• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาเด็กอันตรายขายเกลื่อนประเทศ

ยาเด็กอันตรายขายเกลื่อนประเทศ


 

เด็กเกิดมาแล้ว...เกิดมาอย่างอ่อนแอ พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือแม้กระทั่งอยู่ในสภาพที่จะตัดสินใจอะไรได้ พวกเขาต้องรับเกือบทุกสิ่งทุกอย่างจากผู้ใหญ่เช่นเดียวกับลูกนกที่อ้าปากคอยรับอาหารที่พ่อแม่ป้อนให้

เด็กอีกจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน...กำลังจะเติบโตแล้ว จะเติบโตขึ้นแทนที่ผู้ใหญ่ในวันนี้ พวกเขาจึงเป็นทั้งความหวังและอนาคตของชาติ พวกเขาควรมีสิทธิที่ได้รับสิ่งที่ดีงามในชีวิต เพื่อจะเติบโตขึ้นอย่างสมบูรณ์และเข้มแข็ง

เตรียมสิ่งใดเอาไว้ให้เขาหรือยัง...

เตรียมสิ่งที่ดีเอาไว้ให้เขาหรือยัง

มีโรคหลายโรคที่ทำให้เด็กต้องเสียชีวิต หรือพิการทั้งทางร่างกายหรือสมอง มียาหลายต่อหลายอย่างที่คิดค้นขึ้นมาเพื่อป้องกันและรักษาโรค ในเมืองไทยของเรามียาเกือบ 22,000 ตำรับ เราใช้เงินเพื่อซื้อยามากินกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี และส่วนใหญ่ต้องสั่งจากต่างประเทศ เราต้องเสียดุลการค้าอย่างมากมายทุกปีถ้ายาเหล่านั้นได้ทำให้เราหลุดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บก็นับว่าเป็นสิ่งมีค่า แต่...หาเป็นเช่นนั้นไม่ เรามีการใช้ยาเกินจำเป็นอย่างมากมาย มียาอันตรายขายกันทั่วไป ประชาชนไม่มีความรู้ที่ถูกต้องในการใช้ยา และต้องสูญเสียเศรษฐกิจและเสียสุขภาพที่เกิดจาก “โรคยาทำ”
เรื่องน่ารู้ฉบับนี้ของ “หมอชาวบ้าน” ขอพาท่านมาพบกับเรื่อง “คลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีน ยาเด็กอันตราย ขายเกลื่อนประเทศ” โดยโครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก


ยาคืออะไร
ยา หมายถึง สารหรือสารเคมีซึ่งมีฤทธิ์ต่อสิ่งมีชีวิต ใช้ในการป้องกันรักษาหรือบำบัดโรคต่างๆในคนและสัตว์ ให้พ้นจากการทรมานหรือความเจ็บป่วยจากโรคภัยต่างๆ
ยาไม่ใช่ขนมหรืออาหาร ยาทุกชนิดถ้าใช้ไม่ถูกต้องจะทำให้เกิดอันตรายได้ โดยเฉพาะกับเด็ก ซึ่งอวัยวะต่างๆยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กระบวนการทำลายพิษยา และการขับถ่ายของเสียไม่สมบูรณ์ ร่างกายของเด็กจึงไวต่อพิษยามาก ดังนั้นการใช้ยาในเด็กจึงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ


⇒ กลุ่มยาที่เรียกว่า ยาปฏิชีวนะ คืออะไร
ยามีหลายชนิด แต่ที่มีการใช้กันอย่างกว้างขวางและเป็นปัญหาต่อการรักษาโรคบ่อยมาก คือ กลุ่มยาปฏิชีวนะ
ยาปฏิชีวนะหรือที่เรียกว่า ยาต้านจุลชีพ หรือภาษาอังกฤษเรียกว่าแอนติไบโอติก (ANTIBIOTIC) คือสารที่มีผลยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรีย (เช่น ฝี พุพอง ต่อมทอลซิลอักเสบ ปอดอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูน้ำหนวก วัณโรค เป็นต้น) ยาปฏิชีวนะ จึงไม่ใช่ยาลดไข้ที่ใช้บรรเทาอาการตัวร้อน แต่จะใช้เฉพาะในคนไข้ที่เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น
การใช้ยาปฏิชีวนะ จำเป็นต้องใช้ให้ถูกต้อง ถูกเชื้อ ถูกขนาด ถูกเวลา ถูกวิธี คือ ต้องกินยาถูกชนิดกับโรค กินให้ครบขนาดและถูกวิธี มิฉะนั้นจะทำให้รักษาโรคไม่หาย เกิดอันตรายกับตัวเอง และเชื้อโรคยังอาจดื้อยาได้


ยาคลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีน ยาอันตราย
คลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีน เป็นยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียได้กว้างขวางหลายชนิด ซึ่งเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นที่นิยมกันมากในการรักษาโรคติดเชื้อต่างๆ แต่ช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมานี้ ในวงการแพทย์มีการใช้น้อยมาก เพราะมีการค้นพบว่า เป็นตัวยาที่มีอันตรายร้ายแรงและไม่เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในเด็กเล็ก


⇒ ยาคลอแรมเฟนิคอล อันตรายอย่างไร
1. อาจทำให้เกิดพิษต่อการสร้างเม็ดเลือด ซึ่งมี 2 แบบคือ

ก. ชนิดที่เป็นแล้วอาจหายได้เมื่อเลิกใช้ยานี้ โดยลดการทำงานของไขกระดูกทำให้เกิดโรคโลหิตจาง อาจมีเม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือดต่ำร่วมด้วย เกิดจากการได้รับยาเกินขนาด หรือใช้ยาเป็นระยะเวลานาน

ข. ชนิดที่เป็นแล้วไม่หาย แม้จะเลิกยานี้ เกิดได้ไม่ว่าจะได้รับยามากหรือน้อย ทำให้เม็ดเลือดทุกชนิดลดต่ำลง ถึงตายได้

2. ในเด็กแรกเกิดที่ได้รับยาเกินขนาด จะทำให้อาเจียนไม่ดูดนม ท้องขึ้น หายใจหอบตัวเขียว อุจจาระเป็นสีเขียว ต่อมาตัวจะอ่อนปวกเปียก ผิวหนังเป็นสีเทา ตัวเย็น และอาจถึงตายได้


⇒ ยาเตตราซัยคลีน อันตรายอย่างไร
1. ทำให้ฟันเป็นสีน้ำตาลถาวร ซึ่งนอกจากจะทำให้ฟันไม่สวยแล้ว ยังทำให้ฟันหลุดร่วงเร็วกว่าปกติ

2. ทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกลดลง จึงไม่ควรใช้หรือห้ามใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 8 ปี หญิงมีครรภ์ และแม่ระหว่างให้นมลูก

3. ยานี้อาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง โดยทำลายแบคทีเรียที่สร้างวิตามินเค

4. ยานี้ถ้าเสื่อมแล้ว อาจมีพิษต่อไตได้
การใช้ยาปฏิชีวนะในต่างประเทศเข้มงวดกวดขันมาก แม้แต่กับผู้ใหญ่ เช่น การใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลในเยอรมนีตะวันตก แพทย์จะสั่งจ่ายให้เฉพาะกับคนไข้โรคไทฟอยด์และพาราไทฟอยด์ที่มีอาการเฉียบพลันเท่านั้น ในเดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และอังกฤษ ก็จำกัดการใช้ยานี้ โดยใช้ในกรณีที่ไม่มียาปฏิชีวนะชนิดอื่นให้เลือกจริงๆแล้ว

ชื่อการค้าและสรรพคุณที่ระบุ

ชื่อทางยา

ชื่อการค้าของยาที่พบได้ง่ายในท้องตลาด

รายละเอียดฉลากยาต่างๆที่มักมีข้อมูลบ่งใช้ดังนี้

1. คลอแรมเฟนิคอล

ชนิดผง

- โคมายซิน

ชนิดน้ำเชื่อม

- คลอแรม สเตรปวี

- ฮีโร่โคซิน

- ฮีโร่มัยซิน

- ไมโคคลอริน

- คลอแรมติน บี.คอมเพล็กซ์

- คลอแรมซัน

- คาอูลิน

- โคมายซิน

-ไพรมาซีติน

ชนิดน้ำเชื่อมบรรจุหลอดพลาสติก

- คลอแรมติน

- ฮีโร่ซีติน

ไข้รากสาด ไทฟอยด์ และพาราไทฟอยด์ คอและหลอดลมอักเสบ กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบเนื่องจากโรคติดเชื้อ ท้องร่วง ท้องเสีย และบิด แผล ฝี หนองต่างๆ ปอดบวม ทอนซิลอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (ไข้หวัดใหญ่ งูสวัด หัดอีสุกอีใส)*

