นึกถึงยาสักนิด เมื่อคิดจะเดินทาง
ปีนี้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวของชาวไทยเราเสียด้วย ถ้าไม่ติดขัดด้วยเรื่องเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงปัญหาน้ำมันแพง ฯลฯ แล้ว ชาวกรุงก็คงจะแห่กันไปเที่ยวชนบท อาจจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ชายทะเล น้ำตก และที่อื่น ๆ ส่วนชาวบ้านก็คงจะแห่กันไปยังที่ที่น่าเที่ยวและแห่กันมาเที่ยวกรุงเทพฯ ด้วย
ไม่ว่าใครจะไปทางไหน โรคภัยไข้เจ็บก็มักจะแห่เข้ามาหา เพราะต่างที่ต่างถิ่น ผิดฟ้าฝนผิดอากาศ ผิดอาหารและน้ำ ฯลฯ ทำให้ความต้านทานของร่างกายลดลง ประกอบกับเชื้อโรคซึ่งชุกชุมในที่ต่าง ๆ เมื่อได้เจอคนแปลกหน้า ก็มักจะชอบเข้ามาทักทาย เพราะคนแปลกหน้ามักจะขาดภูมิต้านทานเชื้อ ซึ่งผิดกับคนในท้องถิ่นนั้น
ผู้ที่จะเดินทางไปท่องเที่ยว จึงควรจะเตรียมตัวที่จะต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บที่มันเลือกกาลเวลาเหล่านี้บ้าง โดยเฉพาะถ้าไปในถิ่นที่ไม่มีหมอหรือหาหมอยาก การเตรียมตัวอย่างหนึ่งก็คือ หายาติดไม้ติดมือไปบ้าง
ยาสำหรับการเดินทาง อาจจะแบ่งออกเป็น 3 จำพวก คือ
⇒ ก. ยาประจำตัว คือ ยาที่ต้องใช้เป็นประจำสำหรับคน ๆ นั้น จะเป็นยาหอม ยาลม ยาดม หรือยาอื่นใดที่จำเป็นจะต้องใช้ โดยที่หมอที่ดูแลรักษาอยู่สั่งไว้ให้ โดยเฉพาะยาที่ได้รับการกำชับว่า ให้กินเป็นประจำ จะขาดหรืองด หรือแกล้งทำเป็นลืมไม่ได้ ยาจำพวกนี้จึงแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน แล้วแต่ว่าคน ๆ นั้น มีอาการและโรคประจำตัวอะไรบ้าง
⇒ ข. ยาทั่วไป คือ ยาทั่ว ๆ ไป สำหรับแก้อาการ และแก้โรคภัยไข้เจ็บที่พบบ่อยในการเดินทาง ยาในจำพวกนี้ เช่น
1. ยาแก้ปวด เช่น แก้ปวดหัว ปวดหลัง ปวดเมื่อย ปวดข้อ ปวดกระดูก เป็นต้น ยาแก้ปวดที่ควรใช้คือ
1.1 แอสไพริน (Aspirin) ไม่ควรใช้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะหรือชอบปวดท้องเวลาหิวหรือเวลาหลังอาหาร ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด เวลามีอาการปวด ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง (เด็กลดลงตามส่วน) ควรกินยานี้พร้อมกับอาหารหรือหลังอาหารทันที หรือถ้าเป็นระยะที่ไม่ได้กินอาหาร ควรดื่มน้ำตามสัก 2-3 แก้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ยานี้ไประคายกระเพาะอาหาร ราคาเม็ดละประมาณ 5 สตางค์ ถ้าซื้อ 100 เม็ด ราคาประมาณ 4 บาท
1.2 พาราเซตามอล (Paracatamol) ใช้ได้ในคนที่เป็นโรคกระเพาะ แต่ไม่ควรใช้ในคนที่เป็นโรคตับ ให้กินครั้งละ 1-2 เม็ด เวลามีอาการ ซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง(เด็กลดลงตามส่วน) ราคาเม็ดละประมาณ 25 สตางค์ ขายกันในชื่อการค้าว่า ทัยลีนอล (Tylenol), เทมปร้า (Tempra), พานาดอล (Panadol) ฯลฯ
