เบาหวาน โรคน้ำตาลทำพิษ
เบาหวานเป็นโรคโบราณอย่างหนึ่งมีมานานแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปเรื่อย ๆ จำนวนคนที่เป็นโรคนี้นับ วันแต่จะมากขึ้นทุกทีถ้าเป็นเบาหวานใน พ.ศ. นี้ เราจะมีเพื่อนร่วมโรคหลายสิบล้านคนในโลก หรือหลายแสนคนในเมืองไทยของเราส่วนใหญ่เขาก็มีชีวิตอย่างปกติ มีความสุขดี “แม้เป็นเบาหวาน ชีวิตก็ปกติสุขได้” องค์การอนามัยโลกว่าเป็นคำขวัญไว้เมื่อ 10 ปีก่อน ถ้าเป็นเบาหวานแล้วอยู่เฉย ๆ คงไม่ปกติสุขเป็นแน่แล้วจะทำอย่างไร ? ลองมาอ่านเรื่องนี้กันดู
⇒ เมื่อไรควรสงสัยว่าเป็นเบาหวาน
ก็เมื่อมีอาการผิดแกติข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- อ่อนเพลียผอมลงทั้ง ๆ ที่กินข้าวได้
- มีมดขึ้นปัสสาวะ
- ถ่ายปัสสาวะมาก (เลย) ดื่มน้ำมากตามมา
- ตามัวลงทุกที หรือต้องเปลี่ยนแว่นสายตาบ่อย ๆ
- คัน หรือมีผื่นบวมแดงบริเวณปากช่องคลอด หรือคันทั้งตัว
- เป็นฝีฝักบัว หรือเป็นฝีตามตัวบ่อย ๆ
- ชา ปวดแสบปวดร้อนตามปลายมือปลายเท้า
ถ้ามีหลายข้อ ยิ่งน่าสงสัยใหญ่ว่าคงใช่เบาหวานแน่
⇒ ทำอย่างไรถึงจะรู้ว่าเป็นหรือไม่เป็น
ต้องตรวจปัสสาวะ
วิธีตรวจ เอาหลอดแก้วหรือขวดแก้วทนไฟมา ใส่น้ำยาเบเนดิคท์ลงไป 1 ช้อนชา น้ำยานี้ใสและมีสีน้ำเงิน หาซื้อได้ง่าย ขององค์การเภสัชกรรม ราคาขวดละ 15 บาท (ขนาด 450 ซีซี) แล้วใช้หลอดแก้วสำหรับหยดยา (หาซื้อตามร้านขายยา) ดูดปัสสาวะใส่ลงไป 8 หยด เขย่าเบาๆ แล้วแช่ในน้ำเดือดนาน 5 นาที หรือเผาลนไฟนาน 2 นาที จนน้ำยาผสมปัสสาวะเดือด แล้วดูสีของน้ำยา
ถ้ามีสีน้ำเงิน = ไม่มีน้ำตาล
สีเขียว = มีน้ำตาลบวกหนึ่ง
สีเหลือง = มีน้ำตาลบวกสอง
สีส้ม = มีน้ำตาลบวกสาม
สีแสดแดง = มีน้ำตาลมา
ที่สุดคือบวกสี่
ถ้าจะให้สะดวกขึ้น จะซื้อเม็ดยาตรวจปัสสาวะมาตรวจก็ได้ วิธีตรวจใช้ปัสสาวะ 5 หยดกับน้ำเปล่า 10 หยด แล้วใส่เม็ดยาลงไปไม่ต้องเผาไฟหรือต้ม จะเกิดฟองเดือดขึ้นเอง รอจนหมดฟองแล้ว ดูสีที่เกิดขึ้น เหมือนกับใช้น้ำยาเบเนดิคท์
ยิ่งใช้แผ่นทดสอบ ยิ่งง่ายใหญ่ เพียงแต่จุ่มแผ่นอันนี้ลงไปในปัสสาวะแล้วเอาขึ้นมาเทียบสี ก็บอกได้เลยว่ามีน้ำตาลมากน้อยแค่ไหน
มาถึงขั้นนี้แล้ว จะเห็นว่าสามารถตรวจด้วยตัวเองได้ง่ายมาก ข้อสำคัญคือปัสสาวะที่ใช้ตรวจต้องถ่ายกันใหม่ ๆ โดยถ่ายของเก่าทิ้งก่อน แล้วดื่มน้ำเปล่าสัก 1-2 แก้ว รอประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมงค่อยถ่ายออกมาตรวจ ถ้าจะเอากันให้ดีให้แน่ ต้องตรวจก่อนกินข้าวหรือตรวจหลังจากไม่กินอะไรเลย (ยกเว้นน้ำเปล่า) มาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
