• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัณโรคทีบี หรือ ฝีในท้อง โรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้

วัณโรคทีบี หรือ ฝีในท้อง โรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้


วัณโรคเป็นโรคติดต่อที่สังคมรังเกียจกันมากในสมัยก่อน ย้อนหลังไปเพียงประมาณ 30 ปี หลายคนต้องตกงาน พักการเรียน ไร้ญาติขาดมิตร หรือต้องร้างรักกันไปก็มีในต่างประเทศถึงกับให้สมญาว่า “กาฬโรคขาว”
คนรุ่นเก่าในบ้านเราคุ้นกับชื่อโรค “ฝีในท้อง” มากกว่า วัณโรค เพราะเข้าใจผิดว่า คนที่มีอาการของวัณโรครุนแรงถึงกับถ่มเสมหะ สีช้ำเลือดช้ำหนองหรือเลือดสด ๆ ออกมานั้น เกิดจากมีฝีอยู่ในท้อง

ในปัจจุบัน บางคนคุ้นกับคำว่า “ทีบี” ซึ่งเป็นคำย่อมาจากภาษาอังกฤษ “ทูเบอร์คูโลลีส” แต่ชื่อเป็นทางการเรียกว่า “วัณโรค” ซึ่งมีผู้สะกดคำไม่ค่อยถูก เขียนว่า “วรรณโรค” หรือบางคนเรียกไม่ชัดกลายเป็น “วันละโรค” ไปเลยก็มี

ระวัง ! ในรถเมล์ 1 คัน อาจมีคนเป็นวัณโรค 1 คน

เมื่อปี 2522 กองควบคุมวัณโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจวัณโรคในประชาชนคนไทยโดยการถ่ายเอ็กซเรย์ปอดดู พบว่าประมาณ 14 คนใน 1,000 คน ป่วยเป็นโรคนี้ พูดง่าย ๆ ก็คือ ในรถเมล์ 1 คัน (70 คน) จะมีคนเป็นวัณโรคอยู่ 1 คน
เมื่อคิดจากคนทั่วประเทศ 45 ล้านคน ก็จะมีคนที่เป็นโรคนี้ประมาณเกือบเจ็ดแสนคน


วัณโรคเกิดขึ้นได้อย่างไร
คนเราติดโรคนี้โดยการสูดหายใจเอาเชื้อที่อยู่ในฝอยละออง เสมหะที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ เนื่องจากคนไข้ ไอ จาม หรือถ่มออกมาเข้าไปในปอด
ในบ้านเราซึ่งมีวัณโรคอยู่ชุกชุม คนส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อเข้าไปตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับเชื้อตอนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
เชื้อที่ล่วงล้ำเข้าไปจนถึงปอด จะทำให้เกิดการอักเสบขึ้น และเชื้อบางส่วนก็เล็ดลอดเข้าไปในกระแสเลือด แพร่กระจายไปอยู่ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ปอด ลำไส้ กระดูก ไต สมอง เป็นต้น วัณโรคระยะนี้เรียกว่า “วัณโรคในเด็ก” หรือ “วัณโรคปฐมภูมิ” โชคดีที่ส่วนใหญ่เชื้อจะสงบนิ่งเงียบอยู่ในร่างกายตลอดไป ไม่ทำให้เกิดอาการขึ้นแต่อย่างใด มีเพียงน้อยรายเท่านั้นที่ในภายหลังความต้านทานของร่างกายลดลง ก็จะเกิดการกำเริบขึ้น กลายเป็นวัณโรคของอวัยวะต่าง ๆ เรียกว่า “วัณโรคในผู้ใหญ่” หรือ “วัณโรคทุติยภูมิ”

จึงแทบจะกล่าวได้ว่า อาการของวัณโรคเกิดการกำเริบของเชื้อที่เคยเข้ามาอยู่ในร่างกายตั้งแต่ตอนเป็นเด็กนั่นเอง ยกเว้น เด็กบางคนที่ร่างกายอ่อนแอ เช่น ขาดอาหาร เมื่อได้รับเชื้อก็อาจเกิดอาการแบบผู้ใหญ่ได้


