คุยกับคนงานในโรงงานระดับดีของเมืองไทย
ครั้งแรกเมื่อคิดว่าจะคุยกับคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น เราก็คิดว่าจะพยายามเลือกคุยกับคนที่เป็นตัวแทนของคนงานส่วนใหญ่ เพื่อให้ได้เสียงที่แท้จริงของคนงาน แต่เนื่องจาก ข้อจำกัดหลาย ๆ ประการด้วยกัน ทำให้เราไม่สามารถได้ข้อมูล จากโรงงานขนาดเล็ก ซึ่งมีอยู่ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ของโรงงานในประเทศทั้งหมดได้ ส่วนที่พอจะนำมาเสนอ จึงเป็นเพียงสภาพและทัศนะของคนงานในโรงงานระดับค่อนข้างดี ซึ่งเป็นโรงงานที่มีจำนวนน้อยมาก และก็คงจะไม่ได้เป็นตัวแทนของคนงานส่วนใหญ่ในบ้านเราอย่างแท้จริง
ท่ามกลางความร้อนอ้าวของอากาศในยามบ่าย “หมอชาวบ้าน” ได้นัดพบกับคนงานของบริษัทผลิตถ่านไฟฉายแห่งหนึ่งย่านพหลโยธิน
ทันทีที่เข้าไปในโรงงานที่มีคนงานประมาณ 500 คน “หมอชาวบ้าน” ก็ได้สัมผัสกับเสียงดังกระหึ่มของเครื่องจักร และบรรยากาศที่ออกจะทึบทึม รวมทั้งกลิ่นของสารที่นำมาผลิตถ่านไฟฉายทางผู้จัดการได้ให้การต้อนรับ “หมอชาวบ้าน” เป็นอย่างดี และได้เป็นผู้พาคนงานมาให้ “หมอชาวบ้าน” สัมภาษณ์ด้วย
คนแรกที่เราได้คุยด้วยคือ คุณประสพศรี วงศ์ธรรม อายุ 38 ปี อยู่แผนกบรรจุของ
“พี่ทำงานที่นี่มา 16 ปีแล้ว เดี๋ยวนี้ได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเป็นผู้ช่วยหัวหน้า แต่ก็ยังไปช่วยเสริมงานแผนกอื่นอยู่ ถ้ามีคนขาด”
เมื่อถูกถามถึงสุขภาพ พี่ประสพศรีบอกว่า
“ยังไม่เคยเจ็บป่วยถึงขนาดล้มหมอนนอนเสื่อ แต่ก็มักจะปวดหลังเป็นประจำ ยิ่งเมื่อก่อนต้องคุมเครื่อง ต้องยืนทั้งวัน ปวดหลังมากก้มไม่ได้เลย”
“อุบัติเหตุหรือคะ...ก็เกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วแต่ความระมัดระวังของคนงาน อย่างนิ้วขาดเพราะเครื่องจักรตัด ทางโรงงานก็จะออกค่ารักษาให้ จ่ายเงินชดเชยให้ ทางแผนกพี่อยู่นอกๆ ออกมาไม่ค่อยมีอันตรายเท่าไร แต่พวกทำงานอยู่ห้องแร่ อันตรายก็มากขึ้นเพราะอยู่กับสารมีพิษ เขาจะต้องมีหน้ากากสวม แต่แผนกอื่นๆ ก็ไม่ต้อง”
เราถามถึงวันกรรมกรที่คนงานจะได้หยุดงาน 1 วัน
“วันกรรมกร ธรรมดาโรงงานจะพาไปเที่ยวต่างจังหวัด แต่ในระยะหลังไม่ทราบว่าจะงดหรือเปล่า”
คนที่ 2 คือคุณมนัส ผลคำสุข อายุ 23 ปี คุณมนัสอยู่แผนกควบคุมคุณภาพ แต่เพิ่งจะมาทำงาน ยังอยู่ไม่ครบปี
“ผมมีหน้าที่ดูแลผลผลิตที่จะออกสู่ท้องตลาด ดูว่ามันได้ตรงตามแบบหรือเปล่า ถ้าไม่ตรงก็คัดออก”
“ไม่เคยมีโรคประจำตัว สุขภาพดี ยังไม่เคยเจ็บป่วยมาก ๆ ที่โรงงานมีหมอมาอาทิตย์ละ 2 ครั้ง ถ้าคนไหนเป็นมากๆ โรงงานก็จะมาส่งโรงพยาบาลและออกค่ารักษาให้ อย่างอุบัติเหตุต่าง ๆ ก็ให้ แต่ผมไม่ทราบว่าเท่าไร”