ถ้ามีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะตั้งแต่บวกหนึ่งขึ้นไป และมีอาการผิดปกติดังวาข้างต้น ก็ควรจะลองตรวจซ้ำหลาย ๆ หน ถ้ายังเจอน้ำตาลอยู่อีก เห็นจะเป็นเบาหวานเสียแล้ว มีข้อยกเว้นเหมือนกัน ผู้หญิงตั้งท้อง หรือใครที่กินยาเตตร้าซัยคลีนที่หมดอายุ จะมีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะได้แต่ไม่เป็นเบาหวานหรือบางคนที่อายุมาก ๆ หน่อย หรือมีโรคไต
อาจเป็นเบาหวานได้ทั้ง ๆ ที่ตรวจปัสสาวะไม่พบน้ำตาลทำไมถึงเป็นอย่างนั้น
เหตุอยู่ที่ไต น้ำตาลในเลือดคนเราปกติ ก่อนกินอาหารจะไม่เกิน 120 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซีซี (เรียกสั้นๆ ว่า 120) ไตจะเป็นเหมือนเขื่อน คอยกักกั้นน้ำตาลไว้ใช้ประโยชน์ แต่จะกักไว้ได้แค่ 180 ถ้าเกินนี้น้ำตาลจะล้นออกมาในปัสสาวะ ให้เราได้ตรวจเจอ
เพราะฉะนั้น เห็นจะเดาได้เลยว่าใครมีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ คงมีน้ำตาลในเลือดสูงเกิน 180
ปัญหาคือ ถ้าน้ำตาลในเลือดอยู่ระหว่าง 120-180 ก็ต้องเรียกว่าเป็นเบาหวานเหมือนกัน แต่เป็นไม่มาก หรือบางคนอายุมาก หรือมีโรคไตแทรก พวกนี้บางทีเป็นเบาหวานขนาดน้ำตาลสูงในเลือดถึง 300 แต่ตรวจปัสสาวะไม่เจอน้ำตาลเลยก็มี เรียกว่า หวานแต่เลือด เบาไม่หวาน
ตรงกันข้าม ผู้หญิงตั้งท้องบางคน หรือคนที่กินยาเตตร้าซัยคลีนที่หมดอายุ จะมีน้ำตาลในปัสสาวะได้ แต่น้ำตาลในเลือดปกติ คือไม่เกิน 120 อันนี้ เป็นเพราะไตบกพร่องเกิดน้ำตาลรั่วออกมา เรียกว่า เบาหวานก็จริง แต่เลือดไม่หวาน ขืนรักษาไป น้ำตาลในเลือดจะต่ำแย่ไปเลย
สรุปก็คือ ถ้าตรวจปัสสาวะเจอน้ำตาล ก้อย่าเหมาว่าเป็นเบาหวานร้อยเปอร์เซ็นต์ ดูเสียก่อนว่าตั้งท้อง หรือกินยาอะไรมาหรือเปล่า ถ้าไม่แน่ใจก็เจาะเลือดตรวจดู ถ้าแน่ใจแล้วมีอาการผิดปกติด้วยแค่นี้คงพอ ไม่ต้องเจาะเลือดตรวจก็ได้
ถ้าตรวจปัสสาวะไม่เจอน้ำตาลแต่มีอาการผิดปกติ สงสัยเหลือเกินว่าจะเป็นเบาหวาน อย่างนี้ก็ต้องเจาะเลือดตรวจเหมือนกัน
⇒เบาหวานเกิดขึ้นอย่างไร
เรื่องก็มีอยู่ว่า ร่างกายขาดอินซูลิน (Insulin) อินซูลินนี้เป็นฮอร์โมน หลั่งออกมาจากตับอ่อน อินซูลินคอยช่วยให้ร่างกายเผาผลาญน้ำตาลออกมาใช้เป็นพลังงาน
⇒แล้วตับอ่อนคืออะไร?