 

 

 

 

 

หมายเหตุ *เคยระบุ แต่ปัจจุบันถอนออกจากฉลากแล้ว

2. เตตราซัยคลีน

ชนิดผง

- คาอูลิน

- ฮีโร่มัยซิน

ชนิดน้ำเชื่อม

- เตตราซิล ไซรับ

- เตตรา โอลัน

ชนิดแคปซูล

- ทีซีมัยซิน

- ฮีโร่มัยซิน

- ออริโอมัยซิน

- โรเท็กซิน

โรคปอดบวม หลอดคออักเสบ หลอดลมอักเสบ ทอนซิลอักเสบ บิด ลำไส้อักเสบ หู ตา ผิวหนังอักเสบ ฝีต่างๆ

(หัด อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่)*

 

 

 

 

หมายเหตุ *เคยระบุ แต่ปัจจุบันถอนออกจากฉลากแล้ว  


⇒ เมืองไทย...ยาอันตรายวางขายกันเกลื่อน
ยาทั้ง 2 ชนิดนี้พบได้ในชนบททั่วไป ที่มีชื่อการค้าว่า โคมายซิน คาอูลิน คลอแรมติน ฯลฯ วางขายทั้งในร้านขายยาแผนปัจจุบัน และร้านขายของชำในหมู่บ้าน มีราคาถูก ถ้าเป็นซองก็ประมาณซองละ 2-3 บาทนอกจากจะบรรจุอยู่ในรูปยาซองแล้ว ยังมีการดัดแปลงรูปแบบให้น่าลิ้มลองยิ่งขึ้น เช่น ยามัยโคคลอริน ตราสามธง ทำในรูปน้ำเชื่อม และยังมีการบรรจุใส่หลอดคล้ายหลอดไอติม เช่น คลอแรมติน หรือฮีโรเซติน

เมื่อเด็กมีอาการเป็นไข้ตัวร้อน พ่อแม่ก็มักจะซื้อยาเหล่านี้ให้กิน เพราะเคยได้ยินได้ฟังมาจากการโฆษณาประกอบกับการวางขายในร้านค้าอย่างเสรี และรูปที่ปรากฏบนซองก็เป็นรูปเด็ก จึงทำให้เข้าใจกันอย่างผิดๆว่า เป็นยาสำหรับเด็กที่ไม่มีอันตราย และใช้เป็นยาบรรเทาอาการตัวร้อน (ลดไข้) แบบเดียวกับแอสไพรินหรือพาราเซตามอล ดังนั้นจึงมีการใช้ยานี้กันอย่างแพร่หลายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งที่แพทย์เลิกสั่งใช้มานานแล้ว และในโรงพยาบาลแทบทุกแห่งก็ไม่ใช้สำหรับเด็กป่วยทั่วไป ยกเว้นในกรณีพิเศษจริงๆ


⇒ ใช้กันผิดๆมาตลอด
จากรายงานการวิจัยเบื้องต้นของโครงการวิจัยพฤติกรรมชาวบ้านเกี่ยวกับการใช้ยาในเด็กอายุระหว่าง 0-12 ปี ในเขตจังหวัดนครราชสีมา 5 อำเภอ 10 หมู่บ้าน โดยกลุ่มเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชนร่วมกับโครงการรณรงค์เพื่อการใช้ยาที่เหมาะสมในเด็ก พบว่า

1. ชาวบ้านส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 90 รู้จักยาเหล่านี้ กล่าวคือ เคยเห็นวางขายอยู่ตามร้านค้าทั่วไป และเคยได้ยินได้ฟังมาจากการโฆษณา