เราถามถึงมาตรการการป้องกันอุบัติเหตุของโรงงาน คุณมนัสบอกว่า
“ทางโรงงานก็มีหน้ากาก มีถุงมือให้ ใครอยากได้ก็ไปเบิก แต่ส่วนมากไม่ชอบใส่กัน เพราะมันอึดอัด”
“ด้านสวัสดิการหรือครับ ผมเพิ่งมาอยู่ ยังไม่ทราบอะไรมาก ไม่รู้จะบอกจะแนะนำยังไง” เขาเอ่ยประโยคสุดท้ายกับเรา เมื่อถามว่าอยากให้โรงงานให้สวัสดิการเพิ่มขึ้นหรือไม่
อีกคนหนึ่งคือ คุณละมัย ชูสกุล อายุ 35 ปี บ้านเดิมอยู่จังหวัดชัยภูมิ คุณละมัยอยู่แผนกซ่อมถ่าน ทำงานที่นี่มา 10 ปีแล้ว เมื่อเราถามถึงลักษณะงาน คุณละมัยบอกว่า
“เวลาของออกมา ถ้าตรวจดูว่ามันไม่เรียบร้อย ก็เอามาซ่อมใหม่”
“เคยถูกรถชนค่ะ ที่หน้าโรงงานนี่เอง เพื่อนเสียไปคนนึง ตัวเองก็เจ็บสาหัส นอกจากนั้นเดี๋ยวนี้ มักจะมีอาการหายใจไม่ค่อยออก หอบ ปวดหัวเป็นประจำ ไปตรวจหมอว่าเป็นไซนัส”
“อยากให้โรงงานมีสวัสดิการเพิ่มขึ้นค่ะ เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็แพง”
“พี่ชอบอ่านข่าวเกี่ยวกับพวกสารตะกั่ว สารแมงกานีส เพราะกลัวและตัวเองก็ทำงานอยู่กับมันด้วย เลยสนใจ ชอบอ่าน”
และเมื่อเราถามว่า จะทำงานที่นี่ไปอีกนานเท่าใด พี่ละมัยก็พูดด้วยเสียงเรียบ ๆ ว่า
“ก็คงจะทำไปเรื่อย ๆ ความรู้น้อย ไม่มีทางไปนี่คะ”
คนสุดท้ายที่เราได้คุยด้วย คือ คุณทองสุก ธาราทรัพย์ อายุ 44 ปี ท่าทางเป็นคนอารมณ์ดี คุณทองสุกอยู่แผนกรักษาความสะอาด
“ผมทำมา 5 ปีแล้วครับ สุขภาพตอนนี้ก็ปกติดี จะมีบ้างก็ปวดหัวตัวร้อนธรรมดา แต่เมื่อ 2 ปีก่อนเคยเป็นโรคกระเพาะอย่างหนัก ถึงกับอาเจียนเป็นเลือด ก็ไปรักษาที่โรงพยาบาลข้างนอก...อ๋อ..ค่ารักษาหรือครับ ผมมีประกันชีวิต ทางบริษัทประกันเขาจ่ายค่ารักษาให้”
“ตาผมเป็นต้อครับ เป็นมาหลายปีแล้ว” คุณทองสุกตอบ
เมื่อเราถามเพราะเห็นตาทั้ง 2 ข้าง ของคุณทองสุกมีเนื้องอกตรงบริเวณหัวตา และปิดตาดำเล็กน้อยเมื่อถามถึงอาการ คุณทองสุกบอกว่า
“บางครั้งก็เคือง แต่ก็ไม่ได้รักษาอะไร”
“อยากให้โรงงานเพิ่มสวัสดิการอะไรบ้างหรือไม่” เราถาม คุณทองสุกนิ่งคิด แล้วตอบว่า
“....ก็ไม่ทราบครับ สุดแท้แต่ทางโรงงาน ถ้าเขาขาดทุนเขาก็คงขึ้นน้อย”
และเมื่อเราถามถึงอนาคต เป็นคำถามสุดท้าย
“สุดแท้แต่ ตอนนี้อายุก็มากแล้ว ความรู้แค่ ป.4 ไม่รู้จะไปทางไหน ผมก็มีลูก 2 คน ยังไม่ได้เรียนหนังสือ เมื่อก่อนเป็นช่างไม้ ทำงานก่อสร้างก็อยู่ไม่เป็นที่ ต้องเร่ร่อนไปเรื่อย