ตับอ่อนเป็นของดี ต่างจากตับแข็งซึ่งเป็นตับที่เป็นโรค ตับอ่อนเป็นอวัยวะในช่องท้องอยู่ใกล้ๆ กับตับ เบาหวานก็เกิดจากตับอ่อนหลังอินซูลินไม่พอใช้นอกจากอินซูลิน ตับอ่อนยังหลั่งน้ำย่อยไขมันอีกด้วย
บางคนที่เป็นเบาหวาน ถึงได้ถ่ายอุจจาระเป็นมันเยิ้ม เพราะไขมันไม่ย่อยทีนี้เมื่ออินซูลินไม่พอใช้ น้ำตาลก็ใช้ไม่ได้ ถึงมีก็ต้องเก็บไว้เฉย ๆ กักตุนไว้มากขึ้นเรื่อย ๆ จนทำพิษเอาได้ใครที่กักตุนน้ำตาลเอาไว้มาก ๆ ควรระวังให้ดี
พิษของน้ำตาลก็คือ
- น้ำตาลคั่งมากในร่างกายทุกส่วน เรียกว่าหวานฉ่ำแช่อิ่มไปทั้งตัวเลย อวัยวะต่าง ๆ เลยทำงานผิดพลาด เช่น ตามีน้ำตาลคั่งมาก ๆ ก็เกิดต้อกระจก ผิวหนังนำไปด้วยน้ำตาลก็ติดเชื้อโรคง่าย
- น้ำตาลคั่งมากในเลือดเรื่อย ๆ ก็จะท่วมท้นล้นผ่านเขื่อนไตออกมาในปัสสาวะ ออกมาก็ไม่ใช่ออก มาตัวเปล่า ดึงอาน้ำในร่างกายตามออกมาด้วย
ปัสสาวะก็เลยถ่ายออกมาก ชิมดูจะหวาน มดชอบขึ้น
เมื่อถ่ายออกมากก็หิวน้ำมาก เป็นธรรมดา
- ร่างกายใช้น้ำตาลไม่ได้ กินเข้าไปเท่าไร รั่วออกทางไตหมด ถ้าอยู่เฉย ๆ ก็คงเฉาตาย เพราะขาดพลังงาน เหมือนรถยนต์ไม่มีน้ำมัน
แต่ร่างกายเราดีกว่ารถยนต์ที่มันหันไปเร่งใช้พลังงานจากกล้ามเนื้อและไขมันได้ ร่างกายเลยผ่ายผอมไม่มีไขมัน กล้ามเนื้อฝ่อลีบไปหมดเรี่ยวแรง อ่อนเพลีย นี่ก็เป็นอาการเบาหวานอย่างหนึ่ง
⇒ทำไมต้องเป็นเรา
เบาหวานเกิดได้กับทุกคนไม่เลือกเพศ เชื้อชาติ แต่ยิ่งแก่ (อายุเกิน 45 ปี) จะมีโอกาสเป็นง่ายกว่าหนุ่มสาวเมื่อก่อนเชื่อว่า เบาหวานเป็นโรคของการกินดีอยู่ดี เดี๋ยวนี้คนจนก็เป็นได้บ่อยเหมือนกัน คงต้องพูดใหม่ว่า เบาหวานเป็นโรคของคนในเมือง (ไม่ว่าจนหรือรวย) มากกว่าของชาวชนบท
ไม่มีใครรู้แน่ว่าเบาหวานเกิดจากอะไร กรรมพันธุ์คงมีส่วนร่วมอยู่ แต่ทำไมบางคน พ่อแม่เป็นเบาหวานทั้งคู่ ตัวเองกลับไม่เป็นเบาหวาน บางคนเป็นเบาหวานอยู่คนเดียว ไม่มีญาติพี่น้องคนอื่นเขาเป็นกันเลย แสดงว่ามีสาเหตุอย่างอื่นนอกจากกรรมพันธุ์ เข้ามาผสมโรงด้วย เช่น อ้วนเกินไป มีลูกดกกินยาพวกสเตียรอยด์ ( สเตอรอยด์ ) ก็เรียก เช่น เพร็ดนิโซโลนเด็กซ่าเมธาโซน) ซึ่งระวังไม่ให้เกิดขึ้นกับตัวเราได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ เบาหวานก็เป็นโรคที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้
ยิ่งใครที่มีพันธุ์เบาหวานอยู่ในครอบครัว ควรระวังมากกว่าธรรมดา
“กินหวานมาก ๆ แล้วจะเป็นเบาหวานหรือเปล่านะ” มีคนถามกันบ่อย ๆ ถ้ากินหวานมาก จะทำให้อ้วนได้ง่าย เลยมีโอกาสเป็นเบาหวานได้มากขึ้นเท่านั้น เรียกว่าทำให้เกิดเบาหวานทางอ้อมก็คงได้
⇒ เขารักษาเบาหวานกันอย่างไร
การดูแลรักษาตัวเองสำคัญที่สุด สำคัญมากกว่ากินยา ฉีดยา หาหมอ หลายเท่า
ดูแลรักษาตัวเองอย่างไร
มีหลักใหญ่อยู่ 5 อย่าง
