โทงเทง สมุนไพรข้างถนน
ท่านที่สนใจในสมุนไพรทั้งหลาย ท่านเคยลองมองดูข้างๆ ถนนบ้างหรือเปล่าว่า มีสมุนไพรข้างถนน ที่น่าสนใจอยู่อีกหลายต่อหลายอย่าง ท่านที่รัก ถ้าสนใจก็ลองอ่านบทความต่อไปดูซิครับ บางทีอาจจะเป็นประโยชน์แก่ท่านอย่างมากมายก็ได้ ผมเป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียจากตำราต่างๆ ที่ผมพอจะหาได้มาสู่ท่าน บทความต่อไปนี้ หากเป็นประโยชน์แก่ท่าน ก็ขอให้ท่านได้ใช้ประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ ที่เจ็บป่วยด้วยความเมตตาเถอะ เพราะเมตตาเท่านั้นที่จะคุ้มครองโลก และขอให้ท่านได้แจกจ่ายความรู้นี้วิทยาทานด้วย อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัวนักเลย
ไม่ว่าท่านจะเดินไปในที่ไหนๆ ที่รกร้างว่างเปล่า ที่แฉะๆ ชื้นๆ ตามซอกตามตรอก ตามหมู่บ้านตามดงหญ้า ถ้าท่านสังเกตให้ดีจะพบว่า เจ้าต้นโทงเทงนี้ขึ้นไปทุกหนทุกแห่ง บางท่านอาจจะไม่คุ้นหูกับชื่อนี้ก็ได้ ยังมีชื่อเรียกกันอีกเยอะแยะ ดังต่อไปนี้
ชื่อในประเทศไทย
โทงเทง โคมจีน เผาะแผะ ทุ้งทิ้ง มะก่องเช้า ตุ้งติ้ง ต็งอั้งเช้า ทุงทิง โคมญี่ปุ่น
ชื่อในประเทศจีน
ซึงเจี่ย อั้งโกวเนี้ย กิมเต็งลั้ง เต็งอั้งเช้า อ้วงบ๊อจู หลกซิ้งจู เทียงผาเช้า ขั่วกิมเต็ง
ชื่อทางวิทยาศาสตร์
ไฟซาลิส มินิน่า (Physalis minima Linn) วงศ์ไซลานาซิอี้ (Solanaceae)
ลักษณะทั่วไป
เป็นสมุนไพรเล็กๆ จำพวกหญ้า ต้นสูงประมาณครึ่งฟุต ถึง 2 ฟุต ใบกลมคล้ายใบพิมเสน แต่เล็กกว่าและบางกว่ามาก ดอกสีเหลือง ผลกลมพองเหมือนโคมจีนปลายแหลม โตประมาณเท่าลูกพุทร้าเขื่องๆ งามน่าดู มีขึ้นอยู่ตามที่ชุ่มชื้น และรกร้างว่างเปล่าทั่วๆ ไป คนจีนนิยมปลูกกันตามสวนยาจีน และนิยมใช้กันมาก เพราะรู้สรรคุณดี สำหรับไทยเราไม่ค่อยมีใครนิยมกันนัก
ประโยชน์ที่ใช้ทางยา
1. ใช้ทั้งต้นตำละลายกับเหล้า เอาสำลีชุบน้ำยาอมไว้ข้างๆ แก้มและค่อยๆ กลืนน้ำยาผ่านลำคอทีละน้อยๆ แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ แก้ฝีในคอ (แซง้อ) และ แก้คออักเสบวิเศษนัก สำหรับท่านที่ไม่ดื่มสุรา จะใช้น้ำส้มสายชูแทนได้เป็นอย่างดี และได้ผลอย่างเดียวกัน
2. ใช้ภายใน แก้ร้อนใน กระหายน้ำวิเศษ
3. ใช้ภายนอก แก้ฟกบวม อักเสบ ทำให้เย็น
4. จากตำราจีน “ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ” (หรือคู่มือสมุนไพรจีน ฉบับปฏิบัติ) กล่าวว่าขนาดใช้ ใช้ 2สลึง ถึง 3 สลึง ต้มกินแก้โรคต่อไปนี้ได้ดี
4.1 หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไอ หอบ ใช้โทงเทงกับเปลือกส้มจีนแห้งหรือตั้งพ๊วยอย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็จะหาย
4.2 หลอดอาหารอักเสบอย่างแรงจนคอบวมแดง กับเป็นแผลเน่า เป็นฝี ปัจจุบันนี้มียาแผนปัจจุบันใช้กันแล้ว แต่ถ้าไม่มี ให้ใช้โทงเทง กับเลี่ยงเคี้ยว (มีขายตามร้านขายยาจีน) อย่างละ 1 สลึง กับ 5 หุน (5 หุน เท่ากับ ½ สลึง) ชะเอม 1 สลึง ต้มกินก็จะหาย หรือจะใช้โทงเทง แต่อย่างเดียวชงน้ำดื่มอย่างชา ก็จะมีผลเช่นกัน
4.3 ฝีอักเสบมีพิษ ใช้สดๆ ตำให้แหลกพอก หรือถ้ามีแผลด้วย ก็เอาต้มน้ำชำระด้วย