2. ชาวบ้านประมาณร้อยละ 80 เคยใช้ยาเหล่านี้กับเด็กเล็กในการลดอาการไข้ตัวร้อน (โดยเข้าใจผิดว่าเป็นยาลดไข้)

3. ร้านค้าทั่วไปในหมู่บ้านส่วนใหญ่ และกองทุนยาบางแห่งมียาเหล่านี้วางขาย

4. ชาวบ้านแต่ละบ้านจะมีพฤติกรรมการใช้แตกต่างกันไป เช่น เอาอาโคมายซิน หรือยาคาอูลินผสมกับยาทัมใจหรือยาไวคุลเด็ก หรือยาคาอูลินผสมกับยาโคมายซิน เป็นต้น และแบ่งป้อนให้กับเด็ก บ้างก็คลุกกับข้าว หรือผสมลงในนม


⇒ รูปแบบยา สร้างปัญหาแก่ผู้ใช้
1. ชนิดผง มักมีปัญหาในการแบ่งขนาดยา ทำให้อาจได้รับยาเกินขนาดได้
2. แบบน้ำเชื่อม เนื่องจากเป็นยาที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะในเด็ก จึงไม่ควรมีรูปแบบน้ำเชื่อม
3. แบบน้ำเชื่อมที่ใส่หลอดพลาสติกให้เด็กดูดกิน เป็นรูปแบบที่กระทรวงสาธารณสุขยกเลิกไปแล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีขายและใช้กันอยู่


⇒ อาการไข้กับการใช้ยาปฏิชีวนะ
เด็กที่มีอาการตัวร้อน ส่วนใหญ่เกิดจากไข้หวัด (ซึ่งเป็นเชื้อไวรัส) หรือไม่ก็เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น หัด อีสุกอีใส คางทูม ส่าไข้ เป็นต้น
ส่วนน้อยที่อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบเป็นหนอง หูชั้นกลางอักเสบ ฝี พุพอง เป็นต้น
สำหรับไข้หวัด และโรคติดเชื้อไวรัสอื่นๆ การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาแก้ไข้เมื่อเป็นไข้ ยาแก้ไอเมื่อไอ ก็เพียงพอ ไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะนั้นนอกจากจะใช้ฆ่าเชื้อไวรัสไม่ได้แล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคใหม่ อันเกิดจากยาเป็นของแถมอีก (โรคยาทำ)


⇒ เมื่อเป็นไข้ควรทำอย่างไร
เมื่อเด็กมีอาการไข้ตัวร้อน ควรเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดาบ่อยๆ เพื่อลดความร้อนในร่างกายและให้ดื่มน้ำมากๆ โดยอาจให้ยาลดไข้พาราเซตามอลร่วมด้วย ในกรณีที่หายาพาราเซตามอลไม่ได้ และไม่มีอาการหรือโรคตามข้อห้ามก็ใช้แอสไพรินแทนได้ ดังมีวิธีใช้ตามตาราง

ยา

วิธีใช้

ข้อห้าม

1. พาราเซตามอล

น้ำเชื่อม

ขนาด 120 ม.ก.ต่อช้อนชา

กินทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ

เด็กต่ำกว่า 1 ปี กินครั้งละครึ่งช้อนชา

เด็ก 1-3 ปี กินครั้งละ 1 ช้อนชา

1. ห้ามใช้ในเด็กที่เป็นโรคตับ ตัวเหลือง

2. ห้ามกินติดต่อกันนานเกิน 5 วัน อาจมีพิษต่อตับได้

2. ยาเม็ดแอสไพริน

(ขนาด 325 ม.ก.)

กินหลังอาหารทันที หรือดื่มน้ำตามมากๆ โดยกินทุก 4-6 ชั่วโมง หรือเมื่อมีอาการ

เด็ก 1-3 ปี กินครั้งละครึ่งของครึ่งเม็ด *หรือกินเบบี้แอสไพริน (ขนาด 60 ม.ก.) ครั้งละ 1-2 เม็ด

เด็ก 3-6 ปี กินครั้งละครึ่งเม็ด

เด็ก 6-12 ปี กินครั้งละครึ่งถึงหนึ่งเม็ด

1. ห้ามใช้ในเด็กที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก หืด เด็กที่มีเลือดไหลแล้วหยุดยาก