2. ยาลดไข้ เช่น เวลาเป็นไข้หวัด หนาว ๆ ร้อน ๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว หรือเวลามีไข้สูงจนหนาวสั่น อาจใช้ยาลดไข้ คือ แอสไพริน หรือ พาราเซตามอล ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อ 1.1 และ 1.2 แล้ว วิธีใช้เหมือนกัน (ยาทั้ง 2 ตัวนี้ใช้ลดอาการไข้นั้น ไม่ได้รักษาสาเหตุที่ทำให้เป็นไข้ เพราะฉะนั้นถ้ามีอาการไข้ตัวร้อนที่เป็น มากจนหนาวสั่นเหมือนจ้าวเข้า หรือมีอาการรุนแรงอื่น ๆ จะต้องหาสาเหตุและแก้สาเหตุด้วยเสมอ)
3. ยาแก้เมา คือ ยาที่ช่วยลดอาการหรือใช้ป้องกันอาการเมารถ เมาเรือ (เมาคลื่น) เมาเครื่องบิน หรือเมาจากการเดินทางอื่น ๆ ยกเว้นเมาเหล้า ยาแก้เมาที่ควรใช้คือ
3.1 ไดเมนฮัยดริเนต (Dimenhydrinate) ให้กิน ½-1 เม็ด ประมาณ 1/2 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง จะป้องกันอาการเมาได้ แต่ถ้าเมาแล้ว จะกินยา 1 เม็ด ก็อาจช่วยลดอาการเมาได้บ้าง แต่จะไม่ได้ผลดีเท่าการกินป้องกันไว้ก่อน ยานี้กินแล้วจะง่วงนอน ถ้าง่วงห้ามขับรถหรือทำงานที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ราคาเม็ดละประมาณ 90 สตางค์
3.2 เมโทโคลปราไมด์(Metoclopramide) ให้กินเช่นเดียวกับยาไดเมนฮัยดริเนต ชื่อการค้าว่า พลาสิ้ล (Plasil) เม็ดละประมาณ 1.25 บาท
4. ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน หรือสะอึก ติดต่อกันนาน ๆ และไม่หายด้วยวิธีแก้ไขตามธรรมดา เช่น ดื่มน้ำ กลั้นหายใจ หรืออื่น ๆ แล้วละก็ ให้ใช้ยาแก้เมาที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ก็จะช่วยแก้อาการได้
5. ยาแก้เครียด แก้กังวล หรือนอนไม่หลับ ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับคนบางคนที่แปลกสถานที่ แปลกถิ่น หรือเดินทางไปเพื่องานหรือธุรกิจต่าง ๆ ยาแก้เครียดแก้กังวลที่ใช้ได้ คือ
5.1 ยาไดอาซีแพม (Diazepam) ให้กินครั้งละ ½ เม็ด เวลาเครียดกังวล หรือนอนไม่หลับ ถ้ากินยานี้แล้วง่วง ห้ามขับรถหรือทำงานที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เม็ดขนาด 2 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 20 สตางค์ เม็ดขนาด 5 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 30 สตางค์ ชื่อการค้า เช่น วาเลี่ยม(Valium) , ไดอะปีน (Diapine), สเตโซลิด (Stesolid)
