• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การให้นมลูกด้วย “วิธีสลับ” (นมแม่สลับนมวัว)

9.การให้นมลูกด้วย “วิธีสลับ” (นมแม่สลับนมวัว)

ถึงแม้ว่าคุณอยากจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่ถ้านมแม่ไม่พอจริงๆ ก็จำเป็นต้องเพิ่มด้วยนมวัว ในกรณีนี้ คุณไม่ควรใช้วิธีให้ลูกดูดนมแม่ทุกครั้งแล้วตามด้วยนมวัว ควรใช้วิธีสลับ คือ เวลาให้นมวัว ก็ให้นมวัวล้วนๆ เวลาที่ให้นมแม่ ก็ให้แต่นมแม่ เพราะถึงตอนที่ต้องให้นมแม่ คุณแม่เองจะพยายามให้ลูกดื่มเต็มที่ เพราะกลัวว่าจะไม่พอ แต่ถ้าใช้วิธีให้นมวัวตามทุกครั้งที่ให้นมแม่แล้ว คุณแม่จะพยายามน้อยลง เพราะคิดว่าถ้าไม่พอก็ให้นมวัวเติมได้ และเมื่อแม่คิดอย่างนี้แล้ว นมแม่จะลดลงอย่างรวดเร็ว ทางด้านลูกของคุณเอง ถ้าให้นมวัวตามทุกครั้งหลังจากดูดนมแม่ เด็กก็ไม่ค่อยอยากดูดนมแม่นัก เพราะดูดนมจากขวดง่ายกว่า เลยคอยแต่จะกินนมวัวท่าเดียว เมื่อเด็กไม่ค่อยยอมดูด นมแม่ก็ยิ่งจะมีน้อยลง

หลังจากให้นมแม่ เด็กอาจหิวเร็วเพราะนมแม่น้อย เด็กอาจร้องหิวเมื่อนอนได้เพียง 2 ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมงครึ่ง ก็ไม่เป็นไร ครั้งต่อไปเมื่อคุณให้นมวัว เด็กดูดได้มาก ก็จะนอนนานถึง 3 ชั่วโมง ช่วงห่างระหว่างเวลาให้นมไม่จำเป็นต้องเท่ากัน แต่เมื่อพยายามให้นมลูกด้วยวิธีสลับเช่นนี้ไปเรื่อยๆ นมแม่อาจมีมากขึ้น จนกระทั่งช่วงห่างระหว่างเวลาให้นมยาวขึ้นใกล้เคียงกับเวลาให้นมวัว

ในกรณีที่นมแม่ไม่พอที่จะสลับกับนมวัว เช่น คุณอาจให้นมแม่ได้เพียง 3 ครั้ง และต้องให้นมวัวอีก 4 ครั้งในวันหนึ่ง ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณควรให้นมแม่ตอนกลางคืนและตอนเช้า เพราะสะดวกแก่ตัวคุณเอง ไม่ต้องลุกขึ้นมาชงนมตอนกลางคืนยุ่งยาก ทั้งยังหนวกหูคุณพ่ออีกด้วย

ถ้านมแม่น้อยลงจน กระทั้งให้ลูกกินได้วันละครั้งเดียวเท่านั้น คุณก็ควรเก็บไว้ให้ตอนดึก เพราะเมื่อเด็กโตขึ้น การดูดนมตอนดึกจะค่อยๆลดลงและเด็กจะดูดเพื่อเรียกร้องสัมผัสความรักมากกว่าหิว การเก็บน้ำนมแม่ไว้ให้ในตอนกลางดึก ก็เท่ากับยิงทีเดียวได้นกสองตัว เพราะคุณแม่ก็สะดวก ลูกก็สบาย คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อว่า การให้นมลูกกลางดึกไม่ดี เพราะเด็กจะค่อยๆ เลิกไปเองตามธรรมชาติ