เกิดจากการกินอาหารได้ไหม ?
สมัยก่อนอาจเป็นได้ โดยการกินนมของวัวที่เป็นวัณโรคของเต้านม สมัยนี้พบได้น้อยมาก เพราะหนึ่งไม่ค่อยมีวัวที่เป็นวัณโรคเต้านม และสอง นมวัวก็ผ่านกรรมวิธีในการฆ่าเชื้อมาแล้วส่วนนมคน โอกาสที่จะเป็นวัณโรคของเต้านมนั้นนับว่าน้อยเหลือเกินที่อาจจะเป็นได้ก็คือ แม่ที่เป็นวัณโรค หากเอาข้าวหรือกล้วย เคี้ยวแล้วใส่ปากลูกอ่อน เชื้อในเสมหะของแม่ก็อาจเข้าทางทอนซิลของลูก เกิดการติดเชื้อขึ้นได้ ส่วนเชื้อที่ตกลงไปในกระเพาะอาหารนั้น มักจะถูกกรดในกระเพาะฆ่าตาย


แม่ที่เป็นวัณโรค ถ้าเกิดตั้งท้อง เด็กในท้องมีโอกาสเป็นวัณโรคไหม ?
โอกาสที่เชื้อผ่านทางรกไปสู่เด็กในท้องนั้นน้อยมากจนนับได้ว่าแทบไม่มี ที่เป็นได้ก็มักเกิดจากตัวรกนั้นเป็นวัณโรคเสียเอง แต่ก็พบไม่บ่อยดังนั้นเด็กในท้องจึงมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ยาก
นอกจากบางราย ขณะคลอดสำลักน้ำคร่ำหรือหนองในช่องคลอดของมารดาที่เป็นวัณโรคของอวัยวะสืบพันธุ์ หรือคลอดออกมาแล้ว ได้รับเชื้อจากการที่พ่อแม่กอดจูบ แพร่เชื้อให้ในภายหลังเท่านั้น


ใครบ้างที่เป็นเหยื่อของวัณโรค ?
คนที่มีภูมิต้านทานของร่างกายลดลง ส่วนสามารถทำให้เชื้อวัณโรคกำเริบขึ้น ก่อโรคได้ทั้งสิ้น ได้แก่
พวกที่ขาดอาหาร ดังจะเห็นได้ว่า เด็กที่ขาดอาหารถ้าหากได้รับเชื้อก็จะเป็นวัณโรคแบบผู้ใหญ่ได้เลย
พวกที่เครียดต่อการงาน เช่น สำเร็จการศึกษามาต้องไปผจญชีวิตเอง อดหลับอดนอน กินไม่ตรงเวลา ร่างกายทรุดโทรม เชื้อก็กำเริบขึ้นมาได้
พวกที่ไปเที่ยวบาร์ ไนต์คลับ กินเหล้าเมายาหามรุ่งหามค่ำ ไม่ค่อยได้พักผ่อน ก็เป็นได้พวกผู้หญิงวัยแตกเนื้อสาว จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้เชื่อว่าเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายของผู้หญิงในวัยนี้ เปิดช่องให้เชื้อกำเริบได้

พวกที่เป็นโรคบางอย่างอยู่แล้ว เช่น โรคเบาหวาน ก็มีโอกาสเป็นวัณโรคมากกว่าคนปกติ ทางศิริราชเคยตรวจพบว่า คนที่เป็นเบาหวานจะเป็นวัณโรคถึงร้อยละ 10.5 คน ถ้าเป็นเบาหวานชนิดหนัก ๆ ที่มีโรคแทรก จะขึ้นร้อยละ 16.4
ยิ่งกว่านั้น ถ้าลองเอาคนที่เป็นเบาหวาน แต่ไม่มีอาการของวัณโรคอย่างชัดเจนมา เอ๊กซเรย์ จะพบว่าเป็นวัณโรคถึงร้อยละ 19.4

ดังนั้น คนที่เป็นเบาหวาน ควรได้รับการเอ๊กซเรย์ปอดเป็นประจำ
พวกที่ทำงานเหมืองแร่ เช่น คนงานแถวเขาศูนย์ มักจะสูดละอองแร่ กลายเป็นโรคปอดชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ซิลิโคสีส” พบว่า จะเป็นวัณโรคได้มาก โดยที่อธิบายสาเหตุยังไม่ได้พวกติดยาเสพติดไม่ค่อยได้กินอะไร ร่างกายทรุดโทรมก็เป็นวัณโรคได้
สรุปแล้ว โรคนี้จะพบในคนจนมากกว่าคนรวย จะเรียกว่า เป็นโรคแห่งวรรณะ (ชนชั้น) ก็คงไม่ผิดกระมัง
 


จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค ?
วัณโรคเป็นได้กับอวัยวะเกือบทุกส่วนของร่างกาย แต่ก็พบมากที่สุดคือ วัณโรคของปอด ในที่นี้จึงขอกล่าวถึงอาการของวัณโรคปอดเป็นสำคัญ ซึ่งพอแบ่งได้เป็น 2 พวก พวกหนึ่งไม่มีอาการ หมอตรวจพบโดยบังเอิญ โดยการเอ๊กซเรย์ อีกพวกหนึ่ง จะมีอาการ ตกบ่ายรู้สึกเพลียกว่าธรรมดา เบื่ออาหาร ไม่กระชุ่มกระชวย น้ำหนักตัวลด รู้สึกหงุดหงิดง่าย บางคนอาจจะยังไม่มีอาการไอบางคนอาจไอค้อกแค้ก ๆ ไม่มีเสมหะ อาจโทษว่าเป็นเพราะสูบบุหรี่ แล้วในที่สุดก็ผอมมากขึ้น ไอมากขึ้น เริ่มรู้สึกมีไข้ในตอนบ่าย ๆ พอตกเย็นหรือตอนดึก ก็มีเหงื่อออกเหมือนสร่างไข้ อาการเหล่านี้จะเป็นเรื้อรัง เป็นสัปดาห์ หรือเป็นเดือนๆ บางคนไปหาหมอ หมอฉีดยาบำรุงอะไรให้ก็แล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ตอนหลังอาจไอออกเป็นเลือด บางคนเป็นมานานแต่ไม่ค่อยรักษาตัว เป็นจนผอมกะหร่อง ผิวซีดเหลือง เข้ามานั่งข้างเราในโรงหนังหรือร้านอาหาร หรือนั่งในรถเมล์ก็ไอขรม ๆ บ้วนเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว ๆ


หมอจะตรวจได้อย่างไรว่าเป็นวัณโรค?
ถ้าเผื่อคนไข้มาหามีอาการผอมกะหร่อง ไอมาทั้งปี ผอมลงเรื่อย มีไข้ตอนบ่ายๆ ไอมีเสลด เขียวอื๋อ หรือมีเลือดติดออกมา ก็ให้นึกถึงโรคนี้ได้เลย
บางคนหมอใช้ เครื่องฟังตรวจ จะพบมีเสียงดับกรอบแกรบ หรืออี๊ดอ๊าดตรงด้านบนของปอดข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ถ้าอาการไม่มากเสียงปอดก็อาจเป็นปกติได้

 

ควรตรวจยืนยันด้วยเอ๊กซเรย์ก่อนไหม?
ความจริงไม่ค่อยอยากสนับสนุนให้เอ๊กซเรย์นัก อยากให้ตรวจเสมหะโดยการป้ายเสมหะบนแผ่นกระจกใส แล้วย้อมด้วยสีพิเศษจะพบเชื้อวัณโรคได้ ถ้าจะเอ๊กซเรย์ก็เพื่อแยกว่าไม่ได้เป็นมะเร็งปอด การถ่ายเอ๊กซเรย์ต้องระวังอันตรายต่อเด็กในคนมีท้องด้วย