5.2 ยาคลอร์ไดอาซีป๊อกไซด์ (Chlordiazepoxide ) ให้กินครั้งละ 1 เม็ด เวลาเครียด กังวล หรือนอนไม่หลับ ถ้ากินยานี้แล้วง่วง ห้ามขับรถ หรือทำงานที่อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุ เม็ดขนาด 5 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 15 สตางค์ เม็ดขนาด 10 มิลลิกรัม ราคาประมาณ 25 สตางค์ ชื่อการค้า เช่น ลิเบรี้ยม (Librium),
6. ยาแก้ปวดท้อง อาการปวดท้องมีหลายประเภท การใช้ยาขึ้นอยู่กับอาการปวดท้องนั้นว่า เป็นชนิดใด เช่น
6.1 ยาลดกรด สำหรับผู้ที่ชอบปวดท้องเวลาหิว หรือเวลากินอาหารหรือเครื่องดองของเมา ให้ใช้ยาลดกรดครั้งละ 1-2 เม็ด เคี้ยวแล้วกลืน และให้เคี้ยวกลืน 1-2 เม็ด เวลาท้องว่างและประมาณ 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารจนหายปวดท้อง เช่น ยาโซดามินท์ (Sodamint) เม็ดละประมาณ 3 สตางค์ (ขวดละ 100 เม็ด ราคาขวดละ 2.50 บาท) ยาอลูมิเนียม ฮัยดรอกไซด์ (Aluminum hydroxide) (ขวดละ 100 เม็ด ราคาขวดละ 7 บาทยาลดกรดแมกนีเซียมตรีซิลิเคต (Magnesium Trisillicate) (ราคา 10 เม็ด 1 บาท) หรือจะซื้อในชื่อการค้า เช่น แอมโฟเจ็ล (Amphojel), อลูดร็กซ์ (Aludrox), เกลูซิล (Gelusil), อะลั่มมิลค์ (Alum milk)
6.2 ยาแก้ท้องอืดท้องเฟ้อ อาจใช้ยาลดกรดดังกล่าวข้างต้น หรือใช้ยาธาตุ เช่น ยาธาตุน้ำแดง (Stomachic mixture) สัก 1-2 ช้อนโต๊ะ กินเวลามีอาการ ขวด 180 มิลลิลิตร (ซี.ซี.) ราคา 4.50 บาท หรือเหล้าสะระแหน่ สัก 5-10 หยด ผสมน้ำกินเวลามีอาการ (ขวด 15 มิลลิลิตร ราคา 2.50 บาท)
6.3 ยาแก้ปวดท้องอย่างแรง โดยเฉพาะอาการปวดท้องที่ทำให้หน้าซีด เหงื่อแตก หรือปวดจนดิ้น อาจใช้ยา เช่น ยาบาราลแกน (Baralgan) กิน 1-2 เม็ด เวลามีอาการเม็ดละประมาณ 1.50 บาท
หมายเหตุ : คนที่ปวดประจำเดือนโดยทั่วไป อาจใช้ยาแอสไพริน (ข้อ 1.1) หรือ พาราเซตาม่อล (ข้อ 1.2) ก็พอ แต่ถ้าปวดรุนแรง ก็อาจใช้ยาบาราลแกนได้
7. ยาแก้ท้องเดิน โดยทั่วไป อาการท้องเดิน ท้องร่วง เป็นการป้องกันตัวเองของกระเพาะลำไส้ที่พยายามจะขับถ่ายสิ่งเป็นพิษ (เช่น อาหารเป็นพิษ เชื้อโรค) ออกจากร่างกาย ดังนั้น ถ้าไม่ถ่ายท้องมาก จนท้องเดินเป็นน้ำหลายครั้ง หรือมากจนร่างกายอ่อนเพลีย ก็มาควรจะต้องใช้ยาไปอุดการถ่ายไว้ มิฉะนั้นอาจทำให้ท้องอืดหรือไม่สบาย เพราะสิ่งที่เป็นพิษยังถูกเก็บไว้ในกระเพาะลำไส้
ในขณะท้องเดินมาก ให้หยุดกินอาหารทุกชนิดไว้ก่อน กินได้แต่น้ำชาจีนอ่อน ๆ น้ำข้าวใส่เกลือนิด ๆ และน้ำมะพร้าว พอท้องเป็นปกติแล้ว จึงลองกินอาหารอ่อน ๆ ถ้าไม่เป็นอะไร จึงเปลี่ยนเป็นอาหารปกติ ส่วนยาที่ควรใช้แก้ท้องเดิน คือ