อย่างแรก เรื่องอาหาร หลักใหญ่คือกินน้ำตาลหรือของหวาน ๆ ทุกอย่างให้น้อยที่สุด น้ำผึ้งก็ถือเป็นน้ำตาลอย่างหนึ่งด้วย น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน เหล้า เบียร์ ต้องเลิกให้หมด เพราะเป็นของแสลงกับโรค เบาหวาน ส่วนข้าวหรืออาหารประเภทแป้งทำ ต้องลดลง แล้วกินผักกินเนื้อให้มากขึ้น (ถ้ามีกิน) อาหารมัน ๆ ขนมหรืออาหารที่ทอกใช้น้ำมันมาก ๆ หรือใส่กะทิมาก ๆ ควรเพลาลงเสียบ้าง ผลไม้บางอย่าง เช่น ทุเรียน ขนุนสุก ก็เหมือนกัน ควรกินแต่น้อย
อย่างที่สอง คือเรื่องการออกกำลังกาย สำคัญมาก เพราะกล้ามเนื้อเมื่อออกแรงทำงานจะช่วยใช้น้ำตาลได้มากขึ้น เท่ากับช่วยลดน้ำตาลในเลือดได้ทางหนึ่ง ถ้าทำงานชนิดที่ใช้แรงงานมาก คงไม่ต้องออกกำลังกายเพิ่มเติมอีก แต่ถ้าทำงานนั่งโต๊ะทั้งวันไม่ค่อยได้ยืดเส้นยืดสาย รับรองได้ว่าน้ำตาลต้องขึ้นสูงกว่าคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำแน่ ๆ ประโยชน์อย่างอื่นของการออกกำลังกายก็มีอีกมากเป็นผลพลอยได้
วิธีออกกำลังก็แล้วแต่ใจชอบหรือความเหมาะสม เช่น วิ่ง รำมวยจีน เล่นโยคะ การบริหาร (ลองกลับไปอ่านหมอชาวบ้าน ปีที่ 1 ฉบับที่ 7 เดือนพฤศจิกายน 2522) ข้อสำคัญไม่ว่าการควบคุมอาหารหรือการออกกำลังกาย ควรทำอย่างสม่ำเสมอและสัมพันธ์กันด้วย ตัวอย่างเช่น วันไหนกินข้าวน้อยไปหน่อย ก็ควรออกกำลังกายลดลงบ้าง หรือวันไหนรู้ล่วงหน้าว่าจะต้องออกกำลังมาก เช่นจะไปเตะฟุตบอล อย่างนี้ต้องกินมากขึ้นกว่าปกติ
อย่างที่สาม คือการดูแลรักษาเท้าของเราเอง ที่ต้องเน้นเป็นพิเศษ เพราะในปีหนึ่ง ๆ หมอต้องตัดขาคนไข้เบาหวานไปไม่น้อยเพื่อรักษาชีวิตไว้ บางครั้งแผลถลอกนิดเดียว ลุกลามใหญ่โตจนเน่าทั้งเท้าไปเลยก็มี
จะดูแลรักษาเท้าอย่างไร ลองอ่านในตารางดู
ล้างเท้าให้สะอาดด้วยสบู่ธรรมดาทุกวัน เช็ดให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกเท้าอย่าถูแรง ๆ
- ตรวจดูเท้าบ่อย ๆ ว่ามีเล็บขบ แผล เสี้ยนหนามตำอยู่ ตุ่มพองใส ผิวหนังเปลี่ยนสีเป็นแดงหรือคลำลง
- ระวังเวลาตัดเล็บเท้า อย่าตัดถูกเนื้อ ควรตัดเล็บออกตรง ๆ ไม่โค้ง
- ออกกำลังกายเท้าและขาเพื่อให้เลือดไหลเวียนดี วิธีทำ นอนราบ ยกขาสูงตั้งฉากกับลำตัวนานครึ่งนาที ห้อยขาที่ขอบเตียงนานครึ่งนาที แล้ววางขาพักบนเตียงในแนวราบครึ่งนาที ทำอย่างนี้สลับกัน 6-7 ครั้งเป็นประจำทุกวัน เดินมาก ๆ ก็เป็นวิธีออกกำลังขาและเท้าที่ดีอย่างหนึ่งเหมือนกัน
- อย่าเอากระเป๋าน้ำร้อนวางหรือประคบเท้าด้วยของร้อน ๆ - อย่าแกะหรือตัดตาปลา หรือหูด ลองแช่น้ำด้วยน้ำสบู่ แล้วขัดเนื้อที่หนาออกเบา ๆ ด้วยผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อซ
- อย่าเอาเข็มบ่งหนังที่พองเป็นตุ่มใส
- อย่าเดินเท้าเปล่านอกบ้าน ระวังของมีคม สะดุดของแข็ง เหยียบหนามหรือของร้อน ๆ
- อย่าสวมรองเท้าคับเกินไป หรือถุงเท้ารัดแน่นเกินไป
หลักอย่างที่สี่ คือเรื่อง ยารักษาเบาหวาน มีทั้งกินและฉีด ยาไทย ยาจีน ยาฝรั่ง ยาผีบอก สมุนไพรต่าง ๆ มากมาย
พูดถึงเรื่องพืชสมุนไพร “มหาเวก” เคยเขียนเรื่องนำเที่ยวศิริราชลงในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย เมื่อ 8-9 ปีก่อน ว่าปู่ย่าตายายเล่าว่า กินหมูเห็ดเป็ดไก่เป็นประจำ ทำให้ร่างกายแข็งแรงดี แล้วบางอย่างรักษาเบาหวานได้ด้วย