เรากลับออกมาจากโรงงานผลิตถ่านไฟฉาย เมื่อบ่าย 2 กว่า และได้ไปคุยกับคนงานของบริษัทผลิตแบตเตอรี่รถยนต์อีกแห่งหนึ่ง ย่านมีนบุรีบริษัทนี้ เป็นบริษัท ของคนต่างชาติ การจัดระบบสวัสดิการต่าง ๆ ให้กับคนงานอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับโรงงานอื่น ๆ ส่วนมากสภาพแวดล้อมภายนอกโรงงานร่มรื่น แลดูสะอาดตาแต่สภาพภายในโรงงานก็ยังคงทึบและร้อนอบอ้าวอยู่ในบางแผนก “หมอชาวบ้าน” ได้มีโอกาสเดินชมกิจการของโรงงาน และสามารถพูดคุยกับคนงานได้ตามต้องการ บริษัทนี้ มีคนงานเพียง 100 คนกว่า ๆ ในกระบวนการผลิตของโรงงานใช้เครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่ ความจำเป็นในการใช้แรงงานคนจึงน้อยลง
ที่แผนกอัดเปลือกหม้อแบตเตอรี่ “หมอชาวบ้าน” ได้คุยกับคุณมณี นาคเถื่อน อายุ 32 ปี เป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรี คุณมณีบอกว่าทำงานที่โรงงานนี้มานาน 8 ปีแล้ว และอยู่แผนกนี้มาตลอด งานของคุณมณีก็คือ การนำยางแผ่นมาชั่งให้ได้น้ำหนักตามที่กำหนดแล้วนำยางแผ่นใส่ในเตาขนาดใหญ่หรือแม่พิมพ์นั่งเอง ประมาณ 3 นาทีก็จะได้เปลือกหม้อแบตเตอรี่ 1 ใบ “หมอชาวบ้าน” ยืนคุยกับคุณมณีอยู่ข้างเตา กลิ่นยางบริเวณนั้นชวนให้เวียนหัว และอากาศก็ร้อนจนเหงื่อผุดพรายเต็มหน้า
“ที่นี่ทำงานเป็นกะ เครื่องจักรจะทำงานตลอดเวลา คนงานจึงต้องผลัดกันทำ กะละ 8 ชั่งโมง ทั้งหมด 3 กะ”
เมื่อถามถึงวันกรรมกรว่ามีความรู้สึกอย่างไรบ้าง คุณมณีก็บอกว่า
“คิดเพียงว่าเป็นวันหยุดเท่านั้นเองครับ”
คุณสมหมาย หอมจีน และ คุณสุรีย์ ทับทอง อยู่แผนกประกอบทั้งคู่ เมื่อถามถึงสุขภาพ ทั้ง 2 คน บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร เคยปวดหัวตัวร้อนธรรมดา คุณสมหมายบอกว่า ทางบริษัทมีสวัสดิการให้คนงานหลายอย่าง เช่นมีรถรับส่ง ให้กู้เงิน หรือเวลาเจ็บป่วยก็ไปหาหมอหรือพยาบาลที่มาประจำอยู่ที่โรงงาน ส่วนความเห็นของคุณสุรีย์ คิดว่า บริษัทควรเพิ่มสวัสดิการให้อีก สภาพแวดล้อมในการทำงานก็ยังไม่ดีนัก ยังอุดอู้และร้อนมาก
“ที่นี่ก็เคยมีอุบัติเหตุเหมือนกันค่ะ เช่นเครื่องจักรกลตัดนิ้วขาด หรือหม้อแบตเตอรี่หล่นทับ ที่จริงทางโรงงานมีหน้ากากให้สวม มีรองเท้าหัวเหล็กให้ใส่ แต่ไม่ค่อยได้ใส่กัน มันรำคาญ” คุณสมหมายบอกกับเรา
“วันกรรมกรหรือคะ ไม่ได้ไปไหนหรอก อยู่บ้านเฉย ๆ” คุณสุรีย์ตอบ เมื่อเราถามว่า วันกรรมกรจะไปเที่ยวหรือไปร่วมงานที่สหภาพแรงงานต่าง ๆ จัดหรือไม่
บ่ายแก่แล้วเมื่อเราเดินออกมาจากโรงงาน ผ่านถังตะกั่ว และถังน้ำกรดสำหรับช้าร์จไฟแบตเตอรี่ คนงานกะที่ 2 หยุดพัก บางคนก็เดินไปที่โรงอาหาร บางคนก็มาขอยาที่ห้องพยาบาลเตรียมตัวสำหรับต่อสู้และเสี่ยงภัยกับงานหนักในวันต่อ ๆ ไป
- อ่าน 2,706 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้