• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิธีเลือกซื้อยากันแดด

วิธีเลือกซื้อยากันแดด

 

ช่วงนี้เป็นช่วงฤดูร้อน และโรงเรียนก็ยังไม่เปิดเทอม หลายๆคนคงคิดจะชวนกันไปเที่ยวตากอากาศตามชายทะเล หรือลงว่ายน้ำในสระเพื่อคลายร้อนเป็นการออกกำลังกายไปด้วย
แต่สิ่งหนึ่งที่หลายคนอาจเป็นกังวลโดยเฉพาะคุณผู้หญิงก็คือ เรื่องผิวพรรณ ที่จะต้องถูกแดดเผาจนเกรียมคล้ำ หรือบางทีอาจถึงกับไหม้เลย

พอคิดถึงเรื่องนี้ บางคนอาจคิดเปลี่ยนใจไม่อยากไปเที่ยวชายทะเลหรือว่ายน้ำกลางแจ้งซะแล้ว
ใครสักคนอาจจะเอ่ยขึ้นว่า

“โธ่เอ๊ย สมัยนี้เค้ามียากันแดดแล้วจะกลัวอะไร?”

ใช่ครับยาทากันแดดคือกุญแจที่จะคลายความกังวลใจในเรื่องนี้ แต่ในท้องตลาดมียากันแดดตั้งหลายยี่ห้อ ชนิดไหนนะที่เหมาะสมกับผิวของเรา บทความนี้จะช่วยท่านตัดสินใจเลือกชนิดที่เหมาะสมต่อไป

ในแสงแดดมีรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีช่วงคลื่นต่างกัน 3 ชนิด คือ
1. ยูวี เอ (UV-A) ย่อมาจากอัลตราไวโอเลต เอ (ultraviolet A) มีความยาวคลื่นระหว่าง 320-400 นาโนมิเตอร์ ทำให้ผิวหนังดำคล้ำหลังจากถูกแดดไม่นาน

2. ยูวี บี (UV-B) ย่อมาจากอัลตราไวโอเลต บี (ultraviolet B) ความยาวคลื่นระหว่าง 290-320 นาโนมิเตอร์ ทำให้ผิวหนังไหม้ หรือทำให้ผิวดำคล้ำ ต่อมาภายหลังจากถูกแดดไปแล้ว (คือไม่ดำในทันทีเหมือน กรณียูวี เอ) ทำให้ผิวหนังแก่เร็วและทำให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้

3. ยูวี ซี (UV-C) ย่อมาจากอัลตราไวโอเลต ซี (ultraviolet C) ความยาวคลื่นระหว่าง 200-290 นาโนมิเตอร์ เป็นส่วนของแสงแดดที่ลงมาไม่ถึงพื้นโลก เพราะถูกกรองโดยชั้นก๊าซโอโซน

ช่วงเวลาของแต่ละวันที่มีแสงยูวี เอ และ ยูวี บี มากคือระยะ 9-15 น. ถ้าฤดูร้อนก็ถึง 17 น. ครึ่งหนึ่งของแสงยูวี สะท้อนมาจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบตัวเรา เช่น ต้นไม้ พื้นดิน ตึก อาคาร เมฆ อีกครึ่งส่องตรงมาจากดวงอาทิตย์ การหลบแดดใต้ชายคาบ้าน ใต้ต้นไม้ สามารถหลบพ้นแสงยูวี ได้เพียงครึ่งเดียวเท่านั้น ในที่สูง เช่น ภูเขา และบริเวณเส้นศูนย์สูตร หรือใกล้เส้นศูนย์สูตรอย่างบ้านเรามีแสงยูวีมาก
อันที่จริงผิวหนังของคนเราก็สามารถป้องกัน แสงยูวี ได้เพราะมีสารเมลามิน ที่ทำให้เกิดสีของผิวหนัง ยิ่งมีมากผิวยิ่งดำ ดังนั้นคนผิวดำจึงปลอดภัยจากแสงยูวีมากกว่าคนผิวขาว (นี่ก็น่าจะเป็นความภูมิใจของคนผิวดำนะครับ)
จากความรู้เกี่ยวกับแสงแดดที่กล่าวมา ท่านผู้อ่านคงจะพอเห็นได้ว่า หากเราจะหลีกเลี่ยงอันตรายของแสงแดด เราควรปฏิบัติตนอย่างไรทีนี้ถ้าหากเราจำเป็น หรืออยากออกไปสู้แดดเพื่อทำการงานหรือเล่นกีฬาก็ตาม เราก็คงต้องใช้สารเคมีที่สามารถป้องกันแสงแดดได้ นั่นคือยาทากันแดด