2. ห้ามใช้ในเด็กที่เป็นโรคอีสุกอีใส หรือไข้หวัดใหญ่

3. ไม่ควรใช้ยานี้ขณะที่ท้องว่าง


⇒ ก่อนจากขอฝาก
แม้ว่าคลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีนจะมีประโยชน์จะมีประโยชน์ทางการแพทย์เหลืออยู่บ้าง แต่ก็จัดว่าเป็นตัวยาอันตรายที่ควรให้แพทย์เป็นผู้คุมการใช้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อใช้กับเด็ก แต่จากความเป็นจริงขณะนี้ยาดังกล่าวถูกบรรจุในรูปแบบที่สะดวกในการใช้อย่างง่ายดาย หรือมีรูปแบบเช่นเดียวกับยาสามัญประจำบ้าน มีการวางขายอยู่ทั่วไปแม้กระทั่งร้านขายของชำ หรือรถเข็นตามหมู่บ้าน และซื้อขายกันได้อย่างเสรี
การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก ทั้งที่เกิดจากตัวยาที่เป็นอันตรายและพฤติกรรม หรือการใช้ที่ไม่ถูกต้องของชาวบ้าน จึงควรเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ทุกฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน (ที่รับผิดชอบโดยตรง) ต้องร่วมมือกันรีบหาทางป้องกันแก้ไขอย่างรีบด่วน

เด็กไทยของเราได้รับความลำบากทุกข์ทรมานมามากแล้ว ขอเถอะครับ...อย่าปล่อยให้เขาถูกทำร้ายหรือร่วมกันทำร้ายเขาต่อไปอีกเลย



 

 

" แพทย์ใช้ยานี้น้อยมากถ้าใช้ก็ใช้เฉพาะทางรายที่
   ไม่มีทางเลือกจริงๆ "
  
    รศ.น.พ.ปรีชา เจริญลาภ
   
คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

 

การที่จะให้ชาวบ้านวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์เองนั้นยาก แม้แต่แพทย์จะวินิจฉัยก็ต้องอาศัยมีไข้สัก 1 อาทิตย์แล้วไม่ลด นอกนั้นยังต้องวินิจฉัยอย่างอื่นร่วมด้วย เอาเลือดไปเลี้ยงเชื้อว่าเป็นไข้ไทฟอยด์หรือไม่ หรือตรวจน้ำเหลืองก็พอจะช่วยได้
ในสมัยก่อนเราไม่มียาตัวอื่นทดแทน แพทย์ก็ต้องใช้คลอแรมเฟนิคอลรักษาโรคไทฟอยด์ ปัจจุบันเรามียาที่ปลอดภัยกว่า แพทย์จึงใช้ยานี้น้อยมาก ถ้าใช้ก็ใช้เฉพาะรายที่ไม่มีทางเลือกจริงๆ และปัจจุบันไข้ไทฟอยด์พบน้อยแล้ว ไข้ที่เป็นๆกันส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ
ผมคิดว่าไม่ควรจะให้มียาคลอแรมเฟนิคอลขายกันทั่วไป ควรอยู่ภายใต้การใช้ของแพทย์ แพทย์เองก็ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง”

 

 

 

 

 "นอกจากไม่ได้ผลยังไปฆ่าเชื้ออื่นๆ ที่มีประโยชน์
  ในร่างกายของเราเสียไป "

  ศ.พญ.วันดี วราวิทย์
 
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล
   รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 



