• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาตามอาการ / รักษาจำเพาะ

รักษาตามอาการ / รักษาจำเพาะ 

 

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ หัด คางทูม อีสุกอีใส เป็นโรคที่เป็นเอง หายเองได้ เพียงแต่ให้การรักษาตามอาการก็เพียงพอ”

“โรคที่คนเราเป็นๆกันนั้น มีเพียงประมาณร้อยละ 20 เท่านั้นที่จะหายเพราะ
การรักษาจำเพาะ”

ข้อความเหล่านี้เป็นการสรุปถึงหลักการรักษาโรคของแพทย์เรา

ในฉบับนี้จึงขอพูดถึง ภาษาหมอ 2 คำ ดังต่อไปนี้
การรักษาตามอาการ
(symptomatic treatment)
หมายถึง การใช้ยาหรือวิธีการบำบัดรักษาเพียงเพื่อบรรเทาอาการต่างๆของผู้ป่วย เช่น แก้ปวดหัวตัวร้อน แก้ไอ แก้อาเจียน เป็นต้น

การรักษาจำเพาะ (specific treatment)
หมายถึง การใช้ยาหรือวิธีการบำบัดรักษาเพื่อแก้ไขที่ต้นตอของโรคโดยตรง เช่น การใช้ยาปฏิชีวนะในผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรีย (ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง วัณโรคปอด) การใช้ยารักษาโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง การผ่าตัด (ไส้ติ่ง กระเพาะ ลำไส้ เนื้องอก) เป็นต้น

คุณผู้อ่านอาจนึกถามอยู่ในใจว่าเวลาไม่สบายไปหาหมอ หมอจะให้การรักษาตามอาการ หรือการรักษาจำเพาะมากกว่ากันแน่ ก็ต้องตอบกันตรงๆว่า การเจ็บป่วยที่เป็นกันส่วนมากไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ไม่ต้องการการรักษาจำเพาะเพียงแต่ให้ยารักษาตามอาการก็เพียงพอ เช่น กลุ่มโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสต่างๆ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ (การรักษาจำเพาะ) ในการบำบัดรักษา เพราะยานี้ไม่สามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ โรคจะหายได้เองตามธรรมชาติคือ ร่างกายสามารถขจัดเชื้อไวรัสไปได้เอง ถ้าร่างกายแข็งแรงมีภูมิต้านทานมากพอ (แน่นอนถ้าหากขาดอาหาร ไม่มีภูมิต้านทาน โรคก็อาจลุกลามเป็นอันตรายได้) การรักษาก็เพียงแต่ให้ยาแก้ปวดแก้ไข้ แก้ไอ ก็เพียงพอ

อาการปวดหัว ปวดท้อง ท้องเดิน ปวดตามข้อ เจ็บหน้าอก หรืออื่นๆ ส่วนมากก็เป็นโรคที่ไม่ต้องการการรักษาจำเพาะ ให้ยาบรรเทาปวดร่วมกับการดูแลพยาบาล การพักผ่อน การบริหารร่างกาย การคลายเครียด การนวด การประคบ ก็ช่วยให้โรคหายได้ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า มีเพียงประมาณร้อยละ 20 ของการเจ็บป่วยทั้งหมดที่ต้องการการรักษาจำเพาะอันตรายอยู่ตรงที่ว่า ถ้าหากเราเป็นเพียงโรคที่ต้องการเพียงการรักษาตามอาการ (เช่น ไข้หวัด ท้องเดินธรรมดา) แต่ไปใช้ยารักษาจำเพาะร่วมด้วย เช่น ยาปฏิชีวนะ (อาจได้ในรูปของยาชุดที่ร้านขายยาจ่ายให้หรือยาที่แพทย์สั่งให้) นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจเกิดอันตรายจากการแพ้ยา การดื้อยาอีกด้วย

ขอฝากคุณผู้อ่านศึกษาให้รู้ถ่องแท้ว่า มีโรคอะไรบ้างที่ต้องการการรักษาตามอาการก็เพียงพอ


 

ข้อมูลสื่อ

95-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
พูดจาภาษาหมอ
ภาษิต ประชาเวช