ตรวจเสมหะ พบเชื้อได้กี่เปอร์เซ็นต์?
ขึ้นกับระยะที่เป็น
ถ้าระยะที่มีโพรงแผลในปอด ย้อมเสมหะควรจะพบเชื้อได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 90 ถ้าเอาเสมหะไปเพาะหาเชื้อ จะพบได้ร้อยละ 100 ทั้งนี้ก็อยู่ที่เทคนิคการตรวจของแต่ละแห่งด้วย
โดยทั่วไป ถ้าย้อมเสมหะพบเชื้อ แสดงว่าในเสมหะ 1 มิลลิลิตร จะมีเชื้ออยู่อย่างน้อย 100,000 ตัวขึ้นไป ถ้ามีน้อยกว่า 100,000 ตัวมักจะย้อมไม่พบ แต่เพาะเชื้ออาจจะพบได้
ส่วนพวกที่ยังไม่มีโพรงแผลในเสมหะ 1 มิลลิลิตร จะมีเชื้ออยู่ 100-10,000 ตัว มักจะย้อมไม่พบ
ดังนั้น ถ้าย้อมเสมหะไม่พบเชื้อก็ยังอาจเป็นวัณโรคได้
โดยทั่วไป เราพบว่าคนไข้ที่เรารักษา ตรวจย้อมเสมหะจะพบเชื้อเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น

       

การที่มีอาการไอออกเป็นเลือดจำเป็นต้องเป็นวัณโรคทุกรายหรือ?
อาการไอออกเป็นเลือด มีสาเหตุได้หลายอย่าง
พวกที่ไอเป็นเสลด มีน้ำลายและมีเลือดใสๆ ปน โดยมากเกิดจากไอหวัด
ถ้าเป็นวัณโรค เลือดจะเคล้ากับเสมหะ สีช้ำเลือดช้ำหนองหรือไม่ก็ออกเป็นเลือดเลย ซึ่งแสดงว่าออกมาจากปอด
พวกที่เป็นหลอดลมอักเสบจะไอเป็นเลือด เป็นฝอย ๆ หรือเป็นเส้น ไม่ออกมาก
มีอีกโรคหนึ่งที่ไอออกเป็นเลือดสดจำนวนมากก็คือ โรคหลอดลมพอง (Bronchiectasis) ถ้าเป็นเรื้อรัง ชาวบ้านจะแยกไม่ค่อยออกจากวัณโรค
พวกนี้จะมีประวัติว่า มีเสลดมากเป็นพักๆ หรือกลางวันเดินอยู่ไม่เป็นไรเลย แต่พอล้มตัวลงนอนสักพักหนึ่ง ก็ไอออกมาเป็นเสลดจำนวนมาก
บางคนมีอาการน้ำหนักลดและซีดเหมือนวัณโรคได้
หมออาจจะแยกได้ จากประวัติอาการ การตรวจร่างกาย (ใช้เครื่องมือฟังปอดได้ยินเสียงกรอบแกรบแถวใต้สะบัก 2 ข้าง) และการเอ๊กซเรย์
โรคที่ไม่ควรลืมนึกถึงเมื่อมีอาการไออกเป็นเลือดก็คือ มะเร็งของปอด โดยเฉพาะในคนอายุเข้าวัยกลางคนแล้ว

       
  
 

เมื่อเป็นวัณโรค ควรรักษาอย่างไร
สมัยนี้มียาดี ๆ ให้เลือกใช้ถึง 12 ตัว ควรเลือกใช้ยาให้ถูกกับระยะของโรคและใช้ให้นานพอ ไม่ใช่วัณโรคทุกชนิดจะรักษาเหมือนกันหมด

ยาหลัก ๆ ที่ใช้อยู่ทั่วไป มีอยู่ 3-4 ตัว ได้แก่
1. สเตร็ปโตมัยซิน (Steptomycin) จะใช้ในรายที่เป็นมากจริงๆ เช่น ย้อมเสมหะแล้วพบเชื้อ หมอจะฉีดเข้าสะโพกให้วันละครั้ง ครั้งละ 1/2 - 1 กรัม ให้นาน 1-3 เดือน ไม่ควรนานเกิน 3 เดือน
ราคาขนาด 1 กรัม ขวดละ 3.50 บาท

2. ยาเม็ดไอโสไนอาซิด (Isoniazid) หรือไอเอนเอช (INH) หมอจะให้กินวันละครั้ง ครั้งละ 3-4 เม็ด ราคาเม็ดละ 10 สตางค์ กินนาน 1- 1 ปี เด็กลดขนาดลงตามน้ำหนักตัว

3. ยาเม็ดพีเอเอส (PAS) เป็นเม็ดสีมะขาม เมื่อก่อนใช้กินควบกับยาเม็ด ไอเอนเอช เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยใช้แล้ว เพราะราคาคิดต่อวันแล้วไม่ต่างกับยาใหม่ และมีผลเสียมาก ยานี้ควรใช้ใน 2 กรณี คือ