7.1 ยาฆ่าเชื้อ เช่น ยาซัลฟากัวนีดีน กินครั้งแรก 4-6 เม็ด ถ้าอาการท้องเดินไม่หาย ให้กินซ้ำ 2 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง จนอาการท้องเดินหาย ก็หยุดกินได้ (ซองละ 20 เม็ด ราคา 5 บาท หรือซื้อเป็นขวด 100 เม็ด ราคา 12 บาท)
7.2 ยาอุด คือ ยาที่ไปทำให้ถ่ายน้อยลง ควรใช้ร่วมกับยาฆ่าเชื้อ เพราะถ้ากินยาอุดอย่างเดียวแล้วอาการท้องเดินเกิดจากเชื้อโรค จะเป็นอันตรายได้ ยาอุดเช่น ยาแก้ท้องเสีย (Kaolin mixture) กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 4-6 ชั่วโมง ราคาขวดละ 4.50 บาท (180 มิลลิลิตร) ยาทิงเจอร์ฝิ่นการบูน (Camphorated opium tincture) กินครั้งละ 5-15 หยด ราคาขวดละ 1.50 บาท (15 มิลลิลิตร)
8. ยาระบาย สำหรับคนที่ท้องผูก หรือถ่ายไม่ค่อยออก เวลาแปลกถิ่นก็อาจใช้ ยาระบายแม็กนีเซีย (Milk of Magnesia) ครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ก่อนนอนหรือครั้งละ 2-4 เม็ดก่อนอน ราคาขวดละ 5.50 บาท (200 มิลลิลิตร)
9. ยาแก้แพ้ สำหรับแก้อาการคัน ลมพิษ คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม เช่น ยาคลอร์เฟนิรามีน (Chlorpheniramine) (1/2–1 เม็ด) เวลามีอาการ ถ้ากินยานี้แล้วง่วงห้ามขับรถหรือทำงานที่อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ ราคาเม็ดละประมาณ 5 สตางค์
10. ยาแก้ไอ อาจใช้น้ำมะนาว น้ำเก๊กฮวย มะขามป้อม หรือลูกอมที่ซ่าเย็น เพื่อลดการระคายคอ แทนยาได้
11. ยาใช้ภายนอก เช่น
11.1 ยาหยอดตา เพื่อแก้อาการตาอักเสบตาแดง
• ถ้ามีขี้ตามากและขี้ตาเป็นสีเขียวหรือเหลือง (ขี้ตาเป็นหนอง) ให้ใช้ ยาหยอดตาซัลฟา (Sulpha-
cetamide eyedrop) หรือ ยาหยอดตาคลอแรม (Choramphenicol Eyedrop) หยอดตาครั้งละ 1-2 หยด วันละ 3-4 ครั้ง ยาหยอดตาซัลฟา ขวดละประมาณ 3.50 บาท (10 มิลลิลิตร) ยาครอแรม ขวดละประมาณ 10 บาท (10 มิลลิลิตร)
• ถ้ามีขี้ตา แต่ไม่เป็นหนอง (ตาอักเสบแดง จากฝุ่นผงหรือการระคายเคืองจากสิ่งอื่นที่ไม่ใช่เชื้อ-
โรค) อาจใช้ยาหยอดตาที่มียาแก้แพ้ผสมอยู่ เช่น ยาหยอดหูตาเพร็ดนิซิล (Prednisil Eye and Ear Solution) ขวดละประมาณ 17 บาท (4 มิลลิลิตร) ยาหยอดหูตาโซฟราเด็กซ์ (Sofradex Eye and Ear Drops) ขวดละประมาณ 32 บาท (8 มิลลิลิตร)
11.2 ยาทาแก้ผื่นคัน หรือแมลงสัตว์กัดต่อย อาจใช้ยาสมุนไพรในท้องถิ่น หรืออาจใช้ขี้ผึ้งเพร็ดนิโซโลน (Prednisolone ointment) ทา หลอดขนาด 15 กรัม ราคา 10 บาท
11.3 ยาทาแก้ปวดบวมเคล็ดยอก อาจใช้ความร้อน เช่น กระเป๋าน้ำร้อน ใบพลับพลึงย่างไฟจนอ่อน ประคบหรืออาจใช้ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม (ตลับ 4 กรัม ราคา 1.50 บาท) ขี้ผึ้งน้ำมันระกำ (ตลับ 15 กรัม ราคา 2 บาท) หรือยาหม่อง (ราคาแตกต่างกันไปตามชนิด)
