มะเร็งปอดในที่นี้หมายถึง มะเร็งที่เกิดขึ้นจากเนื้อเยื่อปอดโดยตรง มีแหล่งกำเนิดอยู่ในปอด ไม่นับรวมมะเร็งที่แพร่จากที่อื่นมาที่ปอด
มะเร็งปอดส่วนใหญ่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ และเนื่องจากมะเร็งปอดมีการลุกลามเร็ว เมื่อมีอาการแสดงชัดเจนมักจะตรวจพบว่าเป็นระยะท้ายรักษาไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นทางที่ดีควรหาทางป้องกันด้วยการไม่สูบบุหรี่
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ก็อาจเป็นมะเร็งปอดได้ เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ หรือเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุก็ได้ แต่พบได้เป็นส่วนน้อย
- ชื่อภาษาไทย มะเร็งปอด
- ชื่อภาษาอังกฤษ Lung cancer
- สาเหตุ
ร้อยละ 80-90 มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ ซึ่งมีสารก่อมะเร็งอยู่หลายชนิด ยิ่งสูบปริมาณมากและนาน ก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น แม้แต่ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ แต่รับควันบุหรี่จากคนข้างเคียง (เช่น คนในบ้านเดียวกัน หรือในที่ทำงานที่สูบบุหรี่) ก็มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดเช่นเดียวกัน สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ ถ้าเลิกสูบ ก็จะลดความเสี่ยงลงได้
นอกจากนี้ ยังอาจมีปัจจัยเสี่ยงที่เกิดจากการสัมผัส สารใยหิน (แอสเบสทอส) ในที่ทำงาน เช่น การก่อสร้างอาคาร การทำงานเกี่ยวกับผ้าเบรก คลัตช์ ฉนวนกันความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งใช้เวลาสัมผัสนาน 15-35 ปี กว่าจะเป็นมะเร็งปอด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสูบบุหรี่ด้วยก็ยิ่งเสี่ยงมากขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น การสัมผัสก๊าซเรดอน (radon ซึ่งเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ ยูเรเนียมในหินและดิน) ในเหมืองแร่ใต้ดินหรือในอาคารที่ใช้วัสดุที่มีการปนเปื้อนก๊าซชนิดนี้ การสัมผัสมลพิษทางอากาศ (เช่น ควันพิษจากรถยนต์) การทำงานในโรงงานถลุงเหล็ก นิกเกิล โครเมียม แคดเมียม โรงงานน้ำมัน ดินน้ำมัน การสัมผัสเขม่าจากโรงงาน การดื่มน้ำที่มีสารหนูเจือปน นอกจากนี้ยังพบว่าการกินผักและผลไม้น้อยเป็นปัจจัยเสริมให้ผู้ที่สูบบุหรี่เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้มากขึ้น เป็นต้น
บางครั้งอาจพบมะเร็งปอดในผู้ป่วยที่มีแผลเป็นในปอดจากโรคปอด เช่น วัณโรคปอด ถุงลมปอดโป่งพอง ภาวะเยื่อพังผืด (fibrosis) ในปอด เป็นต้น ซึ่งอาจพบผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ได้
บางรายอาจเป็นมะเร็งปอดโดยไม่ทราบสาเหตุ กล่าวคือ ไม่มีประวัติการสูบบุหรี่ และปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนก็ได้
- อาการ
ระยะแรกเริ่มมักไม่มีอาการแสดงใดๆ ให้รู้สึกได้ อาการผิดปกติจะเกิดขึ้นเมื่อเป็นมะเร็งระยะมากแล้ว
อาการที่พบได้บ่อยก็คือ ไอเรื้อรัง อาจไอมีเลือดปนเสมหะ หรือไอออกเป็นเลือดสด หายใจมีเสียงดังวี้ด เจ็บหน้าอกเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุ (อาจเจ็บมากขึ้นเวลาหายใจเข้าลึกๆ เวลาไอหรือหัวเราะ) บางครั้งอาจทำให้เข้าใจว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
ต่อมาผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หายใจหอบเหนื่อย และอาจมีการติดเชื้อแทรกซ้อน เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น
- การแยกโรค
ในระยะที่มีอาการไอหรือเจ็บหน้าอก น้ำหนักตัวยังไม่ลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
♦ หลอดลมอักเสบ ผู้ป่วยมักมีอาการไอมีเสมหะ โดยไม่มีไข้ ไม่เบื่ออาหาร ไม่อ่อนเพลีย มักจะมีอาการหลังจากเป็นไข้หวัด
♦ ปอดอักเสบ ผู้ป่วยจะมีไข้สูง ไอมีเสมหะ เจ็บหน้าอก หายใจหอบเหนื่อย
♦ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเค้นตรงลิ้นปี่ และร้าวขึ้นไปที่คอ ขากรรไกร หัวไหล่ หรือต้นแขนมักพบในคนสูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันเลือดสูง คนอ้วน ผู้ที่สูบบุหรี่จัด
ในระยะที่มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด อาจแยกจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
♦ วัณโรคปอด ผู้ป่วยมักมีอาการไข้และไอเรื้อรัง ไอมีเสมหะ หรือไอมีเลือดปนเสมหะร่วมด้วย
♦ มะเร็งตับ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บบริเวณชายโครงข้างขวา คลำได้ก้อนแข็งที่ใต้ชายโครงขวา (เป็นก้อนของตับที่โต) ท้องบวมร่วมด้วย
การวินิจฉัย
แพทย์จะทำการวินิจฉัยโรคมะเร็งปอดด้วยการเอกซเรย์ปอด ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ นำเสมหะไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง การใช้กล้องส่องตรวจหลอดลม การใช้เข็มเจาะเนื้อปอด นำไปตรวจชิ้นเนื้อ รวมทั้งการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อวินิจฉัยชนิดของเซลล์มะเร็งและระยะของโรค ซึ่งเป็นพื้นฐานในการกำหนดแผนการรักษาต่อไป