1) ในเด็กที่ยังไม่รู้ความ เพราะถ้าใช้ยาใหม่ เช่น อีแธมบูทอล (Ethambutol) อาจเกิดอาการตามัวหรือบอดสี ซึ่งเด็กบอกไม่ได้ ถ้ากินต่อไป อาจตาเสียได้

2) พวกผู้ใหญ่ที่กินยาเม็ดอีแธมบูทอลแล้วตามัว ยานี้หมอจะให้กินวันละ 8-12 กรัม โดยให้กินมื้อเดียวหรือแบ่งให้กินวันละ 2 มื้อ ราคาขนาด 1 กรัม เม็ดละ 35 สตางค์

4. ยาเม็ดอีแธมบูทอล เป็นยาใหม่ที่ใช้ได้ผลดี หมอมักจะให้กินควบกับยาเม็ดไอเอนเอช กินวันละครั้ง ครั้งละ 2-3 เม็ด
ราคาขนาด 400 มิลลิกรัม เม็ดละ 1.35 บาท

ยาเหล่านี้ควรใช้ภายใต้การแนะนำของหมอ หมอจะเลือกใช้ตามความเหมาะสมของคนไข้แต่ละคน แต่อย่างน้อยจะให้ยา 2-3 ตัวจึงจะได้ผล เช่น อาจจะให้กินยาเม็ดไอเอนเอชควบกับยาเม็ดอีแธมบูทอล หรือไอเอนเอช ควบกับพีเอเอส ในรายที่เป็นรุนแรง จะให้ฉีดสเตร็ปโตมัยซิน เพิ่มอีก 1 อย่าง เป็นต้น


เวลากินยารักษาวัณโรค ควรสังเกตอาการอะไรบ้างที่แสดงว่าเกิดจากพิษของยา?
ยารักษาวัณโรคทุกตัว อาจทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ขึ้นตามร่างกาย
สำหรับคนที่ฉีด สเตร็ปโตมัยซิน เมื่อมีเสียงในหู หรือเดินเซเหมือนคนเมาเหล้าต้องบอกหมอ ทิ้งไว้อาจหูหนวก
ยาเม็ดไอเอนเอช อาจทำให้มีอาการมือเท้าชา หรือกระตุกนั่นกระตุกนี่ยานี้ไม่ควรใช้ในคนที่ตั้งท้องระยะ 3 เดือนแรก เด็กในท้องอาจเกิดมาพิการได้ หรือไม่ก็อาจทำให้หญิงตั้งท้อง เกิดโรคตับอักเสบได้
นอกจากนี้ ถ้าใช้ไอเอนเอช ในคนไข้ที่เป็นโรคลมชัก (ลมบ้าหมู) อาจจะทำให้ชักได้บ่อยขึ้น
ในผู้ใหญ่หรือคนท้อง ถ้ากินไอเอนเอช ควรกินวิตามินบี 6 ควบด้วย เพื่อป้องกันอาการพิษบางประเภท
ส่วน ยาเม็ดอีแธมบูทอล อาจทำให้ตามัวหรือตาบอดได้
คนที่กินยารักษาวัณโรค ถ้าพบอาการอย่างหนึ่งอย่างใดดังที่กล่าวมาแล้ว ควรจะหยุดยาทุกอย่าง แล้วกลับไปปรึกษาหมอโดยเร็ว


เมื่อกินยาแล้ว สังเกตได้อย่างไร ว่าอาการดีขึ้น?
พอกินยาได้เพียงสัปดาห์แรก จะรู้สึกสบายขึ้น เช่น กินข้าวได้ ไข้ลด ไอน้อยลง