ปกติแล้วโรคท้องเสีย (โรคอุจจาระร่วง) ที่เราพบในประเทศไทย สาเหตุพบบ่อยมากที่สุดเกิดจากเชื้อไวรัส ข้อบ่งชี้ของการใช้ยาในการรักษามีไม่ถึงร้อยละ 10 ถ้าเผื่อชาวบ้านรักษาด้วยการใช้ยาจะเห็นว่าร้อยละ 90 ไม่ได้เกิดผลดีอะไรมากนักหรือว่าอาจจะเกิดผลเสียก็ได้
ถ้าไปกินยาปฏิชีวนะ เช่น คลอแรมเฟนิคอล หรือเตตราซัยคลีน ในการรักษาโรคอุจจาระร่วงทั่วไป ซึ่งจะฆ่าเชื้อไม่ได้เลย หมอเด็กจะไม่ใช้ยาเหล่านี้รักษาเลย การกินยาเติมเข้าไปในตัวทำให้เกิดอันตรายในระบบอื่นมากกว่า นอกจากไม่ได้ผลยังไปฆ่าเชื้ออื่นๆที่มีประโยชน์ในร่างกายของเราเสียไป ทำให้หายช้ายาที่ดีที่สุดในขณะนี้สำหรับโรคอุจจาระร่วงที่พบบ่อยคงจะกล่าวได้ว่าเป็นน้ำเกลือหรือสารละลายเกลือแร่ หรือสารน้ำที่เราเตรียมขึ้นเองที่บ้าน”

 

 


 

 " คลอแรมเฟนิคอลและเตตราซัยคลีนแม้ในแพทย์
     เด็กเองก็แทบไม่ได้ใช้ "

    
พญ.ประมวล สุนากร
    
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเด็ก


 



“ยา 2 ตัวนี้ คลอแรมเฟนิคอล และเตตราซัยคลีน แม้ในแพทย์เด็กเองก็แทบไม่ได้ใช้ เพราะเรามียาอื่นที่มีฤทธิ์ใกล้เคียง เราจึงไม่ใช้เป็นยาตัวแรกในการรักษา ยกเว้นไม่มียาอื่นได้ผล จึงใช้ แต่ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด
ยาคลอแรมเฟนิคอลจะกดไขกระดูกทำให้ความต้านทานโรคต่ำ ติดเชื้อจากโรคอื่นได้ง่าย เราจึงพยายามเลี่ยงใช้ ยาเตตราซัยคลีนหมอเด็กไม่ใช้แล้วอย่างน้อยก็ทำให้ฟันเหลือง มียาตัวอื่นใช้ได้ผลดีกว่า  การใช้ยาปฏิชีวนะควรปรึกษาแพทย์ การใช้ไม่ถูกต้องไม่ได้ประโยชน์ ใช้ไปเกิดเชื้อดื้อยาเป็นอันตราย และหมดเปลืองทางเศรษฐกิจ”

 



  " สมัยแรกๆใช้มากในเด็กแรกเกิดเด็กเกิดช็อกขึ้น  
        มา "
 
     
ศ.พญ.เสาวนีย์ จำเดิมเผด็จศึก 
     
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์
      จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย




“ยาคลอแรมเฟนิคอลนี้ สมัยแรกๆใช้กันมากในเด็กแรกเกิด พอใช้แล้วเด็กเกิดช็อกขึ้นมา และตัวมีสีเทา เรียกว่าเกรย์ซินโดรม ปัจจุบันแพทย์ไม่ค่อยใช้แล้ว มีที่ใช้จริงๆก็ในเด็กที่เป็นไทฟอยด์แล้วยาอื่นรักษาไม่ได้ผล ไม่ควรอย่างยิ่งที่จะเอามารักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง ยิ่งเอามาใช้เป็นยาลดไข้ยิ่งไม่น่าใช้เลย
ผลเสียของยาคลอแรมจะทำให้เกิดพิษกับเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเด็กเล็ก ใช้ไปนานๆจะทำให้เด็กติดเชื้อได้ง่าย สมัยก่อนเมืองนอกก็ใช้ยานี้ พบว่าใช้ไปนานๆจะเป็นพิษ พวกแพทย์จึงหลีกเลี่ยง
เตตราซัยคลีนเรานำมาใช้เมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว มีผลเสียกับเด็ก เด็กได้รับยาแล้วฟันสีเหลือง
สำหรับยาคลอแรมฯและเตตราฯ 2 ตัวนี้ ไม่ใช่ยากลางบ้าน มีขอบเขตจำกัดในการใช้โดยเฉพาะกับเด็ก และเวลาจะใช้ควรให้แพทย์ควบคุม”

 

 

 

 "  ในเด็กเล็กๆ นี้เราไม่ใช้อย่างแน่นอนอายุ 7-9
      เราก็ไม่ใช้ "

     
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ
      
เลขาธิการแพทยสภา

 

 