- การดูแลตนเอง
เมื่อมีอาการไอเรื้อรัง หรือเจ็บหน้าอก (นานเกิน 2 สัปดาห์) หรือมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ควรไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว
เมื่อตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปอด ควรปฏิบัติดังนี้
♦ รับการรักษาจากแพทย์ตามขั้นตอนที่แพทย์พิจารณาเห็นสมควร และอดทนต่อผลข้างเคียงจากการรักษาของแพทย์ (เช่น เคมีบำบัด) ซึ่งมักจะเกิดขึ้นชั่วระยะหนึ่ง
♦ ทำใจยอมรับความจริงและใช้ชีวิตในปัจจุบันให้มีคุณค่าที่สุด ระหว่างรับการรักษา ถ้าผู้ป่วยยังสามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ดี ก็ควรทำหน้าที่การงานที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด
♦ หาเวลาทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ ออกกำลังกายที่พอเหมาะ ฝึกสมาธิเจริญสติ สวดมนต์ ภาวนา เจริญมรณสติและเตรียมพร้อมที่จะเผชิญวาระสุดท้ายของชีวิต หาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น หาทางเข้ากลุ่มเพื่อพูดคุยปรับทุกข์และให้กำลังใจร่วมกันกับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งด้วยกัน เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมกับกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนหรือมิตรภาพบำบัด
- การรักษา
แพทย์จะให้การรักษาซึ่งประกอบด้วยการผ่าตัด รังสีบำบัด (การฉายรังสี) และเคมีบำบัด โดยเลือกวิธีรักษาให้เหมาะกับผู้ป่วย ได้แก่ ชนิดของเซลล์มะเร็ง (ซึ่งมีอยู่หลายชนิด บางชนิด เช่น small cell lung cancer อันเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ มีการแพร่กระจายไปสู่อวัยวะนอกปอดได้เร็ว เมื่อพบก็ไม่อาจรักษาด้วยการผ่าตัดเสียแล้ว) ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย (เช่น อายุ ความแข็งแรง การมีโรคอื่นร่วม)
- ภาวะแทรกซ้อน
อาจทำให้เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อน (เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ) หรือมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) ทำให้หอบเหนื่อย หายใจลำบาก
ที่สำคัญคือ มะเร็งมักจะแพร่กระจายไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูก ทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย พิการ หรือทุกข์ทรมาน
- การดำเนินโรค
เนื่องจากมะเร็งปอดในระยะแรกเริ่มมักจะไม่มีอาการผิดปกติให้สังเกตได้ ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็นมะเร็ง ปล่อยจนกระทั่งเป็นมากแล้วจึงค่อยมีอาการ (เช่น ไอ เจ็บหน้าอกเรื้อรัง) ที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์ พอถึงขั้นนี้ก็มักจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งระยะท้ายๆ การรักษาจึงเป็นเพียงการประทังอาการ ผู้ป่วยมักจะมีชีวิตอยู่ได้ระยะหนึ่ง เฉลี่ยประมาณ 6-12 เดือน รายที่ตอบสนองต่อการรักษาก็อาจอยู่ได้นาน 2-3 ปี หรือมากกว่า ในรายที่สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม และเป็นชนิดที่ลุกลามช้า หรือตอบสนองต่อการรักษา ก็อาจจะอยู่ได้นานหรือหายขาดได้
- การป้องกัน
มะเร็งปอดส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงการสัมผัสควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ สารใยหินและมลพิษทางอากาศ กินผักและผลไม้ให้มากๆ ออกกำลังกายเป็นประจำ
- ความชุก
โรคนี้พบมากเป็นอันดับที่ 2 ของมะเร็งในผู้ชาย และอันดับที่ 4 ของมะเร็งในผู้หญิง
พบมากในช่วงอายะ 50-75 ปี
ระยะของมะเร็งปอด
ระยะที่ 1 มะเร็งจำกัดอยู่ภายในปอด อาจลุกลามถึงหลอดลม หรือเยื่อหุ้มปอดชั้นใน (visceral pleura) แต่ยังไม่ลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง
ระยะที่ 2 มะเร็งลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอด หรือรอบๆ หลอดลม หรือลุกลามไปยังผนังทรวงอก (กระดูกซี่โครง) กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก (parietal pleura) หรือเยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก
ระยะที่ 3 มะเร็งลุกลามไปยังผนังทรวงอก กะบังลม เยื่อหุ้มปอดชั้นนอก เยื่อหุ้มหัวใจชั้นนอก ร่วมกับแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขั้วปอดหรือรอบๆ หลอดลม หรือไปยังเนื้อเยื่อภายในประจันอก (mediasternum) หัวใจ ท่อลม หลอดอาหาร หรือกระดูกสันหลัง หรือแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่แอ่งไหปลาร้าหรือประจันอกข้างเดียวกัน หรือแพร่ไปที่ต่อมน้ำเหลืองขั้วปอดหรือประจันอกในทรวงอกข้างตรงข้าม
ระยะที่ 4 มะเร็งแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นๆ ที่นอกปอด เช่น สมอง ไขสันหลัง ตับ กระดูกทั่วร่างกาย เป็นต้น
- อ่าน 23,957 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้