ถึงแม้คุณจะตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เต็มที่ แต่นมแม่กลับมีน้อยมาก ไม่พอให้ลูกแม้แต่วันละครั้งเดียว ทั้งๆ ที่พยายามนวดก็แล้ว กินแกงเลียงก็แล้ว นมก็ยังไม่มี จนกระทั้งคุณเองรู้สึกกลุ้มใจ ถ้าเป็นเช่นนี้ คุณควรเลิกล้มความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เสีย คุณไม่ควรเป็น “นักนิยมนมแม่” จนกระทั้งกลัดกลุ้มพลอยทำให้คนอื่นในครอบครัวกลัดกลุ้มวุ่นวายไปกับคุณด้วย

การเลี้ยงลูกด้วยนมวัวในปัจจุบัน ถึงแม้จะค่อนข้างหนัก กระเป๋าคุณพ่อคุณแม่ แต่ก็ไม่ยุ่งยาก เหมือนเมื่อก่อน คุณอาจชงนมใส่ตู้เย็นไว้ หรือเตรียมนมผงใส่ขวดและเตรียมน้ำร้อนใส่กระติกไว้ เวลาชงไม่ถึง 5 นาทีก็เสร็จ เด็กอาจรู้สึกขาดความอบอุ่นไปบ้าง เมื่อไม่ได้ดูดนมจากอกแม่ แต่คุณก็ทดแทนให้แกได้ด้วยความรักของคุณที่มีต่อลูก และสิ่งที่สำคัญคือ เวลาให้นมลูกควรอุ้มให้ในท่าเดียวกับเวลาให้นมแม่ การให้นมลูกด้วยวิธีให้แกนอนอยู่บนเตียงแล้วเอาหมอน หนุนขวดนมให้ดูดเอาเองนั้นเป็นการ “ให้อาหาร” เท่านั้น ไม่ใช่การเลี้ยงลูกด้วยความรัก

10.นมวัวชนิดไหนดี

ในปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงนมวัวสำหรับเลี้ยงทารกก็เกือบจะหมายถึง นมผงสำหรับเลี้ยงทารกเลยทีเดียวเพราะตระเตรียมสะดวก จึงเป็นที่นิยมกันมาก

สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมผง ประการแรกมักเกิดปัญหาว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมผงตราอะไรดี ที่จริงคุณจะเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรก็ได้ แต่ควรเลือกตราที่ร้านเจ้าประจำของคุณขายดีเพราะนมจะได้ไม่เก่า และเมื่อตัดสินใจเลี้ยงลูก ด้วยนมตราอะไรแล้วละก็ ไม่ควรเปลี่ยน เพราะอย่างน้อยที่สุดเมื่อเด็กถ่ายอุจจาระบ่อยครั้งขึ้น คุณจะได้แน่ใจว่า สาเหตุไม่ได้มาจากนม

นมผงที่ขายอยู่ในท้องตลาดมีอยู่หลายชนิด แต่ละยี่ห้อก็โฆษณาว่า นมของตนดีที่สุด แต่คุณแม่จะเลี้ยงลูกด้วยนมตราอะไรก็ได้ ไม่มีข้อจำกัดว่า ถ้าคุณไม่เลี้ยงลูกด้วยนมตรานี้แล้วลูกคุณจะไม่โต เพราะกระเพาะของเด็กมีความสามารถในการย่อยนมได้หลายประเภท นมคนก็ย่อยได้ นมวัวก็ย่อยได้ ยิ่งถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมวัวด้วยแล้ว ลูกของคุณจะโตเร็วกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่ ทั้งส่วนสูงและน้ำหนักจะเพิ่มเร็วกว่า

แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า นมวัวดีกว่านมแม่ เพราะว่าถึงแม้ร่างกายเด็กจะเติบโตเร็ว แต่ก็เปรียบเสมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไม่ดี มีไอเสียเยอะ แต่ก็วิ่งเร็วเพราะกินน้ำมันจุ แต่พอวิ่งๆ ไปเครื่องยนต์อาจเกิดขัดข้องได้ เด็กทารกก็เช่นเดียวกัน ถ้าคุณให้กินนมมากเกินไป บางคนอาจจะเกิดขัดข้องเป็นโรค “เกลียดนม” (โรคนี้จะกล่าวถึงในตอนหลัง) ถึงแม้เด็กส่วนใหญ่จะไม่เป็นโรคนี้ แต่ในปัจจุบันกุมารแพทย์ (หมอรักษาโรคเด็ก) มักจะเกรงว่า ถ้าให้เด็กแบกร่างที่หนักอึ้งเสียตั้งแต่ยังเป็นทารก อาจเกิดอันตรายขึ้นในอนาคตได้ การเลี้ยงดูลูกด้วยนมวัว ไม่ควรคำนึงแต่เรื่อง ทำอย่างไรจะให้เด็กอ้วน แต่ควรคิดด้วยว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้ระบบย่อยอาหารของเด็กทำงานหนักเกินไป คุณไม่ควรผสมนมให้เด็กข้นจนเกินไป ที่จริงอัตราส่วนผสมนมที่เขียนไว้ข้างกระป๋อง ก็ข้นเกินไปสำหรับเด็กอยู่แล้ว ลำไส้ของทารกไม่สามารถดูดซึมนมที่ข้นเกินไปได้ โดยเฉพาะโปรตีน นมแม่มีโปรตีน 1.3 เปอร์เซ็นต์ นมวัวมี 3.3 เปอร์เซ็นต์ แต่ทารกสามารถย่อยโปรตีนของนมวัวได้น้อยกว่าโปรตีนของนมแม่ ดังนั้นปัญหาสำคัญสำหรับคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกด้วยนมวัว จึงไม่ใช่เป็นเรื่องว่า ควรเลือกนมตราอะไรดี แต่อยู่ที่ว่าคุณไม่ควรผสมนมให้ข้นเกินไป หรือจางเกินไป (เพื่อประหยัดนมซึ่งมีราคาแพง)

ในอเมริกา กุมารแพทย์(หมอรักษาเด็ก) จะเป็นผู้กำหนดอัตราส่วนผสมนมให้แก่เด็กเป็นรายๆ ไป แต่สำหรับประเทศที่หมอไม่พออย่างของเรา หมอมักจะมีงานยุ่ง จนไม่มีเวลาดูแลแต่ละคนอย่างละเอียด จึงมักแนะนำให้คุณแม่ปฏิบัติตามฉลากข้างกระป๋อง ผลก็คือ เด็กมักจะได้รับนมที่ข้นเกินไป และทำให้อ้วนเกินไป กลายเป็น “เด็กยักษ์” เด็กยักษ์นั้น ดูภายนอกก็รูปร่างใหญ่โตดีอยู่หรอก แต่อวัยวะภายในนั้น คงจะเหนื่อยอ่อนกับภาระแบกรับน้ำหนักอยู่ไม่น้อยทีเดียว โดยทั่วไปแล้ว สัดส่วนในการผสมของนมผง ใช้นม 1 ช้อนเล็ก ผสมกับน้ำ 1 ออนซ์ (30 ซี.ซี.) และนม 1 ช้อนใหญ่ ผสมกับน้ำ 2 ออนซ์ (60 ซี.ซี.) ซึ่งทั้งช้อนเล็กและช้อนใหญ่นี้จะอยู่ในกระป๋องของนมผงแต่ละชนิด