คุณสมบัติที่ดีของยากันแดด ได้แก่
1. กรองแสงยูวี เอ และยูวี บี ได้
2. ผ่านเข้าสู่ผิวหนังได้ง่าย
3. ยึดติดกับผิวหนังได้ดี
4. ไม่หลุดง่ายเมื่อถูกน้ำ
5. ไม่ต้องทาบ่อย
6. ไม่สลายง่าย
7. ไม่มีพิษภัย รวมทั้งไม่ทำให้เกิดการแพ้
8. ไม่ระเหยง่าย

ประสิทธิภาพของยากันแดดวัดกันด้วยค่าเอสพีเอฟ (SPF หรือ Sun Protective Factor)
ค่าเอสพีเอฟ ยิ่งมากแสดงว่ายิ่งกรองแสงได้ดี ยกตัวอย่างเช่น ค่าเอสพีเอฟ 15 หมายความว่าเมื่อท่านทายาแล้วจะสามารถทนอยู่ในแสงแดดได้นานกว่าเดิม 15 เท่า โดยทั่วไปคนผิวขาวจะทนแดดได้นาน 20 นาที จึงจะเกิดอาการไหม้ ดังนั้น ยากันแดดที่มีค่า เอสพีเอฟ 10 ก็จะสามารถคุ้มครองผิวหนังไม่ให้ไหม้ เมื่ออยู่กลางแดดนานไม่เกิน 200 นาทีหรือประมาณ 3 ชั่วโมง

เมื่ออาศัยค่า เอสพีเอฟ ก็แบ่งชนิดของยาทากันแดดได้ดังนี้
1. ค่าเอสพีเอฟ 2-4 กันการไหม้ได้บ้าง แต่กันคล้ำไม่ได้เลย
2. มีค่า เอสพีเอฟ 4-6 กันการไหม้ได้พอควร ทำให้คล้ำบ้าง
3. มีค่า เอสพีเอฟ 6-8 ป้องกันการไหม้ได้ดี ทำให้คล้ำน้อยมาก
4. มีค่า เอสพีเอฟ 8-15 ป้องกันการไหม้ได้ดีมากเกือบจะไม่มีการคล้ำเลย
5. มีค่า เอสพีเอฟ มากกว่า 15 ป้องกันการไหม้ดีที่สุด ไม่มีการคล้ำเลย

