สวัสดีครับ ผู้อ่านหลายท่านอาจแปลกใจว่าคอลัมน์ "คุยกับหมอพินิจ" ทำไมเป็น "คุยกับหมอไพโรจน์" ... แล้วคุณหมอพินิจหายไปไหน
ท่านไม่ได้หายไปไหนไกล ยังทำงานเพื่อประเทศชาติ เนื่องจากได้รับการสรรหาให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2551 ท่านจึงต้องขอลาออกจากการเป็นกรรมการแพทยสภาและอนุกรรมการแพทยสภา
ด้วยเหตุนี้เอง ผมในฐานะผู้ช่วยเลขาธิการแพทยสภา ได้รับมอบหมายจากท่านเลขาธิการแพทยสภาให้มาทำหน้าที่แทน เพื่อให้ความรู้ผู้อ่านนิตยสารหมอชาวบ้าน
ท่ามกลางความยินดีปรีดาทั้งคู่สมรสและญาติพี่น้อง ที่กำลังจะมีสมาชิกใหม่ในอนาคตอันใกล้ แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจว่า อันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้จากการตั้งครรภ์มีอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์จนหลัง คลอด
แพทย์ศิริราชท่านหนึ่งกล่าวว่า การตั้งครรภ์เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่งซึ่งต้องได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์อย่างใกล้ชิด
ภาวะที่ผิดปกติบางอย่าง เมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจมีอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น ภาวะครรภ์เป็นพิษ ไตวาย ตับล้มเหลว หลอดเลือดอวัยวะสำคัญอุดตัน เป็นต้น
แม้กระทั่งบางภาวะ ไม่มีโอกาสทราบล่วงหน้า เช่น น้ำคร่ำย้อนไปที่ปอด ซึ่งมารดามีโอกาสเสียชีวิต ร้อยละ 80 แม้แพทย์ผู้รักษาจะเก่งเพียงใดก็ตาม
อันตรายที่เกิดขึ้นจากทารกในครรภ์ก็มี เช่น ภาวะรกผิดปกติ หรือสายสะดือผิดปกติ เช่น สายสะดือย้อย ทารกในครรภ์จะเสียชีวิตได้ทันที
อดีต การตั้งครรภ์และการคลอด มีอัตราส่วนของผลกระทบที่เกิดแก่มารดาและทารกเป็นจำนวนมากกว่าในปัจจุบัน
ประชาชนเข้าใจดีว่าเมื่อตั้งครรภ์แล้วจะต้องมีการฝากครรภ์ เพื่อจะได้มีการตรวจครรภ์เป็นระยะๆ คู่สมรส บางคู่มาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่ก่อนแต่งงานหรือก่อนมีบุตร
ควรเริ่มต้นฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ การรู้ความผิดปกติได้เร็วย่อมสามารถแก้ปัญหาได้ดีกว่า ถ้าจำประจำเดือนครั้งสุดท้ายได้ดีจะมีประโยชน์ต่อการนับอายุครรภ์อย่างแน่นอน
การมีโรคประจำตัว หรือมีประวัติความเจ็บป่วยบางอย่างในครอบครัว หรือมีความผิดปกติในระหว่างการตั้งครรภ์ใด ถือว่าเป็นภาวการณ์ตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายที่จะปรากฏในระยะเวลาต่อมาเช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันเลือดสูง โรคเลือด โรคไต และอื่นๆ
การฝากครรภ์จึงเป็นการดูแลบุคคลทั้งสองคน (มารดาและทารก) เพื่อให้ผ่านวิกฤติการณ์ต่างๆ จนกว่าจะสิ้นสุดการตั้งครรภ์อย่างสมบูรณ์ หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเหมือนทหารเข้าสู่สนามรบ เมื่อสิ้นสุดสงครามไม่ทราบว่าจะรอดจากสงครามหรือไม่ เป็นคำพูดของใครบางคนที่ผู้เขียนเคยได้ยินมา จึงต้องนำพูดต่อ
มารดาที่อายุมาก เช่น อายุเกิน 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์ เนื่องจากโครโมโซมผิดปกติ เช่น ดาวน์ซินโดรม ทราบได้โดยการเจาะน้ำคร่ำ ผ่านทางหน้าท้อง ส่งตรวจวินิจฉัย แต่อย่างไรก็ตาม การเจาะน้ำคร่ำก็มีความเสี่ยงถึงแท้งได้เช่นกัน
หญิงมีครรภ์จะต้องตัดสินใจด้วยตนเอง ว่าจะยอมรับความเสี่ยงทางด้านใด
ภาวะทางจิตใจของมารดาก็มีผลต่อคุณภาพการตั้งครรภ์ การออกกำลังกายและการกินอาหารที่มีประโยชน์เป็นการส่งเสริมการตั้งครรภ์ น้ำหนักที่เพิ่มขึ้นจากการตั้งครรภ์ ควรเฉลี่ยประมาณเฉลี่ย 11 กิโลกรัม การที่ทารกในครรภ์น้ำหนักมากเกินไป จะทำให้คลอดยาก น้ำหนักทารกแรกคลอดที่เหมาะสมควรอยู่ระหว่าง 2,900-3,100 กรัม ถ้าการตั้งครรภ์ดำเนินไปด้วยดี ก็จะคลอดในช่วงอายุครรภ์ระหว่าง 37-41 สัปดาห์
การคลอดก่อน 27 สัปดาห์ เรียกว่า "คลอดก่อนกำหนด" ทารกที่คลอดก่อนกำหนดอาจมีปัญหาในเรื่องความพร้อมในการทำงานของปอดทารกได้ แต่ถ้าเกินกำหนดรกจะเริ่มเสื่อมมีหินปูนจับ แพทย์จะพิจารณาเร่งคลอด การผ่าตัดคลอดเป็นทางเลือก
กรณีที่ไม่สามารถคลอดเองได้ เช่น ท่าของทารกคลอดผิดปกติ เช่น ท่าขวาง หรือท่าก้น ตัวใหญ่ หรือผ่าตัดกรณีรีบช่วยเหลือทารกหรือมารดาที่มีภาวะวิกฤติ
อาการที่ถือว่าเจ็บครรภ์คลอดคือ ปวดท้อง ท้องแข็งเป็นพักๆ มีน้ำเดินหรือมีมูกปนเลือด ต้องรับไปโรงพยาบาลทันที ถือว่ากระบวนการคลอดได้เริ่มต้นแล้ว
กรณีเลือดออกผิดปกติ เกิดขึ้นทั้งก่อนกำหนดคลอด ระหว่างคลอดหรือหลังคลอด อาจเป็นอันตรายที่เกิดจากรกเกาะต่ำ หลอดเลือดเกาะต่ำ รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือไม่ลอกตัว อาจจำเป็นต้องให้เลือด และสารเลือดจำนวนมาก ซึ่งเป็นภาวะตกเลือด ทารกที่คลอดจะต้องเผชิญกับภาวะวิกฤติต่างๆ ร่วมไปกับมารดาด้วย ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทารกอาจมีผลแทรกซ้อนเพียงชั่วคราวหรือถาวร
อย่างไรก็ตาม ผลที่คาดไม่ถึงต่างๆ จากการตั้งครรภ์และการคลอดเป็นเพียงส่วนน้อยของการตั้งครรภ์ทั้งหมด แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ความไม่ประมาทจึงเป็นหนทางที่จะประคับประคองการตั้งครรภ์ให้ประสบความสำเร็จอย่างดีที่สุด
- อ่าน 5,217 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้