นอกจากปัญหา ”เด็กยักษ์” เพราะได้รับการเลี้ยงดูดีเกินไป ซึ่งมักจะเป็นปัญหาของชนชั้นกลางขึ้นไป ซึ่งมีฐานะดีพอที่จะซื้อนมผงชนิดราคาแพงเลี้ยงลูกได้ ประเทศเรายังมีปัญหาเด็กผอมแกร็นเพราะขาดอาหาร รวมทั้งปัญหา “เด็กอ้วนฉุ” แต่ขาดอาหาร เพราะถูกแม่เลี้ยงด้วย “นมข้นหวาน” เนื่องจากแม่มีความรู้น้อย ไม่ทราบว่านมข้นหวานนั้น ใช้เลี้ยงทารกไม่ได้ เพราะมีน้ำตาลมากเกินไป แต่มีโปรตีนและไขมันน้อยมาก ทำให้เด็กอ้วนเพราะน้ำตาล แต่ร่างกายกลับขาดธาตุอาหารที่สำคัญคือ โปรตีน วิตามิน โดยเฉพาะวิตามิน เอ หรือที่ชาวบ้านเราเรียกกันว่า “เกล็ดกระดี่...ตา” (ซึ่งจะทำให้ตาดำขุ่น เป็นแผล และแห้ง ในที่สุดบอดได้ ) ปัญหานี้อาจแก้ได้ด้วยการรณรงค์โฆษณาให้แม่รู้ถึงโทษของการเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวาน นอกจากนั้นยังมีแม่จำนวนไม่น้อยที่จำใจต้องเลี้ยงลูกด้วยนมข้นหวานทั้งๆ ที่รู้ว่าไม่ดี แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวยให้ซื้อนมผงเลี้ยงลูกเพราะราคาแพงเกินเกินฐานะจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวแม่เองก็ขาดอาหารจนไม่มีน้ำนมจะเลี้ยงลูก สำหรับปัญหานี้ จะแก้ได้ก็ต่อเมื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจได้เท่านั้น

นอกจากนมผงแล้ว คุณอาจใช้นมสดเลี้ยงลูก ได้เช่นเดียวกัน สำหรับทารกแรกเกิดถึง 4-6 เดือน ควรต้มนมให้เดือดก่อน แล้วทำให้นมจางโดยเติมน้ำสุกอีก 1 ใน 3 ส่วน (หมายถึง นมสองส่วน น้ำหนึ่งส่วน รวมเป็นสามส่วน เช่น นมสดต้มแล้ว 60 ซี.ซี. ก็เติมน้ำเข้าไป 30 ซี.ซี. รวมเป็น 90 ซี.ซี.) แต่การใช้นมสด คุณต้องระวังเรื่องนมเสียให้มาก เพราะประเทศเราร้อนจะทำนมเสียได้ง่าย ตู้เย็นที่ใช้เก็บนมจะต้องเย็นพอและอย่าปิดเปิดบ่อยๆ ก่อนจะเตรียมนม คุณแม่ต้องชิมนมดูเสียก่อนว่าเสียหรือไม่ จึงจะปลอดภัย

11. จะใช้ขวดนมอย่างไหนดี

โดยทั่วไป เวลาพ่อแม่ไปเลือกหาซื้อขวดนม มักจะเลือกขวดใหญ่ที่จุนมได้มาก และขวดที่ทนทาน...เช่น ขวดพลาสติกที่ตกไม่แตก เพราะคิดว่าจะใช้ได้นานๆ

แต่เรื่องสำคัญที่สุด สำหรับคุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมวัว ควรระมัดระวังไว้ คือ อย่าให้ลูกกินนมมากเกินไป ตามหลักแล้ว ถึงแม้เด็กจะโตแล้วคุณก็ไม่ควรให้ลูกกินนมเกินวันละ 1 ลิตร (1,000 ซี.ซี.) ที่จริงขวดนมสำหรับเด็กไม่จำเป็นต้องจุเกิน 200 ซี.ซี. ขวดขนาดยักษ์ที่จุได้ถึง 300 ซี.ซี. ไม่ควรซื้อ เพราะทำให้คุณแม่ให้นมลูกตามใจชอบ เด็กอยากกินเท่าไหร่ก็ชงให้เท่านั้น หรือเวลาที่ชงให้ลูกตามขนาดพอเหมาะไม่ถึง 200 ซี.ซี. ขวดมันใหญ่ เลยทำให้คุณแม่รู้สึกว่า นมมันน้อยไป เลยชงเพิ่มเข้าไปอีก การให้นมครั้งหนึ่งๆ ถึง 250-300 ซี.ซี. นั้น จะทำให้เกิดปัญหาเด็กอ้วนเกินไปดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น