11.4 ยาดมแอมโมเนีย (เหล้าแอมโมเนียหอม) ใช้ดมแก้อาการเป็นลมวิงเวียน มืดหน้า หรือทาแก้พิษแมลงกัดต่อย ถูกพิษแมงกะพรุน หรือถูกพืชมีพิษ ขวด 15 ซี.ซี. ราคา 1.00 บาท
11.5 ยาใส่แผล เช่น ยาแดง (Merbromin Solution X) ขวด 15 มิลลิลิตร ราคา 1.50 บาท ทิงเจอร์ไอโอดีน(ขวด 15 มิลลิลิตรราคา 1.50 บาท) 70 เปอร์เซ็นต์ แอลกอฮอล์ (ขวด 30 มิลลิลิตร ราคา 1.50 บาท) ใช้เช็ดล้างหรือใส่แผลเพื่อฆ่าเชื้อโรค
11.6 ผ้าปิดแผล เช่น ผ้าพันแผล (กว้าง 2 นิ้ว ยาว 6 หลา 1 ม้วน ราคา 1.25 บาท) ผ้ากาวปิดแผล เช่น พวกแบนเอด (Bandaid) แฮนดีพลาสท์ (Handy plast) สำลี เป็นต้น
⇒ ค. ยาพิเศษ คือ ยาที่ใช้สำหรับการป้องกันโรคบางชนิดที่มีชุกชุมในท้องถิ่นที่จะไป ที่สำคัญในบ้านเรา คือ
1. ยาป้องกันโรคมาลาเรีย (ไข้ป่า ไข้จับสั่น) ซึ่งยังมีชุกชุมในป่าเขาละเนาไพรในประเทศไทย ผู้ที่จะไปเที่ยวป่า เที่ยวน้ำตก เที่ยวเขา (เช่น เขาใหญ่ ภูหลวง) จึงควรจะกินยาป้องกันโรคมาลาเรียด้วย เช่น
1.1 ยาควีนิน : ให้กิน 1 เม็ด หลังอาหารเช้า-เย็น ทุกวันจนออกจากดงมาลาเรียแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ ควีนินเม็ดละประมาณ 2 บาท
1.2 ยาแฟนสิดาร์ : ให้กิน 2-3 เม็ด ต่อ 1-2 สัปดาห์ จนออกจากดงมาลาเรียแล้วประมาณ 4 สัปดาห์ แฟนสิดาร์เม็ดละประมาณ 3.20 บาท
อย่างไรก็ตาม ยาป้องกันโรคมาลาเรียจะไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้โดยสมบูรณ์ ควรจะป้องกันไม่ให้ยุงกัดด้วย โยเฉพาะเวลาหลับนอนตอนกลางคืน
(การป้องกันยุงกัด เช่น การนอนในมุ้ง นอกจากจะช่วยป้องกันโรคมาลาเรียแล้ว ยังช่วยป้องกันโรคเท้าช้าง ซึ่งชุกชุมในภาคใต้ และโรคไข้เลือดออก ซึ่งพบได้ทั่วไปอีกด้วย)
2. ยาทาหรือยาพ่น (สเปรย์) ป้องกันแมลงหรือสัตว์กัดต่อย เช่น ป้องกันยุง ป้องกันทาก หรืออื่น ๆ หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป
อ่านมาถึงตอนนี้ หลายคน อาจคิดว่า ตายละ นี่เราจะต้องยกร้านขายยาหรือตู้ยาติดตัวไปด้วยหรือนี่ ที่จริงแล้ว ยาที่ควรนำติดตัวไปคงมีไม่ถึง 10 อย่าง และราคาคงไม่เกินหนึ่งร้อยบาทรวมทั้งหมด อ่านและเลือกดูเอาเองก็แล้วกัน เพราะคนที่ไม่เมารถเมาเรือ ก็ไม่จำเป็นต้องพกยาแก้เมาไป คนไม่เครียดไม่กังวลเวลาไปเที่ยว ก็ไม่จำเป็นต้องพกยาแก้เครียด แก้กังวลไป หรืออื่น ๆ เพราะฉะนั้น ยาที่จำเป็นสำหรับการเดินทางทั้งหมด เมื่อรวมกันแล้วคงใส่ไม่เต็มกระเป๋ากางเกงผู้ชาย หรือกระเป๋าถือผู้หญิง นอกจากจะเตรียมไปสำหรับคนหลาย ๆ คน หรือมีโรคประจำตัวที่ต้องใช้ยาอยู่หลายชนิด
- อ่าน 11,358 ครั้ง
- พิมพ์หน้านี้