• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์พอเพียง

ทุกวันนี้เราได้ยินคำว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" กันบ่อยมาก คนส่วนหนึ่ง ก็เข้าใจความหมายได้อย่างถูกต้องลึกซึ้ง แต่คงมีอีกจำนวนไม่น้อยที่รู้จักความหมายแต่เพียงผิวเผิน พูดกันเพื่อให้เกิดความเท่ หรือทำตามกระแส แต่การเข้าใจความหมาย ที่แท้จริงนั้นกลับคลาดเคลื่อนไป

คำว่า "พอเพียง" ไม่ใช่ "เพียงพอ" "พอแล้ว" หรือ "พอเถอะ" โดยนัยของปรัชญานี้มีหลักง่ายๆ ว่าพึ่งตนก่อนพึ่งพาผู้อื่น ทำอะไรต้องพอดี พอประมาณกับสภาพของตนเอง ใช้เหตุผล มีความรู้ ควบคู่กับคุณธรรม มีภูมิต้านทานพร้อมรับความเสี่ยง หากมีปัจจัยที่คาดไม่ถึงมาเป็นอุปสรรคก็จะไม่เสียหายมาก เพราะเน้นที่ความพอดีและพึ่งพาตนเองเป็นสำคัญ

มีคำพังเพยเปรียบว่า "เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง" หมายถึงการทำอะไรใหญ่เกินตัว เป็นการกระทำที่ตรง ข้ามกับ "พอดี" "พอประมาณ" "พอเพียง" แต่ทว่า ยังพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นแวดวง อะไร บทเรียนในอดีตที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการทำอะไรที่ใหญ่เกินตัว ขาดภูมิต้านทาน จึงอ่อนแอและได้รับความเสียหายมากมายมหาศาล

วงการแพทย์ก็เช่นกัน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ โรงพยาบาลจำนวนไม่น้อยต้องประสบปัญหาจนต้องปิดกิจการลง หรือต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูประนอมหนี้ เรียกว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว นั่นย่อมแสดงว่าการลงทุนสร้างหรือขยายโรงพยาบาลต้องใช้เงินกู้จำนวนมาก ซึ่งหากทำอย่างพอเพียงจะต้องประเมินความเสี่ยงอย่างรอบคอบและต้องพร้อมรับมือกับความเสี่ยงนั้น

ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับการเน้นลงทุนในเครื่องมืออุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ที่ราคาแพงมาก โดยไม่มีการควบคุม ซึ่งการลงทุนเช่นนี้ควรทำเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด มากกว่าทำเพื่อภาพลักษณ์ หรือความทันสมัยเท่านั้น โดยเฉพาะที่ซื้อมาด้วยเงินผ่อนหรือเงินกู้เป็นหลัก

ทุกวันนี้จะเหมือนกับ "ใครใคร่ซื้อ ซื้อ ใครใคร่ขาย ขาย" ไม่มีการควบคุมให้เหมาะสม มีการสร้างภาพของความทันสมัยด้วยการจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ราคาแพงมาประดับโรงพยาบาล ส่วนมากหวังผลทางอ้อม เช่น การมีเครื่องตรวจวินิจฉัยหรือรักษาโรคที่มีราคาแพงต่างๆ

ผลทางตรงคือรายรับจากการใช้อุปกรณ์นั้นๆ ซึ่งอาจจะไม่คุ้มทุน แต่ผลทางอ้อมคือ การที่มีผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มขึ้นจะทำให้รายรับรวมมากขึ้น เรียกว่ายอมขาดทุนอย่างหนึ่งเพื่อไปเอากำไรอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็อาจจะดูดีสำหรับโรงพยาบาลแต่ถ้ามองให้ลึกแล้วประเทศชาติเสียหาย เพราะต้องซื้อของแพงจากต่างประเทศมา ใช้อย่างไม่คุ้มค่า โดยเฉพาะสภาพที่ "มีแต่ของ ไม่มีคน"

อย่าว่าแต่คนสร้างเครื่องมือเลย คนใช้หรือคนซ่อมเก่งๆ ก็หายาก ซื้อของมาแล้วก็ใช้ไป เสียหายขึ้นมาหาคนซ่อมลำบากหรือไม่ก็ซ่อมแพงมาก บ่อยครั้งที่ผ่อนไปไม่ถึงครึ่ง เครื่องก็ตกรุ่นแล้ว หรือไม่ก็เสียแล้วเสียอีกจนขี้เกียจซ่อม ต้องดิ้นรนหาเครื่องใหม่เข้ามาแทนเพื่อรักษาภาพลักษณ์ และหาทางกระตุ้นยอดขาย โดยลืมสนใจว่าประโยชน์จะตกอยู่กับผู้ป่วยมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นการยัดเยียดขาย หรือบางแห่งก็โฆษณาชวนเชื่อให้แห่กันมาใช้บริการ ซึ่งน่าจะเข้าข่ายหลอกลวงผู้บริโภค เพียงแต่ยังไม่มีใครใส่ใจหยิบยกขึ้นมาเป็นปัญหา

บางท่านอาจจะเคยรู้จักและเคยได้ยินชื่อ "คลินิก 3 บาท" หรือรู้จักผู้เขียนในนาม "หมอ 3 บาท" หรือ "หมอปากหมา" จากงานเขียน สื่อวิทยุ โทรทัศน์ และกิจกรรมทางสังคมต่างๆ ซึ่งประเด็นที่ผู้เขียนมักจะย้ำอยู่เสมอคือ "อย่าใช้ยามาก อย่าอยากฉีดยา อย่าบ้าหาหมอ" โดยต้องการสื่อให้คนไทยได้รับรู้ นำไปพิจารณาและปฏิบัติ เพื่อจะได้ใช้ยากันอย่างมีเหตุมีผล และใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น

การใช้ยามากโดยไม่จำเป็นมีโอกาสเกิดผลเสีย ที่สำคัญที่สุดก็คือฤทธิ์ข้างเคียงและยาตีกัน จึงควรใช้ยาให้น้อยขนานที่สุดหรือไม่ใช้เลยจะยิ่งดี จำไว้ว่าถ้าหายจากโรคโดยใช้ยาน้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลยเป็นสิ่งที่ดีที่สุดแล้ว นอกจากนี้การที่โลกเราก้าวหน้าไปมาก การพัฒนายาเพื่อให้มีความปลอดภัยก็มีมากขึ้น

ดังนั้น หากเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ควรใช้ยากินมากกว่ายาฉีดซึ่งมีอันตรายมากกว่า เมื่อไปหาหมออย่าร้องขอยาฉีด และหากหมอจะฉีดยาควรสอบถามถึงความจำเป็น ส่วนการชอบไปหาหมอบ่อยๆ นั้นบางครั้งอาจเป็นโทษ ควรพึ่งตนเองในเบื้องต้นก่อน หาหมอเมื่อจำเป็น ไม่เช่นนั้นอาจเกิด "โรคหมอทำ" ได้

เมื่อประเทศต้องปรับตัวกับวิกฤติ และเมื่อเราเห็นว่าปรัชญา "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดในเวลานี้ "การแพทย์พอเพียง" ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราทุกคนควรตระหนักและให้ความสำคัญเช่นกัน

ข้อมูลสื่อ

349-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 349
พฤษภาคม 2551
นพ.พินิจ ลิ้มสุคนธ์