ถ้าฐานะทางเศรษฐกิจของคุณอำนวยให้ ตอนที่ลูกยังเด็ก ยังถือขวดนมเองไม่ได้ คุณควรเลือกใช้ขวดแก้วที่ จุได้เพียง 200 ซี.ซี. ขวดแก้วถึงแม้จะแตกง่าย แต่ขวดก็ใสทำความสะอาดง่าย ไม่เหมือนขวดพลาสติกซึ่งเมื่อใช้ความร้อนฆ่าเชื้อโรคบ่อยๆ แล้ว ขวดจะขุ่นและเปลี่ยนสี ทำให้เห็นไม่ชัดว่า ล้างคราบสะอาดหมดหรือยัง พอลูกโตขึ้น เริ่มใช้มือปัดขวดนมได้แล้ว จึงค่อยเปลี่ยนไปใช้ขวดพลาสติกเพราะตกไม่แตก ปลอดภัยสำหรับเด็ก

ในกรณีที่ฐานะทางเศรษฐกิจของคุณไม่อำนวยให้ เพราะขวดนมบ้านเราราคาหนักกระเป๋าคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะของที่ทำจากต่างประเทศ คุณก็จำเป็นต้องซื้อขวดที่ทนทานใช้ได้นาน เช่น ขวดพลาสติกขนาดที่จุ 200-240 ซี.ซี. ในกรณีนี้ ควรระมัดระวังเรื่องความสะอาดให้มากและระวังอย่าให้นมลูกมากเกินไปด้วย

12.วิธีชงนม

เวลาชงนมให้ลูก สิ่งสำคัญที่สุดคือ ความสะดวก เพราะถ้าเชื้อโรคเข้าไปในนมที่ลูกกินแล้ว จะทำให้เด็กท้องเสียได้ โดยเฉพาะเวลาที่มีโรคท้องร่วงและโรคทัยฟอยด์ระบาด ถ้าเด็กได้รับเชื้ออาจป่วยได้

เชื้อโรคจะเข้าไปในน้ำนมได้หลายทาง ที่มากที่สุดคือ ตัวแม่มีเชื้อโรคติดมืออยู่ เวลาชงนมเชื้อโรคก็เลยเข้าไปในนมด้วย อีกทางหนึ่งก็คือ จากพวกสัตว์นำเชื้อโรค เช่น แมลงวัน แมลงสาบ เข้าไปในกระป๋องนมเพราะลืมปิดฝา หรือบินมาตอมหัวนมยางเพราะลืมปิดฝาครอบ นอกจากนั้น ผ้าเช็ดมือหรือผ้าเช็ดจานที่ไม่สะอาดพอ แล้วคุณแม่เผลอเอามาเช็ดมือหรือขวดนม ก็ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในนมได้ ถ้าจะให้ลูกของคุณได้กินนมที่สะอาดและปลอดภัย คุณแม่ต้องพยายามป้องกันไม่ให้เชื้อโรคเข้าไปในนมลูกได้ เช่น ก่อนชงนม ล้างมือด้วยสบู่ให้สะอาด ล้างเสร็จแล้วเช็ดด้วยผ้าเช็ดมือที่สะอาด (ผ้าเช็ดมือไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าใหม่ ใช้ผ้าเก่าก็ได้ ซักให้สะอาดและตากแดดให้แห้งฆ่าเชื้อโรค ควรเตรียมไว้ให้มากผืนเท่ากับจำนวนครั้งที่ชงนม และใช้ผืนใหม่ทุกครั้ง) สำหรับขวดนมและหัวนมยางทำความสะอาดโดยการนึ่งหรือต้มในน้ำเดือด