“ที่มีประชาชนใช้ยาคลอแรมเฟนิคอลและเตตราซัยคลีนกันอย่างพร่ำเพรื่อนั้น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เราต้องยอมรับว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายเขาฉลาด เขาเอายาพวกนี้มาทำให้เป็นรูปแบบที่ใช้ง่าย เป็นซอง เป็นหลอด ถ้าว่ากันจริงๆแล้วมันเป็นยาอันตราย ตามกฎหมายจะต้องขายในร้านขายยาประเภทก. ขายยาแผนปัจจุบันประเภทชั้น 1 ต้องมีเภสัชกรประจำร้าน
ยาคลอแรมฯและเตตราฯนั้น เราไม่ได้มีข้อห้ามทางการแพทย์ 100 เปอร์เซ็นต์ว่าไม่ใช้ในเด็ก แต่ในเด็กเล็กๆนี่เราไม่ใช้อย่างแน่นอน และเด็กอายุถึง 7-9 เราก็ไม่ใช้กัน มันไม่เหมาะที่จะใช้กับเด็ก แต่ถ้าบางกรณีเด็กไม่มียาอื่น แพทย์ก็อาจใช้ยานี้ แต่ต้องระมัดระวัง
จริงๆแล้ว ชาวบ้านกลับนำมาใช้ร่วมกับอาการไข้ เป็นหวัด เวลาลูกเขาไม่สบาย เป็นไข้ป่วยอะไรขึ้นมาเขาก็ซื้อมากินทั้งนั้น...มันผิดกันมาตลอด”

 

 

 

 " ใช้บ่อยๆ อาจจะตายด้วยโรคติดเชื้อหรือเลือด   
     ออก "

  
ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่เลขา
  
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล
   รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล




“ยาคลอแรมเฟนิคอลและเตตราซัยคลีน ยา 2 ตัวนี้เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง กินเข้าไปเหมือนกับเหวี่ยงแห เมื่อชาวบ้านให้เด็กกินจะดูได้ผลเร็ว คนก็ลือกัน แต่ว่าเมื่อใช้บ่อยๆอาจจะตายด้วยโรคติดเชื้อหรือเลือดออก สำหรับเตตราซัยคลีนก็เช่นกัน ให้เด็กกินเท่าไรก็ไม่เห็นผลเสียทันตาต้องให้เด็กอายุ 6-8 ขวบ ถึงจะเห็นว่าฟันแท้เหลืองและผุ และถ้ายานี้หมดอายุ กินเข้าไปก็มีผลเสียต่อตับและไต
เรื่องนี้อาจพูดได้ว่าเราไม่ได้แก้ปัญหาที่การศึกษา การให้การศึกษามีประโยชน์แน่ แต่ไปให้ทั่วประเทศมันยาก ผมว่าหยุดอย่างเดียวก็จบเลย ไม่ควรปล่อยให้ผลิตออกมาในรูปของยาเด็กทั่วไป ควรให้เฉพาะแพทย์ ให้มีใบสั่งแพทย์เท่านั้น แม้แต่แพทย์เองถ้าไม่จำเป็นจริงๆเขาจะไม่ใช้ยานี้เลย
ในอเมริกาเขาก็รณรงค์มากเลยเรื่องการให้การศึกษา แต่ไม่ได้ผล ในที่สุดต้องห้าม จบเลย


 

 


 "
เป็นยาอันตรายถ้าใช้ควรเป็นแพทย์ใช้เท่านั้น "

  
รศ.นพ.เหลือพร ปุณณกันต์
   
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราช
    พยาบาล

 

 
 