เมื่ออาการดีขึ้นแล้วหยุดกินยาได้ไหม? ควรกินยานานเท่าไร?
การรักษาวัณโรคไม่เหมือนโรคอื่น ๆ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วก็ควรกินยาติดต่อไปทุกวัน เป็นเวลานานอย่างน้อยหนึ่งปีถึงปีครึ่ง สมัยก่อนต้องกินยานานปีครึ่งถึงสองปี สมัยนี้มีความเห็นว่าลดเวลาลงได้บ้าง
ที่ต้องกินยานานแบบนี้ เพราะเชื้อวัณโรคนี้มันแปลก ยาสมัยใหม่ที่ใช้รักษาวัณโรคจะไปฆ่าเฉพาะเชื้อที่ยังมีการแบ่งตัวเจริญอยู่ แต่จะไม่ฆ่าเชื้อที่นอนสงบอยู่เฉยๆ เหมือนสุนัขเวลากัดกัน ถ้าตัวหนึ่งนอนหงาย อีกตัวหนึ่งจะเฉยไม่กัดและเดินหนีไปเลย

ดังนั้น เมื่อกินยารักษาวัณโรคภายใน 1-2 เดือนแรก เชื้อที่มีการเจริญเติบโตถูกฆ่าหมด พวกที่นอนเฉยไม่ถูกฆ่า ถ้าเราหยุดยา มันก็จะฟื้นขึ้นมาทำอันตรายได้ใหม่
สรุปแล้ว ควรกินยานานหนึ่งปีถึงปีครึ่ง แล้วแต่อาการของคนไข้
เมื่อรักษาแล้ว ควรเอ็กซเรย์หรือตรวจเสมหะบ่อยแค่ไหน?
ถ้ารักษากับแพทย์ เอ็กซเรย์ครั้งแรกเมื่อเริ่มให้ยา กับอีกครั้งก่อนที่จะหยุดยาก็เพียงพอแล้ว
ถ้าไม่ได้เอ็กซเรย์มาตั้งแต่แรก วินิจฉัยโรคโดยตรวจพบเชื้อจะไม่เอ็กซเรย์เลยก็ได้
จะเอ็กซเรย์ บ่อย ก็ต่อเมื่อรักษาแล้วอาการไม่ดีขึ้น เช่น รักษามาตั้งเดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น ก็ควรเอ็กซเรย์ใหม่
ส่วนการตรวจเสมหะนั้น นับว่ามีความจำเป็นมากกว่าเอ็กซเรย์ ถ้าตรวจครั้งแรกพบเชื้อต่อไปอีก 3 เดือนหรือ 6 เดือน ตรวจซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไม่พบเชื้อก็เพียงพอแล้ว

 

ถ้าหากกินยาได้ไม่ครบตามกำหนดปีถึงปีครึ่ง จะมีอันตรายไหม?
ถ้ากินยาสม่ำเสมอ ได้ยาแต่ละวันครบทุกอย่าง เมื่อสบายขึ้นแล้วไม่ไปรับยาต่อ พวกนี้อาจมีปัญหาเพียงว่าโรคกำเริบใหม่ ไม่มีปัญหาเรื่องเชื้อดื้อยา เราสามารถให้ยาขนานเก่าไปกินต่อได้
แต่พวกที่กินยาครบบ้างไม่ครบบ้าง หรือกินยาเพียงตัวเดียวแทนที่จะกิน 2 ตัว หรือกินยา 2 ตัวที่ไม่เหมาะกัน พวกนี้อาจทำให้เชื้อดื้อยา และเกิดปัญหายุ่งยากในการรักษาเป็นอย่างมาก

 

ของแสลงสำหรับโรคนี้

เหล้า บุหรี่ ควรเลิกเสียเพราะทำให้สุขภาพร่างกายทรุดโทรม
อย่ากินอาหารที่ทำให้ระคายคอ เช่น ของทอด หรือของมันๆ หรือน้ำเย็นจัดๆ อาจกระตุ้นให้ไอได้

 

คนที่สมัครสอบเข้าทำงาน ถ้าเอ๊กซเรย์แล้วพบว่าปอดมีจุดจะรับไว้ทำงานไหม?
ถ้าเผื่อคน ๆ นั้นไม่มีอาการอะไรเลย ร่างกายแข็งแรงดี ไม่ไอ กินข้าวได้ ทำงานได้ เพียงแต่พบว่าปอดมี่จุดนิดหน่อย ตรวจเสมหะไม่พบเชื้อวัณโรค ก็ควรให้กินยารักษาวัณโรค แล้วให้ทำงานได้เลย ยกเว้นก็แต่กรณีที่ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับเด็กเล็ก เช่น ครูอนุบาล ผู้ดูแลเด็กอ่อนตามสถานเลี้ยงเด็ก เป็นต้น