การทำความสะอาดเครื่องมือเครื่องใช้ในการชงนมอย่างเคร่งครัด ทำได้โดยเอาขวดนม หัวนม ยางฝาขวด ที่ครอบฝา ช้อนตวงนม และคีมคีบขวด ใส่ลงในที่นึ่ง แล้วนึ่งประมาณ 15-20 นาที แล้วทิ้งเอาไว้สักพักจึงค่อยเปิดฝา หยิบคีมคีบออกมาก่อน เอาคีมคีบหัวนมยางใส่ฝาขวด และเอาฝาครอบขวดครอบเอาไว้ แล้วเอคีมคีบขวดนมออกมา ใส่น้ำร้อนตามกำหนด เอาช้อนตวงนมใส่ขวด ปิดฝา เขย่าเล็กน้อย เป็นอันเสร็จ คุณควรนึ่งที่เดียวหลายๆ ขวด พอจะใช้ค่อยหยิบออกมาทีละขวด การลวกขวดด้วยน้ำเดือดๆ นั้น ฆ่าเชื้อโรคได้ไม่หมด โดยเฉพาะที่โรคท้องร่วงหรือทัยฟอยด์ระบาด ควรระวังให้มากไม่ควรใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดขวดนม

ขวดนมและหัวนมยาง เมื่อใช้แล้ว ควรล้างทำความสะอาดทันที และคว่ำเอาไว้ (หรืออย่างน้อยก็แช่เอาไว้ก่อน) เพราะถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้นมค้างอยู่ในนั้น จะกลายเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค ที่นี้เวลาล้างทำความสะอาดก็จะต้องพิถีพิถันมากขึ้นไปอีก

ข้างกระป๋องนมมักมีตารางเขียนไว้ว่า ต้องเติมน้ำตาลเท่านั้นเท่านี้ แต่นมผงในปัจจุบันนั้นส่วนใหญ่หวานอยู่แล้ว ไม่ควรเติมน้ำตาลเข้าไปอีก

ถ้าคุณระวังเรื่องความสะอาด และฆ่าเชื้อโรคเครื่องใช้ในการเตรียมนมโดยเคร่งครัดแล้วละก็คุณอาจชงนมไว้ที่เดียว 6-7 ขวด ให้พอสำหรับหนึ่งวัน แล้วใส่ตู้เย็นไว้ พอถึงเวลาก็เอาออกมา และถ้าไม่อยากให้ลูกกินนมเย็นๆ ก็เอาขวดแช่น้ำร้อนให้อุ่นเสียหน่อยแล้วค่อยให้

ตอนกลางคืน ถ้าคุณแม่ต้องเตรียมนม ก็ไม่จำเป็นต้องลุกออกมาล้างมือ ใช้สำลีชุบแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค (ใช้แอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ มีขายตามร้านขายยาทั่วไป) เช็ดมือและทิ้งให้แห้งก็พอ การรักษาความสะอาดไม่ควรทำให้เป็นเรื่องใหญ่โตยุ่งยากจนเกินไป เพราะจะทำให้ตัวคุณแม่เองเหนื่อยมาก และพอเหนื่อยมากเข้าก็อาจจะละลายเรื่อง ความสะอาดในบางครั้ง กลายเป็นผลเสียมากกว่า คุณควรรักษาความสะอาดด้วยวิธีง่ายๆ ใช้เครื่องมือน้อยชิ้น และรวดเร็ว แต่ทำอย่างสม่ำเสมอจะดีกว่า เพราะการเลี้ยงลูกด้วยนมวัวต้องเสียเวลามากกว่าคนที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว ถ้าคุณมัวเสียเวลาถึงครึ่งชั่วโมงในการเตรียมนมแต่ละครั้ง คุณจะไม่มีเวลาทำอย่างอื่นให้ต้องการให้คุณกอดรัดสัมผัสเล่นหัวด้วยเช่นกัน คุณเองการเวลาพักผ่อน อย่าเอาเวลาทั้งหมดมาทุ่มเทให้กับการเตรียมนมหรือเตรียมอาหารเสริมแก่ลูกเลย

ข้อมูลสื่อ

4-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522