หมูเห็ดเป็ดไก่ที่ว่าไม่ใช่อาหารที่เรานึกถึง แต่เป็นพืชสมุนไพร
หมู คือ หัวแห้วหมู
เห็ด คือ ใบชุมเห็ด
เป็ด คือ ผักเป็ดแดง
ไก่ คือ ลูกประคำไก่
จะรักษาเบาหวานได้ผลดีแค่ไหน คงต้องให้ผู้รู้เรื่องนี้อธิบาย
เรื่องยาฝรั่ง มีทั้งกินและฉีด ยากินมีหลายชนิด แต่ที่สะดวกที่สุด ราคาถูกที่สุด และหมอทั่วไปใช้กันมากที่สุดคือ ยาคลอร์โปรปาไมด์ (Chlorpropamide)
ยาชนิดนี้มี 2 ขนาด คือ เม็ดละ 100 มิลลิกรัม (ชององค์การเภสัชกรรมราคาเม็ดละ 12 สตางค์) และเม็ดละ 250 มิลลิกรัม (ราคาเม็ดละ 24 สตางค์) ใช้กินวันละครั้งเดียวเท่านั้น คือก่อนอาหาร เริ่มต้นกินขนาดน้อยๆ ก่อน คือวันละ 1 เม็ดเล็ก (วันละ 100 มิลลิกรัม) แล้วตรวจดูน้ำตาลในปัสสาวะทุกวัน
กินไป 10 วัน ถ้ายังมีน้ำตาลในปัสสาวะมาก (บวกสองถึงบวกสี่) แสดงว่ายายังไม่พอ ต้องเพิ่มยาอีก เพิ่มครั้งละครึ่งเม็ดทุก 10 วัน จนกว่าปัสสาวะไม่มีน้ำตาลหรือมีแค่บวกหนึ่งนิดหน่อย และอาการที่ผิดปกติทุเลาลงด้วย ถึงขั้นนี้แสดงว่ายาได้ผล ให้กินอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ถ้าเพิ่มยาจนถึงขนาดเม็ดใหญ่ (เม็ดละ 250 มิลลิกรัม) กินวันละครั้งเดียวตอนเช้า ถึง 2 เม็ดแล้วยังไม่ได้ผล ไม่ควรเพิ่มยามากไปกว่านี้
ยารักษาเบาหวานชนิดกินนี้ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคไต หรือโรคตับอยู่ คนไข้เบาหวานที่อายุน้อย ๆ
( ต่ำกว่า 25ปีลงมา) มักใช้ไม่ได้ผลบางครั้งเกิดมีโรคติดเชื้อมาก ๆ หรือเกิดตั้งท้องขึ้นมา หรือจะผ่าตัดก็กินยาไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร ถ้าไม่กินยาเบาหวานคงกำเริบแย่
ต้องฉีดยา คือฉีดอินซูลินแทนบางคนเมื่อกินยาไม่ได้ผล ก็ต้องฉีดอินซูลินเหมือนกัน อินซูลินนี้ ฉีดได้ 2 อย่าง คือ ฉีดชั่วคราว เวลาที่กินยาไม่ได้ผล หรือห้ามกินยา เช่นตอนที่มีโรคติดเชื้อ ตอนที่จะผ่าตัด ขณะที่ตั้งท้อง หรือขณะที่มีโรคแทรกจนหมดสติ ซึ่งกลับมากินยาทีหลังได้ เมื่อสิ่งต้องห้ามข้างบนนั้นหมดไป อีกอย่างคือ ต้องฉีดอินซูลินตลอดชีวิต เรียกว่าเบาหวานชนิด “ พึ่งอินซูลิน” เบาหวานชนิดนี้พบน้อย มักพบในเด็กหรือคนที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ถ้าหยุดฉีดอินซูลิน จะเกิดโรคแทรกจนหมดสติ ที่เรียก “คีโตสิส” (Ketosis) ใครที่เป็นต้องพึ่งอินซูลินและพึ่งตัวเองด้วย คือฉีดอินซูลินเองตลอดชีวิต
ซึ่งทำได้ง่ายมาก สอนวิธีทำความสะอาดกระบอกฉีดยาและเข็มฉีดยา และสอนวิธีดูดยาและฉีดยาไม่นานก็ทำเองได้
เพราะฉะนั้น เราสังเกตอาการของเรา แล้วตรวจปัสสาวะอยู่เรื่อย ๆ ทุกวัน ก็จะบอกไดว่าเบาหวานของเราดีเลวแค่ไหน ควรจดผลลงสมุด หรือกระดาษไว้ด้วยว่า ตรวจปัสสาวะพบน้ำตาลกี่บวกหรือไม่พบ ตรวจเวลาไหน (ก่อนอาหารเช้า-กลาวัน-เย็น-ก่อนนอน) อันนี้จะมีประโยชน์มากเอาให้หมอดูได้ เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น