สารเคมีที่นำมาใช้ในยากันแดดมีหลายชนิด แต่ชนิดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ 8 ข้อ ข้างต้นและมีค่า เอสพีเอฟ มากได้แก่ สารที่ชื่อพาบ้า (PABA) หรือ อนุพันธ์ของมันที่เรียกว่า ออกติลไดเมททิล พาบ้า (OCTYL DIMETHYL PABA) และสารอีกชนิดหนึ่งคือ อ๊อกซี่เบนโซน (OXYBENZONE) ซึ่งมักใช้ผสมกันเพื่อเสริมฤทธิ์ให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยาที่มีสารเหล่านี้ ในความเข้มข้น (คิดเป็นเปอร์เซ็นต์) ที่ต่างกันก็จะให้ค่า เอสพีเอฟ ที่ไม่เท่ากัน มีผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ส่วนผสมที่มี 8 % OCTYL DIMETHYL PABA และ 3 % OXYBENZONE จัดว่ามีประสิทธิภาพสูงมากในการกรองแสง โดยมีค่า เอสพีเอฟ มากกว่า 15 และปลอดภัยต่อผิวหนังมาก คนที่ผิวขาวหรือค่อนข้างขาว ก็ควรเลือกยากันแดดที่มีค่า เอสพีเอฟ มากกว่า 15คนที่ผิวคล้ำ ก็ควรเลือกชนิดที่มีค่า เอสพีเอฟ ระหว่าง 6-15 การใช้ยา ถ้าทาทิ้งไว้ 2 ชั่วโมงก่อนออกแดด จะได้ผลดี ถ้าลงเล่นน้ำหรือเหงื่อออกมาระหว่างเวลา 9-17 น. ควรทาซ้ำ
ในกรณีที่ใช้ป้องกันฝ้าบนใบหน้าควรใช้ชนิดที่ SPF มากกว่า 15 ทาทุกวัน และหากล้างหน้าหรือเหงื่อออกมากในระหว่าง 9-17 น. ก็ควรทาซ้ำ

คำเตือน
- ยาที่มีส่วนผสมประเภทน้ำมันหรือคล้ายน้ำมัน อาจทำให้เกิดสิวได้ง่าย
- ยาทุกชนิดทำให้เกิดผิวหนังอักเสบได้
คนที่เคยแพ้สารหรือยาต่อไปนี้
- เบนโซเคน (BENZOCAINE)
- โปรเคน (PROCAINE)
- พาราฟินีลีน ไดเอมีน (PARARHENYLENE DIAMINEX)
- ซัลฟานิลาไมด์ (SULFANILAMINDE)
ควรหลีกเลี่ยง การใช้ยากันแดดที่มีส่วนผสมของ PABA คนที่เคยแพ้ยาขับปัสสาวะ กลุ่มไธอะไซด์ (THIAZIDE) และยากลุ่ม SULFA ควรหลีกเลี่ยงอนุพันธ์ชนิด เอสเตอร์ของพาบ้า (PABA ESTER)
เคยมีคนเชื่อว่าสารต่อไปนี้กันแดดได้
- เบบี้ออยล์
- ครีมหรือโลชั่น หล่อลื่นทั่วไป
- น้ำมัน หรือ ขี้ผึ้งที่ทำมาจากมะพร้าว
ความจริงก็คือ สารเหล่านี้กันแดดไม่ได้ และยังอาจทำให้รูขุมขนอักเสบอีกด้วย จึงไม่ควรนำมาใช้ทากันแดด
 

ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ประเภทครีมหรือโลชั่นกันแดด

 

SPF      ชื่อผลิตภัณฑ์

10-15    Super shade 15     (b,c)           Protan               (b)

             Total Eclipse        (b,c)            Sea & Ski 6        (b)

             Piz Buin                (c,d)           Sundown            (b)

             Exclusiv                (c,d)           UVAL                (b)

             Extrem Crème       (c,d)           Solbar               (c)

6-12      Eclipse                   (b)             Sungard            (b,c)

             Piz Buin 6              (b,c)           Maxafil              (d,f)

             Pabanol                  (a)              A-FIL              (f,g)

             Pre Sun                   (a)     2-4   Copertone 2     (e)

4-6        Pabagel                   (a)             Sundare and

             Pabafilm                  (b)             Piz Buin 2          (d)

             Partial Eclipse         (b)             RVP                    (i)

 

หมายเหตุ อักษรในวงเล็บ หมายถึงส่วนผสมที่เป็นสารกันแดดในผลิตภัณฑ์ชนิดนั้น

(a) PABA
(b) PABA ester
(c) benzophenones
(d) cinnamates
(e) salicylate
(f) anthranilide
(g) titanium dioxide
(h) zinc oxide
(i) red veterinany petrolatum

 

ข้อมูลสื่อ

85-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 85
พฤษภาคม 2529
อื่น ๆ