5. จากตำรา “ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ” (หรือคู่มือยาจีน ฉบับปฏิบัติ) กล่าวว่า โรคช่องปากอักเสบ ลิ้นอักเสบ น้ำปัสสาวะเป็นสีเหลือง ใช้โทงเทงอิงถิ่น และชะเอม อย่างละ 2 สลึง ต้มกินก็หาย
6. จากตำราสมุนไพรจีนอีกเล่มหนึ่งชื่อ “หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ” กล่าวว่า หลอดลมอักเสบอย่างแรง ไออย่างแรง คอเจ็บ โรคเสียงแหบต่างๆ ใช้โทงเทง 6 กรัม ชะเอม 3 กรัม ‘ไต้ลักจื้อ’ 5 กรัม ‘อัวน่ำจื้อ’ 5 กรัม ‘เบ๊ปวก’ 1 กรัม ‘ง๊วงเซียม’ 5 กรัม น้ำ 500 ซี.ซี. ต้มให้เหลือ 200 ซี.ซี. กินวันละ 3 หนก็หาย
หลักฐานที่ใช้อ้างอิงในการรวบรวม และเรียบเรียงครั้งนี้
1. ตำราไม้เทศเมืองไทย ของอาจารย์เสงี่ยม พงศ์บุญรอด
2. ซีกเองตงเอียะฉิ่วแฉะ (คู่มือยาจีน ฉบับปฏิบัติ)
3. ซีกเองตงเช่าเอียะฉิ่วแฉะ (คู่มือสมุนไพรจีน ฉบับปฏิบัติ)
4. หิ่งต่อซีกเองตงเอียะ
จึงขอขอบคุณท่านเจ้าของตำราเหล่านี้มา ณ โอกาสนี้ด้วย
หมายเหตุ
ทางกอง บก. ได้รับจดหมายพร้อมข้อเขียนเรื่อง “โทงเทง-สมุนไพรข้างถนน” กับ “มะระ-ยาในครัวเรือน” จาก ร.อ.ยิ่งวัฒนา บัวเพชร์ ผู้ช่วยสัสดี จังหวัดพัทลุง ทางเราเห็นว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านได้บ้าง จึงได้นำลงคอลัมน์ “สมุนไพร” นี้ และเราได้ช่วยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลรายงานทางคลินิกของ โทงเทง ประกอบมากับบทความนี้ด้วย เราขอขอบคุณ ร.อ.ยิ่งวัฒนา บัวเพชร์ มา ณ โอกาสนี้ และขอเชิญชวนท่านผู้อ่านได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับสมุนไพร มาร่วมสนุกกับเราด้วยนะครับ
ชัยโย
เพิ่มเติม
เรื่องโทงเทง
ผลรายงานทางคลินิก (จากหนังสือ พจนานุกรมสมุนไพรจีน ฉบับสมบูรณ์)
1. แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ใช้ทั้งต้นแห้งหนัก 500 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้มีปริมาณ 500 ซี.ซี. รับประทานครั้งละ 50 ซี.ซี. วันละ 3 ครั้งหลังอาหาร 10 วัน เป็น 1 รอบของการรักษา กินติดต่อกัน 3 รอบ แต่ละรอบพัก 3 วัน จากการรักษาคนไข้ 50 ราย ได้ผล 39 ราย อาการดีขึ้น 10 ราย ไม่เห็นผล 1 รายจากการรักษาโรคไอมีเสมหะ หอบ หืด ได้ผลค่อนข้างดี ระยะเวลาของการรักษาโดยเฉลี่ย 3-6 วัน ยกเว้น 1 ราย ที่รักษาถึง 20 วัน ในระหว่างการรักษาคนไข้บางคน มีอาการรู้สึกใจคอ ไม่ค่อยดี อึดอัด เวียนหัว นอนไม่หลับ เหล่านี้เป็นอาการข้างเคียงของยานี้ หลังจากรักษา 1-5 วัน อาการเหล่านี้ ก็จะหายไปเอง มีคนไข้รายหนึ่ง กินต้นนี้สดๆ หนัก 750 กรัมในเวลา 2 วัน ก็ไม่ปรากฏอาการเป็นพิษแต่อย่างใด
2. แก้ดีซ่าน ใช้ทั้งต้น 2 ต้น ต้มน้ำ คั้นเอาน้ำข้นๆ มาผสมน้ำตาลพอสมควร ให้รับประทานวันละ 2-3 ครั้ง บางคนรับประทาน 10-15 ครั้ง ก็หายตัวเหลือง
3. แก้ต่อมทอนซิลอักเสบ ใช้ต้นนี้สดๆ (หรืออย่างแห้งก็ใช้ได้) 3 หัว แผ่น ฝักชุบน้ำตาล 2 แผ่น ใส่น้ำ 1 ถ้วย ต้มให้เหลือครึ่งถ้วย รับประทานครั้งเดียวหมด เด็กก็รับประทานลดลงตามส่วน จากการรักษาคนไข้ร้อยกว่าราย บางคนรับประทาน 4-10 ครั้งก็หาย บางคนรับประทานติดต่อกันถึง 2 เดือนจึงหาย
- อ่าน 22,788 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้