แล้วเลือดล่ะ ระหว่างที่รักษาเบาหวานอยู่ เมื่อไรจะตรวจ
ถ้าตรวจปัสสาวะทุกวัน มีน้ำตาลนิดหน่อยแค่บวกหนึ่ง หรือไม่มีเลย หรือนาน ๆ มีน้ำตาลออกมาสักครั้ง ร่างกายก็สบายดี ไม่มีอะไรผิดปกติอย่างนี้ไม่ต้องเจาะเลือดให้เจ็บตัวก็ได้นอกจากสงสัยว่า ทำไมยังมีอาการผิดปกติ ทั้ง ๆ ที่น้ำตาลมีในปัสสาวะไม่มีแล้ว บางทีในเลือดยังสูงอยู่ แต่ไม่ผ่านไตออกมา ต้องตรวจเลือดถึงจะรู้ว่าที่จริงแล้ว ตรวจปัสสาวะทุกวันก็จะบอกได้ทุกวันเหมือนกันว่าเบาหวานเราตอนนี้มากน้อยแค่ไหน ดีกว่าเจาะเลือดหาน้ำตาลที่ตรวจกันนาน ๆ ครั้งเป็นแน่ บางที 2-3 เดือนจะตรวจกันสักที ระหว่างนั้นเลยไม่รู้ว่าเบาหวานเป็นยังไงจะเจาะเลือดทุกวัน วันละหลายครั้งก็คงไม่มีใครทำกัน
บางคน พอใกล้วันเจาะเลือดตรวจ คุมอาหารกันเต็มที่ กินยาฉีดยาไม่ขาด น้ำตาลในเลือดเลย ลดดีเป็นปกติ เป็นที่พอใจกันทั้งหมอและคนไข้ แต่พอไม่กี่วันให้หลังก็ปล่อยตัวกันตามสบาย เบาหวานก็แย่ลงไปอีก อย่างนี้ก็มีบ่อย
ถ้าตรวจเลือด แค่ไหนถึงเรียกว่าคุมเบาหวานได้
ต่ำกว่า 120 = คุมได้ดี
120-180 = พอใช้
เกิน 180 = ไม่ดี
แต่ถ้าน้ำตาลต่ำไป (ต่ำกว่า 50) ก็เรียกว่าคุมเบาหวานได้ไม่ดีเหมือนกัน ต้องแก้ไขไม่ให้เกิดขึ้น
หลักข้อสุดท้ายคือข้อที่ห้า คือรู้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อช่วยตัวเอง เมื่อมีปัญหา อะไรเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย ๆ น้ำตาลในเลือดต่ำไป จะมีอาการเหมือนเวลาหิวข้าวมาก ๆ ตาลายไปหมด ใจสั่นหวิวจะเป็นลม เหงื่อออก ตัวเย็น เป็นมาก ๆ จะชักหรือหมดสติได้ถ้าลองตรวจปัสสาวะตอนนี้ จะไม่พบน้ำตาลเลยเมื่อเกิดขึ้น รีบหาของหวาน ๆ หรืออะไรกินเสีย อาการดังว่าข้างต้นจะหายเป็นปลิดทิ้งทันที ถ้าไม่หายแสดงว่า ไม่ใช่น้ำตาลในเลือดต่ำ
พอหายแล้ว ทำอย่างไรต่อ
ลองนึกดูว่า กินน้อยไปหรือออกกำลังมากไปกว่าที่เคยทำอยู่หรือเปล่า ของสองอย่างนี้ต้องพอดีกัน ถ้าไม่พอดีกันต่อไปต้องปรับเสียใหม่ จนกว่าจะไม่มีอาการน้ำตาลต่ำขึ้นมาอีก
แต่ถ้ากินอาหารและออกกำลังอยู่สม่ำเสมอดี สบายดีมาเรื่อย ๆ มาเกิดอาการน้ำตาลต่ำอย่างนี้ ต้องลดยาลงไม่ว่ากินหรือฉีด ลดทีละน้อย เช่นยากินก็ลดทีละครึ่งเม็ด จนกว่าจะไม่เกิดอาการอย่างนั้นอีก ก็กินในขนาดนั้นต่อไป อย่าเลิกยา
- เกิดไม่สบายขึ้น มีบ่อยที่เป็นไข้หวัด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนใหญ่มักจะหยุดกินยาหรือฉีดยาเอง เพราะคิดว่ากินไม่ได้ ขืนใช้ยาต่อไปน้ำตาลจะต่ำเกินไป อันนี้ไม่จริง บางครั้งต้องเพิ่มยาด้วยซ้ำ เพราะผลิตน้ำตาลมาใช้ในร่างกายได้มากชั่วคราวลองตรวจดูน้ำตาลในปัสสาวะก็ได้ เวลาไม่สบายเช่น เป็นไข้หวัดน้ำตาลมักจะมีมากกว่าเดิม ทั้ง ๆ ที่กินอะไรไม่ค่อยได้
เพราะฉะนั้น จึงต้องกินยาฉีดยาในขนาดเดิมไปก่อน และรักษาอาการไม่สบายเหล่านั้น ถ้า 2-3 วันไม่หาย และมีปัสสาวะออกมากขึ้น หิวน้ำทั้งวัน หอบซึมลง ระวังจะเกิด “คีโตสิส” ขึ้น (ดูหัวข้อเมื่อไรจะหาหมอ)
