หลักปฏิบัติของทุกศาสนาคือ ทาน ศีล ภาวนา
ทานหรือการให้ ทำให้เกิดสุขทั้งของผู้รับและผู้ให้ และเป็นการลดความโลภ
ศีล หมายถึงการอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปกติ การอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นปกติเป็นความสุข
ภาวนา คือการพัฒนาจิตใจให้บริสุทธิ์หรือให้สูงขึ้น
การมีจิตใจสูง ลดความโลภ ความโกรธ ความหลง มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา ทำให้เกิดความสุขอันประณีต ส่งเสริมทานและศีลให้ยิ่งๆ ขึ้น
สังคมปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยโลภะ โทสะ โมหะ จึงมีความเครียดสูง และมีความสุขน้อยลง แม้มีความเจริญทางวัตถุมากขึ้นแต่ความสุขก็น้อยลง จนกระทั่งปัจจุบันมีกระแสเกิดขึ้นว่าแทนที่จะวัดความก้าวหน้าด้วยตัวเลขทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ควรจะมาวัดความเจริญกันด้วยความ สุขมวลรวมของประชาชาติที่เรียกว่า GNH หรือ Gross National Happiness
ความสุขของสังคมหรือสังคมสุขภาวะน่าจะเป็นเป้าหมายหรือเป็นอุดมการณ์ของการพัฒนาแทนที่จะวัดกันที่ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว
การจะสร้างสังคมสุขภาวะมีทั้งส่วนที่ปัจเจกบุคคลแต่ละคนจะต้องเข้าใจว่า ความสุขคืออะไร และจะสร้างขึ้นได้อย่างไร กับส่วนที่เป็นระบบ คือแนวทางการพัฒนาและโครงสร้างของสังคม
ที่จริงเรามีทั้งทรัพยากรและโครงสร้างที่จะสร้างสังคมสุขภาวะได้โดยไม่ยาก
ถ้าเรามีเป้าหมายร่วมกัน และพยายามศึกษาและพัฒนาการสร้างสุขภาวะที่ถูกต้อง เราน่าจะสามารถสร้างสังคมสุขภาวะได้ภายใน 10 ปี เป็นสังคมแห่งความพอเพียงและศานติ
ขอให้คนไทยช่วยกันศึกษาเรื่องความสุขกันอย่างจริงจังและช่วยกันทำให้ได้
- อ่าน 6,001 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้