าได้พยายามปฏิบัติตัวตามคำแนะนำอย่างดีแล้ว ยังมีอาการมากอยู่ หรือมีโรคอื่นแทรกซ้อน ก็ควรรีบไปพบแพทย์
เป็นหวัด น้ำมูกใส คัดจมูก ลมพิษ แพ้อากาศ แพ้ยา |
ก. ยาเม็ดแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน ขนาด 2 มิลลิกรัม (25)
วิธีใช้
กินวันละ 3-4 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ
ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1-2 เม็ด
เด็ก 6-12 ปี กินครั้งละ 1 เม็ด
เด็ก 3-6 ปี กินครั้งละ ครึ่งเม็ด
เด็ก 1-3 ปี กินครั้งละ ¼ เม็ด (ครึ่งของครึ่งเม็ด)
ข้อห้าม :
1. ห้ามใช้กับคนที่มีน้ำมูก เสมหะสีเหลืองหรือเขียว คนที่เป็นโรคหืด
2. ห้ามกินร่วมกับยาระงับประสาททุกชนิด หรือเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีเหล้าผสม
3. ห้ามใช้ในเด็กต่ำกว่า 1 ขวบ
ข้อควรระวัง :
1. กินแล้วง่วงนอน มึนงง ห้ามขับรถ ขับเรือ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือของมีคม เพราะอาจเกิดอันตรายได้
2. การใช้ในเด็กต้องระวัง โดยเฉพาะเด็ก 1-3 ปี ถ้าไม่จำเป็นไม่ควรใช้ เพราะถ้ากินเกินขนาดจะทำให้เกิดอาการตื่นเต้น กระวนกระวาย หายใจขัดและอาจเกิดอาการชัก ถึงตายได้ ถ้าจำเป็นให้ระวังขนาดใช้อย่าให้เกิน โดยใช้หักแบ่งจากยาเม็ดตามขนาดใช้ บดให้เป็นผงละลายน้ำ น้ำเชื่อม น้ำผึ้ง หรือนม ก็ได้ให้กิน
ข. ยาเม็ดแก้แพ้คลอร์เฟนิรามีน ขนาด 4 มิลลิกรัม (26)
วิธีใช้ :
กินวันละ 3-4 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ
ผู้ใหญ่ กินครั้งละ 1 เม็ด
เด็ก 6-12 ปี กินครั้งละ ครึ่งเม็ด
เด็ก 3-6 ปี กินครั้งละ ¼ เม็ด (ครึ่งของครึ่งเม็ด)
ข้อห้าม :
เหมือนยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ขนาด 2 มิลลิกรัม
ข้อควรระวัง :
เหมือนยาเม็ดคลอร์เฟนิรามีน ขนาด 2 มิลลิกรัม
ข้อมูลข้างต้น คัดจาก “คู่มือการใช้ยาสาธารณสุขมูลฐาน” จัดทำโดย องค์กรพัฒนาเอกชนทางด้านสาธารณสุข
- หากห้องสมุดหรือแหล่งชุมชนใดที่ขาดทุนทรัพย์ ต้องการคู่มือเล่มนี้ ขอเชิญจดหมายขอคู่มือเล่มนี้ไปยัง มูลนิธิหมอชาวบ้าน ตู้ป.ณ.กลาง 192 กรุงเทพฯ 10501
- สำหรับผู้มีทุนทรัพย์ โปรดช่วยเหลือค่าจัดพิมพ์และค่าจัดส่งโดยส่งแสตมป์มูลค่า 2.00 บาท จำนวน 3 ดวงต่อ 1 เล่ม
- อ่าน 183,696 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้