- มีบาดแผลเกิดขึ้นตามตัวโดยเฉพาะที่เท้า อย่าใช้ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือไฮโดรเจนเปอร์อ๊อกไชด์ ให้ล้างแผลด้วยน้ำและสบู่เอาผ้าสะอาดหรือผ้าก๊อช ฆ่าเชื้อโรคแล้ว (มีขาย) ปิดแผลไว้ ใช้ผ้าพันแผลพัน หรือติดด้วยปลาสเตอร์อย่างนิ่ม เช่นไมโครพอร์ ไม่ควรใช้ปลาสเตอร์ธรรมดาปิดแผล
- คันตามตัว พบบ่อยเหมือนกัน บางทีเบาหวานคุมดีแล้วยังไม่หายคัน ถ้ามีผื่นหรือผิวหนังผิดปกติ อาจแพ้ยารักษาเบาหวานหรือเป็นโรคติดเชื้อราก็ได้
แต่ถ้าสำรวจดูผิวหนังตรงที่คันแล้วไม่พบอะไร (นอกจากรอยเกาของเราเอง) ควรลองกิน ยาคลอร์เฟนิรามีน ดูสัก 1 เม็ด หรือทาด้วยคาลาไมน์ อาจช่วยระงับอาการไปได้
⇒ แล้วเมื่อไรจะไปหาหมอ
ก็เมื่อ
1. เบาหวานคุมไว้ไม่อยู่ มีอาการอ่อนเพลีย ปัสสาวะมาก หิวน้ำทั้งวัน ผอมลง น้ำตาลในปัสสาวะ
บวกสาม บวกสี่ตลอดเวลา ทั้งที่กินยา ฉีดยาไม่เคยขาด อาหารก็ว่าคุมดีแล้ว ออกกำลังกายก็สม่ำเสมอดี ลองเพิ่มยาดูแล้วก็ไม่ดีขึ้นเลย
2. ซึมหรือหมดสติ ถ้ายังพอรู้ตัว รีบกิน หรือช่วยป้อนน้ำเชื่อม น้ำหวาน (ควรมีติดบ้านไว้) ค่อย ๆ หยอดเข้าปากช้า ๆ ระวังอย่าให้สำลัก ถ้ามีอาการดีขึ้น แสดงว่าเกิดจากน้ำตาลในเลือดต่ำไป รีบหาอะไรกินจนได้สติดี (ดูเรื่องน้ำตาลต่ำทำอย่างไร)
ถ้าถึงกับเรียกไม่ลุก ปลุกไม่ตื่น ไม่ควรป้อนอะไร เพราะอาจสำลัก รีบพาไปหาหมอ ถ้าเกิดจากน้ำตาลต่ำ ฉีดกลูโค้สเข้าเลือดทัน จะหายดี
แต่ถ้าฉีดแล้วไม่หาย (หมอมักจะลองฉีดก่อน ไม่มีอันตรายอะไรมาก) อาจเกิดจากน้ำตาลในเลือดสูงมากจนซึม หรือหมดสติ มักมีอาการหอบ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปากแห้ง ลิ้นแห้งผากร่วมด้วย อาการแบบนี้ ภาษาหมอเรียก “คีโตสิส” ต้องรีบฉีดอินซูลินและให้น้ำเกลือรักษา
บางทีอาการหมดสติ เกิดจากเส้นเลือดในสมองอุดตันหรือมีเลือดออกในสมองก็ได้ อาจมีอัมพาตหรืออาการผิดปกติอาย่างอื่นร่วมด้วย
ข้อสำคัญ เมื่อพบหมอ ญาติรีบบอกเร็ว ๆ ว่าคนไข้เป็นเบาหวานเรื่องมันจะได้ง่ายเข้า จะได้รับรักษา ถ้าอยู่ตัวคนเดียว ควรหากระดาษแข็งอะไรก็ได้ เขียนตัวใหญ่ ๆ ว่า “ข้าพเจ้าเป็นเบาหวาน” พกติดประเป๋าไว้ แค่นี้อาจช่วยชีวิตเราได้ ถ้าเผื่อเกิดเป็นอะไรปุบปับขึ้นมา
3. โรคแทรกของเบาหวาน มีอะไรบ้าง และมีอาการอย่างไรถึงจะหาหมอ
- น้ำหนักลด ผอมลงเรื่อย ๆ ทั้ง ๆ ที่เบาหวานดีแล้ว ต้องนึกถึง วัณโรคปอด
- ตามัวลงไปเรื่อย หรือเห็นเป็นจุดดำลอยอยู่ อาจจะเป็นต้อกระจก หรือจอรับภาพของตาผิดปกติ
- ปวดแสบปวดร้อนตามปลายแขนปลายขา เจ็บแปล๊บ ๆ เหมือนถูกเข็มตำ ลองกินยาแอสไพรินหรือพาราเซตาม่อลแล้วไม่หายอย่างนี้เกิดจาก ปลายประสาทอักแสบ บางคนไม่ปวดแต่ชาไม่รู้สึกตามปลายแขนขา เป็นอย่างนี้หายยากต้องระวังอย่าให้มีแผลเกิดขึ้นที่เท้า (ดูตารางเรื่องการดูแลรักษาเท้า)
- เจ็บหน้าอก เหงื่อตก มักเป็นตอนออกกำลัง อาจจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เพราะขาดเลือดมาเลี้ยง
