ฟักเขียว ชื่อวิทยาศาสตร์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn. หรือ wax gourd เป็นพืชตระกูลแตง Cucurbitaceae
ตามท้องถิ่นฟักเขียวจะมีชื่อเรียกกันต่างๆ
ภาคกลางเรียก "ฟัก ฟักขาว ฟักแฟง"
ภาคอีสานเรียก "บักฟัก"
ภาคใต้เรียก "ขี้พร้า"
ภาคเหนือเรียก "ฟักหม่น"
ฟักเขียวเป็นผักพื้นบ้านที่รู้จักกันดีมาแต่เดิม เป็นผักสวนครัวชนิดหนึ่งที่ปลูกง่าย หาได้ง่าย และลงทุนปลูกน้อยไม่ต้องพึ่งสารเคมี เป็นผักชนิดแรกที่เด็กเริ่มหัดกิน ช่วยในเรื่องระบบย่อยอาหารและบำรุงร่างกายได้
ฟักเขียวเป็นไม้เถาเลื้อยตระกูลแตง ใบมีสีเขียวเป็นหยักใบหยาบ ดอกมีสีเหลือง ผลเป็นรูปกลมยาวขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่ เปลือกสีเขียวมีขนอ่อนเล็กน้อย เนื้อในจะมีสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ ตรงกลางมีเมล็ด ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ปลูกได้ในดินร่วนปนทรายระบายน้ำได้ดี เป็นผักที่มีอายุการปลูกสั้น ปลูกเพียง 3 เดือนก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว
คุณค่าทางโภชนาการ
คนไทยจะนำผลฟักเขียวมาประกอบอาหารโดยการใส่ในแกง ต้ม ผัดต่างๆ บ้างทำเป็นขนมหวานในเทศกาล แต่เมนูยอดนิยมคงจะเป็นแกงเขียวหวานไก่ฟักเขียว แกงจืดฟักต้มกับไก่ แกงเลียง ฟักเขียวผัดกับหมูใส่ไข่ ฟักเชื่อม รวมถึงยอดอ่อนที่นำมาลวก หรือต้มกะทิ กินกับน้ำพริกได้ มีรสชาติอร่อยไม่แพ้ผักอื่นเหมือนกัน
ทั่วโลกใช้ผลฟักเขียวกินได้ทั้งดิบและสุก ใช้เป็น ผัก ดอง ปรุงแกงเผ็ด หรือกวนแยม กินได้ทั้งผลอ่อนและผลแก่
ผลอ่อนจะรสเข้มกว่าผลแก่ เนื้อผลจะมีน้ำมาก สามารถเก็บรักษาผลได้นานเป็นเดือนหรือค่อนปีเพราะมีขี้ผึ้งเคลือบอยู่ภายนอก
ใบอ่อนและตาดอกกินโดยการนึ่งใช้เป็นผัก หรือใส่ในแกงจืดเพิ่มรสชาติ
เมล็ดทำให้สุกแล้วกินได้ อุดมไปด้วยน้ำมันและโปรตีน
แคลอรี | กรัม | กรัม | กรัม | กรัม | มก. | มก. |
พลังงาน | โปรตีน | ไขมัน | คาร์โบไฮเดรต | เส้นใย | แคลเซียม | ฟอสฟอรัส |
13 | 0.4 | 0.2 | 3 | 0.4 | 19 | 19 |
มก. | มก. | มก. | มก. | มก. | มก. | มก. |
เหล็ก | โซเดียม | โพแทสเซียม | วิตามินบี 1 | วิตามินบี 2 | ไนอะซิน | วิตามีนซี |
0.4 | 6 | 111 | 4 | 0.11 | 0.4 | 13 |
แสดงคุณค่าทางโภชนาการของฟักต่อผลสด 100 กรัม
สรรพคุณทางยา
สรรพคุณทางยาแผนไทยของฟักเขียวมีมากมาย
ใบ แก้ฟกช้ำ แก้พิษผึ้งต่อย ช่วยรักษาบาดแผล แก้โรคบิด แก้ร้อนในกระหายน้ำ แก้บวมอักเสบมีหนอง
ผล ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ แก้ไอ แก้ธาตุพิการ แก้โลหิตเป็นพิษ บวมน้ำ หลอดลมอักเสบ
เมล็ด ใช้ลดไข้ แก้ริดสีดวงทวาร แก้โรคทางเดินปัสสาวะ แก้ไตอักเสบ บำรุงผิว ละลายเสมหะ
ราก ต้มดื่มแก้ไข้ แก้กระหายน้ำ ถอนพิษ
เถาสด รสขมเย็น ใช้รักษาริดสีดวงทวาร มีไข้สูง
เปลือก เป็นยาแก้บวม ขับปัสสาวะ แก้ท้องเสีย แผลบวมอักเสบ มีหนอง
