• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อหมอเป็นไข้

เมื่อหมอเป็นไข้

1. ค่ำวันหนึ่งหลังจากกินข้าวอาบน้ำเสร็จ หมอรู้สึกเพลียๆ นึกว่าคงเป็นเพราะหลายวันที่ผ่านมา ได้ตรากตรำงานมากเกินไป จึงล้มตัวลงนอนพักผ่อน คิดว่าสักพักหนึ่งคงจะดีขึ้นเอง

ครู่ใหญ่ต่อมาเมื่อตื่นขึ้น หมอรู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนระโหยโรยแรง และปวดเมื่อยไปทั้งตัว

หมอจึงวัดปรอทดู พบว่ามีไข้ 38.5 องศาเซลเซียส

หมอรู้สึกเจ็บแสบในคอนิดๆ จึงส่องกระจกอ้าปากเอาไฟฉายส่องดูคอ ก็พบว่าเยื้อบุลำคอและต่อมทอนซิลเป็นปกติดี ไม่โตไม่แดง ไม่มีหนอง ก็คงจะไม่ใช่เกิดจากต่อมทอนซิลอักเสบ

2. หมอคิดว่าคงจะถูกไข้หวัดใหญ่เล่นงานเข้าให้แล้ว เพราะระยะนี้มีผู้ป่วยประเภทนี้มาให้หมอตรวจอยู่วันละหลายรายแล้ว อาจติดต่อมาจากผู้ป่วยก็ได้

หมอจึงกินยาลดไข้แอสไพริน 2 เม็ด พร้อมกับดื่มน้ำเย็นไป 1 แก้ว ครึ่งชั่วโมงต่อมารู้สึกมีเหงื่อ...วัดปรอทอีกครั้งเหลือ 37.5 องศาเซลเซียส

3. คืนนั้นหมอหลับสบาย ตื่นเช้าขึ้นก็รู้สึกสบายขึ้นมาก จึงไปทำงานตามปกติ แต่ตกสายหมอก็กลับรู้สึกมีอาการหนาวสะท้านขนลุกซู่เมื่อถูกพัดลม รู้สึกปวดหัว และปวดเมื่อยตามตัว ไข้ขึ้นเป็น 39 องศาเซลเซียส จึงลากลับบ้าน เปลี่ยนชุดนอนตัวหลวมสบายเสร็จ ก็ล้มตัวลงนอน

4. หมอนอนหลับๆ ตื่นๆ จนถึงบ่าย พอตื่นขึ้นมาก็รู้สึกร้อนผ่าวไปทั่วตัว จึงกินยาแอสไพรินอีก 2 เม็ด และฝืนดื่มน้ำเย็นไปอีกหนึ่งแก้ว แล้วใช้ผ้าชุบน้ำก๊อกเช็ดตัวอยู่ครู่ใหญ่

ระหว่างนี้หมอก็คิดใคร่ครวญดูว่า อาการตัวร้อนที่เป็นนี่เกิดจากอะไร ไข้มาลาเรียรึ ก็ไม่น่าใช่ เพราะไม่เคยเข้าป่าดงมาหลายปีแล้ว และก็ไม่เคยเป็นไข้มาลาเรียมาก่อนด้วย อาการไข้ก็ไม่ถึงหนาวสั่นริกๆ เหมือนผีเข้า

ปอดบวมรึ ก็ไม่น่าจะใช่อีก เพราะไม่มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่หอบ ไม่มีอาการไอเป็นหนองแต่อย่างใด

5. หมอลองใช้มือเคาะ และกดดูตามชายโครงข้างขวาและตามส่วนต่างๆ ของหน้าท้อง สีข้าและหลังก็ไม่รู้เจ็บแต่อย่างไร ส่องกระจกดูที่ตาขาว ก็ไม่มีสีเหลือง ปัสสาวะก็ไม่ขุ่น ไม่แดง ไม่เหลืองเหมือนขมิ้น แต่ออกเป็นสีชาอ่อน ซึ่งก็เป็นปกติของคนที่เป็นไข้ ส่วนอุจจาระก็ไม่เหลว ไม่เป็นมูกเป็นเลือด หมอจึงไม่สงสัยว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับตับไต หรือกระเพาะลำไส้

6. หมอลองแหกตาดู ก็ไม่พบว่ามีอาการซีด มองดูตาผิวกายก็ไม่มีจ้ำเขียวหรือจุดแดงขึ้นตามตัว คลำดูต่อมน้ำเหลือง ที่คอ รักแร้ ขาหนีบ ก็ไม่โต จึงไม่คิดว่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับเลือด

7. แล้วโรคทางสมองละ จะรู้ได้ไหม ก็ไม่น่าจะใช่อีกเช่นกัน เพราะหมอยังคงรู้สึกตัวดี ไม่ซึม ไม่เพ้อ ปวดหัว ถึงจะมีบ้างก็ไม่รุนแรง ถึงรู้สึกคลื่นไส้บ้างแต่ก็ไม่มีอาการอาเจียนพุ่งรุนแรงอย่างโรคทางสมอง หมอลองก้มหัวไปข้างหน้าก็ยังสามารถก้มจนคางชิดหน้าอกได้ ไม่มีอาการคอแข็ง ซึ่งพบในโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

8. แขนขารึก็มีแรงดี ลุกนั่งเดินเหินได้ ไม่มีอัมพาตก็ไม่น่าจะเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง

อาการอื่นๆ เช่น บวมเป็นฝี แผลพุพอง หรือ อาการปวดข้อก็ไม่มี

9. ในที่สุดหมอก็แน่ใจตัวเองคงเป็น ไข้หวัดใหญ่ มากกว่าโรคร้ายแรงอื่นๆ ส่วนโรคบ้างอย่าง เช่น ทัยฟอยด์ ตับอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยพอสมควรนั้น ในระยะเริ่มแรกก็อาจมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ได้ ก็ต้องคอยเฝ้าดูอาการเปลี่ยนแปลงต่อไป เช่น ถ้ามีไข้เกิน 7 วัน หรือตาเหลือง ปัสสาวะสีขมิ้น แล้วละก็อาจเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ก็ได้

10. หมอได้ดูแลรักษาตัวเองด้วยการนอน พักอย่างเต็มที่ เช็ดตัวเวลามีไข้สูง พร้อมกับกินยาแอสไพริน ครั้งละ 2 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง ดื่มน้ำหวาน และดื่มน้ำเย็นมากๆ จนทำให้ปัสสาวะออกมากและสีใส กินข้าวต้มพอประทังหิว ไม่อาบน้ำเย็น ส่วนยาอื่นๆ หมอก็ไม่กิน ยิ่งยาฉีดแล้วก็ยิ่งไม่จำเป็น เพราะหมอแน่ใจว่า เป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ แล้วไข้หวัดใหญ่ก็เกิดจากเชื้อไวรัส และโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสทุกอย่าง มีวิธีการรักษาแบบเดียวกัน คือ ให้การรักษาตามอาการและพักผ่อนให้เต็มที่ก็เพียงพอแล้ว

11. หมอปฏิบัติเช่นนี้ พร้อมกับตรวจดูอาการเปลี่ยนแปลงในตัวเองแบบที่ได้ทำมาแล้วทุกวัน ก็ไม่พบมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นแต่อย่างใด

สองวันต่อมา อาการไข้ก็ทุเลา หมอพักฟื้นอีก 2-3 วันก็กลับไปทำงานได้ดังเดิม

หมอวินิจฉัยตัวเองว่าเป็นไข้หวัดใหญ่จริงๆ

ข้อมูลสื่อ

4-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 4
สิงหาคม 2522