- มีแผลที่เท้า ลุกลามเร็วอักเสบเป็นหนอง หรือผิวหนังที่เท้าคล้ำดำลง คลำดูผิวหนังเย็นกว่าอีกข้าง อันนี้ต้องระวัง เท้าหรือขาอาจอักเสบมาก หรือเน่ามีเนื้อตายสีดำ ๆ มีหวังโดนตัดขา
- มีไข้หนาวสั่น ปัสสาวะขุ่นสงสัย ไตอักเสบ ติดเชื้อ
- กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ หรือไม่มีแรงเบ่งปัสสาวะ ซึ่งเกิดจากกระเพาะปัสสาวะทำงานไม่ดีเป็นโรคแทรกของเบาหวานอีกอย่าง
- เกิดฝีฝักบัว เป็นฝีหลายหัวดูคล้ายฝักบัวสมชื่อ ฝีอย่างนี้มักเกิดแถวหลังหรือต้นคอ จะบวมแดง นูนขึ้น แต่แปลกที่ฝีจะไม่น่วมสุกอย่างฝีธรรมดา จะมีอาการเจ็บปวดและมีไข้ เวลาฝีแตกจะไม่ค่อยมีหนองมาก แต่มีเนื้อเน่าหลุดออกมา
- บวม ซีด ความดันเลือดสูงแสดงว่าไตเสียจากโรคเบาหวาน
-วัดความดันเลือด คนไข้เบาหวานมีโอกาสเป็นความดันเลือดสูงมากกว่าธรรมดา ถ้าวัดกันเองไม่เป็นหรือไม่สะดวก ควรให้หมอวัดให้ทุกครั้งที่มีโอกาส
⇒อนาคตของเรา
โรคเบาหวานไม่หายขาด ไม่ใช่โรคติดต่อ ถ้าดูแลรักษาตัวเองดี ๆ จะไม่เป็นอะไรมาก โรคแทรกเบาหวานข้างบนนั้นมีสารพัดชนิดก็จริง แต่อย่าเพิ่งท้อแท้ หลายคนอยู่มาได้ 10-20 ปี โดยไม่มีโรคแทรกเลย ส่วนใหญ่ที่มีโรคแทรกก็มีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือถ้ามีหลายอย่างก็มักจะเป็นอย่างละนิดละหน่อย
สูตรรักษาเบาหวานพอจะสรุปสั้น ๆ คือ
- ทำความรู้จักกับโรคนี้ ให้รู้คร่าว ๆ ว่าอาการเป็นอย่างไร โรคแทรกมีอะไรบ้างและมีอาการอย่างไร
- คุมอาหาร
- ออกกำลังกาย
- ดูแลรักษาเท้า และแก้ไขปัญหาเวลาไม่สบาย
- รู้จักยารักษาพอสมควร (อ่านหมอชาวบ้านเล่มนี้คงพอแล้ว)
- ตรวจปัสสาวะหาน้ำตาลเป็น
- ถ้าเป็นเบาหวานอายุน้อย ควรฉีดอินซูลินเองเป็น
- รู้ว่าเมื่อไรควรไปหาหมอ
ถ้าทำตามสูตรนี้ได้อย่างสม่ำเสมอ โรคเบาหวานก็ไม่น่ากลัวอะไรเลย และอนาคตเราก็จะสดใสปลอดภัยจากโรคแทรกของเบาหวานไปได้มาก
สิ่งเหล่านี้คงไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะทำไม่ใช่หรือครับ ถ้าทำสำเร็จก็กรุณาบอกแนะนำกันต่อ ๆ ไปด้วย
การป้องกันโรคเบาหวาน |
โรคเบาหวานเป็นโรคที่พอจะป้องกันได้ การป้องกันจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด โดย
1. รู้จักการกินอาหาร อย่าปล่อยตัวให้อ้วน เพราะกว่า 80% ของผู้ป่วยมักอ้วนก่อนเป็นโรคนี้
2. หมั่นออกกำลังกาย จะช่วยให้ร่างกายสามารถเผาไหม้น้ำตาลได้โดยไม่ต้องอาศัยอินซูลิน
3. ให้รู้จักปล่อยวางแบบพระ อย่าวิตกกังวลหรือมีความเครียดให้มากนัก
4. ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อพ่อแม่หรือญาติพี่น้องเป็นเบาหวาน เพราะเป็นกรรมพันธุ์
5. ต้องระมัดระวังเมื่อมีอาการตั้งครรภ์ เมื่อคลอกบุตรหนักกว่า 9 ปอนด์ หรือเมื่อเป็นโรคติดเชื้อบ่อย ๆ
6. ต้องระมัดระวังเมื่ออายุเกิน 40 ปี เพราะจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้ง่าย
- อ่าน 63,353 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้