“ยาคลอแรมเฟนิคอลและเตตราซัยคลีนมีประโยชน์ในบางโรค แต่เป็นยาอันตราย ถ้าจะใช้ควรจะเป็นแพทย์ใช้เท่านั้น กับเด็กด้วยแล้วต้องระมัดระวังมาก ในโรงพยาบาลก็มีการใช้แต่ใช้น้อย
สมัยก่อนผมเห็นด้วยเพราะว่าเราไม่มียาตัวอื่น ในบ้านเรามีโรคติดเชื้อค่อนข้างมากและยานี้ก็ช่วยได้มากพอควร แต่ขณะนี้เรามียาตัวอื่นเยอะแล้ว จะควบคุมยานี้อย่างไรนั้นเป็นเรื่องของผู้รับผิดชอบ
ยา 2 ตัวนี้อีกหน่อยคงจะใช้น้อยลงไปทุกที คือเรามียาตัวอื่นที่นำมาใช้ได้ดีกว่า
ใจผม ผมไม่อยากให้เขาทำยาทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นรูปยาน้ำหรือยาผง เพราะทำออกมาเมื่อไร มันก็เหมาะสำหรับเด็กกิน ไม่ใช่ให้ผู้ใหญ่ ถ้าจะทำเป็นเม็ดไปซะเลยก็คงไม่มีปัญหา ยาเป็นผงการแบ่งยาก็ยาก และมีโอกาสที่จะกินยาเกินหรือน้อยไป”

 

 

 

 " ตั้งแต่ผมเป็นหมอเด็กมา 20 กว่าปีผมไม่เคยใช้
    เลย ยาตัวนี้อันตราย "

   
พ.อ.นพ.อำนาจ บาลี 
   
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์
    พระมงกุฎเกล้า

 



“ยาคลอแรมเฟนิคอลนั้น ตั้งแต่ผมเป็นหมอเด็กมา 20 กว่าปีนี้ ผมไม่เคยใช้เลย เพราะรู้ว่ายาตัวนี้อันตราย ยานี้เป็นอันตรายต่อทารกแรกเกิดหรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนดด้วย จะเกิดภาวะช็อก และจะไปกดไขกระดูก ที่ใช้กับเด็กมีน้อยมาก นอกจากบางโรคเท่านั้น ซึ่งแพทย์จะสั่งเป็นระยะและคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ในแง่ของยาเตตราซัยคลีน ทำให้เกิดฟันเหลือง ฟันดำ กระดูกไม่เจริญเติบโต เด็กเล็กหรือแม่ที่ท้องถ้ากินแล้วก็ผ่านไปถึงลูกในท้อง ยานี้พวกฝรั่งเขาเรียกว่า ชิกเก่น วิตามิน (chicken vitamin) เป็นวิตามินของลูกไก่ เพราะเขาใช้ในอาหารสัตว์
ยาปฏิชีวนะ 2 ตัวนี้ ไม่ใช่ยาลดไข้ การวินิจฉัยไข้ไทฟอยด์ ไข้รากสาดน้อย ไม่ใช่จะวินิจฉัยกันง่ายๆ ต้องตรวจเช็ก ผมขอย้ำว่า อย่าไปซื้อยาพวกนี้มาใช้ มันอันตราย”

 

 

 

 

 " แบบยาคลอแรมฯน้ำ เรายกเลิกให้ผลิตให้ขาย
     แล้ว ถ้ามีขายจับได้ก็ติดคุก "

     
นพ.ประชา เอมอมร
    
เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

 

 


"คลอแรมฯเป็นยาที่มีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ถ้าแพทย์วินิจฉัยได้ว่านี้คือ ไทฟอยด์ มันก็รักษาหาย ถ้าไม่รู้ว่าเป็นโรคนี้ก็ไม่มีประโยชน์ ยาจะกดไขกระดูก ทำให้เกิดโรคในเม็ดเลือด ทำให้เด็กตายได้
เป็นที่รู้กันว่ายานี้ใช้กันมากว่า 30 ปี ต้องใช้ให้ถูกต้อง ยานี้ไปพบสะเปะสะปะก็ผิด แบบยาคลอแรมฯน้ำที่เรายกเลิกให้ผลิตให้ขายแล้ว ถ้ามีขายจับได้ก็ติดคุก
อันที่จริงทางอาหารและยาก็พยายาม ในกรุงเทพฯเราก็มีสารวัตรอาหารและยาคอยตรวจสอบ ที่ต่างจังหวัดก็มีสาธารณสุขจังหวัดและเภสัชกรจังหวัดเป็นเจ้าหน้าที่ดูแล ทั้งยาและอาหารดูแลทุกๆแห่ง ได้มอบหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว”

ข้อมูลสื่อ

95-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 95
มีนาคม 2530
เรื่องน่ารู้