กันไว้ดีกว่าแก้
เด็กเกิดใหม่ทุกคนควรได้รับการฉีดวัคซีน บีซีจี (BCG)ป้องกันวัณโรค
ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดบีซีจี ถ้าหมอทดสอบว่าไม่มีภูมิต้านทานโรคนี้อยู่ ก็แดบีซีจีเสียดีกว่า
ฉีดเข็มเดียว กันได้นาน 10 ปี
คนที่เป็นวัณโรค ควรต้องรีบรักษาและกินยาให้ได้ครบตามกำหนด การได้รับการรักษาโดยเร็วและถูกต้อง ก็ถือว่าเป็นการควบคุมโรคแบบหนึ่ง คือป้องกันไม่ให้คนอื่นได้รับเชื้อต่อไป ทำให้อัตราการติดโรคและการเกิดโรคในชุมชนลดลง
ข้อสำคัญอีกข้อหนึ่ง การช่วยกันกระตุ้นให้ประชาชนมีวัฒนธรรมในการไอ จาม หรือบ้วนเสมหะ เวลาไอหรือจามควรปิดปาก และควรถ่มน้ำลายในกระโถนหรือาชนะอื่น ไม่ใช่บ้วนอย่างประเจิดประเจ้อไม่เลือกสถานที่ ข้อนี้ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อวัณโรคไปในอากาศได้เป็นอย่างมากทีเดียว
 

                                                       การปฏิบัติตัวของคนที่เป็นวัณโรค

1. ควรพักผ่อนให้มาก ในระยะที่ยังมีอาการมาก ไม่ควรออกกำลังหรือเล่นหักโหม เมื่อดีขึ้นแล้วจึงเริ่มออกกำลังได้

2 .บำรุงอาหาร โดยเฉพาะพวกเนื้อ นม ไข่ ให้มากๆ

3 .ทำจิตใจให้ร่าเริงเบิกบาน อย่าวิตกกังวลหรือซึมเศร้า

4 .ควรนอนแยกคนเดียวนาน 3 เดือน หรือจนตรวจเสมหะไม่พบเชื้อ หลังจากที่ได้รับการรักษาโดยเฉพาะไม่ควรเข้าไปคลอเคลียกับเด็กเล็กๆ

5 .เวลาไอหรือจาม ควรใช้มือหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปาก หรือหนีไปไอหรือจามที่ๆ ห่างจากผู้คน

6 .ถ้วยชาม ขันน้ำ ไม่จำเป็นต้องแยกเป็นพิเศษ ถ้าจำเป็นต้องนั่งกินข้าวอยู่ในวงเดียวกันกับคนอื่น อย่าคุย อย่าไอ อย่าจาม

7.คนที่อยู่ใกล้ชิดกับคนไข้หรือคนในบ้านเดียวกับคนไข้ ควรไปให้หมอตรวจเช็คว่าติดโรคหรือไม่ (เช่น เอ๊กซเรย์)

8.สำหรับหญิงที่เป็นวัณโรคในระยะแพร่เชื้อ ถ้ามีลูกอ่อนที่ยังต้องให้นมอยู่

- ถ้าคลอดลูก ควรแยกจากลูกชั่วคราว แล้วให้กลับไปอยู่ร่วมกันได้ต่อเมื่อรักษาจนพ้นระยะแพร่เชื้อ และหรือลูกมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีน บีซีจี แล้ว

- ถ้าแยกไม่ได้ ก็อย่ากอดจูบลูก หรือไอ หรือจาม หรือหายใจรดลูก และควรให้ยาแก่เด็กป้องกันไว้ด้วย

- ถ้าแยกลูกช้า เช่น อยู่กับแม่นาน 1-2 เดือนแล้ว โดยทั่วไปหมอมักจะให้ยารักษาวัณโรคแก่ลูกกินแบบป้องกันไปเลย

- อย่าเคี้ยวอาหารในปาก แล้วป้อนให้ลูกกิน

 

ข้อมูลสื่อ

17-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 17
กันยายน 2523
โรคน่ารู้
ศ.นพ.สมชัย บวรกิตติ