ผลฟักเขียวทั้งลูกมีที่ใช้ในทางยาทั่วโลก เปลือกผลกินขับปัสสาวะ เถ้าเปลือกใช้ใส่แผล เมล็ดขับพยาธิ ลดอักเสบ หล่อลื่นอวัยวะเมือก ลดไข้ ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ใช้เป็นยาระบาย และเพิ่มกำลังวังชา
ตำรายาอายุรเวทของประเทศอินเดียใช้เมล็ดฟักเขียวแก้ไอ แก้ไข้ กระหายน้ำ และขับพยาธิ น้ำมันจากเมล็ดใช้ขับพยาธิด้วย ผลมีฤทธิ์เพิ่มพลังเพศ ขับปัสสาวะ เป็นยาระบาย และเพิ่มกำลังวังชา ใช้รักษาโรคชัก โรคปอดและหอบหืด น้ำคั้นผลฟักใช้รักษาโรคชักและโรคเส้นประสาท
งานวิจัยพบสารเทอร์พีนต้านมะเร็งจากผลฟัก ส่วนน้ำต้มรากใช้รักษาโรคหนองใน ขี้ผึ้งหุ้มผลใช้ทำเทียนไขได้ ระบบรากทนต่อโรคจึงไว้ใช้เป็นต้นตอสำหรับการปลูกพืชตระกูลแตงอื่นๆ
ประเทศเกาหลีใช้ฟักเขียวในการรักษาโรคเบาหวาน และขับปัสสาวะ
งานวิจัยฟักเขียวในปัจจุบัน ต้านและป้องกันมะเร็ง ป้องกันโรคหลอดเลือด และลดขนาดเซลล์ไขมัน
งานวิจัยในประเทศเกาหลีทดสอบฤทธิ์ต้านการสร้างหลอดเลือดจากสารสกัดเมล็ดของฟักเขียว พบว่าสารสกัดเมล็ดฟักเขียวลดการแบ่งตัวของเซลล์และการสร้างหลอดเลือด ชนิดที่ต้องการสารกระตุ้นการเจริญจากไฟโบรบลาสต์ (basic fibroblast growth factor bFGF) โดยแปรผันตามความเข้มข้นสารสกัด สารสกัดดังกล่าวไม่มีพิษต่อเซลล์ปกติ นอกจากนั้นแล้วสารสกัดเมล็ดฟักเขียวแสดงผลหยุดยั้งการสร้างหลอดเลือดชนิดที่ต้องการ bFGF ในสัตว์ทดลองอีกด้วย
ประเทศจีนใช้ฟักเขียวในการรักษาผู้ป่วยความดันเลือดสูงและรักษาอาการอักเสบ งานวิจัยในประเทศจีนศึกษาฤทธิ์ต้านออกซิเดชั่นและฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน (angiotensin-converting enzyme ACE) ของเนื้อผล ไส้ เมล็ดและเปลือกฟักเขียวด้วยการสกัดต่างวิธี
สารสกัดจากเมล็ดมีสารต้านออกซิเดชั่นของกรดไลโนเลอิกมากที่สุดและพบน้อยสุดในเนื้อผล สารสกัดเมล็ดลดอัตราออกซิเดชั่นของไขมันชนิดไม่ดี (low-density lipoprotein = LDL) และยับยั้งฤทธิ์เอนไซม์สร้างแอนจิโอเทนซิน ได้มากที่สุดเมื่อเทียบกับสารสกัดจากส่วนอื่นของผลฟัก คาดว่าผลเหล่านี้เนื่องมาจากเมล็ดฟักมีสารประกอบฟีนอลและมีฤทธิ์เอนไซม์ซูเปอร์ออกไซด์ดิสมิวเตสมากกว่าในส่วนอื่นของผล เชื่อว่าสรรพคุณของเมล็ดฟักเขียวดังที่กล่าวมานี้อาจใช้ในการป้องกันโรคหลอดเลือดและมะเร็งได้
การวิจัยเนื้อฟักเขียวลดความเซลล์ไขมัน ในประ-เทศจีนมีผงไฮดองกัว ซึ่งประกอบด้วยสาหร่ายลามินาเรีย และเนื้อฟักเขียว พบว่าเมื่อหนูเบาหวานไฮโพทาลามิกจากผงชูรสได้รับผงไฮดองกัว 2.5 กรัม/กิโลกรัม หนูเหล่านั้นมีขนาดเซลล์ไขมันลดลงและมีค่าดรรชนีโรคอ้วนต่ำลงด้วย โดยหนูทดลองกินอาหารปกติ ไม่มีอาการท้องเสีย ไม่มีความผิดปกติเกี่ยวข้องกับต่อมไทรอยด์ และการเผาผลาญน้ำและเกลือแต่อย่างใด
ไม่น่าเชื่อว่า ผักพื้นๆ มีคุณค่าที่ล้ำลึก ไปกราบแม่คราวหน้าขอชิมฟักเขียวผัดไข่ของโปรดสมัยเป็นเด็กฝีมือแม่ดีกว่า หลังจากได้พบแง่มุมสุขภาพใหม่ๆ ในอาหารไทยเดิม
- อ่าน 35,791 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้